กัญชา-กัญชง พืชเศรษฐกิจ หรือ Food fashion? มองผ่านวิชั่น Business Trendsetter ผู้ผ่านมาทุกยุค “ตัน ภาสกรนที” กับความคิดที่ไม่เคยตัน

  • 3.3K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

หากถามว่าใครเป็นผู้นำเทรนด์ธุรกิจชาเขียวในเมืองไทยเป็นลำดับต้นๆ จะเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจากชายผู้นี้  “ตัน ภาสกรนที” ซึ่งทำให้เขาเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่า ไม่ว่าจะหยิบจับอะไร ก็จะกลายเป็นเทรนด์ทางธุรกิจที่มาแรงอยู่เสมอ อย่างเมื่อช่วงปลายปีถึงต้นปีที่ผ่านมาเครื่องดื่มน้ำผสมวิตามินฮิตติดลมบน “อิชิตัน” ก็ส่งโปรดักส์ลงสู่ตลาดเช่นกัน แม้ว่าจะออกช้ากว่าคนอื่น แต่ก็สามารถก้าวมายืนแถวหน้าในเซกเมนต์ดังกล่าวได้

และ ล่าสุดเทรนด์ “กัญชา-กัญชง” ที่ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ต่างก็ทยอยอออกมาเปิดตัวโปรดักส์ใหม่ๆ ที่ผสมกัญชาหรือกัญชงลงไปด้วย แน่นอนว่า “อิชิตัน” เองก็ไม่พลาดในเทรนด์นี้อย่างแน่นอน ซึ่งล่าสุดก็ได้เปิดตัวแบรนด์ “อิชิตัน กรีนแล็บ” (Ichitan Green Lab) เพื่อพัฒนาเครื่องดื่ม Non-tea ซึ่งนำร่องด้วยการพัฒนาเครื่องดื่มที่มีกลิ่นของ กัญชา-กัญชง เป็นเครื่องดื่มเพื่อความผ่อนคลาย ก่อนที่จะพัฒนามาเป็น เครื่องดื่มผสมกัญชา-กัญชง ซึ่งขณะนี้ต้องรอสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) อนุญาตอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นคาดว่าสินค้าจะออกสู่ตลาดในสิ้นปีนี้

และทั้งหมดนี้ ตั้งแต่ยุคของ “ชาเขียว” เรื่อยมาถึง “เครื่องดื่มน้ำผสมวิตามิน” มาจนกระทั่ง “กัญชา-กัญชง” ตัน ภาสกรนที มองเห็นอะไรในธุรกิจดังกล่าว จะเป็นเพียงแค่กระแส Food Fashion ที่มาแล้วก็หายไป หรือจะกลายเป็นตัวจริงของพืชเศรษฐกิจสำคัญ ที่ทำเงินให้ธุรกิจบ้านเราฟื้นตัวจากโควิดได้ น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ผู้นำ Trendsetter ด้านธุรกิจ ผู้นี้ จะปลุกปั้นพืชตัวนี้อย่างไร รวมไปถึงเราได้มีโอกาสล้วงลึกมุมมองเคล็ดลับการทำธุรกิจ และการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ของ “ตัน ภาสกรนที” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตันกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับบทสัมภาษณ์ใน Oops! Insider Exclusive Interview “ตัน อิชิตัน” ความคิดที่ไม่เคยตัน

 

กัญชา-กัญชง สร้างเทรนด์ใหม่มาแรง มั่นใจอิมแพ็คกว่าชาเขียว  

ตัน เล่าถึงการแข่งขันในธุรกิจ Non-tea ซึ่งมีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เทรนด์รักสุขภาพมาแรง แต่ ตัน เองก็มองว่าเป็นธรรมชาติของการแข่งขันทางธุรกิจเครื่องดื่มที่แข่งขันกันมาตลอดในทุกช่วงเวลา พีคสุดก็คือในฤดูร้อนที่จะแข่งกันมากขึ้น

“กัญชงกัญชาที่เป็นกระแสอยู่ตอนนี้ก็เหมือนกับชาเชียวเมื่อ 20 ปีก่อน ผมจำเหตุการณ์ตอนนั้นได้ มาถึงวันนี้ ก็เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นอีกครั้งหนึ่ง แต่กระแสของกัญชงกัญชามากกว่าเมื่อก่อน 2-3 เท่า เพราะว่าเป็นกระแสที่รัฐลงมาเล่นเด้วย และภาพรวมประโยชน์ของกัญชงกัญชามันมีมากกว่า เป็นได้ทั้งยา อาหารเสริม อาหาร และเครื่องดื่ม แต่ชามันมาที่เครื่องดื่มเป็นหลักอาจจะแตกเป็นผลิตภัณฑ์อื่นบ้าง เช่น ไอศกรีม ผ้าอนามัย ก็มี ถ้าถามผมกัญชงกัญชาน่าจะมาในส่วนของสมุนไพรไทย ที่เรียกว่าเป็นเครื่องดื่มที่น่าจะมาแรง เป็นสินค้าเกษตรที่มาแรง สำหรับทุกเซกเมนต์ไม่เฉพาะแค่เครื่องดื่มอย่างเดียว”

 

การส่งเสริมตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ’

สินค้ากัญชงหรือกัญชาดูเหมือนเสรี ที่กำลังจะเปิด แต่เสรีแบบควบคุมทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การควบคุมเพราะว่า ต้องบอกตรงๆ นะว่าเมืองไทยก็ยังไม่มีระเบียบวินัยดีขนาดนั้น  และทางกระทรวงสาธารณสุขก็ยังกังวลอยู่ว่าถ้าเกิด ไม่มีการควบคุมก็อาจจะเลยเถิดหรือว่าใช้ผิดพลาดไป เพราะฉะนั้นก็อยู่ในระหว่างการควบคุม แต่ทางเรา (อิชิตัน) เป็นเจ้าแรกๆ ที่ได้มีพันธมิตรที่เขาได้ไลเซนส์มา คือพันธมิตรรายนี้เมื่อสกัดแล้วเขาจะมาให้เราผลิตเป็นเครื่องดื่ม ซึ่งของเราก็รอเพียงแค่ว่าทาง อย.จะอนุมัติเท่านั้น เพราะตอนนี้ อย.ให้ใบอนุญาตได้เฉพาะการนำเข้าเมล็ด ปลูก และสกัด ซึ่งเชื่อว่าเร็วๆ นี้ทาง อย.จะอนุมัติให้ใช้ในเครื่องดื่มได้

“เพราะว่าถ้าสาธารณสุขส่งเสริมแล้ว ต้นน้ำ กลางน้ำ ไม่ส่งเสริมปลายน้ำในที่สุด ปลูกเสร็จแล้ว สกัดแล้ว ในที่สุดคุณจะไปขายใครแล้ว เราต้องส่งเสริมให้ครบวงจร ทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ อิชิตัน ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากตรงนี้ จริงๆ แล้วไม่เฉพาะเครื่องดื่มแต่ผมว่าทุกวงการ เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ทีนี้คนไข้บางคนที่ต้องการใช้กัญชา ก็อาจจะได้ประโยชน์จากตรงนี้เร็วๆ นี้”

กัญชา-กัญชง พืชเศรษฐกิจ หรือ กระแสแค่ชั่ววูบ?

แน่นอนว่า กัญชากัญชง จะกลายเป็นพืชแห่งอนาคตอย่างแน่นอน แต่กระแสนี้จะอยู่อีกนานหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ Food fashion ที่บูมแล้วก็หายไป ตัน ให้ความเห็นในมุมนี้ว่า คำว่ากระแสมันเป็นกระแสอยู่แล้ว แต่มั่นใจว่า กัญชากัญชง ไม่ใช่พืชแฟชั่นแต่จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

“มนุษย์เราเกี่ยวข้องกับกัญชาเป็นร้อยๆ ปี มันมีมานานแล้ว ชีวิตของคนไทย รวมทั้งผมด้วย ก็เคยติดกัญชาไม่รู้ตัว เคยติดกัญชาโดยไปกินก๋วยเตี๋ยวเนื้ออยู่ร้านหนึ่งแถวบางพระ ตอนวัยรุ่นผมไปกินบ่อยมาก คนก็สงสัยก็รู้สึกว่าเอ๊ะ! ทำไมผู้ชายคนนี้มาร้านนี้บ่อยจัง อาทิตย์ละหนเลยนะครับ ไปจีบลูกสาวเจ้าของร้านหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ร้านก็อยู่ไกล แถวบ้านก็มีร้านก๋ซยเตี๋ยวเนื้อให้กินตั้งเยอะแยะ พอสุดท้ายก็สนิทกัน ก็ไม่ได้ไปจีบลูกสาวเขาหรอก ลูกสาวเขาก็บอกว่า พ่อเขาใส่กัญชาในก๋วยเตี๋ยวเนื้อ มันก็เป็นแบบนั้น”

ดังนั้น ที่ถามว่ามันเป็นกระแสหรือเปล่า ขอตอบแบนี้แล้วกัน อยากให้ไปช่วยคิดต่อ ทำไมเครื่องดื่มโคคาโคล่า หรือพวกเป๊ปซี่ โค้ก ทั้งหลายนี่ มันอยู่กับมนุษย์มาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ทำไมมนุษย์ดื่มชามาแล้ว 4,000 ปี หรือทำไมเราถึงดื่มกาแฟมานาน แล้วตอนนี้มีร้านกาแฟทุกที่เลย เหมือนเวลาคนสูบบุหรี่ พอกินข้าวเสร็จปั๊ปมันก็จะอึดอัดก็ต้องหาดูดสักมวน ก็เหมือนกับคนที่กินโค้ก กินกาแฟ พอไม่กินปุ๊บก็จะง่วงนอน เพราะฉะนั้นกัญชาหรือกัญชงก็จะมีฤทธิ์คล้ายๆ แบบนี้ ทำแล้วมันให้ความรู้สึกติดมันได้ คือมันไม่ใช่สินค้าที่ขึ้นมาทีแล้วก็หายไป ไม่หายหรอกครับ มันยังอยู่กับมนุษย์เป็นร้อยเป็นพันปี เพียงแต่ว่าจะอยู่เป็นแบบไหนเท่านั้นเอง

“แต่ที่บอกว่าพืชเศรษฐกิจตรงนี้มันดีตรงที่ว่า สมมุติว่าเราปลูกยาง เราใช้เวลา 6-7 ปีหรืออีกหลายปีกว่าจะเก็บได้ กัญชาปลูก 4 เดือนก็เก็บได้แล้ว และก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทันใจ เหมือนหลวงพ่อทันใจ ที่เชียงใหม่ ก็ว่าได้”

มั่นใจว่าต่อไปพืชตัวนี้จะเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องระวังด้วย เพราะว่าพืชตัวนี้มันมีมูลค่าเยอะและมีประโยชน์ต่อธุรกิจมากมาย โดยเฉพาะทางการแพทย์ แต่ทุกอย่าง ‘เหรียญมี 2 ด้านเสมอ’ มันก็มีส่วนของอันตรายด้วยถ้าเราใช้ผิด ต้องบอกตรงๆ เลยว่า ทุกวันนี้ที่ปลูกอยู่ในตลาดส่วนใหญ่ ผิดกฎหมายทั้งนั้น เมล็ดพันธุ์หรือพันธุ์ที่ปลูกก็ไม่ถูก เพราะพันธุ์ของมันมีผลต่อ TSC หรือว่า CBD ที่ ออกมาแล้วมันใช้กับอาหารหรือยา มันไม่สามารถใช้ได้กับชาวบ้านที่ปลูก มันต้องปลูกอยู่ในพันธุ์ที่มันต้องเหมาะกับเมืองไทยและพันธุ์ที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ปลูกเท่านั้น ดังนั้น ถ้าใครสนใจอยากจะทำธุรกิจกัญชากัญชง สิ่งที่อยากจะแนะนำคือ คุณต้องไปศึกษาไปเรียนรู้ หาข้อมูลให้ดีก่อน ทั้งเรื่องสายพันธุ์ การใช้งาน และทางด้านกฎหมายด้วย

ดังนั้น การเป็นกระแสก็เป็นเรื่องดี อย่างที่บอกนานๆ มีครั้งหนึ่ง 10 ปี 20 ปี ก็เลยบอกว่า กัญชากัญชงน่าจะเป็น ไม่ถือว่าเป็นกระแส แต่ถือว่าเป็นธุรกิจอันหนึ่งที่สำคัญสำหรับทั้งโลกเลย ไม่เฉพาะประเทศไทย เพราะว่าช่วงที่ผ่านมาเราต้องบอกว่า โควิดทำให้คนไทยหรือทั้งโลกเดือดร้อนมาเยอะมาก ตรงนี้ก็จะมีคนที่จากไป หายไป จากวงการธุรกิจ เพราะฉะนั้นตัวนี้อาจจะเป็นตัวมาเติมให้เต็มหรือมาชดเชยให้เรา และเป็นธุรกิจไซส์ใหญ่มาก เพียงแต่ว่าตอนรบก็อาจจะลำบาก ตลาดใหญ่ก็จะมีปัญหา ก็คือคู่แข่งเยอะ ปัญหาเยอะ ไม่ได้เสรีอย่างธุรกิจอย่างอื่น เสรีแบบควบคุม ทุกคนต้องทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายให้ดี เพราะมีผลทางกฎมายด้วย ถ้าผิดพลาดอาจจะถึงกับ ถูกปรับ ติดคุกได้นะ ก็ต้องระวัง

แนวคิดการทำธุรกิจ 3N New product New Market New Business

ทั้งนี้ อย่างที่เราทราบดีว่า “ตัน” มีวิชั่นที่ดีในการหยิบจับอะไรก็เป็นธุรกิจที่มาแรง ซึ่งเขาเคยกล่าวว่า นั่นเพราะเขาใช้สูตรลับในการจับธุรกิจที่เรียกว่า “3N ได้แก่ New product, New Market, และ New Business ซึ่ง กัญชากัญชง ก็เป็นส่วนหนึ่งของ New Product ด้วย เป็นในส่วนที่เรียกว่า Non-tea สินค้าที่ไม่ใช่ชา รวมไปถึงพวกน้ำผสมวิตามินต่างๆ หรือน้ำด่าง 8.5 ที่ตอนนี้กำลังได้รับความนิยมอยู่

ขณะที่ New Market คือเรื่องของการหาตลาดใหม่ๆ หรือตลาดที่ควรจะไป ซึ่งตอนนี้ก็ลุยทั้ง พม่า ลาว เขม และอินโดนีเซีย ส่วน New Business ก็คือธุรกิจใหม่ ซึ่งตอนนี้ก็มีการประสานงานคุยกับหลายๆ เจ้าอยู่ ซึ่งอาจจะยังไม่ได้เห็นในเร็ววันนี้ เพราะเราก็ต้องค่อยๆ พิจารณาก่อน เพราะไม่ถนัดที่จะลงทุนเยอะๆ แล้วขาดทุนในอีก 3-5 ปีถึงจะได้กำไร แต่เรามองหาธุรกิจที่เป็นธุรกิจรุ่นใหม่ สมัยใหม่ ไม่เน้นการลงทุนเยอะเกินไป เน้นซื้อมาขายไป ไม่ใช้เงินเยอะ ซึ่งก็อยู่กับคนรุ่นใหม่มากกว่า

“ทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับกระแส เพราะแม้ว่าจะไม่มีกระแส แต่ถ้าเราทำธุรกิจเดิมอย่างที่เคยทำอยู่เราก็ไปไม่รอด ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง การทำธุรกิจเดียว หรือโปรดักส์เดียว อยู่ไม่ได้ สินค้าที่เราเคยขายดีเมื่อก่อน ตื่นเช้ามาวันนี้อาจจะขายไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นควรจะมีธุรกิจอื่นหรือสินค้าอื่นๆ แต่ไม่ต้องเยอะ อย่าไปทำเยอะเกินไป แต่ไม่ใช่ทำแค่อย่างเดียว แม้กระทั่งพนักงานบริษัท ก็ควรต้องทำอาชีพเสริม เพราะความไม่แน่นอนในชีวิต ดังนั้น ถ้าเราไม่มีอาชีพเสริม หรือมีความสามารถอย่างอื่น ถ้าเราไม่เรียนรู้ หรือไม่เริ่ม มันก็ลำบาก เพราะฉะนั้นทุกๆ บริษัทก็ต้อง New Product  New Business  New Market เผื่อเหลือเผื่อขาด”

 

“ไปเถอะถ้าคุณแน่จริง ไปลองดู ถูกๆ ผิดๆ ไม่เป็นไร”

ตัน ยังได้แสดงทัศนะถึงเด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้ โดย MarketingOops! ถามความเห็นว่า สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ควรเข้าไปทำงาในบริษัทก่อน หรือเริ่มต้นไปที่ธุรกิจ Startup ของตัวเองเลย ตัน กล่าวว่า ได้ทั้งสองอย่าง เพราะเด็กสมัยนี้เก่งมาก หากทำเองได้ก็ทำเลย แต่ถ้าหากจะให้ตนแนะนำจริงๆ ก็มองว่า อาจจะไปทำงานบริษัทพักหนึ่งก่อนแล้วค่อยไปเปิดบริษัทเองก็ได้

“สมัยนี้ไม่มีพนักงานแบบรุ่นผมแล้ว ผมทำงานบริษัทเดียว 5 ปี บางคนคุณตุ๊กอาจจะเคยเจอ ทำธุรกิจหรือว่าทำงานบริษัท 20-30 ปี คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบตอนนี้ผมว่าเขาไม่มีความอดทนที่จะอยู่กับบริษัทหรือทำงาน 20-30 ปี หรือบางคนทำจนเกษียณเลย ผมว่าเขาถ้ามีความรู้พื้นฐานดี แป๊บเดียวเขาก็ไปแล้ว ลองถูกลองผิดทำเจ๊งบ้างไม่เจ๊งบ้าง แต่ในที่สุดในจำนวนเยอะๆ ก็มีคนประสบความสำเร็จเป็นเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นเยอะ คนรุ่นใหม่ไม่ชอบเป็นลูกจ้างแล้ว ก็ไปเถอะถ้าคุณแน่จริง ก็ไปลองดู ถูกๆ ผิดๆ ไม่เป็นไร ถ้าคุณไม่อยากจะเสี่ยงคุณก็ไปทำงาน แต่บางคนบอกชั้นไม่เอาเลยชั้นอยากสบายๆ เป็นพนักงานก็ยังเป็นอาชีพที่มั่นคงอยู่หรือว่าบางคนอยากเป็นข้าราชการ อันนั้นก็ชีวิตของเขา แต่สำหรับคนเก่งๆ ที่มีไฟ อยากจะประสบความสำเร็จ ก็ควรลองดู แต่ถ้าคุณเกิดแล้ว คุณสามารถต่อยอดได้หรือเปล่า อันนี้ก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน”

พ่อแบบ “ตัน” สอนลูกอย่างไร

นอกเหนือจากให้คำแนะนำเด็กรุ่นใหม่แล้ว สำหรับคนในบ้าน ตันก็มีวิธีการสอนในแบบของตัวเอง บางทีเด็กสมัยใหม่มีความคิดเป็นของตัวเอง อย่างลูกชายของตนก็เปิด Rooftop Bar (ดาดฟ้าอาคาร T1) เขาก็ทำกับเพื่อนแล้วเขาก็ไม่ถามเราด้วย และบางทีเราก็ไม่อยากแนะนำเขาเท่าไหร่หรอก เพราะว่าบางทีความคิดความไวมันต่างกัน บางทีคิดไม่เหมือนกัน อย่างลูกสาวก็ให้ทำ แซ่บอีลี่ (ZaabEli) ตอนแรกเขามาก็ไปเปิดร้านอิตาเลียนแล้วก็เจ๊งไป ก็ปล่อยให้เขาเจ๊ง แล้วสุดท้ายเขาก็หาทางเจอของเขาแล้ว คือบางทีเราก็ไปกำหนดให้เขาไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ เขาอยากจะลองถูกลองผิดของเขาเอง จริงๆ แล้วก็ดี

“ผมว่าเด็กรุ่นใหม่เขาก็มีความคิดเป็นของตัวเอง ลองของตัวเอง เราก็ให้เขาลอง แต่เขาก็ไม่ได้เอาเงินร้อยล้านพันล้านไปลองให้มันล้มละลาย เขาก็ลองแค่ไม่กี่แสนกี่ล้าน นิดๆ หน่อยนะครับ อย่างร้านของลูกชายถูกปิดไปเพราะโควิดมา พอเปิดก็ขายดีแล้ว แต่ถ้าขายไม่ดีก็ยิ่งดี ผมเองก็อยากให้เขามีประสบการณ์ที่ล้มเหลวบ้าง เจอปัญหาบ้าง ไม่อยากให้ประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรก”  

 

สิ่งที่ผิดพลาด – สิ่งที่ภูมิใจ ของ “ตัน ภาสกรนที”

จากการจับธุรกิจหลายอย่าง หลายด้าน มีบ้างไหมที่รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ผิดพลาด ในขณะเดียวกันก็คงต้องมีสิ่งที่ทำให้ตัวเองภูมิใจมากๆ เช่นกัน ตัน กล่าวว่า อาจจะไม่ถึงขนาดว่าล้มเหลวหรือรู้สึกว่ามันผิดพลาด แต่เอาเป็นว่าถ้าเริ่มใหม่ได้ก็คงไม่เอาแล้ว แม้ว่าผมจะเริ่มต้นจากร้านอาหารและประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ แต่ถ้าถามว่าจะให้กลับไปทำร้านอาหารอีกไหม ก็คงไม่ทำแล้ว เพราะว่าร้านอาหารต้องใช้คนเยอะ ใช้แรงงานเยอะ ซึ่งหายากมากในปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้น ก็คงย้อนกลับไปไม่ได้ ดังนั้น ตอนนี้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้แรงงานคนเยอะๆ มากกว่า หันไปทำธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีออโตเมชั่น อย่างโรงงานอิชิตัน 7 หมื่นกว่าตารางวา ใช้คนแค่ 100 – 200 คน ทุกอย่างคือนิ้วกดแล้วก็ผลิตได้เลย ง่ายๆ เอาใบชาเทลงไปแล้วกดปุ๊บอีก 2 ชั่วโมง ข้างหลังขึ้นที่ชั้นวางของออโตเมติกแล้ว ดังนั้น สิ่งที่คิดว่าจะแก้ไขจากนี้คือไปทำธุรกิจที่ไม่ใช้แรงงานเยอะ เพราะว่าเราต้องแข่งกับคนอื่นด้วย

ส่วนสิ่งที่ทำให้นักธุรกิจอย่าง “ตัน อิชิตัน” ภูมิใจมาก ก็คือการเปิดตลาดให้พ่อค้าแม่ค้ารายเล็กรายน้อยได้ไปขายของ เพื่อให้มีรายได้ดูแลครอบครัวได้ ตัน เล่าว่า แม้จะไม่ได้เป็นธุรกิจที่มีกำไรมากมายอะไร แต่แค่รู้ว่าตลาดตรงนี้ ช่วยทำให้เขามีรายได้ เลี้ยงดูครอบครัว ทำให้ชีวิตเขาไปต่อได้ แค่นี้ก็รู้สึกภูมิใจแล้ว ซึ่งอันที่จริงแล้ว ต้องบอกว่าที่ดินตรงนั้นถ้าขายไปจริงๆ ก็ทำกำไรอยู่ แต่ตอนนี้ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ถ้าคิดว่าช่วยชาวบ้านได้ก็อยากให้ขายกันต่อไป

“ถ้าผมมีความสุขนะ ผมคิดถึงทำตลาดนัด มันเป็นธุรกิจที่แบบ มันมีความสุข คือเราอาจจะได้ไม่เยอะ แต่คนอื่นได้เยอะกว่ามากเลย อย่างที่อมตะ ชลบุรี พ่อค้าแม่ค้ามาขายของเยอะเลยเป็นพันๆ คน บางคนทิ้งตลาดอื่นมาขายที่นี่เลยก็มี เขามาขายที่ตลาดผมจนประสบความสำเร็จขายได้ดีเปิดหลายสาขา เราก็รู้สึกภูมิใจมากเลยที่เขาเริ่มจากที่ของเรา เราได้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยทำให้เขาเติบโต ผมว่ามันเป็นธุรกิจที่แบบผมภูมิใจและผมก็อยากทำ ถ้ามีโอกาสทำไปเรื่อยๆ ถ้าเรายังมีแรงอยู่ แล้วก็มันไม่ได้เดือดร้อนใครที่เรา เราทำเราเก็บค่าเช่าถูกหน่อยแต่ทำให้คนค้าขายเขาได้กำไร คนกินก็มีความสุข ไม่ต้องซื้อของแพง”

“ล้มแล้วลุก” เป็นเรื่องปกติอย่าทิ้งความหวังและความฝัน

“ตัน” ยังให้ข้อคิดในการทำธุรกิจและดำเนินชีวิตว่า ไม่ว่าใครก็ต้องเคยลุกแล้วก็ล้มเป็นเรื่องปกติทั้งนั้น ตนอาจจะโชคดีหน่อยที่ยังไม่เคยล้ม หรือจริงๆ ก็โชคร้ายก็ได้ แต่นั่นล่ะถ้าวันหนึ่งคุณเกิดวิกฤตขึ้นมาก็ต้องยอมรับและก้าวผ่านมันไปให้ได้ โลกนี้มีขึ้นมีลง โดยเฉพาะวันนี้ที่เราต้องเจอกับโควิด-19 ก็ทำให้ทุกคนเดือดร้อนกันเยอะแยะ

“ลูกชายผมพูดมาคำหนึ่ง ซึ่งอยากจะแชร์ให้ฟัง เขาบอกว่า ตายก็ตาย เกิดก็เกิด หมายถึงธุรกิจนะครับไม่ใช่ชีวิต คือเราก็ต้องปล่อยมันไป แต่แล้วเราก็ต้องลุกขึ้นสู้ใหม่ ถามผมว่าโควิดมาแล้วเราต้องทำยังไง เราก็อาจจะตายแล้วก็ต้องเกิดใหม่ เพราะฉะนั้นเราก็อย่าไปทุกข์ อย่าไปซีเรียสนะครับ แต่เราต้องรักษาชีวิต รักษาลมหายใจ รักษาเครดิต รักษาชื่อเสียงเอาไว้ รอวันที่มันจะกลับมา มีคนไปแน่ (โควิด) ไม่อยู่ แต่ไม่ต้องตกใจ และการแข่งขันจะลดลงด้วยซ้ำ เพราะคู่แข่งจะลดลงเพราะว่าหลายธุรกิจหายไป หลายโรงแรมหายไป หลายบริษัททัวร์หายไป เพราะฉะนั้นคนก็ต้องสู้นะ แต่ว่าอย่าสู้ตายนะ อะไรที่ไม่รอดก็ยอมเลิกไป อะไรที่รักษาได้ก็ก็รักษาไว้ แต่ต้องเก็บชีวิตและลมหายใจไว้ ให้รอวันที่จะมา”

 

“ผมผ่านอายุมา 60 กว่า สิ่งที่ทำสำเร็จวันนี้ได้คือคำว่า อดทน ผมชอบพูดว่า ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราเชื่อ เรามีความฝัน ก็สามารถที่จะไปได้ แต่ไม่มีอะไรเป็นอย่างที่เราคิด คือพอจุดๆ หนึ่งก็มีสิ่งที่เราคาดไม่ถึง เพราะฉะนั้นเราต้องมีความฝัน
ถ้าเราไม่มีความฝัน หรือไม่มีความหวัง เหมือนใบไม้แห้งจากต้นไม้หล่นลงมาที่ต้นน้ำ และไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ คือเราก็ไหลไปเรื่อยๆ ท้อแท้ไป เพราะฉะนั้นก็ต้อง มีความฝันมีความตั้งใจ และว่ายทวนน้ำ แต่ขณะเดียวกันมันก็เต็มไปด้วยอุปสรรค แล้วมันก็ผ่านไปได้ ทุกคนผ่านไปได้ เรือเมื่อถึงท่าหัวก็ตรงเอง คือเราต้องมีความเชื่อมั่น”

 


  • 3.3K
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!