จากรายงานของ World Economic Forum และ Microsoft เรื่องตำแหน่งงานที่ต้องการในปัจจุบัน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลบนแพลตฟอร์มหางานชื่อดัง LinkedIn ใน 15 ประเทศพบว่า ตำแหน่งงานที่แต่ละบริษัท องค์กรเปิดรับสมัครหรือต้องการในปี 2021 คืองานที่สามารถทำจากนอกออฟฟิศได้ นายจ้างมองหาผู้สมัครงานที่สามารถใช้เทคโนโลยีทำงานประเภทต่างๆ จากนอกออฟฟิศเป็น
จากการประเมิน ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ความต้องการตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่ต้องการคุณสมบัติเหล่านี้เพิ่มขึ้นถึง 150 ล้านตำแหน่ง การเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานดังกล่าวถือว่าสวนทางจากงานประเภทอื่น ที่ส่วนใหญ่ความต้องการในตลาดจ้างงานลดลง จากผลกระทบของ COVID-19 และภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว
ทั้งนี้ COVID-19 ทำให้ความต้องการตำแหน่งงานประเภทดังกล่าวเพิ่มขึ้น ด้วยสาเหตุอย่างน้อย 3 ประการ
ประการแรก เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ผู้บริโภคลดการเดินทางออกไปซื้อสินค้านอกบ้าน ลดการไปซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าต่างๆ และหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เช่น ในสหราชอาณาจักร จำนวนผู้ซื้อของชำออนไลน์เพิ่มขึ้น 143% หรืออย่างในประเทศไทย ที่ COVID-19 ทำให้ธุรกิจ Food Delivery ในครึ่งปีแรกของ 2563 โตขึ้นถึง 150%
ประการที่สอง มาตรการล็อกดาวน์หรือจำกัดการเดินทางที่ถูกรัฐบาลใช้เพื่อลดการแพร่ระบาด ทำให้การไปทำงานในออฟฟิศของพนักงานมีความไม่แน่นอน ออฟฟิศเสี่ยงถูกปิดบ่อยครั้ง เช่นในไทยที่มีมาตรการล็อกดาวน์ 1 ครั้งในการระบาดรอบแรกเมื่อปี 2563 และมาตรการควบคุมเข้มข้นอีก 1 ครั้งในหลายพื้นที่ เมื่อเกิดการระบาดใหญ่รอบสองในต้นปี 2564 กระทั่งการระบาดครั้งล่าสุดในเดือน เม.ย. 2564 ที่รัฐมีมาตรการควบคุมในหลายพื้นที่
ประการที่สาม เมื่อผู้คนใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ก็หันไปแสวงหาความบันเทิงผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น เช่น ฟังพอดคาสท์ ดู YouTube เล่นเกมออนไลน์ เช่น ในปี 2563 YouTube ให้ข้อมูลว่า คนไทยใช้เวลาชมวิดีโอบน YouTube เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปี 2562
สำหรับตำแหน่งงานที่ถูกระบุว่าเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น 10 ประเภท ได้แก่ นักพัฒนาซอฟท์แวร์ พนักงานขายออนไลน์ ผู้จัดการโครงการ นักบริหารจัดการด้าน IT ผู้เชี่ยวชาญด้านดูแลลูกค้า ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ ผู้ช่วยเหลือด้าน IT (IT Support/Help Desk) นักวิเคราะห์ข้อมูล นักวิเคราะห์การเงิน นักออกแบบกราฟฟิก
จากประเภทงานที่ระบุข้างต้น จะเห็นว่าไม่ได้เป็นตำแหน่งงานประเภทใหม่ หากแต่เป็นตำแหน่งงานทั่วไป ที่มีในทุกองค์กร เพียงแต่ผู้ประกอบการในยุคนี้ต้องการพนักงานที่มีทักษะดิจิทัลเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และสอดคล้องกับการทำงานในสถานการณ์ COVID-19
ดังนั้นสำหรับนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย นักศึกษาพึ่งเรียนจบ ตลอดจนพนักงานที่ทำงานประเภทนี้อยู่แล้ว จำเป็นต้องตระหนักถึงความต้องการในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป และพัฒนาทักษะเหล่านี้ของตัวเองเพิ่มขึ้น นอกจากนี้สถาบันการศึกษาในแขนงวิชาเหล่านี้ ก็จำเป็นต้องปรับหลักสูตรให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานด้วย
เมื่อหันมาดูความพร้อมของประเทศไทย อาจต้องตั้งคำถามพอสมควร ว่าแรงงานมีทักษะสอดคล้องกับความต้องการเหล่านี้หรือไม่
จากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล ประจำปี 2563 โดย IMD (2020 IMD World Digital Competitiveness Ranking) ในปี 2563 ไทยถูกจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลอยู่ที่ 39 จาก 63 ประเทศทั่วโลก
โดยในการจัดอันดับ พิจารณา 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ด้านองค์ความรู้ ด้านเทคโนโลยี และด้านความพร้อมรองรับอนาคต ซึ่งพบว่าปัจจัยที่ประเทศไทยยังสามารถปรับปรุงได้อีกมาก ได้แก่ด้านองค์ความรู้ที่อยู่อันดับที่ 43 (เท่ากับปี 2562 ขณะที่ด้านเทคโนโลยีดีขึ้นจาก 27 มา 22 และด้านความพร้อมรองรับอนาคตดีขึ้นจาก 50 มาที่ 45)
เมื่อเจาะลึกลงไปในองค์ประกอบด้านปัจจัยความรู้ ประเด็นที่ไทยได้คะแนนน้อยหรือด้อยลง ได้แก่ด้านการศึกษาและฝึกอบรม ที่ไทยได้อันดับลดลงจาก 50 มาที่ 55
ทั้งนี้ยังสอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุด (เม.ย. 2564) จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ทำร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Thailand) เรื่องผลกระทบของ COVID-19 ต่อการจ้างงาน พบว่า ภาคเอกชนชะลอการจ้างงานจากปัญหา COVID-19 ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มอายุ 15-24 ปี โดยเฉพาะนักศึกษาปี 4 ที่กำลังจะเรียนจบเสี่ยงว่างงานกว่า 1.3 ล้านคน และวัยทำงานที่กำลังเสี่ยงว่างงานมากถึง 6 ล้านคน ทั้งนี้พบว่า ปัญหาหลักส่วนหนึ่งของการว่างงาน มาจากแรงงานจำนวนมากในปัจจุบันมีทักษะเชิงเดี่ยว กล่าวคือทักษะที่มีอยู่ไม่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อประกอบอาชีพอื่น
ผลสำรวจที่นำมาแสดงข้างต้นทั้งหมดได้ข้อสรุป 3 ข้อ
- ทุกอาชีพและตำแหน่งงานในอนาคตโดยเฉพาะยุคหลัง COVID-19 ต้องการทักษะดิจิทัล ภาคธุรกิจต้องการพนักงานที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีในเกือบทุกตำแหน่งงาน
- แรงงานไทยส่วนใหญ่ทั้งที่อยู่ในตลาดแรงงานอยู่แล้ว และกำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เสี่ยงตกงานเนื่องจากทักษะที่มีไม่รองรับต่อความเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถนำไปปรับใช้ในงานใหม่ๆ ได้ โดยเฉพาะขาดทักษะความพร้อมด้านดิจิทัล
- สถาบันการศึกษา และผู้กำหนดนโยบายการศึกษาและดิจิทัลของประเทศ ตลอดจนตัวแรงงานเอง ต้องเร่งพัฒนาทักษะเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและเศรษฐกิจไทยด้วย
ในยุคที่ตลาดแรงงานไร้พรมแดน ไม่ว่าแรงงานอยู่ในประเทศใด ก็สามารถทำงานได้ทั่วโลก โอกาสในการหางาน สร้างรายได้ จึงเปิดกว้างสำหรับแรงงานที่มีศักยภาพสูง มีทักษะที่ผู้ประกอบการทั่วโลกต้องการ ขณะเดียวกันสถานการณ์ดังกล่าวก็นำมาซึ่งการแข่งขัน หรือความท้าทายที่เพิ่มขึ้น สำหรับแรงงานทักษะต่ำหรือแรงงานที่ไม่พร้อมปรับตัว แรงงานไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้ครับ
แหล่งที่มา : marketingoops.com, bangkokpost , bangkokbiznews, bltbangkok.com, business.linkedin.com, imd.org, mckinsey.com, microsoft.com, nstda.or.th, thaipost, weforum.org