ช่วงสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ หากสังเกตจะเห็นว่า กระแส #แฮชแท็ก #เที่ยวทิพย์ ของคนไทยติดเป็นเทรนด์แฮชแท็กอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ เพราะเจ้าโควิดที่เข้ามา เล่นทำให้แผนเที่ยวพังไม่เป็นท่า ทั้งแผนเที่ยว แผนกลับบ้านต่างจังหวัด ต่างก็ต้องพับเก็บและอยู่แต่ในบ้านเพื่อเซฟตัวเองกันเป็นแถวๆ
แต่ในเมื่อออกไปเที่ยวจริงๆ ไม่ได้ งานนี้ #เที่ยวทิพย์ต้องมา! หรือการท่องเที่ยวแบบมโน ของชาวโซเชียลมีเดีย ซึ่งข้อมูลของ WISESIGHT (THAILAND) ค่อนข้างน่าสนใจ โดยจัดเก็บผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ในช่วงวันที่ 11-15 เม.ย.ที่ผ่านมา
ความน่าสนใจคือ กระแส #เที่ยวทิพย์ ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ยอด Engagement สูงถึง 8,000,000 engagement โดยพวกชาวโซเชียลมีเดียได้นำรูปภาพท่องเที่ยวจากทริปเก่าๆ กลับมาโพสต์ลงใหม่อีกครั้ง เป็นปรากฏการณ์ throwback บนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น บน Instagram 42%, Twitter 30%, Facebook 28%
ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่กระแส #เที่ยวทิพย์ ที่น่าสนใจเท่านั้น แต่ถ้าลองแยกเลเยอร์ดู จะเห็นว่ามีการจัดเป็นสถานที่ที่อยากไปมากที่สุด หรือสิ่งที่อยากทำมากที่สุด ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่ง คุณปราณี รอดศาสตร์ Data Research Analyst จาก WISESIGHT ได้เปิดเผยเป็น Top 5 ดังนี้
#สงกรานต์ทิพย์: 2,171,961 Engagement (29%)
แน่นอนว่าคนไทยส่วนใญ่อยากเล่นน้ำในเทศกาแบบนี้ ดังนั้น เทรนด์นี้จึงมาแรงเป็น No.1 จะพูดว่าเป็นวันสงกรานต์แบบ New normal ก็ว่าได้ ซึ่งความคิดเห็นของชาวโซเชียลส่วนใหญ่ คิดว่า วันสงกรานต์หากไม่ได้สาดน้ำกันก็ถือว่ายังไม่ใช่สงกรานต์จริงๆ อยู่ดี
อีกซ้ำสงกรานต์ปีนี้ ก็ถูกพับเก็บตามระเบียบเหมือนกับในปี 2563 เพราะเจ้าโควิดเล่นงานล่วงหน้าหยังกับตาเห็น ดังนั้น ความต้องการสูงสุดก็ยังคงเป็น #สงกรานต์ทิพย์ ตามนิยามของชาวโซเชียลนั่นเอง
#ทะเลทิพย์: 1,844,856 Engagement (23%)
ช่วงซัมเมอร์แบบนี้ #ทะเล ต้องเป็นสถานที่แรกๆ ที่อยู่ในความคิดของหลายๆ คนแน่นอน ดังนั้น น้องโควิดมาก็ต้องพับแพลนเที่ยวไม่ต่างกัน ไหนจะกิจกรรมดำน้ำเอย นั่งเรือข้ามเกาะเอย ซึ่งการท่องเที่ยวทะเล มีภาพโพสต์จากทะเลสวยๆ ก็เป็นกิจกรรมอันดับต้นๆ ของชาวโซเชียลอยู่แล้ว เลยทำให้ throwback No.2 ตกเป็นของ #ทะเลทิพย์
#ต่างประเทศทิพย์: 1,361,645 Engagement (17%)
อาการร้อนๆ ในช่วงวันหยุดยาว มีคนไทยหลายคนที่เลือกหนีร้อนไปพึ่งเย็นในต่างประเทศ ประเทศใกล้ๆ อย่าง ญี่ปุ่น ก็มักจะเป็นหนึ่งในทริปเที่ยวของคนไทยมาตลอดเกือบทุกฤดูกาล ดังนั้น throwback ภาพจากต่างประเทศต้องมา เป็นการปลอบใจตัวเองเป็นนัยๆ ด้วยแฮชแท็ก #ต่างประเทศทิพย์ มาเป็นอันดับ 3
#อ่อยทิพย์: 938,131 Engagement (12%)
ไม่ว่าจะเทศกาลอะไรก็ตามมักจะทำให้คนเรารู้สึกเหงาได้เสมอ ยิ่งไม่ได้เดินทางกลับบ้าน ไม่ได้ท่องเที่ยวแบบนี้ ดังนั้น เทรนด์แฮชแท็กอันดับ 4 จึงตกเป็นของ #อ่อยทิพย์ เพราะนอกจากจะช่วยให้คลายเครียดได้ สร้างความบันเทิงได้ เผลอๆ ได้แฟนกลับมาด้วยปิดจบเทศกาลไปเลย
โดนอ่อยทิพยี่เห็นบ่อยๆ ในโซเชียลมีเดีย เช่น “แดดร้อนอ้อนใครได้บ้าง”, “อยู่อย่างเหงาๆ อยากไปหาเขาอีกแล้ว” หรือ “ไม่มีหรอก “เราชนะ” มีแต่ เราชอบนะ เธอชอบไหม” เป็นต้น
หยุดทิพย์: 488,605 Engagement (6%)
ในช่วงวันหยุดที่ยังต้องทำงานตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ต้องหยุด หรือคนอื่นก็หยุดกันหมดไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว ดังนั้น แฮชแท็กไว้อาลัยให้กับกลุ่มคนที่ไม่ได้หยุดทำงานด้วย #หยุดทิพย์ จึงติดเป็น Top 5 กับเขาด้วยเช่นกัน นี่แหละน่าที่หลายๆ คนพูดว่า “วันหยุดที่ไม่มีอยู่จริง”
เทรนด์เที่ยวทิพย์ของชาวโซเชียลมีเดียไม่ได้หยุดอยู่ที่ Top 5 ที่ยกตัวอย่างข้างบน ยังมีสิ่งอื่นที่อยากได้อยากทำอีก เช่น #เงินทิพย์ (4%), #ภูเขาทิพย์ (3%), #ช้อปปิ้งทิพย์ (1%) และ #ดื่มทิพย์ (1%) จะว่าไปดีมานด์ที่ซ่อนอยู่เหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจพฤติกรรม และความคิดของผู้บริโภคได้ส่วนหนึ่ง อย่างน้อยๆ คงเป็นทิศทางได้บ้างว่าการตลาด แคมเปญ หรือโปรโมชั่น หลังจากที่สถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้นควรเป็นแบบไหน
ข้อมูลโดย WISESIGHT (THAILAND)