หลายคนอาจเริ่มต้นรู้จัก Potato corner (โปเตโต้ คอร์นเนอร์) จาก ‘พีช-พชร จิราธิวัฒน์’ ทายาทเครือเซ็นทรัล แต่น้อยคนจะทราบว่า ผู้ที่ทำให้แบรนด์นี้ติดตลาดและเติบโตเร็วจนเป็นแบรนด์ที่ถูกจับตามอง มี ‘ป๋อง-ชยภัทร ทองเจริญ’ CEO หนุ่มวัย 27 ปี แห่ง ร็อคส์ พีซี เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่ง Marketing oops! จะพาไปพูดคุยกับเขาแบบ Exclusive ถึง Key success ที่ทำให้ Potato corner ปักธงธุรกิจในไทยได้อย่างสวยงาม รวมไปถึงข้อคิดต่าง ๆ ในการทำธุรกิจสไตล์คนรุ่นใหม่ที่อายุและประสบการณ์ไม่ใช่ข้อจำกัด
“ผมไม่ปฏิเสธว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากพีช และหลาย ๆ อย่างที่เราสำเร็จได้ก็เพราะโชคช่วย แต่ที่สำคัญจริง ๆ และไม่ใช่เรื่องซับซ้อน คือ เราขายโปรดักท์ที่อร่อย มีคุณภาพ ตอบโจทย์ลูกค้า เข้าถึงง่ายและมีเซอร์วิสดี สุดท้ายลูกค้าก็เข้ามา ยกตัวอย่าง ผมนำขนมที่แปลกๆ จากประเทศที่คนไทยไม่ค่อยไป แม้จะมีคุณภาพอันนั้นอาจไม่เวิร์ก”ป๋อง-ชยภัทร เริ่มต้นเล่าให้เราฟัง
ทุกอย่างเริ่มต้นที่ ‘ผู้บริโภค’ ไม่ใช่ ‘กระแส’
ย้อนไปเมื่อเดือนเมษายน 2559 Potato Corner ร้านเฟรนฟรายส์คลุงผงปรุงรสชื่อดังจากฟิลิปปินส์ได้เข้ามาทำตลาดในไทย ภายใต้การบริหารของ ‘บริษัท ร็อคส์ พีซี จำกัด’ เปิดสาขาแรก ณ เซ็นทรัลเวิล์ด โดยปัจจุบันมีสาขารวม 57 สาขา และภายในปีนี้มีแผนจะเปิดเพิ่มอีกอย่างน้อย 14-15 สาขา
การเลือก Potato Corner เข้ามา ป๋อง-ชยภัทร บอกว่า ไม่ใช่ต้องการกระแส แต่เป็นเพราะเฟรนฟรายส์เป็นอะไรที่คนไทยคุ้นเคยและทานได้บ่อย ซึ่งตอบโจทย์ที่วางไว้ตั้งแต่เริ่มต้นของทำธุรกิจที่อยากได้แบรนด์ที่คนไทยเข้าถึงง่าย มีความอร่อย มีคุณภาพ และสามารถซื้อซ้ำบ่อย ๆ ได้ โดยวิธีการทำตลาดและการเข้าถึงลูกค้าของ Potato Corner ในไทยจะมีความเป็นพรีเมียม ต่างจากต้นตำรับในฟิลิปปินส์ที่จะแมสและมี format ร้านหลากหลายตั้งแต่ร้านไปจนถึงบูธเล็ก ๆ และรถเข็น
“แต่ละตลาดมีความแตกต่างกัน ไม่มีอะไรที่จะ fit in ได้ในทุกตลาด ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การทำความเข้าใจตลาดและ insight ผู้บริโภคในตลาดของตัวเองให้ดี ยกตัวอย่าง บอนชอน แบรนด์ที่ป๋อง-ชยภัทร ชอบในวิธีการทำตลาดเป็นการส่วนตัว โดยแบรนด์นี้ในต่างประเทศจะเหมือน fast food แต่พอเข้ามาในไทยมีความเป็นพรีเมียม ขายของคุณภาพ เพราะลูกค้าในไทยชอบของมีคุณภาพมีความพรีเมียม”
สำหรับ Potato Corner การทำความเข้าใจตลาดและ insight ผู้บริโภคถูกนำมาใช้ในหลายด้าน เช่น การเลือกใช้ทุกอย่างในเกรดที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ ไปจนถึงตู้ทอดก็สั่งทำพิเศษมาจากสหรัฐอเมริกา รวมถึงโปรดักท์ต่าง ๆ ที่ทางพยายามลอนช์ออกมาตลอดในไทย อาทิ ไก่ซุปเปอร์ป็อบ , ข้อไก่ทอด และหนังไก่ทอด ฯลฯ ทั้งหมดเป็นโปรดักท์ที่พัฒนาขึ้นมาเองจากการทำความเข้าใจลูกค้าในไทยที่พบว่า เป็นสแน็คที่คนไทยคุ้นเคย ทานง่ายและทานได้ตลอด
โดยการทำความเข้าใจตลาดและ insight ผู้บริโภค ของ ป๋อง-ชยภัทร ไม่ได้อ่านจากรีเสิร์ชเพียงอย่างเดียว ทว่าจะลงไปคลุกคลี และสำรวจด้วยการลงสนามจริง สัมผัสลูกค้าจริง ๆ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียงเขาคนเดียวที่ทำ แต่ถูกวางให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร และเป็นหนึ่งใน key success ที่ทำให้ Potato Corner ประสบความสำเร็จได้รวดเร็ว
ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิล์ด เขาใช้เวลาอยู่ที่นั้นตั้งแต่ห้างเปิดจนปิดเป็นเวลา 9 เดือน ไปทานทุกร้านที่สามารถทำได้ โดยเฉพาะร้านที่มีความใกล้เคียงกันกับ Potato Corner เพื่อให้เข้าใจตลาดและลูกค้า และเมื่อเปิดสาขาแรกไปแล้ว กว่า 5 เดือนได้ลงไปคลุกคลีและทำงานอยู่ที่ร้านตลอด โดยในช่วงว่าง ก็จะใช้เวลาไปนั่งดูลูกค้าว่า มีพฤติกรรมอย่างไร
“สิ่งที่ได้ insight มา คือ เมื่อลูกค้ามีปัญหา ทางร้านต้องเข้าจัดการทันที เช่น ไม่ว่าเฟรนฟรายส์จะทอดสดใหม่แค่ไหน เมื่อลูกค้าบอกไม่กรอบ ในฐานะเจ้าของร้านจะมีความคิดว่า จะไม่กรอบได้ไง ทอดสดใหม่ทุกวัน แต่สำหรับผมเมื่อลูกค้าไม่ Happy ก็คือไม่ Happy เพราะของเราอาจไม่ได้มาตรฐานตามที่เขาคิด เราต้องแก้ไขและเป็นที่มาของนโยบาย Happy Sure เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าจากหน้าร้านไม่ว่าจากสาขาใดก็ตาม หากไม่พอใจสินค้าและกินไปไม่ถึงครึ่ง สามารถนำมาเปลี่ยนฟรีได้ทันที เพียงต้องเก็บใบเสร็จและอยู่ภายในวันเดียวกันกับวันที่ซื้อสินค้าไป”
ต้องเข้าถึงได้ง่าย อย่าให้ลูกค้าตามหา
การเลือกโลเคชั่นในการเปิดร้าน ถือเป็นอีก Key success ของ Potato Corner ในไทย โดยย้อนกลับไปถึงโจทย์และกลยุทธ์ตั้งแต่วันแรกของการทำธุรกิจ คือ ต้องการให้ลูกค้าเข้าถึงง่าย ทานได้ตลอด และต้องเกิดการ Repeat หรือซื้อซ้ำบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นใคร หรืออายุเท่าไรก็ตาม ดังนั้น โลเคชั่นที่เลือกต้องดีจริง ๆ นั่นคือ ทราฟฟิกดี มีคนเห็นเยอะ เข้าถึงง่าย หากไม่ได้ก็พร้อมจะรอไม่ว่าจะนานเท่าไร
“ก่อนหน้านี้เราเคยพลาด เห็นห้างดีก็เริ่มไปเปิด สุดท้ายไม่เป็นอย่างที่คิด จากนั้นเราเลือกโลเคชั่นดีจริง ๆ มีห้างนึงต้องรอ 3 ปีเราก็รอ นอกจากนี้อย่าเชื่อมั่นเกินไป เพราะมีหลายแบรนด์ที่ดังในต่างประเทศเข้ามาเป็นกระแส พอขายดีแล้วดังแล้ว ต้องให้ลูกค้าตามหา พวกนี้พักเดียวก็หายไป
ประเด็นของผม คือ เราต้องเสิร์ฟลูกค้าได้ตลอดเวลา ให้ลูกค้าเข้าถึงและเจอง่ายที่สุด ตอนนี้เราตอบโจทย์ลูกค้าได้ระดับนึง แต่ยังเข้าถึงคนไม่ได้ทุกกลุ่ม หลัก ๆ ลูกค้าเราเป็นคนรุ่นใหม่ กลุ่มที่พร้อมเปิดรับและลองสิ่งใหม่ ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ต้องทำต่อไป เพราะเราต้องการเข้าถึงลูกค้าให้ได้ทุกกลุ่มเท่าที่จะทำได้”
ถามตัวเองก่อน อยากทำธุรกิจหรือไม่ หากแน่ใจให้เริ่มทันที
สำหรับข้อคิดหรือคำแนะนำที่อยากฝากให้กับคนรุ่นใหม่ หรือบรรดาสตาร์ทอัพที่อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ทางชยภัทรอยากให้เริ่มต้นจากถามตัวเองและคิดดี ๆ ก่อนว่า อยากทำธุรกิจจริงหรือไม่ มีความมุ่งมั่นทุ่มเทแค่ไหน ส่วนใครอยากรวยจึงต้องการทำ ความจริงยังมีอีกหลายทางให้เลือก เพราะไม่มีอะไรที่จะทำให้เราเครียดและโทรมได้เท่ากับทำธุรกิจของตัวเองแล้ว ที่สำคัญการทำงานหนัก ทำทุกอย่างที่คิดและวางแผน ก็ไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จ
แต่หากมั่นใจอยากทำจริง ๆ มีความมุ่งมั่นทุ่มเท พร้อมเสี่ยง ควรเริ่มลงมือให้เร็วที่สุดในช่วงอายุยังน้อย ๆ เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ไม่มีภาระ ไม่มีอะไรให้กังวลมาก เจ๊งก็เจ๊งไป เริ่มต้นใหม่ได้ ต่างจากการเริ่มต้นทำธุรกิจในช่วงอายุเยอะ ๆ เพราะจะมีภาระ มีคนต้องการพึ่งพาเรามากขึ้น ทำให้บางครั้งไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรใหม่ ๆ
อย่างที่ ร็อคส์ พีซี ทีมส่วนใหญ่อายุน้อย โดยในระดับ C Level ทุกคนอายุประมาณ 27 ปี ยังอยู่ในวัยเริ่มต้น ไม่มีครอบครัว โฟกัสงานได้เต็มที่ มีความมุ่งมั่นและทุ่มเท กล้าลองกล้าเสี่ยง ซึ่งในส่วนนี้ได้ถ่ายทอดไปถึงคนในองค์กร ด้วยการเปิดโอกาสให้ผิดพลาดได้ แต่ขอให้การผิดพลาดนั้นเป็นการเหยียบ ‘หนาม’ ไม่ใช่ ‘กับระเบิด’ และต้องเรียนรู้ให้เร็วเพื่อแก้ไขในอนาคต
“เส้นทางธุรกิจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่เหมือนตอนเรียนที่คุณอ่านหนังสือ ตั้งใจเรียน ทำตามอาจารย์สั่ง ก็สามารถจบได้ และที่เคยได้ยินว่า เด็กไม่มีประสบการณ์เป็นเจ้าของธุรกิจไม่ได้ มันไม่จริง อย่างผมเองเรียนจบปริญญาตรีตอนอายุ 22 ปีก็เริ่มเลย และพร้อมลอง พร้อมเสี่ยง เรียนรู้ให้เร็วกับความผิดพลาดต่าง ๆ แค่ขอว่า ความผิดพลาดนั้นอย่าเป็นการเหยียบกับดักระเบิดให้เจ็บตัวหนักก็พอ”
หากถามว่า ณ วันนี้พอใจกับความสำเร็จของตัวเองแค่ไหน ป๋อง-ชยภัทรตอบว่า ในระดับหนึ่ง เพราะตอนนี้ทำในสิ่งที่วางแผนไว้ได้แค่ 1ใน10โดยภายใน 5 ปีต่อจากนี้จะเห็นอะไรอีกมากมายทั้งในส่วนของ ร็อคส์ พีซี ภายใต้เป้าหมายของบริษัท คือ Foods that elevate your moments การสร้างสรรค์อาหารที่จะทำให้ทุกช่วงเวลาของทุกคนดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใคร อายุเท่าใด และอยู่ที่ไหนก็ตาม เช่น การนำแบรนด์ใหม่เข้ามาเสริมพอร์ต เป็นต้น
รวมไปถึงการพัฒนา Potato Corner อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นแบรนด์แฟลกชิพที่จะทำให้ก้าวสู่เป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งทั้งหมดเป็นความท้าทายที่ทางป๋อง-ชยภัทรอยากให้ลองติดตามดูว่า จะสำเร็จได้หรือไม่