ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดคลิกนิกให้คำปรึกษา SME ไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกของการเปิดบัญชีสู่โซเชียลมีเดีย และยังนับเป็นครั้งแรกกับการให้สัมภาษณ์สด ผ่าน #Clubhouse โดยมีทั้งแสดงวิสัยทัศน์เรื่องการสนับสนุสตาร์ทอัปไทย และการทำธุรกิจอย่างไรให้อยู่รอดในยุคโควิด-19 พร้อมให้คำปรึกษากลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทยแบบสดๆ กับ “หนุ่ย พงศ์สุข แบไต๋” ทำหน้าที่ Moderator ซึ่งพบว่า ในห้องดังกล่าวยังมีเหล่าคนดังได้ร่วมเข้าไปฟังด้วย อาทิ คุณหญิงหน่อย สุดรัตน์ นักการเมือง, เหม็ง สมโภชน์ อดีต MD Dtac Accelerate, สรกล อดุลยานนท์ นักคิดและนักเขียนเจ้าของนามปากกา “หนุ่มเมืองจันทร์” เป็นต้น โดยมีใจความสำคัญที่น่าสนใจดังนี้
เจ้าสัวชื่นชม คนฟัง Clubhouse คือแหล่งของคนที่อยากเรียนรู้
ธนินท์ ซึ่งไม่เคยมีบัญชีโซเชียลมีเดีย แต่ตัดสินเปิดแอคเคาท์ Clubhouse เป็นครั้งแรก พร้อมพูคุยแสดงวิสัยทัศน์แบบสดๆ กับผู้ร่วมรับฟัง ซึ่งเต็มพิกัด 8,000 คนในเวลาไม่นาน โดย ธนินท์ กล่าวถึงการตัดสินใจร่วมสนทนาใน Clubhouse ว่า เป็นเพราะจากที่สังเกตผู้คนที่เข้ามาใน Clubhouse เป็นกลุ่มคนที่สนใจและตั้งใจอยากจะเข้ามาจริงๆ ในห้องแต่ละห้อง ถึงจะเข้ามาฟังได้ ซึ่งคิดว่าเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะในเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเก่าอีกแล้ว และเราต้องเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กับคนรุ่นใหม่ด้วย ซึ่งเราเป็นคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ก็น่าจะเป็นประโยชน์ให้กับพวกเขาได้ แม้จะเป็นธุรกิจแบบเก่าล้าสมัยไปแล้ว แต่รวมๆ ก็คือการบริหารคน ลงลึกในการทำธุรกิจ มีความรู้จริง ซึ่งตนเองถนัดในเรื่องธุรกิจ “ตัวหนัก” แต่ก็กำลังพัฒนาตัวหนักให้เป็น “ตัวเบา” ต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่น การทำธุรกิจโลจิสติก เป็นของใหม่ที่ต้องเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ ซึ่งตนก็พร้อมจะเรียนรู้และมาปรับใช้กับธุรกิจในเครือ
“ส่วนตัวชอบมากสนใจในธุรกิจสตาร์ทอัป ทุกวันนี้ธุรกิจเปลี่ยนเร็วชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ยิ่งเจอโควิด-19 ก็ยิ่งเร็วกว่าเดิม ยุคนี้มีหลายเรื่องที่ทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้นกว่าเดิม จริงๆ ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ซึ่งถ้าไม่ใช่โควิดก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ช้า วิกฤตนี้ทำให้ทั่วโลกมีปัญหา ซึ่งวิกฤตก็นำมาซึ่งโอกาสด้วย ซึ่งผมชอบมองว่าวิกฤติกคือโอกาส มันคือสิ่งที่คู่กัน ชีวิตผมได้เรียนรู้และต้องเข้าใจตัวนี้เป็นอย่างดี”
เมื่อถามว่าวิกฤตโควิด-19 รุนแรงกว่า “ต้มยำกุ้ง” หรือไม่ ธนินท์ กล่าวว่า โควิดมันรุนแรงกว่า เพราะมันกระทบไปทั่วโลก ต้มยำกุ้งอยู่ในเขตจำกัด คือเริ่มที่ไทย เอเชีย ซึ่งไทยเองก็ไม่ใช่ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก เพราะฉะนั้นยุโรปหรืออเมริกาก็ไม่สะเทือน ต้มยำกกุ้งมีแต่ไทยที่เสียหายเท่านั้น แล้วตอนนั้นผู้นำประเทศไทยก็ไม่เป็น วางนโยบายการเงินผิดพลาด และไม่ได้เข้าใจวิกฤตอย่างแท้จริง
ยุค “เถ้าแก่เกิดใหม่” ยุคของสตาร์ทอัป
ธนินท์ กล่าวถึงวงการสตาร์ทอัปว่า มีสตาร์ทอัปหลายคนที่ต้องการมาลงทุนและใช้ชีวิตในประเทศไทย เพราะเป็นประเทศที่น่าลงทุน น่าทำธุรกิจไฮเทค 4.0 มาก เพราะอย่าลืมว่าตอนนี้เราสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เมื่อ 20 ปีก่อน ตนได้ไปร่วมทุนกับต่างชาติก็เปิดคอลเซ็นเตอร์คอยตอบคำถาม ซึ่งจ้างพนักงานอินเดียมาคอยตอบคำถามภาษาอังกฤษแต่คนก็คิดว่าไปเปิดที่อเมริกา แต่จริงๆ แล้วเปิดที่อินเดียให้คนอินเดียทำซึ่งต้นทุนถูกกว่า แล้วเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีดีกว่า ดังนั้นจะทำงานที่ไหนก็ได้แล้วเหมือนกัน แต่ปัญหาของสตาร์ทอัปในเมืองไทยก็ยังติดขัดอยู่
“วันนี้คนไทยเราขาดสตาร์ทอัปดีๆ เพราะขาดการเงินไปสนับสนุน ยิ่งโควิดยิ่งเงินเหลือน้อยก็ไม่รู้จะไปลงทุนอะไร แต่วันนี้มันยุค 4.0 แล้ว ธุรกิจจะต้องเปลี่ยนชนิดหน้ามือหลังมือ เป็นยุค “เถ้าแก่เกิดใหม่” สมัยของผมก็เรียกเถ้าแก่ เป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัปก็คือเถ้าแก่นี่แหละ เมืองไทยมีคนเก่ง แต่ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ รัฐเห็นว่าสำคัญแต่ยังส่งเสริมไม่ถูกทางหรือส่งเสริมไม่เป็น ทำให้สตาร์ทอัปหลายคนรวมทั้งคนไทยที่เก่งๆ ไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์บ้าง ฮ่องกงบ้าง หรือพวกกองทุนก็ไม่มาเมืองไทย เพราะรัฐบาลจะเก็บภาษีเขาเอารายได้จากเขา แต่การลงทุนมันเสี่ยงถ้าเขาล้มก็ไม่มีใครช่วย ดังนั้น ถ้าไทยทำได้ก็ควรดึงคนเก่งๆ จากทั่วโลกทั้งนักลงทุนและสตาร์ทอัปมาที่ไทย”
ผลักดันปรับปรุงภาษี เปิดทางนักลงทุน–สตาร์ทอัปเมืองนอกเข้าไทย
นอกจากนี้ ธนินท์ ยังแสดงวิชั่นว่าเป็นไปได้ที่อนาคตจะไม่มีคำว่า “แรงงาน” เพราะว่าต่อไปจะใช้เทคโนโลยีกันหมดแล้ว จะมีแต่ช่างเทคนิก มีแต่วิศวกร ใช้หุ่นยนต์ในการทำงาน ไม่ต้องมีสวัสดิการ ไม่มีสหภาพแรงงาน และประเทศที่เจริญก็อาจจะไม่มีเกษตรกร การขายสินค้าก็จะง่ายขึ้น เพราะสามารถหาวัตถุดิบ แมททีเรียลได้ง่าย แค่เพียงเข้าไปดูในเว็บไซต์ว่าประเทศไทยมีสินค้าอะไรบาง เปรียบเทียบราคาคุณภาพได้ด้วย ไม่ต้องมีพนักงานไปสืบราคาแล้ว
“ผมคิดว่าประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาส โดยเฉพาะสตาร์ทอัป แต่รัฐบาลต้องเข้าใจด้วย การไปเก็บภาษีทำให้การลงทุนในสตาร์ทอัปเข้ามายาก วันนี้เราขาดแคลน ซึ่งคนไทยเองก็ต้องมองใหม่ มองว่าเขาไม่ได้มาแย่งอาชีพคนไทย ซึ่งต้องบอกว่าคนเหล่านี้สร้างยากดังนั้นทำไมเราไม่เปิดให้เขาเข้ามาล่ะ ซึ่งถ้าเขาเข้ามากันเยอะๆ ทั้งนักลงทุและสตาร์ทอัปต่างประเทศ ก็จะดึงให้คนไทยเก่งขึ้นไปด้วย จะมาลงทุนไทยต้องไม่เสียภาษี”
มั่นใจหลังโควิด การท่องเที่ยวจะกลับมาแบบทวีคูณ
วันนี้กับธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้ เพราะโควิดก็ดี หรือเพราะติดขัดด้วยปัญหาต่างๆ อยากให้คำแนะนำว่าจะไปต่ออย่างไรดี ธนินท์ แนะนำว่า จะต้องไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมก่อน เช่น วันนี้เราขายกระเป๋าเดินทางไม่ได้ เพราะว่าทั่วโลกไปไหนไม่ได้ แต่ในธุรกิจเกี่ยวกับกระเป๋าเดินทาง มีอะไรที่ทำสำเร็จบาง เช่น อาจจะต้องเปลี่ยนแผนธุรกิจก็ได้ แต่ไม่ใช่เปลี่ยนธุรกิจชนิดหน้ามือหลังมือแล้วไปทำในเรื่องที่เราไม่เข้าใจ ซึ่งถ้าเป็นตนเองก็จะไปต่อยอดกระเป๋าเดินทางที่ไปไม่ได้ ซึ่งเราอาจจะใช้เทคโนโลยี ความรู้ของเราที่มีอยู่ มาปรับใช้ คือถ้าวันนี้ไม่เดินทางแต่เรามีระบบโลจิสติกที่ดีก็อาจเปลี่ยนเป็นกระเป๋าที่ส่งถึงบ้าน เช่น กระเป๋าเก็บความร้อนเก็บความเย็น ปรับไซส์บรรจุ หรือเปลี่ยนแพ็กเก็จ ปรับให้มันต่อยอดไปได้ แต่อย่าทิ้ง ต้องเลี้ยงธุรกิจไว้
“อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าหลังโควิดทุกอย่างจะดีขึ้นโดยเฉพาะการท่องเที่ยว ดังนั้นต้องเลี้ยงธุรกิจไว้ อย่าปล่อยให้มันล้มหายตายจากไป แล้วผมเชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาแบบทวีคูณด้วย อย่างที่บอกว่าเพราะตอนนี้เราจะไปไหนก็สะดวก ทำงาที่ไหนก็ได้แล้ว”
พร้อมร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัปที่เป็นของใหม่ และใช้เทคโนโลยีเป็น
ธนินท์ ยังกล่าวถึงแผนการตั้งกองทุนสตาร์ทอัป มูลค่า 3 พันล้านบาท หรือ 100 ล้านเหรียญฯ ว่า ยังทำอยู่แต่ตอนนี้อาจจะติดกฎเกณฑ์บางอย่าง พร้อมกับบอกว่า สตาร์ทอัปที่เลือกจะลงทุนด้วย ต้องดูมีคุณสมบัติหลักๆ คือ มีความเป็น 4.0 และใหม่ไม่มีใครเลยทำ
“ผมจะดูว่าเป็น 4.0 หรือเปล่า และต้องเป็นแบบใหม่ ถ้าไปลงทุนแบบเก่าจะไปสู้เขาได้ไง ต้องทำของใหม่ หรือถ้าสู้คนเก่าไม่ได้ ก็เอาไปต่อยอด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะขาดความรู้ ดังนั้น กองทุนที่มีคือนอกจากจะให้เงินแล้วก็ต้องสอนเขาให้ความรู้ด้วย ให้เงินอย่างเดียวไม่พอ ก็ต้องหาตลาดให้ด้วย เช่น เขาผลิตสินค้ามาก็อาจจะดูว่าเหมาะกับเซเว่นไหม ต้องเป็นของดีราคาถูก ไปช่วยบริหารช่วยส่งเสริมด้านการขาย เพราะเรามีประสบการณ์ เราก็นำมาประยุกต์ใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น”
นอกจากนี้ ธนินท์ ยังชี้ว่าในอนาคตการซื้อขายจะง่ายขึ้น เพราะว่าวัตถุดิบหาซื้อง่าย ซื้อได้บนเว็บไซต์หมดแล้วและยังซื้อจากประเทศไหนก็ได้ มันง่ายขึ้น แต่เราต้องศึกษาให้ดีก่อน อยากฝากสตาร์ทอัปว่าต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนจะทำอะไรก็ตาม ข้อมูลการตลาดก็ต้องดู ดูว่าตลาดต้องการอะไร มีคนเคยทำไม แล้วเขาดีอย่างไรเราเอามาต่อยอดหรือไม่ หรือในทีมของเราขาดคนแบบไหนต้องหาใครมาเสริมทีมไหม หรืออาจจะเชิญทั่วโลกมาผนึกกำลังร่วมมันทำก็ได้ เพราะวันนี้เราไม่อาจจะเก่งคนเดียวได้แล้ว แต่ต้องเก่งเป็นทีมมาช่วยกันคิดช่วยกันทำ และสุดท้ายคือต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
“ชี้แนะแต่ไม่ชี้นำ” เปิดโอกาสให้ลองผิดลองถูกได้
นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับการวีในการปลุกพลังพนักงานในองค์กรว่าจะทำอย่างไรภายใต้การนำของเรา ซึ่ง ธนินท์ กล่าวว่า ต้องติดว่าวทีมงานเราเหมาะกับอะไร เราต้องไปศึกษา และต้องมีเป้าหมาย แล้วต้องให้อำนาจเขาในการทำงาน ให้โอกาสได้ลองผิดลองถูก ไม่มีใครทำของใหม่แล้วจะถูกต้องตังแต่ครั้งแรก สตาร์ทอัปหลายที่ก็เป็นแบบนี้ แต่ผิดแล้วต้องแก้ แต่สำคัญคือต้องให้อำนาจเขาในการตัดสินใจด้วยไม่ใช่ไปบงการเขา ให้โอกาส ให้เงิน แล้วต้องยอมรับ
“ชี้แนะแต่ไม่ชี้นำ ถ้าไปบอกให้เขาทำอะไรหมดเราก็ทำเองไม่ดีกว่าเหรอ ดังนั้น เรามีห้าที่ที่จะสนับสนุนติดตามและเรียนรู้ ที่สำคัญเลยเหมือนยิงนกสองตัว คือคนรุ่นเก่าก็ได้เรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ด้วย เป็นเรื่องปกติ ถ้าทำผิดก็เพราะทำมาก ไม่ผิดคือไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีที่ไหนราบรื่น ดังนั้น กองทุนก็ต้องเข้าใจสตาร์ทอัปด้วย เพราะถ้าเขาสำเร็จเราก็ได้ด้วย ส่วนตัวผมเป็นคนชอบเรียนรู้และต่อยอด”
ยอมรับปฏิเสธร่วมลงทุนกับ “แจ็คหม่า” ไม่งั้นป่านนี้รวยไม่รู้เรื่อง
ทั้งนี้ ในช่วงของการเปิดให้ผู้ฟังเข้ามาถามคำถาม ซึ่งเป็นการถามตอบแบบสดๆ ไม่ได้มีการดูคำถามล่วงหน้าแต่อย่างใด ท่อนหนึ่งของคำถามมีการถามว่า เมื่อสมัยเป็น SME ตัวเล็กๆ ในบรรดานักลงทุนทั้งหมด 22 ราย เขาได้ใส่รายชื่อนักลงทุนไว้ ซึ่งคนๆ แรกที่เขาได้เดินทางมาหาถึงที่ คือ “ธนินท์” เพื่อขอทุนตั้งบริษัท Alibaba แต่ก็ได้ปฏิเสธไป ซึ่ง “แจ็คหม่า” บอกว่าถ้าอยากทราบเหตุผลให้มาถามทาง “ธนินท์” เอง สำหรับคำตอบของคำถาม เจ้าสัวเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้นให้ฟังเป็นครั้งแรกว่า
“ผมยังทบทวนถึงวันนี้เลย ตอนนั้นผมก็ไปเข้าคอร์สอีคอมเมิร์ซที่ฮ่องกงเลย จบคอร์สมา พบก็รู้จักแจ็คหม่า เป็นอย่างดีเลย หรือแม้แต่ผู้บริหารซอฟท์แบงก์ก็มา ผมก็เสาะหาอยากจะเข้าไปลงทุนสตาร์ทอัปเก่งๆ แต่พอเจอเข้าไปจริงๆ ผมฟังไม่รู้เรื่อง
ต้องยอมรับอย่างนี้ เพราะผมทำตัวหนักมาตลอด ตอนผมฟัง ผมคิดว่าเอ๋..แจ๊คหม่า คุณเพ้อฝันหรือเปล่า ทุกอย่างมันมีเหตุมีผล แต่ผมมองไม่เห็นตัวตนเลย คุณบอกว่า ภูเขานี้เป็นทอง ผมมองไปทีไร ก็เป็นต้นไม้ กับก้อนหิน เหมือนวันนี้ บิทคอยน์ ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเนื้อแท้ มา 3 ปีแล้ว ผมก็เสียเงินไปนิดหน่อยนะ ประมาณ 7 ล้านยูเอส แต่วันนี้ผมยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้เลย ยังกำลังเรียนรู้อยู่ ถ้าไม่อย่างนั้นตอนนี้ผมรวยไม่รู้เรื่องแล้วครับ
ผมรู้จักแจ็คหม่าต้นๆ เลย ผมคุยกับแจ็คหม่าไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่เขาไม่รู้เรื่องนะ แต่ผมไม่รู้เรื่อง ผมยอมรับตรงนี้ แต่ผมนับถือเขานะ”