ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา หลายคนเริ่มเห็นบนหน้าฟีด ว่ามีการพูดถึง Clubhouse กันเยอะมาก มีการรีเควสขอให้ช่วยเชิญไปเล่น Clubhouse หน่อยนะ อยากจะเล่นจัง อยากเข้าไปฟัง เสียงคนทางโน้นหนาวคนทางนี้จริงหรือเปล่า? ซึ่งก็ทำให้หลายคนสงสัยว่า Clubhouse ที่ว่านี้มันคืออะไร เป็นเกม หรือเป็นบาร์ลับ เปิดรับเฉพาะเมมเบอร์เหรอ? วันนี้เราจะมาช่วยทำให้หลายคนคลายสงสัยกันว่า แท้จริงแล้วมันคืออะไร และทำไมมันถึงฮือฮามาได้ในเวลาไม่นาน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง |
Clubhouse คืออะไร? แนะนำวิธีใช้งาน Clubhouse ง่ายๆ จากประสบการณ์จริง! |
เปิดสถิติ Clubhouse ปังไม่ไหว #Top5 ใน App Store – เครือข่ายสังคมออนไลน์ #Unicorn น้องใหม่ในวงการสตาร์ทอัพ |
ทำความรู้จัก Clubhouse เป็นแอปฯ โซเชียลใหม่มาแรง
Clubhouse เป็นแอปโซเชียลสำหรับแชทด้วยเสียงที่ต้องได้รับเชิญเท่านั้นถึงจะร่วมได้ เปิดตัวเมื่อปี 2020 โดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ Alpha Exploration Co. ซึ่งแตกต่างไปจากโซเชียลมีเดียอื่นๆ ตรงที่ เน้นการพูดคุยกันด้วยเสียง คือต้องมีผู้ใช้ทำการเปิดห้องสนทนา แล้วดึงคนมาเข้ารวมตัว
ทั้งนี้ คนในห้องจะแบ่งออกเป็น 3 สถานะ ได้แก่
- Moderator หรือผู้ดูแล
- Speaker หรือผู้พูด
- Audience หรือผู้ฟัง
ผู้ใช้สามารถฟังการสนทนา การสัมภาษณ์ และการพูดคุยระหว่างบุคคลที่น่าสนใจในหัวข้อต่างๆ ได้ คล้ายๆ กับ podcast และสร้าง Topic ที่ตัวเองสนใจ และคนที่มีความสนใจแบบเดียวกันก็เข้ามาฟังเข้ามาแชร์กันได้ด้วย
วิธีการสมัคร ให้ลงทะเบียน ชื่อ-สกุล เบอร์โทรศัพท์ และสร้าง Username ก่อน จากนั้นรอให้ผู้ที่มีบัญชีอยู่แล้ว Invite ผ่านเบอร์โทรศัพท์และ SMS ถึงจะมีสิทธิเข้าร่วมได้อย่างสมบูรณ์ โดย 1 บัญชีสามารถเชิญได้ 2 ครั้ง
เมื่อได้รับการ Invite แล้วก็สามารถเข้าร่วม follow ในคลับต่างๆ ได้ โดยที่ถ้าวันไหนมีสมาชิกในคลับได้ทำการเปิดห้อง ก็จะมีโนติแจ้งเตือนมาให้ทราบนั่นเอง
เหตุผลที่ทำให้ได้รับความนิยมในเวลาชั่วข้ามคืน
- ความน่าสนใจที่ทำให้ Clubhouse กระหึ่มในชั่วข้ามคืน เพราะว่าส่วนใหญ่ ทั้งในไทยและต่างประเทศ คนที่เข้าร่วม มักจะมีแต่กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด ผู้บริหารนักธุรกิจ และกลุ่ม Early Adopter ทางเทคไอทีมากมาย เรียกว่าเป็นแหล่งรวมของคนเก่งๆ หลากหลายอาชีพและหลากหลายมุมมอง
- สืบเนื่องจากข้อข้างบน ด้วยความที่ผู้ที่เล่น Clubhouse มีแต่กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด และที่สำคัญคือ ต้อง Invite หรือได้รับเชิญเท่านั้นถึงจะมีสิทธิเล่นได้ ดังนั้น หากใครได้รับเชิญ จากบุคคลเหล่านั้น แน่นอนว่ามีผลในทางจิตวิทยา ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของ Clubhouse นั่นเอง
- ดังเพราะ Elon Musk (อีกแล้ว) เกิดขึ้นหลังจาก ที่ Elon Musk พูดถึง ‘แผนการใช้ชีวิตบนดาวอังคาร’ ในแอปพลิเคชัน Clubhouse จนเกิดเป็นกระแสทำให้คนสนใจแพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และนอกจาก Musk แล้วก็ยังมี Vlad Tenev ผู้ก่อตั้ง Robinhood แอปฯ ลงทุนหุ้นชื่อดัง ซึ่งทั้งสองยังมาร่วมพูดคุยสนทนากันภายใน Clubhouse อีกด้วย ยิ่งทำให้ผู้คนหันมาสนใจและอยากเข้าใช้งานเป็นจำนวนมาก
- Topic ในการสนทนา ล้วนเต็มไปด้วยองค์ความรู้ที่น่าสนใจ อย่างที่กล่าวว่าใน Clubhouse มีแต่ผู้นำทางความคิด คนเก็งๆ เต็มคลับไปหมด ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คนเหล่านี้ ถ้าจะได้ฟังคือต้องไปตามงานสัมมนาเสียเงินฟังบ้าง หรือต้องเปิด Podcast ฟัง แต่การได้จอยใน Clubhouse ก็เหมือนกับได้รับการให้คัดเลือกมาฟังเรื่องราวดีๆ จากคนเหล่านี้แล้ว สำหรับหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น Thai-China Business matter, Updated trend of Digital society in Thailand, KOL & Live commerce style ฯลฯ
- Clubhouse นิยมมากในจีน และไต้หวัน เพื่อหลบเลี่ยงการถูกรัฐบาลจีนติดตาม โดยใช้เป็นช่องทางการพูดคุยในประเด็นที่อ่อนไหวในประเทศ ตอกย้ำด้วยการรายงานข่าวของ สำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ระบุว่า ความต้องการเป็นสมาชิกกำลังร้อนแรงเป็นอย่างมากที่จีน จนถึงขนาดมีการขายคำเชิญบนเว็บไซต์มือถือของ Alibaba, Xianyu และ Taobao เกิดขึ้นแล้วด้วย โดยมีราคาอยู่ที่ประมาณ 150 – 400 หยวน เลยทีเดียว และไม่นานมานี้ก็ถูกรัฐบาลจีนแบนเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งยิ่งที่ทำให้มันหายากมากขึ้น
- บทสนทนาต่างๆ จะไม่ได้รับการบันทึกเอาไว้ ไม่สามารถบันทึกการสนทนาได้ (หรืออาจจะต้องใช้อุปกรณ์เสริม แต่ตามกฎในห้องคือห้ามบันทึกการสนทนา) และไม่สามารถแชร์หน้าจอได้ ซึ่งเหมาะกับเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่หวงแหนความ Privacy สูงมาก
- อีกสิ่งที่คิดว่ามีผลทำให้เกิดความน่าสนใจก็คือ มันทำให้เป็นสิ่งหายาก เพราะว่าดาวน์โหลดได้เฉพาะ App Store รองรับการทำงานได้บน iOS ได้เท่านั้น ซึ่งตอนนี้ผู้ใช้ Android ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ (แต่อาจจะมีการพัฒนาต่อไปเนื่องจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นหรือไม่คงต้องรอติดตาม)