เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร และภาคธุรกิจน่าห่วงหรือไม่ เมื่ออยู่ในภาวะไม่ล็อกดาวน์ ที่เหมือนล็อกดาวน์

  • 8
  •  
  •  
  •  
  •  

เครดิตภาพ Shutterstock.com โดย Haluk Cigsar

ผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ในประเทศไทยที่มีสถานการณ์รุนแรง น่าเป็นห่วง รัฐบาลจึงออกประกาศมาตรการควบคุมโควิด ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2564 ให้ 28 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

สถานการณ์การระบาดมีความรุนแรงจริง ดูได้จากสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อ หากนับเฉพาะผู้ติดเชื้อสะสมในระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63-26 ม.ค.64 ผู้ติดเชื้อสะสมทะลุหมื่นคนแล้ว โดยติดเชื้อถึง 10,409 ราย

เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด กรุงเทพมหานครออกประกาศปิดสถานที่เสี่ยงจำนวนมาก เช่น สวนน้ำ, สวนสนุก, สนามเด็กเล่น, เครื่องเล่นสำหรับเด็กในตลาด, ตลาดน้ำ, ตลาดนัด, โต๊ะสนุก, บิลเลียด, สถานที่เล่นตู้เกม, ร้านเกม, ร้านอินเทอร์เน็ต, สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่, สถานรับเลี้ยงเด็กและสถานดูแลผู้สูงอายุ (ยกเว้นที่มีการรับพักค้างคืนเป็นปกติธุระ), สนามมวย, โรงเรียนศิลปะการต่อสู้หรือโรงยิม, สนามม้า, สถานประกอบการหรือกิจการอาบน้ำ, สถานประกอบกิจการอาบอบนวด, สถานที่แข่งขันทุกประเภท, สถานที่ที่ให้บริการห้องจัดเลี้ยง, ห้องจัดเลี้ยง (รวมถึงสถานที่อื่นใดที่ลักษณะทำนองเดียวกัน), สนามชนโค, สนามกัดปลา (สนามแข่งขันในลักษณะทำนองเดียวกัน), สนามพระเครื่อง, ศูนย์พระเครื่อง, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน, สถานที่เจาะผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันกวดวิชา หรือสถาบันการศึกษา เป็นต้น ขณะที่ร้านอาหารให้ปิดเร็วขึ้น ให้จำหน่ายแบบนั่งทานในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร

เครดิตภาพ Shutterstock.com โดย AfriramPOE

แม้รัฐบาลโดยโฆษก ศบค. แถลงว่ามาตรการที่เกิดขึ้นไม่ใช่มาตรการล็อกดาวน์ อย่างไรก็แล้วแต่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงและหดตัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราจะมาวิเคราะห์ความเสี่ยงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีแนวโน้มส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

ในแง่ภาคธุรกิจ ที่น่าเป็นห่วงคือธุรกิจขนาดกลางและเล็ก พบว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากผู้ประกอบการจำนวนมากสายป่านสั้น เงินออมหมด สินทรัพย์หมดไปแล้ว จากการใช้พยุงธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา

โดยเฉพาะธุรกิจภาคท่องเที่ยว เสี่ยงมากขึ้น เพราะจากเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก กระทบรายได้ลูกค้า จนคนเหลือเงินใช้จ่ายลดน้อยลง ทั้งคนยังให้ความสำคัญกับสุขภาพ และอ่อนไหวต่อข่าวการระบาด เห็นได้จากเมื่อมีข่าวการแพร่ระบาดหรือพบผู้ติดเชื้อที่ใด การยกเลิกห้องพักเกิดขึ้นตามมาทันที ขณะเดียวกันการระบาดรอบนี้ยังกระจายไปทุกที่ เกือบทุกจังหวัด

นอกจากนี้ความหวังเรื่องนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศกลับมาระดับก่อน COVID ต้องรอถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย โดยปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้มากสุด 8 ล้านคน หรือเพียง 20% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศก่อนสถานการณ์ COVID

ในแง่ผลกระทบต่อการจ้างงาน ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหลักจากมาตรการดังกล่าว ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจบริการ เช่นภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม สปา ซึ่งมีการจ้างงานโดยตรงและโดยอ้อมประมาณ 8-9 ล้านคน

เครดิตภาพ Shutterstock.com โดย mariyaermolaeva

ในส่วนประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาจเทียบเคียงโดยใช้ประสบการณ์มาตรการล็อกดาวน์รอบสองในยุโรปที่ทำคล้ายๆ ประเทศไทย คือไม่ถึงกับปิดหมดทุกสถานที่ แต่ใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดขึ้น เช่นในฝรั่งเศส พบว่าส่งผลให้ GDP หดตัวประมาณครึ่งหนึ่งของการล็อกดาวน์รอบแรก เช่น ของฝรั่งเศสจากหดตัว 30% เหลือราวหดตัว 15% ภายใต้สมมติฐานดังกล่าว กรณีของไทย จากล็อคดาวน์รอบแรกที่ GDP ติดลบต่ำสุดในไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ -12.2% (ข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ) สำหรับมาตรการล็อกดาวน์แบบกึ่งล็อกดาวน์รอบนี้ ก็น่าทำให้เศรษฐกิจหดตัวราว 5-7%

จากรายงาน KKP Insight ที่ประเมินผลกระทบของ COVID-19 ต่อภาคธุรกิจว่าภาคธุรกิจใดได้รับผลกระทบมากหรือน้อย โดยใช้เกณฑ์ลักษณะของธุรกิจว่าอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจและมาตรการของภาครัฐเพียงใด

เกณฑ์ที่ใช้ประกอบด้วย 3 ด้านในการพิจารณาความรุนแรงของผลกระทบ ได้แก่ (1) ธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็น ซึ่งเสี่ยงถูกตัดออกจากการใช้จ่ายเป็นลำดับต้นๆ (2) ความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจจากที่บ้าน และ (3) ความสามารถในการขายสินค้าหรือบริการแก่ลูกค้าภายใต้มาตรการ social distancing

จากการประเมิน พบว่าภาคธุรกิจที่คาดว่าได้รับผลกระทบต่อการจ้างงานมากที่สุด คือ ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ธุรกิจบันเทิงและนันทนาการ การขนส่ง การค้าส่งและค้าปลีก รวมถึงธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการบางรายสามารถรับมือการระบาดและสถานการณ์ล็อกดาวน์ในรอบนี้ได้ดีขึ้น เช่น ธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ พบว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ คือผู้ที่บริหารวัตถุดิบ หรือ supply chain ได้ดี ใช้ประสบการณ์จากรอบก่อน จัดการเรื่องความขาดแคลนวัตถุดิบที่เกิดจากการปิดประเทศ หาผู้ผลิตรายสำรอง ช่วยให้การผลิตในรอบนี้ไม่หยุดชะงักเหมือนรอบที่แล้ว

ในแง่ประชาชน กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้มาก ทั้งนี้หนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนไทย (เฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้) ปี 2562 อยู่ที่ 3.6 แสนบาท โดยในกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้ปริมาณมาก น่าเป็นห่วงมากสุด จากสถิติพบว่า กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้ต่อรายได้สูงสุด 15% แรก มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป โดยอยู่ที่เดือนละ 26,000 บาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนที่มีหนี้อยู่ที่เดือนละ 31,000 บาท

เมื่อดูเชิงค่าใช้จ่ายซึ่งสะท้อนคุณภาพชีวิตยิ่งน่าเป็นห่วง  พบว่า ครัวเรือนกลุ่ม 15% ที่มีหนี้สูง มีรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ต่อรายได้ในแต่ละเดือนมากถึง 75.4% นั่นหมายความว่าครัวเรือนกลุ่มนี้มีเงินเหลือเพื่อบริโภคหลังหักภาระหนี้แล้ว เพียง 25% ของรายได้เท่านั้น

ครัวเรือนกลุ่มนี้ เสี่ยงได้รับผลกระทบสูงในสถานการณ์นี้ เนื่องจากรายจ่ายจากหนี้ซึ่งเปรียบเสมือนค่าใช้จ่ายคงที่มีสูงและแน่นอน แต่รายได้เสี่ยงได้รับลดลง ผู้นำครอบครัวหลายรายหาเช้ากินค่ำ ไม่มีรายได้ประจำ เสี่ยงถูกลดชั่วโมงทำงาน หรือไม่มีงาน ภายใต้มาตรการปิดสถานที่เสี่ยงของรัฐ ทำให้หลายอาชีพขาดรายได้ เช่น พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารกลางคืน ผับ บาร์ นักดนตรี พนักงานนวด พนักงานโรงแรม

สำหรับรัฐบาล ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเสี่ยงได้รับผลกระทบสูงจากมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อลดการแพร่ระบาดในรอบนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ได้ก่อ เป็นเหยื่อ ทั้งจากบ่อนและแรงงานเถื่อนที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องและมีส่วนสร้างปัญหา นอกจากรัฐบาลควรลงโทษผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนก่อปัญหา ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงเกิดปัญหาซ้ำเดิมในอนาคต รัฐบาลยังควรออกมาตรการทางเศรษฐกิจที่จำเป็นเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

เครดิตภาพ Shutterstock.com โดย Trekkathon

ตัวอย่างเช่น กำหนดเงินงบประมาณที่เพียงพอ และจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID ซึ่งเฉพาะหน้าและเร่งด่วน เร่งรัดการเบิกจ่ายไม่ให้ชักช้า เช่น แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4.4 แสนล้านบาท อนุมัติเงินไปแล้ว 1.39 แสนล้านบาท แต่เบิกจ่ายใช้จริงน้อยกว่านั้นอีก ควรเร่งรัดให้นำมาใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว

หรือมาตรการที่รัฐสามารถใช้เพื่อช่วยรักษาการจ้างงานอย่างกำหนดเงื่อนไขในการรักษาระดับการจ้างงานขั้นต่ำในการขอรับความช่วยเหลือ เยียวยาให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบแม้รัฐไม่ได้มีคำสั่งสั่งล็อกดาวน์ โดยเฉพาะอาชีพกลุ่มเสี่ยงที่ขาดรายได้จากมาตรการของรัฐ เช่น นักดนตรี พนักงานนวด

นอกจากนี้ในระยะยาว รัฐควรสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าระบบประกันตนเองในภาคสมัครใจเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระทางการคลัง และยังช่วยสร้างฐานข้อมูลการจ้างงานที่ครอบคลุมและถูกต้อง ช่วยให้รัฐบริหารข้อมูลได้มีประสิทธิภาพ

คนไทยและธุรกิจไทยโดยเฉพาะรายย่อย ใกล้หมดแรงเต็มที รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการมาดูแลอย่างเร่งด่วนครับ

 

 

ดูเพิ่มเติม bangkokbiznews, businesstimes, bloomberg, reuters, media.kiatnakin, nesdc, posttoday, thairath, thaipost, tdri


  • 8
  •  
  •  
  •  
  •  
ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล
ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล หรือ ดร.ชาย จบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศอังกฤษ ดร.ชายเป็นเจ้าของธุรกิจ และสวมหมวกเป็นอาจารย์พิเศษด้านเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาให้หลายองค์กร ดร.ชายขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในน้อยคนที่ทำเรื่องเศรษฐศาสตร์ให้ง่ายและสนุกได้