ปรากฏการณ์เพลงโมซาร์ท ซึ่งไม่เกี่ยวกับสมองเด็ก แต่พ่อแม่ทุกคน ต้องเคยได้ยินเรื่องเล่าเรื่องนี้
มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งครับ นับเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก คือเรื่องของปรากฏการณ์ โมซาร์ท
ได้มีโอกาสอ่านข้อเท็จจริงเรื่องนี้ จากหนังสือที่ชื่อว่า The Invisible Gorilla เขียนโดย Christopher Chabris และ Daniel Simons เล่าอย่างย่อๆ คือ จู่ๆ โลกมีกระแสข่าวเกิดขึ้นมาว่า เพลงคลาสสิคของคีตกวีโมซาร์ท สามารถช่วยให้สมองฉลาดขึ้น โดยข่าวนี้แพร่สะพัดออกมาในช่วงปี คศ.1993
เรื่องราวมันเริ่มต้นจากวารสาร Nature ได้ตีพิมพ์บทความหนึ่งหน้า ที่เขียนขึ้นโดย ฟรานเซส เราสเชอร์, กอร์ดอน ชอว์ และ แคทเธอรีน คาย ในหัวข้อที่มีชื่อว่า “Music and Spatial Task Performance” แปลเป็นไทยได้ว่า “ดนตรีและผลคะแนนด้านมิติสัมพันธ์”
ในบทความนั้น กอร์ดอน ชอว์ ซึ่งมีความชื่นชอบในดนตรีคลาสสิคในระดับคลั่งไคล้ พยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่า มีความคล้ายคลึงกันระหว่างโครงสร้างคณิตศาสตร์ของเพลงคลาสสิค กับแบบแผนของสัญญาณไฟฟ้าในเซลล์ประสาทของสมอง
เขาทำนายไว้ว่า การฟังดนตรี จะช่วยยกระดับการทำงานของสมองได้ โดยมีความเชื่อว่า เพลงของโมซาร์ทนั้นมันสอดคล้องเข้ากันกับภาษาของระบบประสาทที่สุด เพื่อพิสูจน์ สมมุติฐานข้างต้น ชอว์ จึงทำการทดลอง กับนักศึกษา 36 คน โดยแบ่งคนออกเป็นสามกลุ่ม เพื่อทำภารกิจทดสอบไอคิว โดย 10 นาทีก่อนทำภารกิจทดสอบค่าความฉลาด
- คนกลุ่มแรก จะได้ฟังเพลง “Sonata for Two Piano in D Major” ของโมซาร์ท
- คนกลุ่มที่สอง ได้ฟังคำแนะนำในการผ่อนคลายเพื่อลดความดันโลหิต
- และกลุ่มที่สามให้นั่งรอแบบเงียบๆ
โดยปกติแล้ว คนเรานั้นจะมีค่าไอคิวอยู่ที่คะแนนเฉลี่ย 100 ทว่าจากผลการประเมินการทดลองที่ชอร์ และเพื่อนร่วมงาน ตีพิมพ์ออกมาคือ
- กลุ่มที่นั่งเงียบๆ มีค่าไอคิว 110
- กลุ่มที่ฟังคำแนะนำในการผ่อนคลาย มีค่าไอคิว 110
- ส่วนไฮไลท์สำคัญคือ กลุ่มที่ฟังเพลงโมซาร์ท มีผลการทดสอบค่าไอคิวสูงถึง 119
หลังจากตีพิมพ์ผลวิจัยลงในนิตยสารฉบับนั้น สื่อมวลชนทั่วโลก ต่างก็ประโคมข่าวนี้ออกไป จนกลายเป็นเรื่องราวเล่าขานไปอย่างมากมายทั่วโลกว่า
การฟังเพลงโมซาร์ทจะทำให้ฉลาดขึ้น เพราะเพลงโมซาร์ทมีผลช่วยกระตุ้นสมอง
หลังจากนั้น ก็มีกลุ่มนักวิจัยปรากฏการณ์โมซาร์ท ได้ทำการทดลองอีกหลายๆ ครั้ง และทุกๆ ครั้งที่ผลวิจัยปรากฏออกมาว่า สมองดีขึ้นเพราะการฟังเพลงโมซาร์ท ก็จะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากสื่อที่ช่วยกระจายข่าวสารนี้ไปในวงกว้าง อย่างครึกโครมไปทั่วทั้งโลก
และถึงแม้งานวิจัยทั้งหมด ในเรื่องราวข้างต้น จะทำการทดลองเฉพาะกับผู้ใหญ่ แต่ในทวีปเอเชียก็มีของแถม เป็นการเล่าขานต่อๆ กันไปแบบปากต่อปากว่า เพลงโมซาร์ท นั้นสามารถช่วยเสริมสร้างพัฒนาการสมองของเด็กๆ โดยมีบทความที่เขียนและแปล แชร์ส่งต่อๆ กันออกไป
จนเกิดเป็นกระแสการตลาดตามมามากมาย ทั้งมีการรวมบทเพลงส่งเสริมพัฒนาการ มีการทำชุดซีดีเพลง ดีวีดีเพลงโมซาร์ทเพื่อเด็ก บนความเชื่อว่า การให้เด็กๆ ฟังโมซาร์ท ตั้งแต่อยู่ในท้องจะทำให้ลูกฉลาด เรียนรู้ได้เร็ว กลายเป็นสารพัดความเชื่อตามมา แบบถึงขั้นที่บางคนเอาหูฟังไปจ่อที่ครรภ์มารดา เพื่อให้ลูกในท้องได้ฟังเพลง ก็เคยมีปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ในช่วงเวลานั้น มีผลงานการวิจัย ที่ออกมาโต้แย้งว่า การฟังเพลงโมซาร์ทไม่ได้มีส่วนในการพัฒนาการสมองออกมา อยู่เป็นระยะๆ
ทั้งผลงานวิจัยจากทีมของ คอน สตาวห์ จาก ม.โอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์ ที่ทำการทดลองใหม่ โดยเพิ่มกลุ่มทดลองใหม่ คือกลุ่มที่ฟังเพลงแดนซ์ ก่อนการทดสอบไอคิว และสรุปผลการวิจัยออกมาว่า กลุ่มโมซาร์ท มีความแตกต่างทางค่าไอคิว เพียงแค่ 1 คะแนน ไม่ได้มีคะแนนสูงกว่าถึง 9 คะแนน ซึ่งความต่างเพียงหนึ่งคะแนนนี้นับว่า เป็นคะแนนที่น้อยมากๆ
หลังจากนั้น ก็ยังมีการทดลองโต้แย้งอีกสองครั้ง ในปี ค.ศ. 1997 จาก ศจ. เคนเนธ สตีล จาก ม.แอปพาเลเชียน ของ ม นอร์ทแคโรไลนา ที่ทดสอบการจำตัวเลข หลังฟังโมซาร์ท และการทดลองในปี ค.ศ.1998 ที่ทำแบบทดสอบการพับกระดาษ หลังฟังเพลงโมซาร์ท
ผลจากการทดลองทั้งสองครั้งสรุปว่า..เพลงโมซาร์ทไม่ได้ช่วยให้สมองดีขึ้นแต่อย่างใด
โดยมีการยืนยัน ด้วยการตีพิมพ์ผลการวิจัยนี้ ลงในวารสาร Psychological Sciences ซึ่งเป็นวารสารของสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อว่า “Mystery of the Mozart Effect : Failure to Replicate” แปลไทยได้ว่า ความลับของปรากฏการณ์โมซาร์ท : ไม่สำเร็จเมื่อทดลองซ้ำ
รวมทั้งสมาคมจิตวิทยาก็ออกแถลงข่าวว่า ปรากฏการณ์โมซาร์ท ถูกคัดค้านว่าไม่เป็นจริง
นั่นคือจำนวนข่าวที่พูดถึงงานวิจัยชิ้นแรก ที่บอกชาวโลกว่าฟังโมซาร์ทแล้วฉลาด ของชอร์ นั้น มีการนำเสนอข่าวมากกว่างานวิจัยอื่นๆ ที่ตีพิมพ์ ในนิตยสารฉบับเดียวกันถึง 8 เท่า ทำให้ข่าวสารมันแพร่หลายไปแบบสุดๆ
ตรงกันข้ามกับข่าวของความไม่สำเร็จของการทดลอง ที่ดูเงียบๆ และไม่ค่อยมีการบอกต่อๆ กันไป
คุณคริสโตเฟอร์ ชาบริส หนึ่งในผู้ร่วมเขียนหนังสือ The invisible Gorilla ได้สนใจปรากฏการณ์นี้แบบสุดๆ เขาจึงลองทำการค้นคว้าอย่างละเอียด เพื่อวิเคราะห์ หาข้อมูลเพิ่มเติมจากงานวิจัย 16 ชิ้น ที่ได้ทดสอบปรากฏการณ์โมซาร์ท และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ที่มีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองผลงาน โดยทั้งหมดใช้เพลงโซนาต้าเพลงเดียวกับการทดลองครั้งแรก ครั้งดั้งเดิม ของคุณชอร์ และใช้วิธีเปรียบเทียบคนฟังโมซาร์ทกับคนที่นั่งเงียบๆ
จากการทำงานค้นคว้าทบทวนอย่างละเอียด คริสโตเฟอร์ ค้นพบว่า เพลงโมซาร์ท สามารถเพิ่มค่าไอคิวได้เพียง 1.4 คะแนน จากฉบับดั้งเดิมของ ชอร์ ที่เคยบอกไว้ว่า สามารถเพิ่มไอคิวได้มากถึง 8-9 คะแนน
ในทางกลับกัน จากตัวเลขสถิติ เขากลับค้นพบว่า เมื่อลองดูการเปรียบเทียบไอคิวของกลุ่มฟังเพลงโมซาร์ท เปรียบเทียบกับกลุ่มที่นั่งเงียบๆ แบบผ่อนคลาย ก่อนทำแบบทดสอบ เพลงของโมซาร์ทจะช่วยเพิ่มค่าไอคิวได้ 3 คะแนน
คริสมองผลวิจัยในมุมต่าง เขาเห็นเพียงว่า การฟังเพลง ช่วยให้สบายใจและมีการเตรียมพร้อม (ไม่ว่าจะเป็นเพลงอะไรก็ตาม) และสรุปได้ว่า การผ่อนคลาย ไม่มีแรงกระตุ้นจากภายนอกต่างหาก ที่ทำให้คนไม่พร้อมที่จะทำภารกิจ
แต่ในทางกลับกัน ความสบายๆ พอประมาณต่างหาก ที่มันส่งผลดีกับการทำภารกิจต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงปี ค.ศ.1999 คริสโตเฟอร์ ได้ส่งผลการวิเคราะห์ครั้งใหญ่นี้ไปตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature ซึ่งเคยตีพิมพ์งานวิจัยดั้งเดิมชิ้นแรกเมื่อปี 1993 โดยข้อสรุปของงานวิจัยชิ้นใหม่นี้ มันย้อนแย้งกับงานวิจัยเดิมว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองทำคะแนนได้ดีขึ้น เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมในการฟังเพลงที่ทำให้อารมณ์ดี และมีแรงกระตุ้นพอประมาณต่างหาก
ดนตรีของโมซาร์ท ไม่ได้มีคุณสมบัติพิเศษใดๆ ที่ทำให้สมองฉลาดขึ้น โดยการโต้เถียง โต้แย้งนี้ เป็นข่าวใหญ่ในสื่อมวลชนสหรัฐอเมริกา ทั้งทางช่อง CNN CBS และ NBC การโต้เถียง ย้อนแย้ง อันยิ่งใหญ่ในวงการครั้งนี้ มีผลทำให้การรายงานข่าวปรากฏการณ์โมซาร์ท ลดน้อยลง แต่มันก็ไม่สามารถหักล้างปรากฏการณ์โมซาร์ทไปได้ทั้งหมด แถมยังมีเรื่องแปลกมากๆ เกิดขึ้น
เพราะบทความจำพวกที่ว่า เพลงโมซาร์ท สามารถทำให้ทารกและเด็กๆ ฉลาดขึ้น มีไอคิวเพิ่มขึ้น กลับยิ่งแพร่หลายไปมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริงแล้ว ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีงานวิจัยชิ้นใด ที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของเพลงโมซาร์ทกับทารกเลย แม้แต่ชิ้นเดียว
และมีเรื่องที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่า ในปี คศ. 2009 หรืออีกสิบปีหลังจากที่งานวิจัยโต้แย้งเผยแพร่ออกมา จนเป็นข่าวครึกโครม ทีมงานของเขา ก็ได้ออกไปลองสำรวจความคิดเห็นของผู้ใหญ่ 1500 คน เกี่ยวข้องกับความเชื่อในปรากฏการณ์โมซาร์ท
และพบผลวิจัยที่น่าตกใจ แบบไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คนกว่า 40% ยังเห็นด้วยว่า เพลงโมซาร์ท ช่วยทำให้คนเราฉลาดขึ้น ความเชื่อในปรากฏการณ์โมซาร์ท ยุคแรก ยังติดตรึงอยู่ในใจคนอีกมากมาย
ในบ้านเพื่อนๆ เรา บ้านของญาติเรา และในบ้านของเราเอง ก็ยังมีเพลงโมซาร์ทเพื่อพัฒนาการเด็ก ยังมีเพลย์ลิสต์เพื่อเสริมความจีเนียสให้ทารก เรายังเห็นบทความ โมซาร์ทจีเนียสเบบี้ แชร์ในโลกออนไลน์ อยู่เป็นประจำ
ซึ่งถ้าเราลองสังเกตปรากฏการณ์เรื่องเล่าของโมซาร์ทอย่างละเอียด เราจะพบว่า ปรากฏการณ์นี้ มันช่างรวมองค์ประกอบของการเป็นเรื่องเล่าอันทรงพลัง เพราะมันทั้งเกี่ยวข้องกับศักยภาพการพัฒนาความฉลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์เราต่างล้วนถวิลหา เรียกได้ว่า เป็นความสนใจในระดับที่ คนทั่วทั้งโลกสนใจและชื่นชอบในแบบเดียวกัน
แถมมีผลการวิจัยมารับรอง จากคนที่น่าเชื่อถือ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้จะมีผลงานวิจัยการคัดแย้ง แต่ก็จะมีคนออกมาโต้ตอบกันไปมา การคัดง้าง การย้อนแย้งเหล่านั้นแทบไม่มีผลกับความเชื่อเดิม ที่ถูกฝังไว้ในสมอง ในครั้งแรก
ด้วยกระแสการบอกต่อๆ และรับรู้ในอดีต และนี่คือ ปรากฏการณ์ตัวอย่างของเรื่องเล่าอันทรงพลังสุดๆ ชิ้นหนึ่งในศตวรรษ ที่เราจะต้องถอดสมการ เพื่อนำมาพัฒนาการทำงาน ในการสร้างเรื่องเล่าที่ดี
ผู้เขียนเอง ไม่ได้มีอคติใดๆ กับโมซาร์ท และเพลงคลาสสิคใดๆ และในทางกลับกันแล้วมีความชอบและสนใจในดนตรีทุกประเภท และชื่นชอบการฟังเพลงเป็นประจำ แต่เมื่อลองถอดสมการ คิดวิเคราะห์ดูด้วยสายตาของคนที่ทำงานด้านการสื่อสารแบรนด์ ด้วยอิทธิพลของเรื่องเล่าข้างต้นนั้น มันสามารถทำให้แบรนด์ที่ชื่อว่า “โมซาร์ท” ส่งผลกับความคิด ของผู้คนและสังคมได้อย่างมากมาย
และถ้าเรื่องราว ในรูปแบบคล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นกับแบรนด์สักแบรนด์
เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร..?
ขอขอบพระคุณ ข้อมูลดีๆ จาก The Invisible Gorilla ที่ช่วยเปิดภาพความจริง ของเรื่องเล่าอันทรงพลังเรื่องนี้ ให้โลกได้รับรู้
ว่าพลานุภาพของเรื่องเล่านั้น สามารถเชื่อมต่อกับมนุษยชาติและความเชื่อในใจ ได้ในหลายๆ รูปแบบที่น่าสนใจ น่าตกใจ และน่าดึงดูด มากเพียงใด