ตอนเด็กๆ เคยได้ยินประโยคนี้กันมั้ย? “ขี้เกียจแบบนี้ ไม่มีทางประสบความสำเร็จหรอก!”
ถ้าเราพูดถึงความ make sense ง่ายๆ ก็ถูกต้องแล้ว คนขี้เกียจ = คนล้มเหลว ส่วนคนขยัน = คนที่ประสบความสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงตรรกะนี้อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน ไม่สามารถใช้ได้กับทุกสถานการณ์บนโลกนี้ได้
คนเราเติบโตขึ้นมากับโลกที่ชอบบุลลี่คนอื่น โลกไม่ได้ปูทางไปด้วยกลีบกุหลาบ ดังนั้นบนความบิดเบี้ยวของโลกนั้น ทำไมจะเป็นไปไม่ได้ที่คนขี้เกียจจะประสบความสำเร็จได้บ้าง เพราะจริงๆ แล้วปัจจัยของคนที่ประสบความสำเร็จก็มีอยู่หลายปัจจัยแรงขับด้วยกัน ซึ่งบทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจว่า ทำไมคนเหล่านั้นถึงยังมีโอกาสประสบความสำเร็จอยู่?
ก่อนอื่นอยากจะหยิบคำพูดหนึ่งของ Bill Gates มหาเศรษฐีที่ใครๆ ก็รู้จักกันดี ซึ่งที่จริงแล้วคำพูดประโยคนี้มาจาก ‘Frank B. Gilbreth Sr’ โดย Bill Gates ได้ยึดหลักคิดนี้มาตลอดสำหรับวิธีการบริหารงานของเขา
“ผมจะเลือกให้คนขี้เกียจทำงานที่ยากๆ เสมอ เพราะว่าพวกเขาจะหาวิธีที่ง่ายกว่าในการทำงานได้”
เขาอธิบายเพิ่มว่าเคยลองสังเกตพนักงานบางคนที่ ‘ขี้เกียจหน่อย’ พวกเขาจะเรียนรู้การกำจัดบางขั้นตอนของงานที่ไม่จำเป็นออกไป ด้วยการลดขั้นตอนที่ไม่สำคัญหรือไม่ต้องมีก็ได้ เพื่อลดความเหนื่อยล้าของตัวเองให้มากที่สุด เหตุผลนี้เองเขาถึงมอบหมายงานที่ยากกว่าให้กับพวกเขา แต่ถ้าเราพูดถึงระดับศักยภาพของคนเราแน่นอนว่าต้องมีอยู่แล้วตามความถนัดของใครของมัน แม้แต่ ‘โจร’ ก็ยังมีความถนัดบางอย่างเพื่อให้ตัวเองรอด
งั้นลองดูเหตุผลกันหน่อยว่า ทำไมคนขี้เกียจถึงมีโอกาสประสบความสำเร็จไม่ต่างกันในเวอร์ชั่นเข้าใจง่ายๆ
‘คนขี้เกียจ’ มีความคิดแบบผู้ประกอบการ
ในความหมายข้อนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ คนขี้เกียจส่วนใหญ่จะมองออกว่า ขั้นตอนไหนควรมี-ไม่ควรมี หรือถ้ามีกระบวนการทำงานนี้มันจะทำให้เสียเวลา เป็นการทำงานที่ซ้ำซากจำเจ และไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพ หรือประสิทธิภาพของงานอาจจะเท่าเดิมไม่ต่างกัน
อย่างที่พูดไปข้างบน คนที่ขี้เกียจจะมีความปรารถนาสูงมากที่จะทำยังไงก็ได้ให้กระบวนการทำงานพวกเขา ‘สั้นที่สุด – เร็วที่สุด’ แต่ประสิทธิภาพต้องอยู่ในระดับเกณฑ์-ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน
การทดลองเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ก็คือ ลองมอบหมายงานที่เหมือนกันให้กับกลุ่มคนที่ขี้เกียจ และคนขยันทำดู สิ่งที่จะเห็นแน่ๆ ก็คือ งานจากคนขี้เกียจจะเสร็จก่อน ขณะที่ประสิทธิภาพไม่ได้ตกไปจากเกณฑ์ที่ควรเป็นด้วย (จากหนังสือ Rules for Focused Success in a Distracted World โดย Cal Newport)
‘คนขี้เกียจ’ มีความคิดสร้างสรรค์
ตามปกติของคนที่ขี้เกียจ เรื่องเวลาจะสำคัญสำหรับพวกเขา เพราะสิ่งที่พวกเขาทำคือ ทำให้ชีวิตเรียบง่ายที่สุด ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายที่สุด หาทางเพื่อให้กระบวนทำงานสามารถประหยัดเวลามากที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังกาย พลังสมองมาก ดังนั้น ความครีเอทเหล่านั้นจะทำให้ปิ๊งไอเดียง่ายๆ
ตัวอย่างจาก Tobias Lutke, CEO Spotify ที่พูดว่า กระบวนการที่ลูกค้าร้องเรียน หรือแจ้งปัญหาใน Spotify ใช้เวลานานเกินไป ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อปัญหานี้โดยเฉพาะ
หรืออีกหนึ่งตัวอย่างจาก วิศวกรรายหนึ่ง ที่ขี้เกียจทำความสะอาดบ้านเวลาช่วงวันหยุดสัปดาห์ ดังนั้นจึงลองประดิษฐ์ ‘เจ้า Robot ดูดฝุ่น’ จนทำให้ปัจจุบันกลายเป็นสินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ขายดีเป็นอันดับต้นๆ เป็นต้น
เห็นได้ชัดว่า เทคโนโลยีจะถูกเลือกให้เป็นโซลูชั่นของคนกลุ่มนี้เสมอ ไม่ว่าจะขั้นตอนการทำงาน, การใช้ชีวิต ฯลฯ กลุ่มคนขี้เกียจจะเก่งเรื่องเทคโนโลยี
‘คนขี้เกียจ’ จะรู้ว่าเวลาไหนควรพัก
ก็ในเมื่อสมองยังไม่แล่น อารมณ์ยังไม่มา การพักสั้นๆ หรือ งีบสักแปปน่าจะเป็นคำตอบที่คนกลุ่มนี้จะเลือก พวกเขาจะไม่ฝืนต่อไปถ้าประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ขณะที่คนขี้เกียจจะวางแผนตารางทำงานได้ค่อนข้างดี ใช้เวลาทำงานให้น้อยที่สุด เพื่อที่จะให้งานเสร็จเร็วขึ้น และมีเวลาพักผ่อนมากขึ้นนั่นเอง
นักจิตวิทยาพูดว่า คนที่สมาธิสั้น จดจ่อกับการทำงานที่น้อยกว่าคนอื่น ไม่ได้เป็นคนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และพวกเขาฉลาดในการหา ‘ทางลัด’ ที่จะทำให้ขั้นตอนทำงานเสร็จเร็ว และคุณภาพงานต้องไม่ลดลงด้วย ที่สำคัญคนกลุ่มนี้จะมีเวลาพักผ่อนสมองระหว่างวันมากกว่าคนที่ขยัน
ดังนั้น Work-Life Balance ที่เป็นปัญหาของส่วนใหญ่ในยุคนี้ เกิดจากการที่ไม่สามารถจัดแจงการทำงาน และเวลาพักได้อย่างชัดเจน จนทำให้นาฬิกาชีวิตตัวเองกระทบกับชีวิตประจำวัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลวิเคราะห์ที่ระบุว่า ทำไมคนขี้เกียจยังมีโอกาสประสบความสำเร็จเหมือนกัน
สรุปเร็วๆ ก็คือ พวกเขารู้ว่าเป้าหมายคืออะไร, กระบวนการทำงานต้องลดขั้นตอนไหนบ้าง, ทางลัดที่ไม่ทำให้คุณภาพงานลดลงคืออะไร, รู้จักผ่อนคลายและแบ่งเวลาพักเป็น สิ่งสำคัญพวกเขารู้ว่าเป็นคนขี้เกียจจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ถึงเป้าหมายเร็วกว่า คอนเซ็ปต์ก็คือ Faster and Better!