หลังจากที่ Wunderman Thompson Thailand ประกาศแต่งตั้ง “ภาคย์ วรรณศิริ” ครีเอทีฟเลือดใหม่ไฟแรงขึ้นดำรงตำแหน่ง Chief Creative Officer ซึ่งถือเป็น ตำแหน่ง CCO ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของวันเดอร์แมนฯ สร้างความฮือฮาให้กับวงการเอเจนซี่อย่างมาก รวมไปถึงทำให้หลายคนอยากจะรู้จักตัวตนของผู้ชายคนนี้มากขึ้น ในหลายๆ แง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือไลฟ์สไตล์ส่วนตัว และวันนี้ MarketingOops! ก็ขอทำตามเสียงเรียกร้อง ขอบุกถึงถิ่น Wunderman Thomson พร้อมกับพูดคุยในทุกแง่มุม ตั้งแต่แนวคิดไอเดียการสร้างสรรค์งาน Attitude ความเป็นผู้นำ เส้นทางอาชีพ หรือแม้แต่แนวคิดในการเลี้ยงลูกของ ของมนุษย์ครีเอทีฟที่ชื่อ “ภาคย์ วรรณศิริ” The Youngblood CCO
ประวัติการทำงาน และเส้นทางอาชีพ
ภาคย์ เล่าให้ฟังว่า เติบโตมากับครอบครัวสายวิทย์เสียมากกว่า โดยมีพ่อแม่เป็นหมอและพยาบาล แม้แต่น้องชายก็เป็นหมอ แต่เป็นคนที่ชอบดูโฆษณามาก เพราะตอนนั้นมีความคิดแบบเด็กๆ ว่าเป็นครีเอทีฟมันเท่ (วะ) ก็เลยหักคอครอบครัวเลือกเรียน วารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ซึ่งพอเรียนแล้วก็ยิ่งมั่นใจมากขึ้นว่า ชอบในงานโฆษณามาก ทำให้เรียนจบภายใน 3 ปีครึ่ง แล้วก็ไปฝึกงานต่อทัน ซึ่งการฝึกงานในสมัยนั้นค่อนข้างยากเพราะต้งอมีพาร์ตงานไปยื่นด้วย ซึ่งที่แรกที่ให้โอกาสก็คือ DDB เอเจนซี่ เรียกว่าเป็นสถานที่ที่ปลูกเบสิคพื้นฐานให้กับเขาแน่นมาก และระหว่างที่เขาฝึกงานอยู่ก็ยังทำผลงานส่งเข้าประกวดอีกมากมายด้วย ซึ่งเขาเล่าให้ฟังอย่างไม่อายว่า ชวดทุกเวที แต่เขาก็ไม่ลดละความพยายาม ยังคงส่งต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งชนะในงานประกวดแรกได้แก่งาน Youngblood ของ TBWA Thailand และทำให้ได้งานที่นั่นด้วย
แต่ย้อนไปก่อนงานประกวด ภาคย์ ยังเคยทำงานที่ G-One Agency อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปที่ FCB Bangkok ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลักดันให้เขาได้เป็นตัวแทนประเทศไปประกวด Young Lion ของ Cannes Lion อีกด้วย
“คานส์มันแทบจะเป็นโอลิมปิกของโฆษณา มันเต็มไปด้วย environment ของโฆษณา ให้เราได้เสพหมดเลยทั้งงานที่ดีและไม่ดี กลับมาแล้วเรารู้สึกว่า ยังต้องระเบิดตัวเองอีก เลยย้ายงานไปที่ Leo Burnett ซึ่ง Burnett ก็เป็นเหมือน School ของวงการโฆษณาก็ว่าได้”
แต่แค่นั้นยังไม่สามารถเติมเต็มไฟอย่างภาคย์ได้ เขามีความรู้สึกเหมือนเป็นพวก Underdog ตลอดเวลา ต้องการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ดังนั้น จึงตัดสินใจย้ายไปที่ BBDO ซึ่งที่นั่นทำให้เขาได้เรียนวิชาจากปรมาจารย์โฆษณาจาก สุทธิศักดิ์ สุจริตตานนท์ ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องการใช้ Innovation กับงานโฆษณาต่างๆ ทั้ง Data และ MarTech และอยู่ได้ประมาณ 3 ปีก็ย้ายมาที่ JWT
“ได้รับโอกาสจาก JWT ที่ตอนนั้นเพิ่งมีการเมิร์ซกับ Wunderman Thompson เราย้ายมาในวันที่เราอยากจะเป็นจุดเปลี่ยน อยากจะสร้าง Culture ของตัวเองสร้างเอเจนซี่ในแบบที่ตัวเองอยากอยู่ สร้างกลุ่มที่ตัวเองอยากคิดงานด้วย สร้างฐานของลูกค้าที่กล้าจะเดินไปกับเรา ที่เราจะตอบสนองเขาในมุมของบิสซิเนสและโซลูชั่นต่างๆ ของตัวเอง”
สาวกเดนตาย Star Wars และบทเรียนจากการเป็น “พ่อ”
เห็นเฟียซๆ แบบนี้ ต้องบอกว่าหัวใจไม่ว่างแล้ว มีภรรยาและยังมีลูกน้อยวัย 3 ขวบ ที่กำลังน่ารักน่าชังเลยทีเดียว ภาคย์บอกว่า ลูกคือส่วนผสมระหว่าง เขาและภรรยา และก็อาจจะมีกลิ่นอายของคุณปู่ย่าตายายบ้างอย่างละนิด รวมกันแล้วออกมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ามหัศจรรย์มากๆ แต่ที่สำคัญคือเขาได้เรียนรู้งานครีเอทีฟผ่านดวงตาของลูก
“เราเชื่อว่าลูกทำให้เราเป็นครีเอทีฟที่ดีขึ้น หมายถึงว่ามันขาดไม่ได้เลยคือดวงตาของเด็ก eye of a child คือดวงตาแห่งความสงสัย สนใจ ตั้งคำถาม อธิบายอย่างที่ไม่มีกรอบ นอกจากนี้ ยังทำให้เป็นคนที่อดทนมากขึ้น ถ้าในชีวิตต้องผ่านการดิวงานยากๆ ต้องเจอกับคนที่เขาไม่มีเหตุผลเลย ถ้าเทียบกับลูกแล้ว ลูกไม่มีเหตุผลและไม่เข้าใจอะไรเลย ดังนั้น เราสามารถฝึกความอดทนจากลูกได้ ทำให้เราฝึกการอธิบายทุกอย่างแบบใจเย็นได้หมดเลย”
นอกจากนี้ เขายังเป็นคนหนึ่งที่คลั่งไคล้ Star Wars มาก มากเสียจนกระทั่ง เขาตั้งชื่อลูกชายว่า “Luke” ใช่หมายถึง Luke Skywalker นั่นแหละ แต่เขามีความพิเศษที่ซ่อนยิ่งกว่านั้น
“Luke จริงๆ แล้วมันแปลว่าแสงสว่าง ซึ่งก็ขัดใจภรรยานิดหนึ่งแต่ว่าก็ตกลงกันด้วยดี ก็อาจจะเขินๆ หน่อยเวลาบอกลูกว่า ‘ลุกสิลุค’ แต่ก็อยากให้เขาชอบ (Star Wars) ตามเรา อยาให้เขารู้ว่าชื่อเขามีความหมายว่าอะไร”
ภาคย์ยังเล่าถึงลูกด้วยดวงตาเป็นประกายว่า ลูกชอบ Star Wars มาก ขนาดว่า 3 ขวบที่ยังนับ ABC ไม่ได้ แต่รู้ชื่อตัวละครในหนังได้หมดเลย ตั้งแต่ Leia, Han Solo, Chew Backa, Jabba The Hutt ฯลฯ รู้หมดทุกตัว ก็อยากให้เขาชอบตามเรา เพราะมองว่ามันไม่ใช่แค่หนังแต่เหมือนเป็นศาสนาที่สอนให้เรารู้จักการใช้ชีวิตมีด้านมืดด้านสว่าง
“ถ้าเขาโตขึ้นและเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ เราเชื่อว่าสักวันหนึ่งเขาจะสามารถตัดสินใจได้ว่า โตไปแล้วเขาจะไป Jedi หรือว่า Sith”
ผลงานในอดีต ที่ “ภาคย์” ภาคภูมิใจ
สมัยที่เคยทำกับ Leo Burnett คือผลงานที่ชื่อว่า “ปันหยี เอฟซี” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กๆ ที่เกาะปันหยี เด็กๆ อยากจะเตะฟุตบอลแต่ไม่มีพื้นที่ให้เล่นเพราะมีสภาพเป็นเกาะ แต่แค่นั้นไม่เป็นอุปสรรคของเด็กๆ พวกนี้เลย พวกเขาจึงช่วยกันสร้างสนามฟุตบอลด้วยตัวเอง โดยฝึกซ้อมกันบน แพกลางทะเล และในที่สุดด้วยหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ พวกเขาก็สามารถทำตามฝันพาทีมคว้าแชมป์ระดับภูมิภาคได้สำเร็จ
ความท้าทายของงานชิ้นนี้อยู่ที่เมื่อสมัยก่อน เป็นทีวีซีที่มีความยาวถึง 5 นาที ดังนั้น ผลงานจึงออกมาเป็นทีวีซีกึ่งซีรีส์ที่แบ่งเป็นตอนๆ ตอนละ 1 นาที ปล่อยออกมา 5 ตอน ซึ่งสมัยนั้นเป็นความท้าทายคนดูมากที่จะต้องดูให้จบ ปรากฏว่ากระแสตอบรับดีมาก สร้างอิมแพ็คทางธุรกิจให้กับลูกค้า ในชุมชน ประเทศ และไปถึงระดับโลก ทีมปันหยีได้รับการสนับสนุนจากชุมชน รัฐบาล และที่สำคัญสถานที่แห่งนั้นก็กลายเป็น 1 unseen สถานที่ที่ต้องมาดูของประเทศไทย กลายเป็น 1 ใน 10 สนามฟุตบอลที่แปลกที่สุดในโลก และคนในชุมชนเองก็รักโฆษณาตัวนี้มาก เพราะทุกคนรับรู้ได้ถึงรากเหง้าและตัวตนของพวกเขาผ่านหนังเรื่องนี้
อีกหนึ่งผลงานที่ทำลายทุกความเชื่อที่บอกว่าคนดูชอบแต่คลิปสั้นๆ เท่านั้น แต่ผลงานชิ้นนี้มีความยาวถึง 15 นาที แต่กลับมียอดวิวเป็นล้าน ที่สำคัญ ผลงานที่ได้ได้มาจากการเก็บ Data ในธุรกิจท่องเที่ยวที่พบว่าเทรนด์ของการที่ผู้หญิงเที่ยวคนเดียวพุ่งแรงมากขึ้น กับผลงานที่ชื่อว่า #TokyoUnexpected โดยบัตรเครดิต VISA
ภาคย์ เล่าว่าเป็นงานที่ทำสมัยอยู่ BBDO เป็นผลงานที่ภูมิใจเพราะเกิดจากการที่ลูกค้าเชื่อใจในทีมของเขามาก เขาพกเอาแค่สคริปต์ที่มีความยาวหนาถึง 5 หน้า ไปนั่งอ่านให้ลูกค้าฟังแบบไม่ได้โชว์ Storyboard เลย ปรากฏว่าลูกค้าซื้อทันทีแถมยังให้อิสระในการทำงานสามารถบินไปถ่ายทำเองที่ญี่ปุ่นแบบที่ลูกค้าไม่ได้ไปควบคุม ซึ่งความเชื่อใจตรงนี้ “ภาคย์” บอกว่า มันเป็นยิ่งกว่าแรงกดดันใดๆ มหาศาลมากกว่าการให้คอมเมนต์เสียด้วยซ้ำ จนถึงวันนี้ยังจำความรู้สึกที่ไปช่วยถือรีเฟล็กซ์ได้เลย ทั้งเหนื่อยทั้งสนุกทุกคนช่วยกันทำงาน make it happen ให้ได้ จนในที่สุดผลงานชิ้นนี้ก็กลายเป็น Ref. ที่สำคัญเป็นบทพิสูจน์ของงานโฆษณาชิ้นอื่นๆ ว่าถ้างานมันดีความยาวก็ไม่ใช่ข้อจำกัด
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายชิ้นงานที่เขาทำในบ้าน Wunderman ซึ่งก็ได้รับรางวัลและคำชื่นชมมากมาย อาทิ Thai Airways’ Stay Home Miles Exchange, Heineken’s Star Venture, Netflix’s Narcos The Censor’s Cut และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงาน Malee’s Aomori no Kisetsu ซึ่งชิ้นนี้ ภาคย์ระบุว่า เป็นอีกหนึ่งชิ้นงานที่ภูมิใจมากเพราะว่า ลูกค้าแม้จะเป็นแบรนด์ไทยแต่ก็กล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง ซึ่งต้องบอกว่าการทำอนิเมชั่นแบบนี้ในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะลูกค้าแทบไม่เห็นอะไรเลยเห็นเพียงแค่ก้างปลาขีดๆ แต่ลูกค้าเชื่อใจมากอนุมัติให้ทำ ซึ่งเราก็ดีใจมากที่ลูกค้าตัดสินใจทำเพราะมันอิมแพคมากจริงๆ ทั้งในแง่ชอง business และเสียงตอบรับจากผู้ชม โดยเฉพาะซีนเหยียบฟุตปาธน้ำกระเด็น ที่มีวอยซ์พูดถึงมากถึง 80% และเป็นซีนทีตั้งใจจะใส่เข้าไปอย่างมากเพราะอยากให้มันมีกลิ่นของกรุงเทพฯ ที่แท้จริงลงไป
ความเป็นผู้นำและแรงกดดันของการนั่งเก้าอี้ CCO
กับการก้าวขึ้นในตำแหน่ง CCO ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ Wunderman Thompson ภาคย์ ยอมรับว่ามันคือแรงกดดัน แต่ไม่กลัว พร้อมกับมองว่า คนที่เก่งขึ้นจะต้องต่อสู้และรู้จักที่พิชิตความกลัวให้ได้ แล้วเมื่อทำได้ก็จะก้าวข้ามและพัฒนาตัวเองให้เก่งยิ่งขึ้น และที่สำคัญอยากจะ define ตำแหน่งนี้แบบของตัวเอง ซึ่งเขาเปรียตัวเองเป็นเสมือน “ลูกไฟ”
“เราเป็นเหมือน ลูกไฟ ที่จะจุดแพสชั่นให้กับคนที่นี่ เราเชื่ออีกอย่างก็คือ เมื่อเราเป็นลูกไฟแล้วเราไปจุดไฟคนอื่นเขา”
และสิ่งสำคัญเราเชื่อในการทำงานหนัก ถ้าไม่ทำงานให้หนัก ไม่ work hard ความสำเร็จก็จะไม่เกิด แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะต้องอ่อนน้อมด้วย (stay humble)
“ต้องถ่อมตัวเองให้ต่ำที่สุดเพื่อให้สามารถรับฟังคนอื่นได้ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะเอาอีโก้หรือไฟของเราไปเผาคนอื่นหมดเลย แทนที่เพลสชั่นมันจะเบ่งบาน แต่เราเอาไฟไปถล่มคนอื่น ไม่เกิดความสนุกสนาน”
ดังนั้นมันต้อง work hard และ stay humble ตลอดเวลา ส่วนเรื่องของแพสชั่น คิดว่าเป็นธรรมชาติของแต่ละคนเองมากกว่า เมื่อมีความสุขก็สามารถทำงานออกมาดี ทำอะไรสิ่งนั้นก็จะถูกถ่ายถอดออกไปได้เอง
Idol ในวงการโฆษณา
และกว่าจะก้าวมาถึงตรงนี้ ภาคย์ บอกกับเราว่าเขามีครูด้านงานโฆษณาอยู่หลายคนทีเดียว ซึ่งแต่ละคนก็ประกอบร่างประกอบส่วนจนกลายเป็นงานที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเขาเอง
เราประกอบไปด้วยคนหลากหลายส่วนมากเลย เราโตมากับหัวหน้าคนแรกชื่อ “พี่ตู่” ที่ต่อสู้เพื่อไอเดียที่ครีเอทีฟ และก็มี “พี่กอล์ฟ” เป็นอีกคนที่ทำให้เรียนรู้งานฟรีฟอร์ม “พี่เข้” (สมพัฒน์ ทฤษฎิคุณ) ที่สอนให้เชื่อใน Positive Energy “พี่สุท” (สุทธิศักดิ์ สุจริตตานนท์) ที่สอนมายด์เซ็ตเรื่อง Global Standard “พี่จุ๊” (ทิพยจันทน์ หัสดินทร ณ อยุธยา) สอนทุกโพรเซสทั้งการใช้ชีวิตและการทำงาน ผลักดันให้มีแพสชั่นที่รุนแรง “โจอาว” (มร.โจอาว บรากา) สอนให้มีมายด์เซ็ตแบบโกลบอล “มัวรีน” เป็นหัวหน้าที่คอยซัพพอร์ตให้มาศุ่ตำแหน่งนี้ “พี่แจมมี่” (ปรัตถจริยา ชลายนเดชะ) ที่คอยผลักดันและช่วยเหลือเราในทุกเรื่อง การจะมาเป็นเราวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเราคนเดียว มันเกิดขึ้นจาก element เล็กๆ element ใหญ่ๆ จากรุ่นพี่ทุกท่านเลย เกิดเป็นตัวเราในวันนี้ ดังนั้น ต้องขอบคุณทุกคนๆ ด้วย
เป้าหมายในการขับเคลื่อน Wunderman Thompson
เป้าหมายของการนำพา Wunderman Thompson ไปสู่อนาคตในฐานะ CCO ภาคย์ บอกว่า เป็นคำถามที่ยากอยู่เหมือนกันเพราะเพิ่งมารับตำแหน่งไม่นาน แต่สิ่งที่ Wunderman เป็นอยู่ตอนนี้ก็ค่อนข้างสวยงามอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยี ดาต้า หรือความเป็น Global Agency มันสามารถขยายขอบเขตของเราได้กว้างขวางและตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกความต้องการ ซึ่งเรื่องนี้คงรักษาเอาไว้ แต่สิ่งที่อยากจะผลักดันเพิ่มเติมก็คือการทำให้เป็น one goal เดียวกัน เพื่อให้ทุกคนวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญคือนำเสนองานให้เกิด Business Impact ที่ชัดเจนให้กับลูกค้า
“เรามีมิชชั่นของตัวเองอยู่ในใจ คืออยากจะทำงานไทยให้เป็นระดับ Global อยากทำให้ผลงานของคนไทยถูกมองผ่านสายตาของคนทั้งโลก แนวคิดแบบนี้มันอาจจะดูเหมือนผิวๆ แต่สำหรับเราแล้ว มันคือสิ่งที่ผลักดันทุกอย่าง มันไดร์ฟแพสชั่นของตัวเราเองและของทีม การทำงานที่นีด Global Standard มันคือการ achieve ตัวเองให้ไปสู่ระดับโลกจริงๆ สักครั้งหนึ่ง”
“มนุษย์ครีเอทีฟ” ในแบบ ภาคย์ วรรณศิริ
ท้ายที่สุด ในฐานะที่เป็นเหมือน Young Blood ของคนโฆษณารุ่นใหม่เลยให้ ภาคย์ ให้นิยามหรือคำจำกัดความคำว่า “มนุษย์ครีเอทีฟ” ในแบบของเขาว่าคือ การมองหาลิงก์ Gate คือความเข้าใจมนุษย์ และไม่ได้มองแค่สิ่งของ ไม่ได้มองแค่งานอาร์ท แต่มันคือการมองแบบเข้าใจมนุษย์ เราเชื่อว่าครีเอทีฟคือ Human Expert คนที่เข้าใจมนุษย์ เพราะสุดท้ายแล้วเราต้องพูดกับมนุษย์ ต้องสื่อสารกับมนุษย์ ดังนั้น จึงเป็นที่ชอบคุยกับคน ชอบศึกษาเรื่องของคน ชอบเข้าใจคนที่แตกต่างกัน เพราะว่าวันนหนึ่งจะได้เอามาใช้ประโยชน์ งานครีเอทีฟก็เป็นแบบนี้ ต้องตั้งคำถามต้องชอบปัญหา เพราะปัญหาคือสิ่งที่สำคัญเมื่อปัญหามาปัญญาเกิด เมื่อปัญหามา creativity จึงมาเพื่อแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง
“ดังนั้น ในมุมของเราของเรา อาชีพครีเอทีฟ
คืองานที่หยิบจับอะไรก็ไม่รู้ที่อยู่ในอากาศ
กลายเป็นสิ่งที่มันเลี้ยงชีพเราได้”