ผลสำรวจชี้ ‘โควิด-19’ ส่งผลทั้งบวกและลบต่อความก้าวหน้าของ ‘ผู้หญิง’ ในภาคธุรกิจ

  • 7
  •  
  •  
  •  
  •  

เผย Mastercard Index of Women Entrepreneurs 2020 โดย อิสราเอล , สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ เป็น 3 ประเทศแรกที่มีสภาพเกื้อหนุนและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงประสบความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการมากที่สุด ขณะที่ ‘ไทย’ ติดอันดับ 11 และอยู่ในอันดับ 6 สำหรับการสนับสนุนผู้หญิงให้มีความก้าวหน้าทางด้านอาชีพการงานและมีส่วนร่วมต่อความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อมูลดังกล่าว ทาง ‘มาสเตอร์การ์ด’ ได้ติดตามความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิงใน 58 ประเทศ หรือคิดเป็นเกือบ 80% ของแรงงานหญิงทั่วโลก โดยได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานและสถาบันระดับประเทศ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ และรายงานการศึกษาต่างๆ และมีการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่ครอบคลุมถึงช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า

3 ประเทศแรกที่มีสภาพเกื้อหนุนและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงประสบความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการมากที่สุด ได้แก่ อิสราเอล , สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ ผลลัพธ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าประเทศที่ได้อันดับต้นๆ คือประเทศที่มีการดำเนินงานที่เฉพาะเจาะจงสำหรับเพศหญิง มีการเน้นสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมและปรับเปลี่ยนทัศนคติด้านวัฒนธรรมที่เกื้อหนุนและเปิดโอกาสให้เพศหญิงในภาคธุรกิจได้แสดงศักยภาพ ตลอดจนการสร้างแรงบันดาลใจโดยนำเอาผู้นำหญิงที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบ

ขณะที่ ‘ประเทศไทย’ ได้อันดับที่ 11 ตกลงมา 1 อันดับเมื่อเทียบกับปี 2562 (แต่ได้คะแนนเพิ่มขึ้น 2.5%) และอยู่อันดับที่ 6 ของเกณฑ์วัดผลความก้าวหน้าของสตรี (Women’s Advancement Outcome) ที่วัดความก้าวหน้าและระดับการยอมรับทางทัศนคติที่มีต่อสตรีในฐานะผู้นำทางธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ และแรงงานที่มีประสิทธิภาพและความสามารถในหน้าที่การงานและระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนับว่า ไทยทำได้ดีในการสนับสนุนผู้หญิงให้มีความก้าวหน้าทางด้านอาชีพการงานและการมีบทบาทต่อความเจริญของเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อมองประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศที่มีการไต่อันดับขึ้นมากที่สุดคือ จีนแผ่นดินใหญ่ (+6) และอินโดนีเซีย (+5) ขณะเดียวกัน ประเทศที่อันดับตกมากที่สุดคือ สิงคโปร์ (-12) ฟิลิปปินส์ (-10) ฮ่องกง (-8) และเวียดนาม (-7)

โควิด-19 มาพร้อมอุปสรรคและโอกาสในเวลาเดียวกัน

ผลวิเคราะห์ของดัชนีประจำปี 2563 ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อผู้ประกอบการหญิงอย่างชัดเจน โดย 87% ของผู้ประกอบการหญิงระบุว่า ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะธุรกิจในภาคท่องเที่ยว ค้าปลีก และอาหาร ทั้งยังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศที่มีแต่จะหนักขึ้นอันเป็นผลจากการก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลที่รวดเร็วขึ้น และยังต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูบุตรในช่วงที่โรงเรียนต้องปิดชั่วคราว

ขณะเดียวกัน โควิดก็เป็นตัวเร่งให้ผู้หญิงเติบโตอย่างก้าวกระโดดในภาคธุรกิจและสร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้หญิง เนื่องจากโควิดได้สร้างสถานการณ์ที่ผู้หญิงสามารถแสดงออกถึงความเป็นผู้นำในการทำธุรกิจ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงด้วยกันเองที่อาจกำลังกลัวหรือประสบกับอุปสรรคทางวัฒนธรรม พบว่า

-47.8% ของผู้ประกอบการหญิง ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น

-42% ได้เปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็นรูปแบบดิจิทัลแล้ว

-34% มองเห็นโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจหลังจากเกิดโควิด-19

ผลวิเคราะห์ข้อมูลยังพบอีกว่า แม้ว่าแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน แต่แนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ ภาครัฐจำต้องออกมาตรการบรรเทาทุกข์ที่ครอบคลุมสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ตั้งแต่การสมทบเงินจ้างตลอดจนโครงการพักงานชั่วคราวและการช่วยเหลือทางการเงิน รวมถึงการช่วยเหลือด้านการดูแลบุตร

 

 

 

 

 


  • 7
  •  
  •  
  •  
  •