กระแส Genderless มาแรง! เทรนด์แฟชั่นค้าปลีกในอนาคตกำลังกลายเป็น ‘แฟชั่นไร้เพศ’

  • 78
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ยุคสมัยใหม่เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เริ่มเปิดใจยอมรับเกี่ยวกับ ‘เพศสภาพ’ ที่มันหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้ระบุแค่ เพศหญิง หรือชาย อีกต่อไป ขณะเดียวกัน กระแสการไม่ระบุเพศชัดเจนยังขยับตัวไปสู่วงการแฟชั่นอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะ ‘ค้าปลีก’ ที่ไม่ยึดติดแบ่งโซนสินค้าที่เฉพาะเจาะจง ‘ผู้หญิง’ หรือ ‘ผู้ชาย’ เท่านั้น ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนที่น่าจะ 100% ของร้านค้าปลีก หรือในห้างสรรพสินค้าชั้นนำต้องแบ่งเพศ สี(ตามเพศ) เอาไว้อย่างชัดเจน

ดีไซเนอร์ชื่อดังหลายๆ คน หนึ่งในนั้น คือ Nicola Formichetta, designer & founder แบรนด์ Nicopanda ในนครนิวยอร์ก เขาได้พูดถึงอิทธิพลของ Gen Z เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก ส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมแบรนด์ชั้นนำหลายๆ แบรนด์เริ่มให้ความสำคัญกับ ‘แฟชั่น unisex’ มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

อย่างเช่นแบรนด์ Stella McCartney ของอังกฤษ ได้เปิดตัว ‘Stella McCartney Shared’ เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นแคปซูลไร้เพศ (genderless capsule) ซึ่งจะเป็นแนวแฟชั่นเสื้อผ้าไร้เพศ ไร้พรมแดนหญิง-ชาย ที่สำคัญยังคงคอนเซ็ปต์เดิม ‘ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อสเวตเตอร์เนื้อนุ่มและหลวม ทำจากผ้าคอตตอนออร์แกนิก 100%

 

 

เธอได้พูดถึงแฟชั่น Genderless หรือบางคนก็เรียกว่า Unisex ว่ามันเป็นแฟชั่นที่ไม่ทำให้เรารู้สึกเบื่อ ใส่ง่าย ได้ทุกโอกาส ที่สำคัญมันแสดงถึงความทันสมัย ไม่เลือกข้าง ไม่จำกัดเพศ และไม่จำเป็นต้องแคร์ว่า สีอะไรเหมาะกับเพศไหน เป็นต้น

“แฟชั่น คือ งานศิลปะชิ้นหนึ่งที่เราเป็นคนลงมือวาดเอง ออกแบบเอง และมันสะท้อนตัวตนของเรา”

ในฝั่งแคนาดา ก็มีแบรนด์ที่เป็นขวัญใจวัยรุ่นตลอดกาลอย่าง ‘MUTTONHEAD’ ซึ่งจะเน้นความคลาสลิกสไตล์ และความเป็น unisex มานานแล้ว ซึ่งเสื้อผ้าแบรนด์นี้เน้นใส่ได้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกฤดูกาล

แม้แต่ใกล้ๆ บ้านเราอย่าง ‘เกาหลี’ รู้หรือไม่ว่ามีแบรนด์น้องใหม่ที่เข้าสู่วงการเสื้อผ้าแฟชั่น  gender neutral มากขึ้น ถ้าใครเป็นสายเกาหลีตัวจริงต้องรู้จักแบรนด์พวกนี้แน่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Ader Error, CRES. E DIM., 13 Month

 

Credit: DIM. E CRES.

 

หรือจะเป็นเพื่อนบ้านเราฝั่งอาเซียน อย่างแบรนด์เสื้อผ้าสไตล์ชาวฟิลิปปินส์ก็มี ‘Don’t Blame the Kids’ แบรนด์นี้เราอาจจะไม่ค่อยคุ้นหู แต่รับรองว่าถ้าไปฟิลิปปินส์จะเห็นหนุ่มสาวเขาใช้แบรนด์นี้กันเยอะขึ้นมาก

 

Credit: Don’t Blame The Kids

 

ส่วนในไทยก็มีอยู่หลายๆ แบรนด์ที่เป็นแนวๆ genderless อย่างเช่น แบรนด์เสื้อผ้าแนวแฟชั่นสตรีท ‘SNEAKA VILLA’ ซึ่งหลายๆ คนน่าจะเคยเห็นศิลปินคนดังหลายๆ คนใส่เสื้อผ้าที่มีสัญลักษณ์ ‘SV’ กันอยู่บ้าง

 

Credit: SNEAKA VILLA

 

 

แบรนด์หรูเริ่มจับตลาด ‘Genderless’ มากขึ้น

ใครว่าเทรนด์นี้จะจับตลาดเฉพาะสาวกที่ชื่นชอบ fashion street เท่านั้น เพราะแม้แต่แบรนด์ลักชัวรี อย่าง ‘Gucci’ ได้เปิดตัวสไตล์แฟชั่นใหม่ที่ชื่อว่า ‘Gucci MX’ สำหรับคนที่ชอบการแต่งตัวแบบไม่ระบุเพศ ซึ่งใน category นี้จะมีครบตั้งแต่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ที่เป็นแบบ unisex ทั้งหมด

 

Credit: Gucci MX

 

ส่วนแบรนด์รองเท้า sneakers อย่าง Adidas ในลอนดอน ได้เปิดร้านสไตล์ gender-neutral โดยเฉพาะสำหรับสาวก Adidas ที่ชอบเสื้อผ้า รองเท้า ที่เน้นแบบคล่องตัว สไตล์สปอร์ตหน่อยๆ และไม่แบ่งแยกเพศชัดเจน เพราะเสื้อและรองเท้าทั้งร้านที่เป็นแบบ genderless จะมีไซส์ทั้งผู้หญิงและผู้ชายทุกรุ่น!

www.adidas.co.uk

 

อย่างที่ ‘Chris Walsh’ รองประธาน Adidas UK ได้พูดว่า “คนรุ่นใหม่เขาไม่ต้องการถูกตีกรอบ ไม่ต้องมาชี้บอกว่าพวกเขาควรใส่เสื้อผ้าแบบไหน หรือสีพาสเทล เหมาะกับผู้หญิงเท่านั้น เพราะปัจจุบันเราก็เห็นผู้ชายแท้ๆ ใส่สีชมพูกันเยอะแยะไป ดังนั้น จุดประสงค์ของ Adidas จะไม่ใช่การออกแบบเพื่อให้สินค้าเหมาะกับลูกค้า แต่ทำยังไงให้พวกเขาสวมใส่สบายมากที่สุด และใส่ได้ทุกโอกาส ระยะใช้งานนานขึ้น”

 

 

ช่วง COVID-19 ลูกค้าเน้นซื้อสินค้า ‘มีคุณค่า – คุ้มค่า – ยั่งยืน’

มีรายงานของบริษัทวิจัยและที่ปรึกษา ‘Kalypso’ จากเยอรมนี ที่พูดถึงกระแสนิยมนี้เกี่ยวกับวงการแฟชั่นว่า ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ทำให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปมาก เสื้อผ้าหรือสินค้าแฟชั่นกลายเป็น ‘ของฟุ่มเฟือย’ ดังนั้น สินค้าที่พวกเขาจะยอมจ่ายต้องเป็นสินค้าที่มีคุณค่า เน้นอายุการใช้งานนาน (ไม่ว่าจะเป็นพรีเมียม หรือใส่ได้หลายโอกาส) และต้องยั่งยืน (ไม่มีฤดูกาล, ไม่มีการระบุเพศ)

Rob Smith, ผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้าไร้เพศ The Phluid Project พูดกับ Wunderman Thompson Intelligence “หากพูดในแง่ของเจ้าของกิจการ การที่เราเน้นไปที่แฟชั่นไร้เพศมันมีแต่ข้อดีทั้งนั้น ลองคิดดู เราไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ร้านเยอะๆ เพื่อแยกประเภทเสื้อผ้าชายหญิง เราไม่จำเป็นต้องทำ sample ทั้งคอลเลคชั่นชายและหญิง เพราะมันคือ sample เดียวกัน มีแค่ขั้นตอนเดียวที่น่าจะทำนานที่สุด คือ เก็บข้อมูลที่เป็นกลางออกมา ว่าสไตล์แบบไหน สีอะไร หรือราคาประมาณเท่าไหร่ ที่จะเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่เป็น genderless

แม้ว่ากระแสแฟชั่นแบบ genderless มันอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สะทีเดียว แต่นักการตลาดหลายคน รวมทั้งแบรนด์ดังๆ ต่างพูดคล้ายๆ กันว่า Future of Fashion เราจะเห็นแน่ๆ ก็คือ แฟชั่นที่เป็นกลางที่สุด แฟชั่นที่ไม่มีขอบเขตเรื่องเพศ รูปร่าง หรือ สีผิว มันอาจจะไม่ใช่แค่ ‘Gender’ อีกต่อไป แต่เราต้องใช้คำว่า ‘Gender Neutral’ แทนน่าจะเหมาะกว่า

 

 

 

ที่มา: wundermanthompson, apparelresources, wwd


  • 78
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม