E-Commerce เป็นดาวเด่น ผลักดัน ศก.ดิจิทัล “ไทย-เซาท์อีสต์เอเชีย” ฝ่าโควิด เติบโตแบบก้าวกระโดด

  • 111
  •  
  •  
  •  
  •  

ปี 2020 ถือได้ว่าโหดและหนักหนาสาหัสเอาเรื่องทีเดยวสำหรับทุกธุรกิจ เริ่มตั้งแต่สงครามการค้า ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และหนักสุดก็คงเป็นการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่เล่นเอาทั่วโลกสั่นสะเทือนไปหมด และส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไปทั่วโลก และก่อนจะหมดปี 2020 นี้ ทางทีมวิจัย Google และพันธมิตร ได้แก่ Temasek และ Bain & Company ได้เผยแพร่  ผลวิจัยด้านเศรษฐกิจดิจิทัล “เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2563 (e-Conomy SEA 2020)” ซึ่งทำเป็นประจำทุกปี โดยเป็นการประเมินมูลค่าเศรษฐกิจการเติบโตในปีนี้ และการคาดการณ์การเติบโตในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วย ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเทรนด์ต่างๆ ที่น่าสนใจ และเห็นควรที่จะศึกษาไว้เพื่อนำไปสู่การทำงานในปีต่อไปได้ ดังนี้

 

Thailand 2020 – 2025

ปี 2020 เศรษฐกิจดิจิทัลไทย เติบโตขึ้น 7% และมีมูลค่าสูงถึง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5.4 แสนล้านบาท โดยเป็นการเติบโตเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ธุรกิจในประเทศ มีทั้งที่มีการเติบโตและมีทั้งที่หดตัวลดลง ดังนี้

อี-คอมเมิร์ซ

ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด

  • มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 81% และมีมูลค่าแตะ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ซึ่งคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ทั้งนี้ จากการขยายตัวของอี-คอมเมิร์ซ ช่วยชดเชยการชะลอตัวของการท่องเที่ยวและการขนส่งออนไลน์

สื่อออนไลน์

หมายถึง สื่อโฆษณา เกม บริการวิดีโอออนดีมานด์ และบริการเพลงออนดีมานด์ ซึ่งไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเติบโตเพิ่มขึ้น 20% จากปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ และทะลุ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2525 และ

ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีก ดังนี้

  • คนไทยใช้เวลาออนไลน์ 3.7 ชั่วโมง (ใช้งานส่วนตัว) ในช่วงก่อนโควิด
  • และพุ่งขึ้นถึง 4.6 ชั่วโมงในช่วงที่มีการล็อกดาวน์
  • ปัจจุบันคงที่อยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน
  • ผู้ใช้จาก 8 ใน 10 ราย เห็นว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างมากในช่วงโควิด-19 จึงทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของผู้คนอีกต่อไป

นอกจากนี้ ในรายงานฯ ยังระบุว่าในช่วงล็อกดาวน์มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ผู้ใช้จํานวนมากเริ่มลองใช้บริการดิจิทัลใหม่ๆ โดย 30% ของผู้ใช้บริการดิจิทัลทั้งหมดคือผู้ใช้รายใหม่ และ 95% ของพวกเขาเหล่านี้ตั้งใจที่จะใช้ต่อไปหลังช่วงระบาด

การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์

จากผลสำรวจพบว่า การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ประเทศไทยมีมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีลดลง 12% แม้ว่าจะมีการเติบโตของบริการส่งอาหารออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ในอีก 5 ปีข้างหน้า (หรือในปี 2525) จะมีมูลค่าสูงถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตขึ้น 45%

การท่องเที่ยวออนไลน์

ได้แก่ ธุรกิจประเภท จองโรงแรม ที่พัก เที่ยวบิน ซึ่งแน่นอนว่าผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีลดลง 47% โดยมีมูลค่าตลาด (Gross Bookings Value) ในปี 2020 อยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในอีก 5 ปี จะมีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้น 31%

 

 

Southeast Asia 2020 – 2025

ในขณะที่ ภาพรวมของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2020 มีมูลค่าทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่เพิ่มขึ้น 40 ล้านคนจากปี 2562 ทำให้ปัจจุบันทั่วทั้งภูมิภาคนี้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 400 ล้านคนแล้ว และ 70% ของประชากรในอาเซียนปัจจุบันเข้าสู่ออนไลน์แล้ว โดย 36% ใช้บริการต่างๆ ผ่านระบบดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีก ดังนี้

 

  • จำนวนประชากร ไทย มีอยูที่ 70 ล้านคน อันดับ 1 คือ อินโดนีเซีย อยู่ที่ 271 ล้านคน อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ 108 ล้านคน อันดับ 3 เวียดนาม 96 ล้านคน
  • ทั้งนี้ หลังการใช้บริการดิจิทัลพบว่า ประชากรอาเซียน 9 ใน 10 พร้อมที่จะใช้บริการต่อ โดยประเทศไทย พร้อมที่จะใช้บริการต่อถึง 95%
  • พบว่าในช่วงเวลาล็อกดาวน์ยังมีการใช้เวลาบนอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ก่อนล็อกดาวน์ ใช้เวลา 3.6 ชม./วัน ระหว่างล็อกดาวน์ใช้เวลา 4.7 ชม./วัน หลังล็อกดาวน์ใช้เวลา 4.2 ชม./วัน
  • ช่วงล็อกดาวน์พบว่า ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่ใช้เวลาเยอะที่สุด โดยก่อนล็อกดาวน์ใช้เวลา 4.0ชม./วัน ระหว่างล็อกดาวน์ใช้เวลา 5.2 ชม./วัน หลังล็อกดาวน์ใช้เวลา 4.9 ชม./วัน
  • คาดการณ์ว่า ใน 5 ปี ข้างหน้า เศรษฐกิจดิจิทัล จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีมูบค่าสูงถึง 309 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 24%

 

ธุรกิจ E-Commerce ในภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชีย (SEA) พบว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยปี 2020 มีมูลค่า 62 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยโตเพิ่มขึ้นถึง 63%  และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกอยู่ที่ 172 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น 23%  ซึ่งการเติบโตนี้สืบเนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้คนนิยมสั่งของเครื่องใช้ผ่านบริการอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงระบบขนส่งที่สะดวกสบายทำให้อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น และแม้หลังการล็อกดาวน์แล้วผู้คนก็ยังติดใจที่จะใช้บริการทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจ Food Delivery ในภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชีย (SEA) ซึ่งจะรวมไปถึง บริการ Transport and Food พบว่าในภูมิภาคนี้มีการเติบโตลดลง 11% เนื่องจากการล็อกดาวน์ที่ผู้คนลดการเดินทาง ไม่ออกจากบ้าน อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ในอีก 5 ปี จะเกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเพิ่มสูงขึ้นถึง 30% หรือมีมูลค่าที่ 42 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะสถานการณ์ของโรคระบาดเริ่มคลี่คลายวิถีชีวิตกลับมาใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติ โดยแบ่งเป็น Food Delivery อยู่ที่ 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนระบบ Transport อยู่ที่ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ธุรกิจ Online Travel (ธุรกิจประเภท จองโรงแรม ที่พัก เที่ยวบิน) แน่นอนว่าปี 2020 หดตัวลดลงเพราะสาเหตุจากการแพร่ของโรคระบาด ที่ทำให้การเดินทางต่างๆ ลดลงทั่วโลก โดยลดลงถึง 58% และมีมูลค่าอยู่ที่ 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะดีขึ้น โดยมีมูลค่าที่ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 33% ดยปัจจัยที่ผลักดันให้สูงขึ้นมาจากธุรกิจ Online Hotel ซึ่งจะมีมูลค่า 38.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สืบเนื่องจากคนอัดอั้นการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมาก

 

 

New Trend น่าจับตาในอนาคต

นอกจากนี้ ในรายงานฯ ยังพบเทรนด์ธุรกิจที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ ได้แก่ บริการทางการเงินดิจิทัล (Digital Financial Service) ได้แก่ การชำระเงิน การโอนเงิน การให้กู้ยืม ประกันภัย และการลงทุน ซึ่งพบว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจ SME ได้หันมาใช้บริการทางการเงินดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นอกเหนือจากบริการให้กู้ยืมแล้ว มูลค่าธุรกรรมรวมการชำระเงินดิจิทัล (GTV) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2020 อยู่ที่ 620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากปีที่แล้ว 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และคาดว่าจะมี มูลค่ารวมที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2525

และอีก 2 ภาคส่วนใหม่ที่ได้ทำการวิจัยขึ้นในปีนี้ ที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้แก่ เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และ เทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech)

  • เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) โดยคาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากช่วงล็อกดาวน์ แต่การเติบโตนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องไปอีกแม้สถานการณ์โควิดจะเริ่มคลี่คลาย
  • เทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) พบว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัว โดยช่วงก่อนโควิด มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในขณะที่ช่วงระหว่างโควิดเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

Welcome New Unicorn SEA

ปัจจุบันภูมิภาค SEA มี 12 ตัว ได้แก่ Bigo, Bukalapak, Gojek, Grab, Lazada Razer, OVO, Sea Group, Traveloka, Tokopedia และ VNG

ล่าสุด VNPay เป็นยูนิคอร์นตัวใหม่ล่าสุดของภูมิภาค เป็นบริษัทจากเวียดนามที่ให้บริการด้านการเงิน อาทิ บริการ e-payment, mobile banking เป็นต้น

 

จับตาอนาคตก้าวต่อไปของ เศรษฐกิจดิจิทัล ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลการวิจัยร่วมกันของ Google, Temasek และ Bain & Company ในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงก้าวต่อไปของอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและระบบนิเวศขนานใหญ่ในปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีความก้าวหน้าและเติบโตมาสู่จุดที่แข็งแกร่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และจากผลการวิจัยการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยได้ค้นพบถึงสาระสำคัญ 7 ประการดังนี้

  1. การย้ายสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล การใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในประเทศไทยที่มีผู้ลองใช้บริการดิจิทัลใหม่ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด – 19
  2. ออนไลน์อย่างมีความหมาย ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เวลาโดยเฉลี่ยมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวันบนอินเทอร์เน็ตในช่วงล็อกดาวน์ ในขณะที่คนไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิด-19 และมองว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จำเป็น
  3. ปรับตัวในช่วงวิกฤต อีคอมเมิร์ซได้ขับเคลื่อนการเติบโตในประเทศไทยอย่างมากถึง 81% การก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วนี้ช่วยชดเชยการชะลอตัวของการท่องเที่ยวและการขนส่งออนไลน์เป็นอย่างมาก
  4. เส้นทางสู่การสร้างผลกําไร การให้เงินทุนกับธุรกิจระดับยูนิคอร์นในภาคธุรกิจที่เริ่มอิ่มตัวชะลอตัวลงนับตั้งแต่จุดเฟื่องฟูในปี 2561 ปัจจุบันแพลตฟอร์มต่างๆ หันกลับมาให้ความสําคัญกับธุรกิจหลักของตนเพื่อมุ่งเน้นการสร้างผลกําไรเป็นอันดับแรก
  5. บุกเบิกธุรกิจใหม่ เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) มีบทบาทสำคัญมากในช่วงของการระบาด โดยมีอัตราการนำไปใช้ (Adoption Rate) ที่โดดเด่น
  6. มองบวกอย่างรอบคอบ นักลงทุนตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบในการซื้อขายที่น้อยลงแต่ด้วยมูลค่า (valuation) ที่น่าดึงดูดมากขึ้น โดยคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว
  7. ก้าวต่อไป จากผลการวิจัยในปีนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจอินเทอร์เน็ตเติบโตมาสู่จุดที่แข็งแร็งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นการพัฒนาข้อจำกัดสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจํากัดด้านบุคลากรที่มีความสามารถ

  • 111
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!