ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ซึ่งผ่านภาวะวิกฤตของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ต้องสะดุด กิจกรรมการตลาดต้องเลื่อนออกไป นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องของกำลังซื้อที่หดตัว ประเด็นมาตรการและกฎระเบียบด้านภาษี กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งล้วนมีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น ปัจจุบันสถานการณ์ของการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้นมากแล้ว ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ต่างก็เริ่มที่จะจัดแคมเปญการตลาดกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งปรับแผนการลงทุนโครงการใหม่ รักษาสมดุลและลดความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังมีข่าวน่าสนใจของการรวมแพลตฟอร์มแบบครบวงจรครั้งแรกในประเทศไทย ที่จะผสานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ อสังหาฯเพื่อที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรรม ซึ่งเชื่อว่าน่าจะทำให้วงการอสังหาฯไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง
จากข่าวการประกาศรวม 3 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็น One Platform รายแรกของไทย โดย เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย พร้อมกับการตั้งเป้าที่จะเป็น TOP 3 ในปี 2566 ทำให้เราต้องขอโอกาสเข้ามาพูดคุยกับผู้อยู่เบื้องหลังการรวมพลังความแข็งแกร่ง รวมถึงทิศทางที่จะก้าวต่อไปข้างหน้านับจากนี้ จาก “ธนพล ศิริธนชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ปี 2020 ของไทย และบทเรียนช่วงโควิด-19
เบื้องต้นเราขอให้ ธนพล เล่าถึงภาพรวมของธุรกิจอสังหาฯในปีนี้ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นมรสุมใหญ่ซึ่งไม่ได้กระทบแค่อสังหาแต่สะเทือนในหลายๆ วงการด้วยกัน ธนพล เล่าว่า เป็นปีที่ท้าทายพอควร เพราะไม่ได้เจอแค่โควิดแต่ยังเป็นปีที่เจอเรื่องสงครามการค้าด้วย ซึ่งหากจะให้พูดถึงภาพรวมของตลาดอสังหาฯ ในปีนี้ สำหรับตลาด Residential หรือที่อยู่อาศัย ต้องบอกว่า “แนวราบ” ยังไปได้ดี เพราะว่าคนยังให้ความสำคัญและต้องการพื้นที่ในการอยู่อาศัย โดยเฉพาะทาวน์เฮาส์ค่อนข้างดีทีเดียว แต่ “แนวสูง” อาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะดีมานด์มันหายไปในขณะที่ซัพพลายเหลือขายค่อนข้างมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเร่งระบายสินค้าหรือกระจายไปที่แนวราบด้วย ส่วนตลาด Industrial หรืออสังหาฯ เพื่อการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะคลังสินค้า (warehouse) ต้องบอกว่าสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้ดีทีเดียว เพราะว่าการเติบโตของ e-commerce ทำให้ได้รับการตอบรับดี ความต้องการศูนย์ในการกระจายสินค้ามีมากขึ้น ส่วนตลาด Commercial หรืออสังหาฯ เพื่อพาณิชยกรรม เป็นอีกธุรกิจที่ยังไม่เห็นผลกระทบมากนัก แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีการเวิร์คฟอร์มโฮม แต่หลายๆ ออฟฟิศก็ยังต้องการพื้นที่ที่ได้มาพบปะเจอกัน โดยเริ่มปรับรูปแบบการใช้พื้นที่จากเดินที่เป็นแบบ fixed desk เป็น hot desk สำหรับตลาด Retail นั้น มีความท้าทายพอสมควร ซึ่งก็ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการจัดมาร์เก็ตติ้งแคมเปญที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดลูกค้า
“ดังนั้น ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่เราได้ทำ คือ “ปรับตัว” ทั้งวิธีการในการหาลูกค้าและ ปรับปรุงสินค้าให้เข้ากับสถานการณ์ โดยเน้นการทำออนไลน์มาร์เก็ตติ้งมากขึ้น เจาะเฉพาะกลุ่มมากขึ้น รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบวิธีการหาลูกค้าใหม่ เช่น การเปิดประมูลบ้านออนไลน์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของลูกค้า พนักงาน และผู้เข้ามาติดต่อภายในพื้นที่ ด้วยการวางมาตรการและแนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งแผนที่เราอาจจะแพลนว่าอีก 3-4 ปีค่อยทำ แต่ปรากฏว่าเราต้องทำเลยหรือทำเร็วขึ้น การปรับตัวนี้ส่งผลต่อต้นทุนที่อาจจะสูงขึ้น แต่เราก็คิดว่ามันเป็นสิ่งจำเป็น”
พลังของ 3 ธุรกิจ เสริมความแข็งแกร่งให้เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย
สำหรับการรวมทั้ง 3 ธุรกิจอสังหาฯบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ธนพล ระบุว่า จะเป็นการสร้างให้องค์กรมีความแข็งแกร่ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน ในฐานะผู้นำบริการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรรายแรกในประเทศไทย ด้วยพอร์ตโฟลิโอที่ครอบคลุมประเภทที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ซึ่งทำให้บริษัทฯสามารถส่งมอบสินค้าและบริการ พร้อมข้อเสนอทางการตลาดที่โดดเด่นและแตกต่างจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทฯอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำข้ามชาติอย่าง เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ทำให้เราสามารถผสมผสานประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจอสังหาฯในประเทศไทย (Local Expertise) เข้ากับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจในระดับนานาชาติ (Global Experience) เพื่อพัฒนาต่อยอดสินค้าและบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
กลยุทธ์ One Platform นี้ จะเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลังจากการรวมทุกกลุ่มธุรกิจไว้บนแพลตฟอร์มเดียวกัน ทำให้เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย สามารถให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างครอบคลุม ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าหลากหลายกลุ่ม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการกระจายความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจจากการบริหารสินทรัพย์หลากหลายประเภทที่มีลูกค้าหลายกลุ่ม (Diversification) พร้อมส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตบนแพลตฟอร์มที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อต่อยอดสร้างเป็น Ecosystem ที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ (Synergy) อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการให้มีความยืดหยุ่น ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง และพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ที่ท้าทายต่างๆได้เป็นอย่างดี (Resilience)
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการตามแผน One-To-Three เพื่อเป็นการสร้างการเติบโตในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า ซึ่งแผนดังกล่าวนี้หมายถึง “ONE platform TOwards being a trusted brand and the top THREE in all asset classes” หรือ การรวมธุรกิจเป็นหนึ่งเดียวด้วยแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับ Top 3 ของทุกกลุ่มธุรกิจในปี 2566
“และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ เรื่องของ Synergy เพราะการรวมกันเป็นการที่เราสามารถมองธุรกิจได้หลายมิติ เราสามารถที่จะ Cross-selling หรือ Up-Selling ได้ ช่วยให้ R&D เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมีการแชร์หรือนำข้อมูล (Data) มาวิเคราะห์เพื่อเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าในปัจจุบัน สามารถเชื่อมโยงแต่ละกลุ่มธุรกิจ (เอสเสทคลาส) อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ Economies of Scale ผ่านแชร์เซอร์วิสร่วมกัน พร้อมเพิ่มความสามารถในการบริหารทรัพยาการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (Cost efficiency) นี่คือประโยชน์ของ Synergy ที่เห็นได้อย่างชัดเจน”
ไฮไลท์ 3 ธุรกิจหลักของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย
เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ดำเนินธุรกิจประเภทอสังหาริมทรัพย์ 3 กลุ่ม มีอะไรบ้าง และ มีมูลค่าสินทรัพย์เท่าไหร่บ้าง
1.กลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม” ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยในแนวราบ ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ โดยตั้งเป้าในการขยายไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างครบครันและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้อยู่อาศัย ปัจจุบัน เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม นับเป็นผู้นำบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Top 5 ของประเทศ สำหรับกลุ่มธุรกิจเพื่อที่อยู่อาศัย มีโครงการที่พักอาศัยคุณภาพสูงรวม 59 โครงการในหลายทำเล ครอบคลุมทุกระดับราคา ภายใต้แบรนด์ ‘โกลเด้น’ ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น โกลเด้นทาวน์, โกลเด้นซิตี้, โกลเด้น นีโอ, โกลเด้น วิลเลจ, โกลเด้น อเวนิว, โกลเด้น เพรสทีจ และ เดอะ แกรนด์ ธุรกิจกลุ่ม‘โฮม’ มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 70,000 ล้านบาท และมีรายได้ 9 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม – กันยายน) รวม 11,100 ล้านบาท
2.กลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล” ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมแบบครบวงจร มีสถานะเป็น ‘ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมยุคใหม่’ ที่มุ่งเน้นการส่งมอบโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งโรงงานและคลังสินค้าของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล มีทั้งแบบพร้อมให้เช่า (Ready-Built) และแบบสร้างตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) บนทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์กว่า 50 ทำเล ทั้งในนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีพื้นที่โรงงานรวม 1.2 ล้านตารางเมตร พื้นที่คลังสินค้ารวม 1.8 ล้านตารางเมตร คิดเป็นพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการรวม 3 ล้านตารางเมตร และมีรายได้ 9 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม – กันยายน) รวม 1,700 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นผู้สนับสนุนและผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ หรือ FTREIT ซึ่งเป็นกองทรัสต์อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การจัดการ มากกว่า 42,000 ล้านบาท
3.กลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล” ผู้นำอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชยกรรมชั้นนำ ประกอบด้วย อาคารสำนักงานให้เช่า รีเทล โรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ รวมถึงโครงการมิกซ์ยูส ที่ทั้งหมดล้วนตั้งอยู่ในใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ โครงการที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ อาคาร โครงการสามย่านมิตรทาวน์ อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์อาคารสาทรสแควร์ อาคารปาร์คเวนเชอร์, อาคารโกลเด้นแลนด์ โรงแรม ดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ และ ดิ แอสคอท สาทร แบงคอก ปัจจุบันกลุ่ม ‘คอมเมอร์เชียล’ มีอาคารสำนักงาน และโครงการมิกซ์ยูสรวม 5 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวม 240,000 ตารางเมตร และมีห้องในโรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ทเมนท์ จำนวน 1,100 ห้อง และมีรายได้ 9 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม – กันยายน) รวม 1,200 ล้านบาท
การใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
ธนพล มองว่า ในโลกปัจจุบันเราคงปฏิเสธเรื่องของเทคโนโลยีไม่ได้ ในการทำธุรกิจอสังหาฯ เราต้องขายอะไรที่มากกว่าสเปซ โดยให้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง Face Recognition เทคโนโลยีช่วยจดจำใบหน้าในอาคารสำนักงานของบริษัทฯเมื่อผู้เช่าเดินเข้ามาในชั้นที่เช่าก็สามารถเปิดห้องได้ โดยที่ไม่ต้องสัมผัสอะไรเลยแค่เดินผ่านก็สามารถเข้า-ออกได้แล้ว หรือการที่เราใส่เทคโนโลยีออโตเมชั่นต่างๆ เพื่อช่วยบริหารจัดการให้สินค้าในคลังสินค้า (Warehouse) ให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้พื้นที่ หรือถ้าเป็นที่อยู่อาศัยเป็นบ้าน ก็อาจจะมีการนำเทคโลยี IOT มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้อยู่อาศัย สิ่งเหล่านี้มันจะมาช่วยสร้าง Value Added ให้กับตัวแอสเสทคลาสที่เรามี
เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องจัดเก็บข้อมูล (Data) ด้วย ธนพล บอกว่า สิ่งสำคัญคือเรามีข้อมูลมากมาย แต่จะนำมาวิเคราะห์และนำกลับไปใช้กับธุรกิจของเราอย่างไร ยกตัวอย่างการที่เรานำข้อมูลจากกลุ่มรีเทล อย่างสามย่านมิตรทาวน์ รวมกับข้อมูลของอาคารสำนักงาน มาพิจารณาร่วมกัน ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ลูกค้าที่มาใช้บริการเป็นคนกลุ่มไหน ช่วงเวลาไหน นอกจากมาที่อาคารสำนักงานแล้วเขายังเดินทางไปทางไหนอีกบ้าง เพราะฉะนั้นข้อมูล (Data) ที่เรามีจะสามารถนำมาต่อยอดเพื่อสร้างเป็นบริการอะไรที่ตรงกับความต้องการลูกค้าได้บ้าง อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลก็เป็นอีกเรื่องที่ท้าทาย ประกอบกับตอนนี้มีเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่เราต้องระมัดระวังมากเช่นกัน
ส่องทิศทางการดำเนินงานทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจของ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย
เมื่อถามถึงก้าวต่อไปของ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ธนพล มองว่า ปีหน้าจะยังเป็นปีที่มีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนไหวทางการเมืองก็ดี หรือความกังวลเรื่องการของโควิด-19 รอบสอง ประเด็นคือในเมื่อยังมีความต้องการของลูกค้าอยู่แล้วเราจะสามารถจับความต้องการเหล่านั้นได้อย่างไร เรามีจุดแข็งในเรื่องประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ ดังนั้น สิ่งที่เรามุ่งเน้นจะทำในปีหน้าก็คือการรักษาฐานลูกค้าของเราให้เหนียวแน่นที่สุด
ทั้งนี้ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จะใช้วิธีมัดใจลูกค้าด้วยแนวคิด Customer-Centric ธนพล เล่าว่า สำหรับ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม เราเป็นผู้นำในเรื่องตลาดทาวน์โฮม พัฒนาจนกระทั่งปัจจุบันมีถึง 59 โครงการ รวมทุกระดับราคา ซึ่งเราก็ต้องมาพิจารณาว่าปัจจุบันลูกค้ามีความต้องการฟังก์ชั่นภายในบ้านอะไรบ้าง แน่นอนสิ่งที่สำคัญอันดับแรกของลูกค้าในการตัดสินใจซื้อที่พักอาศัย คือ เรื่องโลเคชั่น หรือที่ตั้งโครงการ เรื่องราคาที่ต้องเหมาะสม เรื่องการออกแบบดีไซน์บ้านที่เน้นความลงตัว ครบทุกฟังก์ชั่นการใช้งาน ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า
ในขณะที่ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล เราเป็นผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมแบบครบวงจร ประกอบด้วยโรงงานและคลังสินค้าคุณภาพสูง ทั้งแบบ 1) พร้อมใช้ Ready-Built ที่มีให้เลือกหลากหลายขนาด และ specification 2) สร้างตามความต้องการ Built-to-Suit ซึ่งเป็นตลาดที่เราบุกเบิกมานาน และมีความเชี่ยวชาญมาก โดยโครงการลักษณะนี้ ทีมงานของเราจะเข้าไปทำงานใกล้ชิดกับลูกค้า เพื่อทำความเข้าใจถึงความต้องการใช้งาน และนำมาออกแบบโซลูชั่นพร้อมดีไซน์พื้นที่ให้ตอบโจทย์ ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่พื้นที่โรงงานหรือคลังสินค้าเท่านั้น เรายังคำนึงถึงการใช้งานของผู้ปฏิบัติการภายในโครงการ เช่น โรงอาหาร มุมพักผ่อนสำหรับพนักงาน นอกจากนี้ เรายังนำอัตลักษณ์ หรือ แบรนด์ดิ้งของลูกค้า เข้ามาผสมผสานในการออกแบบอาคารและพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องอย่างลงตัว นอกจากนี้ เราได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากต่างประเทศผ่านเครือข่ายของ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ มาประยุกต์ใช้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดเด่นที่ทำให้บริการของเรามีความแตกต่าง สำหรับ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล อสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมชั้นนำ ประกอบด้วย อาคารสำนักงานให้เช่า รีเทล โรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ รวมถึงโครงการมิกซ์ยูส ที่ทั้งหมดล้วนตั้งอยู่ในใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เราจึงสนับสนุนด้วยการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่น่าสนใจ ซึ่งจะช่วยดึงดูดลูกค้าให้เขามาจับจ่ายใช้สอยภายในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยคำนึงถึงสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของทุกคนที่เข้าใช้บริการในพื้นที่เป็นสำคัญ
ความท้าทายของธุรกิจอสังหาฯ ของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย
ท้ายที่สุดสิ่งที่ ธนพล มองว่าเป็นความท้าทายในการลุยตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ก็คือการพิสูจน์ Positioning ของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ในใจของลูกค้า โดยเราจะนำความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในตลาดประเทศไทย มาผสมผสานกับองค์ความรู้และมุมมองในระดับนานาชาติของกลุ่มเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการ และทำให้แบรนด์ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” เป็นที่ไว้วางใจและจดจำ
“ผมมองว่าจะสามารถบริหารจัดการหรือทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อใจหรือให้ความเชื่อมั่นได้อย่างไร ผมอยากชวนทุกคนมาเป็นส่วนหนึ่ง ในการเริ่มต้นเดินทางไปด้วยกันกับเรา การสร้างแบรนด์ต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำเสร็จในเวลาอันรวดเร็วได้ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าอีก 3 ปีข้างหน้า เราอยากจะเห็นอะไร เราต้องการจะเป็นแบรนด์ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รู้จัก ยอมรับ และก็ให้ความไว้วางใจ และทำอย่างไรที่ให้คนรู้ว่า This is a Frasers Property Thailand”
ประวัติ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย
การถือกำเนิดของ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย เริ่มเมื่อปี 2556 กลุ่มทีซีซี ของตระกูล สิริวัฒนภักดี ได้เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของ Fraser and Neave (F&N) บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจหลายประเภท ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี โดยมีอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจ ซึ่งภายหลังได้แยกกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกจาก F&N และใช้ชื่อ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด โดยมี “ปณต สิริวัฒนภักดี” เป็นกรุ๊ปซีอีโอ (Group CEO)
สำหรับประเทศไทย เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ได้นำประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกมาใช้ในการขยายธุรกิจในไทย โดยเริ่มต้นจากปี 2559 เข้าซื้อกิจการของบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “TICON” ซึ่งเป็นผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม กระทั่งปี 2560 เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ขยายการลงทุนเข้ามายังในประเทศไทย โดยปักหมุดลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ One Bangkok ซึ่งเป็นโครงการมิกซ์ยูสชั้นนำ ประกอบด้วยพื้นที่ออฟฟิศ โรงแรม รีเทล มูลค่า 120,000 ล้านบาท และ ต่อมาในปี 2562 ได้รีแบรนด์บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ไทคอนเป็น “บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT
ล่าสุดในปี 2563 ได้ดำเนินการควบรวมกิจการของ “บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์” เสร็จสิ้น ทำให้พอร์ตโฟลิโอของบริษัทฯเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยมูลค่าสินทรัพย์สูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งนับเป็นรายแรกของประเทศไทยที่มีแพลตฟอร์มอสังหาฯครบวงจร ครอบคลุม 3 กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และ พาณิชยกรรม