รู้จัก Digital Lending โอกาสแห่งการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยุคใหม่

  • 180
  •  
  •  
  •  
  •  

ในโลกที่เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ระบบการกู้ยืมเงินยุคใหม่ด้วย Digital Lending เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะมาช่วยแก้ปัญหาการที่ผู้บริโภคเข้าไม่ถึงการเงินขั้นพื้นฐานอย่างการกู้เงิน ดังนั้น การสร้างช่องทางออนไลน์สำหรับการให้บริการขอกู้สินเชื่อ เอื้อให้ผู้กู้และผู้ให้กู้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และโปร่งใสมากขึ้น

ล่าสุด สร้างความฮือฮาด้วยการที่ LINE ร่วมมือกับ KBank ในการประกาศความร่วมมือจัดตั้งใหม่ในชื่อ บริษัท กสิกร ไลน์ เมื่อปี 2019 พร้อมกับโครงการ LINE BK ธนาคารดิจิทัลบนไลน์ ที่เป็นแบรนด์ลูกของธนาคารกสิกรไทยที่พร้อมเปิดให้บริการในปีนี้ (2020) ซึ่งในบริการของ LINE BK ก็สามารถทำธุรกิจได้หลากหลายไม่ต่างจากธนาคารสาขาเท่าไหร่นัก โดยที่รายได้สำคัญของ LINE BK จะมาจากการกู้เงิน (แต่จะใช้คำว่า “ยืม” กับผู้บริโภคมากกว่าเพื่อให้รู้สึกเข้าถึงง่าย) ทำให้ประเด็นเรื่อง Digital Lending กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งนั่นเอง

แต่ Digital Lending คืออะไร เรามาทำความเข้าใจกันเถอะ

 

ประชากร 60% ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งกู้แบบเดิมได้

ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจกับ Digital Lending เราต้องเข้าใจก่อนว่า pain ของการปล่อยกู้ และการกู้เงิน ที่ผ่านมาคือการเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐานของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ หรือเป็นผู้ค้ารายย่อยที่รายได้ไม่แน่นอน หรือแม้แต่กลุ่มฟรีแลนซ์ในปัจจุบัน ซึ่งยังเป็นโจทย์สำคัญอีกประการของแบงก์ต่างๆ ด้วยเช่นกัน ที่ต้องการปล่อยกู้ให้กับคนกลุ่มนี้แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะกลัวเรื่องความเสี่ยงทางอาชีพ ซึ่งพบว่าประชากร 60% ที่ไม่มีรายได้ประจำ เข้าถึงการปล่อยกู้แบบเดิมๆ ไม่ได้ ทำให้ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบหนี้นอกระบบ ที่มีดอกเบี้ยแสนโหด

  • 33% ของประชากรไทยวัยทำงาน มีประวัติทางการเงินที่สามารถนำมาประเมินการกู้ได้
  • 60% เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่ประจำ แต่ไม่สามารถนำระบบวิเคราะห์ทางการเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อแบบเดิมๆ ได้ เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นไม่มีเงินเดือนหรือรายได้ที่ประจำตายตัวในทุกๆ เดือน และไม่มีบริษัทหรือหลักทรัพย์ที่ช่วยในการยืนยันตัวตนหรือค้ำประกันการกู้
  • มีเพียง 2% เข้าถึงการปล่อยสินเชื่อออนไลน์
  • เข้าสู่หนี้นอกระบบ 10% โดยต้องเสียดอกเบี้ย 20% ต่อเดือนขึ้นไป

ดังนั้น ทางเลือกใหม่ของโลกดิจิทัล จะทำให้แบงก์เข้าถึงคนกลุ่มนี้มากขึ้น ผ่านข้อมูลต่างๆ ทางออนไลน์ หรือพฤติกรรมบนโซเชียลมีเดีย รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงการกู้ได้เพิ่มมากขึ้น โดยไม่ต้องไปพึ่งกับหนี้นอกระบบ

Digital Lending คืออะไร มีกี่ประเภท

สินเชื่อดิจิทัล หรือ Digital Lending หรือ E-Lending หมายถึง กระบวนการให้กู้ยืมเงิน (รับสมัคร/ปล่อยสินเชื่อ) ที่มีการบริหารจัดการหรือดำเนินงานผ่านช่องทางดิจิทัล ในทางปฏิบัติ ผู้ให้กู้จะนำเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ มาปรับใช้ในกระบวนการให้บริการสินเชื่อ โดยรูปแบบของ Digital Lending ในปัจจุบันทั่วโลกนั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับโครงสร้างตลาด และกฎระเบียบข้อบังคับในแต่ละภูมิภาค อย่างไรก็ตาม หากยึดลักษณะการแบ่งประเภทตามแบบของ Accion International องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีจุดประสงค์หลักในการผลักดันให้เกิดบริการทางการเงินที่ทุกคนบนโลกสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคนั้น จะสามารถแบ่งได้เป็น 7 ประเภทหลัก ดังนี้

  1. Online Lender คือการปล่อยกู้ผ่านช่องทาง Digital ทั้งกระบวนการ แบบ End-to-End
  2. P2P Lending Platform คือการจับคู่ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยมี platform เป็นตัวกลางทำธุรกรรมระหว่างกัน
  3. E-Commerce and Social Platform คือการที่ platform E-Commerce หรือ Social Media ปล่อยกู้ให้กับผู้ใช้งานแอปพลิเคชันของตัวเอง โดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของลูกค้าเป็นเครื่องประเมิน ความเสี่ยง
  4. Marketplace Platform มีลักษณะคล้าย P2P Platform แต่จะต่างกันตรงที่ผู้กู้และผู้ให้กู้จะมาเจอกัน และทำธุรกรรมการกู้เงินระหว่างกันโดยตรง
  5. Supply Chain Lender คือการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อจุดประสงค์ในการซื้อวัตถุดิบจาก Supplier ของตน
  6. Mobile Money Lender คือการเข้าเป็นพันธมิตรกับบริษัทเครือข่ายมือถือเพื่อปล่อยกู้ให้กับฐานลูกค้าของเครือข่าย โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลลูกค้ามาเป็นเครื่องประเมินความเสี่ยง
  7. Tech-Enabled Lender คือการที่บริษัทผู้ให้บริการกู้ยืมเงินทั่วไป มีการนำ technology มาใช้ในบางขั้นตอนของการปล่อยสินเชื่อ

 

ความสำเร็จจากจีน  

สำหรับในต่างประเทศ ที่ดำเนินการด้าน  Digital Lending ขอยกตัวอย่างจากเคสในประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในการค้าดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น Cashless Society E-Commerce เป็นต้น

JD.com ซึ่งในจีน JD ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านนวัตกรรมทางการเงิน (FinTech) ที่ให้บริการ Digital Lending มาระยะหนึ่งจนประสบความสำเร็จแล้ว โดยให้ บริการปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่งของ JD.com โดยให้สินเชื่อระยะเวลาสั้น เช่น 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน ผ่านการวิเคราะห์การทำงานของ Data พฤติกรรม และการซื้อสินค้าบน JD.com จนสร้างรายได้จากการปล่อยสินเชื่อนี้แล้วถึง 100 ล้านหยวน หรือประมาณ 430 ล้านบาท  แต่แค่นั้นยังไม่พอ  JD Digits หรือ JDD บริษัทนวัตกรรมของ JD.com ยังได้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาปรับใช้กับระบบบริหารจัดการสินทรัพย์แบบออนไลน์นี้ เพื่อรับมือกับรูปแบบของข้อมูลที่แตกต่างไปจากระบบเดิมๆ ทั้งยังทำงานร่วมกับพันธมิตรที่เป็นผู้รับผิดชอบด้านการจัดเก็บข้อมูล เพื่อเสริมการเชื่อมโยงแหล่งข้อมูลต่างๆ ให้ลงตัว ปลอดภัย และได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนขึ้นสู่เวอร์ชั่นที่ 10 แล้ว โดยสามารถเฝ้าสังเกตและวิเคราะห์ตัวแปรต่างๆ ในการจัดการความเสี่ยงได้ถึง 1.5 ล้านตัวแปร ปัจจุบัน JD.com สามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างดี โดยมีระดับ NPL หรือหนี้คงค้าง ต่ำกว่า 0.1%

(อ่านเพิ่มเติม มากกว่าอีคอมเมิร์ซ JD.com กับ E-Lending บริการสินเชื่อผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ และการบริหารความเสี่ยง)

ธนาคาร Webank เป็นบริษัทในเครือ Tencent และได้รับการสนับสนุนข้อมูลจาก WeChat และ QQ ซึ่งเป็น application ที่มีข้อมูลผู้บริโภคอยู่จำนวนมาก ดังนั้น เมื่อ WeBank ได้เปิดธุรกิจให้บริการสินเชื่อออนไลน์ จึงสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวด้วยการพัฒนาระบบ AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อได้ในเวลาอันรวดเร็วและแม่นยำ เนื่องจาก WeChat/QQ ได้เก็บรวบรวมข้อมูลในเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภคไว้จำนวนมาก เช่น ข้อมูลการชำระค่าบริการ ข้อมูลการซื้อตั๋วเดินทาง และข้อมูลการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งการเก็บข้อมูลที่หลากหลายจากกิจกรรมของผู้บริโภคบน platform ต่าง ๆ ในเครือ Tencent ส่งผลให้ในเวลาต่อมา Tencent สามารถขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจการให้บริการจัดอันดับข้อมูลเครดิตซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลประวัติและพฤติกรรมผู้บริโภคบนช่องทางออนไลน์ (Credit Rating Service) ได้สำเร็จ

นอกจากนี้ Alibaba ก็ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Credit Rating Service เช่นกัน โดยประกอบธุรกิจผ่าน บริษัท Sesame Credit ที่ทำหน้าที่พิจารณาประวัติเครดิตผู้บริโภค โดยการเฝ้าสังเกตจากพฤติกรรมและกิจกรรมที่ทำบนช่องทางออนไลน์ต่างๆ

 

Digital Lending ในประเทศ

นอกจาก LINE BK ที่เกิดขึ้นล่าสุด ก่อนหน้านี้ กสิกรไทย ก็เคยเปิดตัวการปล่อยกู้แบบ Digital Lending ผ่านช่องทาง K PLUS Mobile Banking Platform มากอ่นแล้วเมื่อปีที่แล้ว (2019) ซึ่งมีผู้ใช้งานแล้วกว่า 11 ล้านคน โดยเป็นการช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งกู้ของกลุ่ม SME Online โดยร่วมกับ Shopee ภายใต้ชื่อโครงการว่า MADFUND นั่งเอง

(คลิกอ่านเพิ่มเติม ทุนไม่ใช่ปัญหา! “Shopee” จับมือ “KBank” ปล่อยเงินกู้ออนไลน์ เพื่อพ่อค้าแม่ขายอีคอมเมิร์ซ)

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงศรี ได้เปิดบริการสินเชื่อส่วนบุคคล Krungsri iFIN ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในการขอสินเชื่อ ทำให้ต้นทุนสามารถลดลงกว่า 30-40% และเมื่อต้นทุนลดลงในอนาคต ธนาคารสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถูกลงไปด้วย แต่ดอกเบี้ยเงินกู้จะลดลงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการบริหารความเสี่ยงและหนี้เสีย (NPL) เป็นหลัก

แม้ว่าสำหรับเมืองไทยแม้จะยังไม่มากนัก แต่เชื่อว่านับจากนี้ หลายๆ ธนาคารน่าจะรุกคืบมากขึ้นในปีนี้

 

P2P Lending อนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ อย่างที่เกริ่นว่าหลักๆ Digital Landing มี 7 รูปแบบหลักๆ ด้วยกันนั้น หนึ่งในนั้นที่วงการแบงก์กิ้งไทยมีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง และหลายประเทศในโลกก็ประสบความสำเร็จกับรูปแบบนี้กันมาก และที่สำคัญน่าจะเป็นการปลดล็อกการเข้าถึงแหล่งกู้เงินทางเลือกใหม่ได้ด้วย สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเข้าถึงบริการทางการเงินหรือ Financial Inclusion ที่คนธรรมดาใช้ในชีวิตประจำวันและธุรกิจขนาดเล็กมีเงินหมุนธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งก็คือ Peer-to-Peer Lending” หรือ P2P Lending ซึ่งแม้ในบทความนี้ไม่ได้ต้องการจะเน้นในเรื่องนี้ แต่อยากจะแนะนำให้รู้จักเพื่อให้เห็นว่าแตกต่างกันอย่างไร รวมทั้งยังเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของการของธนาคารในบ้านเราด้วย

P2P Lending คือ ระบบกู้เงินที่ผู้ปล่อยเงินกู้และผู้กู้ยืมรายย่อย จะเชื่อมต่อและกู้ยืมเงินกันได้ผ่านระบบตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด นับเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้บริการบุคคลและเหล่าธุรกิจขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ เนื่องจากว่า P2P Lending เป็นแหล่งให้กู้เงินแบบทางเลือก (Alternative Lending) มากกว่าเป็นกระแสหลัก ดังนั้น ผู้ให้บริการรายใหญ่ในกลุ่มนี้ จึงเป็นบริษัท Startup เสียเป็นส่วนใหญ่ จึงได้พัฒนานวัตกรรมออกมาตอบโจทย์ตลาดมากกว่าสถาบันการเงินในปัจจุบัน ตัวอย่างของ P2P Platform ในสหรัฐฯ ได้แก่ Lending Club เป็นสื่อกลางระหว่างนักลงทุนที่ประสงค์ปล่อยกู้เงินกับผู้ต้องการกู้ยืมเงินสำหรับลงทุนต่างๆ, Prosper เป็น P2P Lending แบบ Marketplace เปิดโอกาสให้นักลงทุนหรือผู้ปล่อยกู้มีโอกาสเลือกผู้กู้ยืมตามเงื่อนไขและความเสี่ยง ส่วนผู้กู้ยืมก็สามารถเสนอเงื่อนไขที่ตัวเองต้องการได้ มาที่ฝั่งอังกฤษ ได้แก่ ZOPA เป็น P2P Lending ที่นักลงทุนที่เป็นผู้ปล่อยกู้จะต้องซื้อแพคเกจกองทุนที่มีให้เลือกจากนั้นระบบจะนำเงินดังกล่าวไปจัดสรรแก่ผู้กู้ยืมจำนวนมากในระบบจากนั้นก็จะคืนเป็นผลกำไรให้กับนักลงทุน

(อ่านข่าวเพิ่มเติม แบงก์ชาติ เปิดให้ทดสอบบริการ P2P Lending ภายใต้ Regulatory Sandbox แล้ว)

สำหรับประเทศไทย ถือว่ามีโอกาสและศักยภาพในการพัฒนา Digital Lending Landscape อีกมาก โดยในปัจจุบัน เราเริ่มได้เห็นการพัฒนาความร่วมมือ และบริการทางการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ความร่วมมือและบริการประสบความสำเร็จ ได้แก่ กฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมไปถึงการ educate ตลาด หรือการทำให้ผู้ใช้เกิดความคุ้นเคยและรู้สึกสบายใจที่จะใช้งาน ความปลอดภัยของการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้เกิดการรั่วไหล หรือการสร้างความโปร่งใส่ให้เกิดขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือตัวผู้ใช้หรือผู้บริโภคนั่นเอง หากผู้คนจำนวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง หนี้นอกระบบก็จะลดลง และเป็นผลไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนของผู้คนได้ในระยะยาว

 

(คลิกอ่านเพิ่มเติม รู้ครบทุกวิธี ‘ฝาก-ออม-จ่าย-ยืม’ เงิน ผ่าน LINE BK ทำได้ง่ายๆ จบในแชท)


  • 180
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!