ในช่วงนี้ดูๆ ไปแล้วน่าจะเป็นช่วงปรับตัวของธุรกิจสายการบินกันยกใหญ่ เพราะโลกยังไม่มีใครที่ประกาศชัดๆ ว่าตอนนี้เรามีวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 ได้แล้ว หรือพยากรณ์กันชัดๆ ว่าวิกฤตนี้มันจะยุติลงเมื่อไหร่
ดังนั้น เมื่อน่านฟ้าระหว่างประเทศยังคงระงับอย่างไม่มีกำหนด นั้นหมายความว่า สภาวะค่าใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับรายรับของสายการบินก็จะใช้เวลานานตามไปด้วย
ก่อนหน้านี้ เมื่อไม่นานเราน่าจะเคยเห็นหลายๆ สายการบินต่างก็ปรับตัวกันมากมาย ซึ่งโมเดลส่วนใหญ่ที่เลือกใช้ ก็คือ แปลงโฉมเครื่องบินโดยสารให้เป็น ‘ร้านอาหาร’ ไม่ว่าจะแค่ชั่วครั้งชั่วคราว หรือถาวรตลอดไป อย่าง ‘สิงคโปร์ แอร์ไลน์’ ที่ทดลองใช้โมเดลนี้เป็นเวลา 2 วันนำร่อง คิดว่าน่าจะเป็นการสร้างการจดจำให้กับแบรนด์ ทำให้แฟนๆ ของสายการบินไม่หลงลืมชื่อไป ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมสนุกๆ ช่วยหารายได้ให้กับพนักงานได้
อ่านเพิ่มเติม |
แต่อีกหนึ่งไอเดียล่าสุด ค่อนข้างน่าสนใจเหมือนกัน ‘Finnair’ สายการบินรายใหญ่ที่สุดของฟินแลนด์ ประกาศโมเดลธุรกิจใหม่ นั่นคือ ‘ขายอาหารกล่องของชั้น business class ในซูเปอร์มาร์เก็ต’ ซึ่งมีชื่อแบรนด์ว่า ‘Taste of Finnair’ โดยอาหารจะมีหลากหลายชาติ เนื่องจากสายการบิน Finnair มีรูทบินระหว่างยุโรป-เอเชีย จึงทำให้สายการบินมีเชฟฝีมือดีหลายเชื้อชาติที่ทำงานร่วมกัน
อย่างเมนูที่ได้รับความนิยมบนเครื่องบินโดยสาร เช่น ลูกชิ้นกวางเรนเดียร์, เนื้อเทอริยากิสไตล์ญี่ปุ่น และ ปลาอาร์คติกชาร์ (Arctic char) ซึ่งราคาแต่ละเมนูจะอยู่ที่ประมาณ 10-13 ยูโร (ราว 365-475 บาท)
‘Kimmo Sivonen’ ผู้จัดการร้าน K-Citymarket Tammisto หนึ่งในสาขาร้านที่วางขายอาหาร ready to eat ของสายการบิน Finnair ได้พูดว่า “บางคนที่คิดว่าอาหารบนเครื่องบินไม่อร่อย แต่สำหรับ Finnair ไม่ใช่เลย เพราะพวกเขาได้ปรับรสชาติอาหาร ลดความเค็มลง ซึ่งต่างกับรสชาติเดิมที่เสิร์ฟบนเครื่อง (*จากเหตุความดันอากาศจะลดลงทำให้ปุ่มรับรสที่ลิ้นทำงานไม่ปกติ) โดยสาขานี้อาหารกล่องของ Taste of Finnair เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น”
เทรนด์ซื้ออาหาร ‘กลับบ้าน’ กำลังเป็นที่นิยม
นับตั้งแต่ที่มีการระบาดของไวรัส เราจะเห็นกระแสการเดลิเวอรี่ที่ปอปปูล่ามากขึ้น แต่สำหรับลูกค้าที่ซื้ออาหารกลับบ้าน ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นไม่ต่างกัน
อย่างเช่นในฟินแลนด์ ตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิจะเห็นว่า ผู้คนกว่า 60% เลือกที่จะซื้ออาหารเข้าบ้านมากขึ้น แทนที่จะนั่งกินภายในร้าน ทั้งๆ ที่เป็นซีซั่นที่เหมาะกับการนั่งชิวข้างนอก
ขณะที่บางส่วนของฟินแลนด์ ผู้คนยังใช้ระบบ Work From Home ซึ่งก็น่าจะไม่ต่างจากประเทศอื่นมากนัก ทำให้ข้าวกล่องประเภทนี้เริ่มเป็นที่ต้องการ เพราะมันสะดวกสบายกว่า
ทั้งนี้ Marika Nieminen รองประธานฝ่ายครัวของ Finnair ได้พูดว่า “แพลนที่สายการบินต้องการขยายบริการอาหารที่จริงเป็นแผนการที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่หยิบกลยุทธ์นี้มาใช้เร็วขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาด และสายการบินต้องลดจำนวนพนักงานลงถึง 7,000 คนที่ผ่านมา ทั้งยังลดเที่ยวบินลงถึง 91% ตั้งแต่เดือนก.ย. ปี 2019”
ดังนั้นจะพูดว่า โปรเจ็กต์นี้เป็นการนำร่องดู feedback ของลูกค้าก็น่าจะถูกต้อง ซึ่งในอนาคตเราคงได้เห็นการปรับตัวของบรรดาสายการบินอีกเยอะแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม ตั้งแต่การแตกไลน์ธุรกิจ/สินค้าใหม่, ปรับเป็นร้านอาหารชั่วคราว หรือ เปิดโปรเจ็กต์ให้คนได้ลองรสชาติอาหารแบบใหม่ๆ หนทางทั้งหมดนี้ก็ล้วนเป็นทางรอด เพื่อไม่ให้ธุรกิจตายทั้งนั้น อยู่ที่ว่าใครจะปรับตัวได้เร็ว และถูกใจผู้บริโภคมากกว่ากันเท่านั้นเอง
ที่มา: apnews