เปิดโผ Brand แตกไลน์ทำธุรกิจ Diversify กระจายความเสี่ยงในยุคที่ธุรกิจสุดจะอ่อนไหว

  • 283
  •  
  •  
  •  
  •  

การกระจายความเสี่ยงถือเป็นเรื่องพื้นฐานในทุกธุรกิจ ซึ่งสามารถทำได้ในหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับชนิดของธุรกิจและโอกาสทางการตลาดในขณะนั้น รูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้กันมากก็คือ การต่อยอดหรือแตกไลน์ผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้วออกไป ซึ่งนอกจากจะเป็น การกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าและส่งชื่อแบรนด์ไปยังตลาดอื่นๆ อีกด้วย ยิ่งในช่วงโควิด-19 ซึ่งมีหลายธุรกิจได้รับผลกระทบ ทำให้ต้องหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวตามนโยบายล็อกดาวน์ ทำให้ผลักดันตัวเองในการต้องสร้างสรรค์โปรดักส์ใหม่ๆ และบริการใหมๆ ออกมาจนแทบจะเรียกได้ว่าหลุดไปจาก core business หลักเดิมที่เคยทำอยู่ก็มี ลองมาดูว่าในช่วงก่อนจบไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 มีแบรนด์ไหนบ้างที่ออกโปรดักส์ไลน์ใหม่ๆ ที่ทำให้เราเซอร์ไพรส์กันบ้าง

 

1.บาร์บีคิวพลาซ่า

“บาร์บีคิวพลาซ่า” โดย บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ที่ต้องขอเริ่มต้นด้วยรายนี้ก่อนเลย เพราะปีนี้ขยันออกโปรดักส์ใหม่ๆ มาให้เราได้เซอร์ไพรส์กันตลอด เรียกว่าอัปเดทความว้าวกันแทบไม่ทันเลยทีเดียว จากการเป็นตัวจริงเรื่องปิ้งย่าง ที่ร้านอาหารทั้งหมดอยู่แต่ในห้างหมดเลย ดังนั้น เมื่อถูกคำสั่งล็อกดาวน์ในช่วงโควิดไป เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ด้วยเลือดนักสู้และ Underdog spirit ที่มีจึงไม่ขอยอมแพ้กับทุกข้อจำกัด ดังนั้น “พี่ก้อน” จึงพร้อมที่จะก้าวออกจากความสำเร็จเดิมๆ แล้วพร้อมที่จะหาน่านน้ำใหม่ๆ เพื่อให้รอดจากวิกฤตครั้งนี้ แต่มากกว่าไปกว่านั้นก็คือความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาโปรดักส์ใหม่ๆ แตกไลน์ออกไปจากคอร์ธุรกิจเดิมที่ตัวเองมี จนกลายมาเป็นโปรดักส์มากมาย ทั้งที่เป็นการต่อยอดจากของเดิมที่มีและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกเบคอน หน้ากากและเจลแอลกอฮอล์ ซาลาเปา หมูทอด และล่าสุดกับชานมไข่มุก ขยันเหลือเกินแม่เอ๊ย

(คลิกอ่านเพิ่มเติม ฉีกมาทำแฟรนไชส์ครั้งแรก! ‘ฟู้ดแพชชั่น’ ประเดิมแบรนด์ ‘หมูทอดกอดคอ’ ปักธงคืนทุนเร็ว – ไม่เสียค่าธรรมเนียม)

2.การบินไทย

เรียกว่าเป็นบริษัทที่ชอกช้ำมาตั้งแต่ก่อนโควิดเสียอีก ปัญหาหนี้ท่วมของการบินไทยเป็นที่ทราบดีกันดีอยู่แล้ว ยิ่งมาประสบกับสภาวะบินต่างประเทศไม่ได้ ก็ยิ่งเหมือนเป็นการซ้ำเติมให้หนักมากไปกว่าเดิม แต่ด้วยวิกฤตที่บีบคั้นต่างๆ ที่ประดังก็พลันที่เจ้าจำปีของเรา เกิดปิ๊งไอเดียหยิบเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาสร้างมูลค่าให้มากขึ้นกว่าเดิม มาถึงตรงนี้แทบไม่ต้องบอกเลยว่าโปรดักส์ใหม่ของ การบินไทยเป็นอะไร นั่นก็คือ “ปาท่องโก๋” ที่ลือลั่นด้วยยอดขาย 10 ล้านบาทต่อเดือน แถมยังกล่าวเป็นผู้นำเทรนด์ที่ผลักดันให้ ปาท่องโก๋ กลายเป็นเมนูยอดฮิตไปถึงหลายๆ แบรนด์ที่มีอยู่ในตลาดด้วย

(คลิกอ่านเพิ่มเติม ถล่มทลายเกินคาด!!! ‘ปาท่องโก๋การบินไทย’ เตรียมทำแฟรนไชส์ หลังทำยอดขายเดือนละ 10 ล้าน)

แต่นอกเหนือจากปาท่องโก๋แล้ว การบินไทย ยังปั้นอีกเซอร์วิสด้วยการเปิดบริการสานฝันการทำอาชีพสายการบิน ไม่ว่าจะเป็น การเป็นพนักงานต้อนรับ การทดลองขับเครื่องบินจำลอง กับเครื่อง Simulator การเป็นสุดยอดเชฟครัวการบินไทย เป็นต้น

3.แมกกี้ (Maggi)

‘แม็กกี้’ (Maggi) จากซอสปรุงรส สู่การเปิดตัว Maggi Kitchen ทั้งนี้  “แม็กกี้” เป็นซอสปรุงรสที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่คู่ครัวคนไทยมานานกว่า 60 ปี และเป็นหนึ่งในแบรนด์เครือเนสท์เล่ ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้เพื่อต้องการต่อยอดธุรกิจให้เติบโต และยังต้องการตอบรับการเติบโตของฟู้ด เดลิเวอรี่ (Food Delivery) ที่ขยายตัวอย่างมากในไทย ซึ่ง New Business นี้ เกิดขึ้นที่ประเทศไทยแห่งแรกในโลก นับเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่กล้าจะท้าทาย Global และลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่ที่ฉีกออกไปจากกรอบเดิม พร้อมกับมองเห็นเทรนด์ธุรกิจที่เกิดขึ้นในตลาด Local ได้ดีอีกด้วย

(คลิกอ่านเพิ่มเติม จาก ‘ซอสปรุงรส’ สู่ ‘ฟู้ดส์ เดลิเวอรี่’ การปรับตัวครั้งใหญ่ของ ‘แม็กกี้’ กับธุรกิจใหม่ ‘Maggi Kitchen’)

4.GMM Grammy

GMM Grammy เป็นบริษัททำธุรกิจด้านเอ็นเตอร์เทนต์มานาน และถือได้ว่าเป็นเจ้าตลาดด้านนี้มาโดยตลอด ดังนั้น การประกาศก้าวเข้าสู่การทำธุรกิจขายตรง ก็ค่อนข้างเซอร์ไพรส์มากพอควร ถึงแม้ว่าอดีตคู่แข่งทางธุรกิจบันเทิงอย่าง RS หนีไปทำด้านนี้มานานแล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ขอฉีกตัวเองออกมาทำในสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ core ธุรกิจหลักเดิม โดยการเปิดตัวบริษัทใหม่ GMM GOODS เพื่อบุกธุรกิจขายตรง พร้อมกับผลิตภัณฑ์แรก ได้แก่ ออร่า-ทัย (AURA-THAI) ทั้งนี้ แกรมมี่ มองเห็นโอกาสทางธุรกิจของแหล่งรายได้ใหม่ให้กับธุรกิจเพลง ด้วยการนำจุดแข็งของ Asset ที่มีอยู่ คือ “ศิลปิน” ที่มีความหลากหลายครบทุก Segment และมีฐานแฟนคลับเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีข้อได้เปรียบด้าน Big Data ที่รู้ว่าลูกค้าคือใคร พฤติกรรมการซื้อเป็นอย่างไร ทำให้ตัดสินใจเดินหน้ารุกธุรกิจนี้

(คลิกอ่านเพิ่มเติม วิเคราะห์เหตุผล ทำไม ‘GMM Grammy’ ถึงปั้นศิลปินเป็นแบรนด์ เพื่อร่วมวงแข่งขันใน ‘ธุรกิจขายตรง’)

5.Robinhood VS. Eatable

เป็นอีกหนึ่งเซอร์ไพรส์วงการการเงิน และวงการอาหาร หรือแม้แต่วงการ Tech เองที่จู่สถาบันการเงินก็โดดลงมาร่วมแจกในธุรกิจ Food Delivery แน่นอนละว่าทุกคนเห็นและทราบดีวว่า Delivery เติบโตอย่างมากและโตมากยิ่งขึ้นในช่วงโควิด-19 แต่การที่แบงก์ตัดสินใจลงมาร่วมแจมด้วยในเกมนี้ดูเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้เลยจริง แถมไม่ได้มาแค่ 1 แต่มาถึง 2 เจ้าด้วยกัน แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึง Robinhood จาก SCB และ Eatable จาก KBank

ทั้งนี้ จุดเด่นสำคัญของทั้งสองแอปฯ เดลิเวอรี่จากแบงก์ก็คือ pain เรื่องค่า GP (Gross Profit) หรือค่าธรรมเนียมที่เก็บจากร้านอาหาร 20-35% นอกจากนี้ เป้าหมายที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ต้องการขยายฐานลูกค้าต่อยอดไปสู่ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ที่ตอนนี้มีมูลค่าสูงถึง 4.1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่การใช้บริการทางการเงินซึ่งเป็นธุรกิจหลักของตัวเองได้อีกด้วย

(คลิกอ่านเพิ่มเติม “Robinhood” แอปพลิเคชัน Food Delivery บทบาทใหม่ SCB คืนกำไรให้สังคม ช่วยผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่า GP)

(คลิกอ่านเพิ่มเติม Eatable แพลตฟอร์มเพื่อร้านอาหารดิจิทัล ตอบโจทย์นั่งทานที่ร้าน ซื้อกลับบ้านและ Delivery รองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน)

(คลิกอ่านเพิ่มเติม ชวนจับตาดู 2 แบงค์ใหญ่ที่จะเปลี่ยนโฉมธนาคารสู่ผู้สร้าง Engagement ที่เป็นมากกว่าผู้ให้บริการทางการเงิน)

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของธุรกิจในบ้านเราที่อาจเรียกได้ว่าเป็น Big Move ของความกล้าที่จะ Diversify โปรดักส์และบริการใหม่ๆ ออกมา หลุดกรอบออกไปจากการ Core Business หลักที่เคยทำ ซึ่งอันที่จริงก่อนหน้านี้หรือก่อนโควิด ก็มีหลายแบรนด์ขยับในเรื่องนี้มานานแล้ว อาทิ “ชาตรามือ” ที่หันไปขายไอศกรีมจนเป็นที่ฮือฮา “โก๋แก่” เจ้าแห่งถั่วก็หันไปทำไอศกรีมเช่นกัน หรือ Dtac เองที่เป็นผู้ให้บริการด้านสัญญาณโทรศัพท์ก็เปิดตัวที่จะสร้างแพลตฟอร์มมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาก่อนเช่นกัน  นอกจากนี้ ยังมีคนแอบสังเกตเห็นด้วยว่า Food Delivery สีชมพู อาจจะมาทำอาหารขายด้วยก็ได้ เพื่อตอบโจทย์ให้อีโคซิสเท็มด้านอาหารครบวงจรมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แตกไลน์มาทำโปรดักส์ใหม่ๆ หรือ New Business ใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น บางแบรนด์อาจจะมีจุดบีบจากวิกฤตโควิด หรือบางแบรนด์ประกายไอเดียอาจจะมีมาก่อนแล้ว แต่ที่น่าสนใจก็คือการที่แบรนด์ออกมาจากธุรกิจหลักที่ตัวเองเคยทำมาก่อน ซึ่งนอกจากจะเพื่อกระจายความเสี่ยงหากธุรกิจเดิมไปไม่ไหว แต่มากไปกว่านั้นก็คือการที่ธุรกิจไม่อาจจะพึ่งพาแต่แหล่งน้ำเพียงบ่อเดียวได้อีกต่อไป โดยมีบทพิสูจน์ความจริงผ่านวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทำให้คนทำธุรกิจเล็งเห็นความสำคัญของการหาแหล่งน้ำบ่อใหม่ๆ มาคอยเสริมกำลังอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ว่ายุคไหนคำว่าการแข่งขันธุรกิจที่ดุเดือดมันเกิดขึ้นอยู่แล้วทุกช่วง ดังนั้น คนที่แข็งแกร่งที่สุด คนที่จะอยู่รอดต่อไปได้ คนๆ นั้นก็ต้องรู้จักที่จะปรับตัวและมองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอนั่นเอง.

 


  • 283
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!