ลั่นกลองรบ RS-GMM สงครามระลอกใหม่บนสมรภูมิที่เปลี่ยนไปแบบหมัดต่อหมัด กัดไม่ปล่อย

  • 1.8K
  •  
  •  
  •  
  •  

RS vs GMM
Christian Bertrand / Shutterstock.com

ย้อนกลับไปหลายสิบปี อุตสาหกรรมเพลงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง การเป็นศิลปินไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะศิลปินในยุคนั้นส่วนใหญ่มาจากการเชื้อเชิญโดยแมวมอง และถ้าได้ “ออกเทป” ก็หมายถึงชื่อเสียงและรายได้ นั่นเพราะเทปเพลงสามารถฟังได้ทุกครั้งที่ต้องการ และหากมีเพลงดังสุดฮิตติดชาร์ตอันดับต้นๆ หลายเพลง ก็จะมีโอกาสในการจัดคอนเสิร์ตเพื่อเสริมชื่อเสียง และนำไปสู่รายได้จากการจ้างศิลปินไปงานต่างๆ

แต่หลังการ Disruption อุตสาหกรรมเพลง ดูเหมือนว่าค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง RS และ GMM จะเงียบลงไป แต่ใช่ว่าทั้ง 2 ค่ายเพลงจะต้องล้มหายตายจาก เพราะด้วยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ทั้ง 2 ค่ายเพลงยังคงโลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมเพลง ที่ในวันนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงบริบทของค่ายเพลงในยุคปัจจุบัน

 

ปลุกตำนานเพลงตลาดให้ฟื้นคืนชีพ

ต้องยอมรับว่า Core Business ของ 2 ค่ายเพลงใหญ่ คือ อุตสาหกรรมเพลง ที่สร้างชื่อเสียงและการเติบโตให้กับ 2 ค่ายเพลง แต่หลังจากเทคโนโลยีเข้ามา Disrupt อุตสาหกรรมเพลง ส่งผลให้อุตสาหกรรมเพลงชะลอตัวและเริ่มซบเซา แต่อุตสาหกรรมเพลงก็ยังพอไปได้ในแง่ของเพลงลูกทุ่ง ขณะที่แนวเพลงตลาดอย่างเพลง POP, RAP มีกระแสบ้างเป็นครั้งคราว

Artist

ด้าน GMM หลังปรับกลยุทธ์ลดภาวะขาดทุนเป็นที่สำเร็จก็ได้เวลาเตรียมแผนรุกตลาดเพลงอีกครั้ง โดยหนึ่งในนั้นคือยุทธศาสตร์ New Content Strategy & New Artist Development โดยยุทธศาสตร์ด้าน “New Content Strategy” จะเป็นการสร้างแนวเพลงใหม่ครอบคลุมทุก Segment ในรูปแบบ Full Album ทั้งในแพลตฟอร์ม Digital และรูปแบบ Physical (CD เพลง) และพร้อมสร้าง Content ให้กับศิลปินทุกคนทั้งในและนอก GMM

สำหรับ Full Album จะเน้นแนวเพลง POP, Rock, ลูกทุ่ง และ Indie รวมถึงการเพิ่ม Segment ย่อยอย่าง Original Sound Track เพื่อให้เพลงประกอบละครและภาพยนตร์ชื่อดังสามารถมีรูปแบบ Full Album ด้วย และยุทธศาสตร์ด้าน “New Artist Development” เป็นการสร้างศิลปินใหม่ โดย GMM จะลงทุนเพื่อเฟ้นหาและพัฒนาศิลปินรุ่นใหม่ และแผนร่วมมือกับบริษัทระดับโลกเพื่อยกระดับศิลปินรุ่นใหม่ในระดับสากล

ด้าน RS ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ Entertainmerce โดยหนึ่งในนั้นคือการรุกตลาดเพลงครั้งใหญ่ช่วงตุลาคมนี้ด้วยการเปิดตัวค่ายเพลงพร้อมกันทั้ง 3 ค่ายอย่างค่าย Rsiam ที่จะยังคงเน้นเพลงลูกทุ่งเป็นหลัก แต่จะเพิ่มความเป็นสากลมากขึ้น ค่าย Kamikase ที่จะเน้นกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มวัยรุ่นใหม่ และค่าย Rose Sound ที่จะเป็นการนำเพลงตลาดในสไตล์ RS กลับมาสร้างความคิดอีกครั้งหนึ่ง โดยศิลปินรุ่นใหม่

Surachai
สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  RS Group

“การที่เราใช้ชื่อค่าย Rose Sound เป็นกิมมิคเพื่อรำลึกถึงบริษัทแรกของ RS ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมเพลง โดยทาง RS จะเลือกศิลปินที่สามารถต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ซึ่งศิลปินของ RS จะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีชีวิต และเป็นส่วนหนึ่งของ ecosystem ใน RS” เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  RS Group

 

ชื่อเสียงศิลปินและคอนเสิร์ตรายได้ก้อนโต

สำหรับ GMM ยุทธศาสตร์ด้าน Showbiz ถือเป็นธุรกิจที่สำคัญ โดยจะเน้นไปที่การขยาย Music Festival ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ยุทธศาสตร์ ทุกภาค ทั่วประเทศ, การขยาย Solo Concert ครอบคลุมทั้งศิลปินปัจจุบันที่มีความพร้อม ศิลปินหน้าใหม่ที่ต้องการโอกาสสร้างชื่อเสียง และศิลปินกลุ่ม Retro ที่มียังคงมีแฟนคลับติดตามอย่างเหนียวแน่น

GMM-Concert-Fest

การขยาย Theme Concert ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับ Creator ใหม่ๆ จากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย และการขยายธุรกิจเพื่อเป็น Promoter ในการจัดคอนเสิร์ตจากต่างประเทศในรูปแบบ International Showbiz ในประเทศไทย ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่มีทีมการตลาดที่โฟกัสเฉพาะธุรกิจ Showbiz ประสานงานกับทีม MarCom ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Social Media และเข้าใจ Community Insight ในทุก Social Platform

RS Concert D2B

ด้าน RS ก็ตรียมกลยุทธ์ด้านการจัดงานคอนเสิร์ตไว้ภายใต้ COOLive โดยมีการแยกธุรกิจออกมาเป็นอิสระเพื่อเน้นการทำงานด้านคอนเสิร์ตและอีเว้นท์โดยเฉพาะ ซึ่งในปี 2564 COOLive เตรียมจัดงานคอนเสิร์ตไว้ทั้งสิ้น 10 งาน โดยคาดว่าจะสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า 1 แสนคน โดย RS แบ่งงานคอนเสิร์ตออกเป็น 3 กลุ่ม ทั้งคอนเสิร์ตที่เป็นของศิลปินจากค่ายในเครือ RS, คอนเสิร์ตจากค่ายเพลงและกลุ่มศิลปินอิสระ และคอนเสิร์ตจากศิลปินต่างประเทศ

 

เสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจด้วยผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ต้องยอมรับว่า ค่าย RS มีความแข็งมากในด้านผลิตภัณฑ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา RS ปรับโฉมธุรกิจเข้าสู่โหมดการขายผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมความงามแล้วต้องยอมรับด้วยว่า RS ทำได้ดี ถึงขนาดที่สามารถสร้างการเติบโตให้กับ RS ได้ ทดแทนอุตสาหกรรมเพลงที่ซบเซาลงไป ภายใต้ บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด ซึ่งในการปรับกลยุทธ์ใหม่ครั้งนี้ของ RS มีการเสริมผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ไลน์ธุรกิจ

Pet Food

Pet Food เป็นสินค้าใหม่ที่แตกต่างไปจากสินค้าเดิมของเรา ทั้งหมดเริ่มต้นมาจากสุนัขที่บ้าน ทำให้รู้ว่ามีการใช้จ่ายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเป็นจำนวนมาก ลองคิดดูเราไม่สบาย 2-3 วันค่อยไปหาหมอ แต่ถ้าสุนัขที่บ้านไม่สบายต้องรีบไปหาหมอ ผมบอกได้เลยว่าตอนนี้ค่าอาหารสุนัขแพงกว่าค่าอาหารของลูกเสียอีก โดยเรามีทีม R&D ในการวิจัยและพัฒนาอาหารสุนัขและแมว จะเริ่มวางจำหน่ายในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ในอนาคตอาจจะมีการขยายตลาดในกลุ่มสัตว์เลี้ยงมากกว่าแค่เฉพาะอาหาร” เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์

นอกจากนี้ รังนก ยังเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ RS เตรียมขยายไลน์ Product ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Functional Readyto-Drink เพื่อต่อยอดกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยเน้นขยายช่องทางไปยังร้านสะดวกซื้อ สำหรับผลิตภัณฑ์รังนกมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท แต่ในปัจจุบันความต้องการรับประทานรังนกมีสูงกว่าปริมาณรังนกที่เก็บได้ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ Supply ไม่เพียงพอต่อ Demand ที่เกิดขึ้น โดยผลิตภัณฑ์รังนก RS วางแผนเริ่มจำหน่ายในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

SOM Pr0duct

ที่สำคัญ RS ยังเตรียมผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร (Meal Replacement) ในรูปแบบผงชงดื่มที่ ซอง ให้สารอาหารเทียบเท่าอาหารครึ่งวัน ช่วยลดความอยากในการทานอาหารมื้อหนัก และช่วยลดการบริโภคอาหารขยะในมื้อที่เร่งรีบอีกด้วย สำหรับผลิตภัณฑ์ในตระกูล S.O.M. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตลาดรู้จักเป็นอย่างดี RS จะยังคงรุกตลาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมต่อยอดด้วยการร่วมค้นคว้าและวิจัยกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอาหารของโลก 

 

สนับสนุนศิลปินทำธุรกิจร่วมเป็น Partner

หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ GMM  คือด้าน Artist Product ซึ่งสร้างความยั่งยืนให้กับศิลปิน โดยศิลปินสามารถเจ้าของธุรกิจและ GMM จะเป็นผู้ลงทุนให้กับบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ GMM Goods โดยเน้นการทำธุรกิจขายตรงแบบ SLM (Single-Level Marketing) กับผลิตภัณฑ์ Skin Care ภายใต้แบรนด์ “ออร่า-ทัย” โดยร่วมกับศิลปินเพลงลูกทุ่งในค่ายอย่าง ต่ายอรทัย ดาบคำ

Au ra thai

ถือเป็นความจริงจังในการเข้าสู่ตลาด Commerce ของค่าย GMM ที่สำคัญ GMM ยังมีแผนต่อยอดการทำธุรกิจร่วมกับศิลปิน โดยที่ผ่านมาได้ทดลองโมเดลนี้กับศิลปินอย่าง เป็ก ผลิตโชค ไปแล้วและประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ซึ่ง GMM คาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายแตะ 9 หลักได้ภายใน 2 ปี

ขณะที่ RS เน้นย้ำว่าศิลปินต้องสามารถต่อยอดทางธุรกิจได้ เพื่อให้ศิลปินเป็นแพลตฟอร์มที่มีชีวิต ดังนั้นศิลปินที่มีชื่อเสียงจะมีการนำ Character ไปใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ศิลปินยังสามารถเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เองได้ และสามารถเข้ามาใช้ ecosystem ของ RS ได้ในรูปแบบของ Partner ขณะที่ศิลปินจะยังคงมีรายได้จากอุตสาหกรรมเพลงเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา

BT Cosmetics

โดยในส่วนของ บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด จะมีการนำศิลปินดาราชื่อดัง มาร่วมคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มแฟนคลับ ภายใต้กลยุทธ์ Star Commerce Model เริ่มต้นที่ ใบเตย อาร์สยาม กับแบรนด์ “BT Cosmetics Color Collection” แป้ง Color Palette และ Lipstick ที่มีการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากประเทศเกาหลี และจะขายผ่านช่องทางออนไลน์และในร้านสะดวกซื้อสำหรับผลิตภัณฑ์ขนาดพิเศษ

 

ecosystem สมบูรณ์แบบด้วยสื่อที่มีอยู่ในมือ

ธุรกิจสื่อถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทั้ง 2 ค่ายให้ความสำคัญ โดย GMM มีการวางยุทธศาสตร์ด้าน Media Partnership แม้ว่าในเครือ GMM จะมีสื่ออยู่ในมือ แต่เพื่อให้ธุรกิจเพลงและธุรกิจ Commerce สามารถเข้าถึงกลุ่มคนทุกกลุ่ม ในปีนี้ GMM จึงได้ร่วมมือกับสื่อชั้นนำทั่วประเทศแบบครบวงจร รวมถึง Platform รายใหญ่เพื่อการขยายฐานการเข้าถึงและการรับรู้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะสื่อ TV, สื่อ Radio, สื่อ Outdoor และสื่อโรงภาพยนตร์ (Cinema)

Media

รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพของสื่อที่มีอยู่ในมือไม่ว่าจะเป็นทีวีดิจิทัลและสถานีวิทยุ ไม่เพียงเท่านี้ GMM ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง VGI ในการขยายช่องทางการรับรู้ ด้วยการนำ  MUSIC CONTENT มาสื่อสารผ่านการ Wrap ตัวขบวนรถไฟฟ้า (TRAIN BODY) , สื่อจอดิจิทัลบนสถานีรถไฟฟ้า BTS และสื่อทีวีภายในขบวนรถไฟฟ้า ช่วยให้สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ประมาณ 1.3 ล้านคนต่อวัน และหมายถึงการนำเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางนี้ได้อีกด้วย

สำหรับ RS จะเน้นผ่านสื่อ 3 ช่องทางหลัก ทั้งช่องทางทีวีดิจิทัลผ่านช่อง 8 ซึ่งหลังจากเกิดวิกฤติ COVID-19 RS ได้ดำเนินธุรกิจสื่อทีวีภายใต้กลยุทธ์ เก้าอี้ 4 ขา ด้วยการกระจายรายได้จาก 4 ช่องทาง ได้แก่ มีเดียสปอนเซอร์ 40%, การจัดอีเวนท์ 10%, การขายลิขสิทธิ์ 15% และ Entertainmerce 35% โดยช่วงครึ่งปีหลังในส่วนของ Entertainmerce จะมีการเพิ่มรายการ “นายจ๋าทาสมาแล้ว” ที่แค่ชื่อรายการก็รู้แล้วว่า มาสนับสนุนธุรกิจ Pet Food ของบริษัท ไลฟ์สตาร์

RS MEDIA PARTNER

และรายการ “ราคาพารวย” ซึ่งมีการออกอากาศแล้ว และเป็นครั้งแรกที่นำเวลา Prime Time ของช่องมาทำรายการเพื่อสนับสนุนโมเดลธุรกิจ Entertainmerce โดยในแต่ละช่วงของรายการจะมีการนำเสนอสินค้าจากบริษัท ไลฟ์สตาร์ ผ่านการทำเรื่องราวที่น่าสนใจ รวมถึงการทดสอบจริงในรายการ เพื่อเปลี่ยนผู้ชมให้กลายเป็นผู้ซื้อสินค้า หรือพูดง่ายๆ คือ การนำรายการประเภท TV Shopping มาฝังอยู่ในทุกช่วงของรายการ “ราคาพารวย” ผู้ชมสามารถยกหูเพื่อโทรสั่งซื้อสินค้าได้ในระหว่างการชมรายการ

ราคาพารวย

ในช่องทางวิทยุอย่าง COOLISM ก็มีการแตกธุรกิจออกเป็น 3 สาย โดยสายหลักๆ จะยังคงเป็นการจัดรายการวิทยุผ่าน Coolfahrenheit ซึ่งมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 40% ในส่วนของ COOLive อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า จะเน้นด้านการจัดคอนเสิร์ตและอีเว้นท์ โดยตั้งเป้ามีผู้ชมคอนเสิร์ตทั้งหมดในปี 2564 กว่า 1 แสนคน ซึ่งมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 30% และในส่วนของ COOLanything ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Entertainmerce เปลี่ยนผู้ฟังให้เป็นลูกค้าผ่านแอปพลิเคชัน COOLISM ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ฟังเพลงได้ ช้อปเพลิน ในแอปเดียว” ซึ่งมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 30%

COOLISM

และช่องทางแอปพลิเคชัน RS Mall หรือแอปฯ ที่ผนวกการช้อปปิ้งเข้ากับความบันเทิง ผ่านการเล่าเรื่องราวที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ การนำเสนอแนวทางแก้ปัญหา รวมถึงเรื่องราวจากผู้ใช้จริง และข้อมูลเชิงลึกเพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า พร้อมด้วย Call Center ที่ช่วยตอบปัญหาและให้คำปรึกษาเรื่องสินค้าตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมส่งมอบสินค้าได้อย่างรวดเร็วถึงมือลูกค้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง

 

แพ้ชนะอยู่ที่ใครมี DATA ในมือมากกว่ากัน

สิ่งหนึ่งที่ทั้ง 2 ค่ายพูดตรงกันคือ การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมี “ข้อมูล (DATA)” เพื่อช่วยให้เข้าใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยทาง GMM ได้วางยุทธศาสตร์ด้าน DATA ไว้ และถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด เพราะการปรับเปลี่ยน GMM Music ในปัจจุบันล้วนแต่เกิดขึ้นมาจากการวิเคราะห์ DATA ที่มี เช่น DATA จะชี้ว่าศิลปินคนไหนที่ได้รับความนิยมจนพร้อมที่จะนำไปสู่การทำ Full Album หรือ DATA จะบอกว่าศิลปินคนไหนเหมาะหรือควรขายสินค้าอะไร นอกจากนี้ DATA ยังช่วยวิเคราะห์และคาดการณ์ถึงการขาย Full Album ในรูปแบบ Physical หรือแผ่น CD

Pawit
ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

“เพลงไม่มีวันตายแต่เพลงในรูปแบบ Physical จะเล็กลง เพราะหากดูธุรกิจในโลกจะเห็นว่า ไม่มี Physical ธุรกิจไหนตายจริงๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ แผ่นเสียงทุกวันนี้ก็ยังสามารถหาซื้อได้ แต่สัดส่วนการขายคือสิ่งที่ GMM Music ต้อง Balance ให้ได้ ซึ่ง DATA จะช่วยให้การหาสัดส่วนการขายเพลงแบบ Physical ได้อย่างเหมาะสมที่สุด” พี่เจ๋อ ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

ในด้านของธุรกิจ Showbiz ก็มีการใช้ DATA เข้ามาร่วมด้วย เช่น การสร้างรูปแบบ Concert ที่น่าจะช่วยให้สามารถขายบัตรได้หมด ปัจจุบัน GMM ยังคงพัฒนาเรื่องของการทำ DATA อย่างต่อเนื่อง โดยมีทีม Data Scientist ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเพลงโดยเฉพาะ รวมไปถึงการใช้ DATA Center ของ GMM เองเพื่อรองรับปริมาณ DATA ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในอนาคต

Data-Driven-Music

ที่สำคัญ DATA ช่วยให้สามารถเข้าใจและวิเคราะห์ความเชื่อมโยงต่อการตัดสินใจซื้อของแฟนคลับ รวมถึงเรื่องพฤติกรรมของแฟนคลับที่ชื่นชอบศิลปินมากกว่า 1 คนหรือ Brand สินค้าและ Media ที่แฟนคลับศิลปินชื่นชอบ จึงทำให้เกิดประโยชน์และก่อให้เกิดการซื้อขายทั้งระบบ

ด้าน RS เองก็มีการใช้ DATA เช่นเดียวกัน โดย RS Mall จะนำข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และสร้างแคมเปญ CRM ที่หลากหลาย ปัจจุบัน RS มีฐานข้อมูลกว่า 1.4 ล้านรายที่มีการซื้อซ้ำมากกว่า ครั้งต่อปี รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Voice Analysis ที่ทาง RS ยืนยันว่าเป็นที่เทคโนโลยีที่ช่วยให้ทราบความต้องการของลูกค้าผ่านเสียง รวมไปถึงระบบการจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System – WMS) ที่ช่วยให้สามารถจัดส่งสินค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

Surachai 2

“จาก DATA ที่เรามีทำให้ทราบว่า ลูกค้าของ RS ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ 65% และอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด 35% ซึ่งกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะมีอายุ 40 ขึ้นไป เป็นผู้หญิงประมาณ 80% และมีการซื้อเฉลี่ยต่อบิลอยู่ที่ 2,000 บาท สำหรับช่องทางการซื้อยังคงซื้อผ่านทางโทรศัพท์ ในขณะที่ช่องทางออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งช่องทาง COOLISM จะช่วยให้ RS สามารถลงไปจับกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีได้” เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์

 

ย้อนอดีตสู่ยุค Disruption อุตสาหกรรมเพลง

ใครจะเชื่อว่าย้อนกลับไปหลายสิบปีอุตสาหกรรมเพลงเคยรุ่งเรืองสูงสุด หากแต่ยุคสมัยเปลี่ยนไปเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลง จากการออกเทปเปลี่ยนไปสู่การออกแผ่นซีดี ซึ่งทำให้การก๊อปปี้ทำได้คุณภาพเทียบเท่าของแท้ แต่อุตสาหกรรมเพลงยังสามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จนเมื่อเกิด “MP3” รูปแบบของอุตสาหกรรมก็เริ่มเปลี่ยนไป เพราะนอกจากจะสามารถก๊อปปี้ได้สมบูรณ์แบบแล้ว ยังสามารถรวมเฉพาะเพลงดังได้ โดยไม่ต้องฟังเพลงที่ไม่ถูกโปรโมท

gmm joox

เทคโนโลยีเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น อุตสาหกรรมเพลงก็เช่นกันเริ่มหันไปให้ความสำคัญกับการฟังเพลงบนมือถือมากขึ้น ด้วยรูปแบบ Streaming Music ผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Spotify, JOOX เป็นต้น นี่คือยุคของ Disruption อุตสาหกรรมเพลง จนทำให้ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง RS และ GMM ต้องลดปริมาณการผลิตผลงานเพลงลง แล้วเขาจะร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่ออุตสาหกรรมเพลงยังดำเนินต่อไปได้

จนกระทั่งค่ายเพลงไปต่อไม่ไหว โดยส่วนใหญ่ยังคงเฉพาะผลงานเพลงลูกทุ่งที่ยังคงมีโอกาสสร้างรายได้เท่านั้น นอกจากนี้ Social Media ช่วยให้การสร้างชื่อเสียงทำได้ง่ายมากขึ้นกว่าในอดีต เห็นได้จากศิลปินบางท่านที่โด่งดังเพียงชั่วข้ามคืนจากเพลงฮิตเพลงเดียวที่นำเสนอผ่านช่องทาง Social Media ส่งผลให้ทั้ง 2 ค่ายเพลง ต้องปรับกลยุทธ์การทำการตลาดในอุตสาหกรรมเพลงใหม่หมด

RS Mall

ซึ่ง RS เป็นค่ายที่เรียกได้ว่าปรับตัวได้เร็วและหันไปทำธุรกิจ Commerce จนประสบความสำเร็จ ขณะที่ GMM ยังคงต้องเผชิญภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จากการทำธุรกิจอุตสาหกรรมเพลงเป็นหลัก แต่เมื่อถึงจุดที่ศิลปินเข้ามามีบทบาทกับธุรกิจ Commerce ก็ถึงเวลาที่ค่ายเพลงทั้ง 2 ต้องเตรียมลับอาวุธเพื่อมา ปะ ฉะ ดะ กันในสงครามที่ต่างสมรภูมิไปอีกครั้งหนึ่ง

Song Industry

งานนี้บอกได้เลยว่า GMM เป็นน้องใหม่ที่นำพาอุตสาหกรรมเพลงมาบรรจบกับธุรกิจ Commerce ในขณะที่ RS มีประสบการณ์ที่มากกว่าในสายธุรกิจ Commerce ดังนั้นบอกได้เลยว่า GMM คงต้องเหนื่อยหน่อย ในการผลักดันสินค้าให้เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค ส่วน RS เล่นเกมง่ายหน่อย เพราะมีเรื่องของช่องทางจำหน่าย ความเชื่อใจในแบรนด์และการประสบการณ์ที่เคยได้ลองใช้ไว้เป็นทุนอยู่ในมือ

แต่อย่าลืมว่า GMM ก็คงไม่ธรรมดาที่ยังสามารถยืนหยัดมาได้ถึงทุกวันนี้ แม้จะเพิ่งเข้ามาเดินในสายธุรกิจ Commerce อย่างเต็มตัว และ RS ก็คงประมาท GMM ไปไม่ได้ แต่สงครามฉากนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเพลงหรือความมีชื่อเสียงของศิลปินเท่านั้น หากแต่มีเรื่องของแบรนด์และผลิตภัณฑ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เหนือสิ่งอื่นใด คือความเชื่อใจและความง่าย สะดวกสบายในการซื้อสินค้า ซึ่งอยู่ที่ว่าใครทำออกมาได้โดนใจผู้บริโภคและสร้างประสบการณ์ที่ดีได้มากกว่ากัน

 

@MarketingOops!


  • 1.8K
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา