เรียกว่าตอนนี้กลายเป็นการแพร่ระบาดยิ่งกว่า COVID-19 หลังสหรัฐฯ กำจัด Huawei ออกนอกประเทศไปได้ แต่การกีดกันบริษัทสัญชาติจีนในสหรัฐฯ กลับยิ่งแพร่ระบาดออกไป โดย TikTok กลายเป็นรายต่อมา เมื่อสหรัฐฯ ให้ทางเลือกระหว่างการยุติกิจกรรมหรือการขายธุรกิจให้เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ที่สำคัญ WeChat ก็โดยหางเลขครั้งนี้ไปด้วย
โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (15 สิงหาคม 2020) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) แพลมออกมาว่า สหรัฐฯ สามารถกดดันบริษัทสัญชาติจีนได้มากขึ้นและจะมีบริษัทสัญชาติจีนรายอื่นๆ ที่สหรัฐฯ จะกดดันเพิ่มขึ้น ซึ่งทรัมป์ชี้ว่า สหรัฐฯ กำลังดูอยู่ว่า Alibaba ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอาจจะเป็นรายต่อไปหลังเสร็จสิ้นเรื่องราวของ TikTok
จับตาความสัมพันธ์เชิงลึกระหว่างหม่าและทรัมป์
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า สหรัฐฯ กำลังจับตาดูอยู่ว่า Alibaba อาจเป็นรายต่อไป แต่ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ เห็นว่า ความแข็งแกร่งและมั่นคงของสหรัฐฯ และ Alibaba ไม่ใช่แค่เรื่องของการค้า e-Commerce เท่านั้น แต่ความสัมพันธ์หยั่งลึกลงไปถึงระดับตัวบุคคล แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีแผนการใดๆ ที่ถูกวางไว้เพื่อเฉพาะเจาะจงสำหรับ Alibaba
นั่นเพราะครั้งหนึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยพูดถึงแจ็ค หม่า Founder ของ Alibaba ด้วยความสนิทสนมและชื่นชมว่า
“แจ็ค หม่าเป็นเพื่อนของฉันและเขาช่วยบริจาคเครื่องช่วยหายใจจากจีนประมาณ 1,000 เครื่อง นั่นเป็นของขวัญที่ทำให้พวกเราซาบซึ้งอย่างมาก มันดีมากสำหรับในช่วงเวลานี้”
โดยคำกล่าวนี้เกิดขึ้นช่วงต้นปี เมื่อสหรัฐฯ ประสบปัญหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวนมหาศาลจนเครื่องชาวยหายใจไม่เพียงพอต่อความต้องการ
แต่นั่นอาจยังไม่เพียงพอต่อการขึ้นบัญชีของ Alibaba เมื่อนาย Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ยังมองว่า Alibaba คือบริษัทสัญชาติจีนที่ยัง ‘ไม่น่าไว้วางใจ’ โดยเฉพาะในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคลและการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สูตรยาต้าน COVID-19 เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดถูกจัดเก็บไว้บนระบบ Cloud ที่ Alibaba ให้บริการอยู่
แม้สหรัฐฯ แบนก็ไม่สะเทือนรายได้
แน่นอนว่าหากดูรูปการณ์แล้ว โอกาสที่ Alibaba จะถูกแบนก็มีความเป็นไปได้ ส่วนหนึ่งนั้นเพราะ CEO ของ Alibaba ไม่ใช่แจ็ค หม่าแต่เป็น ดาเนียล จาง (Daniel Zhang) และท่าทีของสหรัฐฯ ต่อบริษัทสัญชาติจีน คาดว่า Alibaba ไม่น่าจะหนีรอดพ้นคำสั่งแบนครั้งนี้ได้ แต่ถึงอย่างนั้นในแง่ของรายได้แล้ว ธุริจในสหรัฐฯ ของ Alibaba มีเพียงธุรกิจ e-Commerce และธุรกิจ Cloud
โดยรายได้ส่วนใหญ่ของ Alibaba เกิดขึ้นในประเทศจีนเกือบ 80% ต่อปีหรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านหยวนหรือราว 7.3 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่รายได้จากธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งระหว่างประเทศทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนเพียง 7% ส่วนธุรกิจ Cloud ของ Alibaba ในสหรัฐฯ มีสัดส่วนน้อยกว่า 10% ของรายได้ทั้งหมด
สิ่งที่น่าเสียดายหาก Alibaba ถูกแบน
แม้รายได้ของ Alibaba จะไม่ถูกกระทบหากมีคำสั่งแบนจากสหรัฐฯ แต่ก็มีสิ่งที่น่าเสียดายในการลงทุนและสร้างโอกาส เพราะต้องยอมรับว่าสหรัฐฯ คือตลาดที่สำคัญของ Alibaba โดยมีการลงทุนในแพลตฟอร์ม Tmall เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์ต่างชาติสามารถเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ และแบรนด์ในสหรัฐฯ สามารถขยายตัวสู่หลายประเทศ โดยตั้งเป้าจะมีแบรนด์สหรัฐฯ ใน Tmall เพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นรายใน 3 ปี
สิ่งที่สหรัฐฯ อาจต้องสูญเสียหากแบน Alibaba
อย่างที่ทราบกันว่า ในประเทศจีนมีระบบการชำระเงินในรูปแบบ e-Payment เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการใช้จ่ายผ่าน QR Code และระบบที่ชำระเงินผ่าน QR Code ของชาวจีนมีเพียง 2 แอปฯ เท่านั้นที่คนจีนนิยมใช้มากที่สุด ทั้ง WeChat Pay และ AliPay ซึ่งหมายความว่าธุรกิจของสหรัฐฯ ที่อยู๋ในจีนจะไม่สามารถรองรับการชำระเงินผ่าน WeChat Pay หลังถูกแบนไปเรียบร้อยแล้วพร้อมกับ TikTok
และหาก Alibaba ถูกแบนไปด้วย หมายความว่าธุรกิจของสหรัฐฯ ในจันจะไม่สามารถรองรับการชำระเงินผ่านเทคโนโลยีทั้ง WeChat Pay และ AliPay ได้เลย หมายความว่าธุรกิจสหรัฐฯ ในจีนปิดประตูเตรียมตัวม้วนเสื่อเก็บกลับบ้านได้ เพราะร้านที่สามารถชำระเงินผ่าน QR Code จะช่วยสร้างแรงดึงดูดให้กับธุรกิจของตัวเองได้อย่างมาก รวมไปถึงการชำระเงินเพื่อซื้อแอปฯ ต่างๆ ทั้งใน App Store และ Play Store
ดังนั้นสิ่งที่น่าจะต้องจับตาต่อไปว่า Alibaba จะกลายเป็นบริษัทสัญชาติจีนรายที่ 4 หรือไม่ที่ถูกแบนจากสหรัฐฯ ตามหลัง Huawei, TikTok และ WeChat และการแบนครั้งนี้สหรัฐฯ จะได้คุ้มกับที่เสียไปหรือไม่ แล้วใครจะเป็นบริษัทสัญชาติจีนรายต่อไป จะเป็นบริษัทด้าน Gadget หรือจะเป็นบริษัทด้านการเงิน อาจจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อีกเจ้าจากจีนก็เป็นได้ นาทีนี้บริษัทสัญชาติจีนในสหรัฐฯ คงต้องเตรียมรับมือให้ดี และธุรกิจไทยพร้อมในการหาลู่ทางเข้าถึงตลาดที่มีช่องว่างเหล่านี้แล้วหรือยัง
Source: CNN