หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อ “เทสล่า (Tesla)” รถยนต์ไฟฟ้า 100% ระดับโลกที่สั่นสะเทือนวงการยานยนต์โลก ดัวยสมรรถนะและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ส่งผลให้เทสล่ากลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลคาสูงที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความแปลกใหม่ที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องของสมรรถนะการเดินทางที่เทียบเท่าหรือใกล้เคียง Supercar และเทคโนโลยีช่วยขับอย่าง Autopilot ที่มีการใช้ AI เข้ามาช่วยในการขับ
จริงๆ แล้วเทสล่ามีความพิเศษที่ต้องชวน…ว้าว!!! อีกมาก ชนิดที่แทบอยากจะไปถอยออกมาขับซักคัน (ถ้ารับกับราคานำเข้าของมันไหว) แน่นอนว่าความโดดเด่นของเทสล่าคือการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก โดยไม่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง นั่นหมายความว่าไม่ต้องสนใจว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะเป็นอย่างไร หรือผู้จำหน่ายน้ำมันรายใหญ่ในประเทศจะปรับราคาอย่างไร ขอเพียงแค่ค่า Ft ไม่ขึ้นพรวดพราดก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร
ทำไมต้องพูดถึงเทสล่า
นอกจากเรื่องของการไม่ใช้น้ำมันแล้ว เทคโนโลยีคือจุดที่โดดเด่นอีกจุดของเทสล่า โดยเฉพาะระบบ Autopilot หรือระบบช่วยขับที่ถึงเป็นจุดสร้างความแตกต่างในตลาดรถยนต์ ระบบดังกล่าวจะประมวลผลวิเคราะห์สภาพแวดล้อมการขับขี่ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือเข้าใจง่ายๆ ใช้ AI ขับแทนคน โดยเชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์และระบบต่างๆ อย่างกล้องผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
เรียกได้ว่าเทสล่าคือแบรนด์แรกที่นำระบบดังกล่าวติดตั้งในรถไฟฟ้า 100% ที่ใช้งานจริงบนถนนจริง ขณะที่บริษัทด้านเทคโนโลยีส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นทดสอบร่วมกับค่ายรถยนต์ ซึ่งเทสลามองว่า การใช้งานจริงจะช่วยให้ AI เรียนรู้จากการใช้งานจริงไม่ใช่ในสนามทดสอบ ที่สำคัญเทสล่ายังสามารถเก็บข้อมูลจริงผ่านการใช้งานจริง เพื่อนำไปพัฒนาระบบต่อไปในอนาคต
แน่นอนว่าสำหรับผู้ที่ใช้รถเทสล่า ด้านหนึ่งคือการได้ทำตัวให้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลก แถมยังได้ภาพลักษณ์ของผู้นำเทคโนโลยี แต่ในอีกด้านผู้ใช้รถเทสล่ากำลังเป็นอาสาสมัครในการทดสอบระบบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงในอนาคต ทั้งนี้ต้องยกความดีความชอบให้ Nikola Tesla ผู้คิดค้นมอเตอร์ไฟฟ้า และ Elon Musk ผู้ก่อตั้งเทสล่าก็ได้แรงบันดาลใจจนนำชื่อของ Tesla มาตั้งเป็นชื่อบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า 100%
เทสล่าไม่ได้มีดีแค่มอเตอร์และ AI
นอกจากเรื่องของพลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีแล้ว เรื่องของการออกแบบก็เป็นอีกสิ่งที่ช่วยให้เทสล่าดูโดดเด่น นั่นเพราะเทสล่าไม่มีเครื่องยนต์ทำให้สามารถดีไซน์ทั้งภายนอกและภานในออกมาได้อย่างอิสระ เทสล่าจึงมีพื้นที่เก็บของเป็นจำนวนมากทั้งกระโปรงหน้าและกระโปรงหลัง ขณะที่ภายในเน้นเรียบง่ายแต่หนักไปทางเทคโนโลยีในการควบคุมผ่านหน้าจอ
หลังคาอีกหนึ่งความโดดเด่นของเทสล่า โดยจะเน้นให้สามารถมองทะลุผ่านหลังคากระจกที่ทอดยาวตั้งแต่ด้านหน้าถึงด้านหลังผ่านกระจก 3 บาน พร้อมติดตั้งฟิล์มกันความร้อนและฟิล์มทึบสีดำ ช่วยให้มีมุมมองที่กว้างมากขึ้น โดยไม่รู้สึกร้อนและป้องกันไม่ให้คนภายนอกมองเห็น ซึ่งทางเทสล่าการันตีว่ากระจกแผ่นหลังคามีความแข็งแกร่งทนทานสูงรองรับน้ำหนักของรถทั้งคันได้ ป้องกันกระจกหลังคาแตกกรณีเกิดการพลิกคว่ำ
ขณะที่แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแหล่งพลังงานหลักขนาดใหญ่ จะติดตั้งบริเวณใต้ท้องรถโดยมีแผ่นเหล็กปิดไว้อีกชั้นเพื่อกันกระแทกและสิ่งแปลกปลอม ด้วยการออกแบบอย่างพิเศษทำให้เทสล่าสามารถกลับมาตั้งลำเป็นปกติได้หากมีการตะแคงข้าง รวมถึงการการออกแบบล้อที่ช่วยให้เกิดแรงเฉื่อย ช่วยให้เทสล่ายังคงเดินหน้าต่อไปได้อีกไกล แม้จะไม่เหยียบคันเร่งก็ตาม
6 ปัจจัยรอท้าทายเทสล่าในอนาคต
แม้เทสล่าจะกลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าระดับสุดยอดเทียบชั้นได้กับรถยนต์ระดับพรีเมี่ยมในตลาดรถใช้น้ำมัน แต่เพราะเทสล่ายังเป็นค่ายรถยนต์เพิ่งเกิดใหม่อายุยังไม่เกิน 20 ปี เทสล่าจึงต้องฝ่าฟันกับความท้าทายเหมือนที่ค่ายรถยนต์รุ่นใหญ่อายุเกิน 40-60 ปีเคยเผชิญกันมา และถือเป็นความท้าทายที่สำคัญของเทสล่า โดยเฉพาะ 6 ปัจจัยนี้ที่เทสล่าต้องเผชิญ
Cybertruck รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในค่ายของเทสล่าที่เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มรถเอนกประสงค์ (บ้านเราเรียกกระบะ) ที่สร้างความฮือฮาทั่วโลกในวันเปิดตัว ทั้งการดีไซน์ที่หลายคนคิดว่าเป็นรถต้นแบบ แต่มันคือดีไซน์รถที่ออกจำหน่ายจริง แถมยังเคลมว่าเป็นรถนิรภัยระดับหนึ่งที่กระจกแตกยากมาก แต่พอทดสอบจริงกลับแตกจนเป็นรูโบ๋ว!!!
แทบจะเรียกได้ว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจากเทสล่าที่ไม่ประสบผลสำเร็จตั้งแต่เปิดตัวจนมีการขอคืนเงินมัดจำสำหรับรถยนต์รุ่นดังกล่าวจำนวนมาก
โรงงานผลิตเทสล่าในสหรัฐฯ เป็นอีกสิ่งที่ท้าทายสำหรับเทสล่า เนื่องจากตลาดใหญ่สุดของเทสล่าอยู่ในสหรัฐฯ และโรงงานเพียงแห่งเดียวในแคลิฟอร์เนียไม่สามารถรองรับความต้องการของตลาดได้ เทสล่าจึงสร้างโรงงานแห่งที่สองในเท็กซัสและถือเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกันเทสล่าก็สร้างโรงงานผลิตในจีนเพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ
แถมโรงงานในจีนยังใช้ระยะเวลาในการสร้างน้อยกว่าในเท็กซัสและพร้อมเปิดกระบวนการผลิตด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า นี่คือความท้าทายของเทสล่าในการมองฐานการผลิตที่คุ้มทุน
ความท้าทายที่รอเทสล่าไปเผชิญ
การสร้างรายได้ของเทสล่า เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เทสล่าต้องเผชิญ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า ภาพลักษณ์ของเทสล่าเปรียบเสมือนรถยนต์ในระดับพรีเมี่ยม ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สวนทางกับแนวคิดของเทสล่าที่ต้องการให้รถยนต์ไฟฟ้า 100% กลายเป็นรถตลาดที่ใช้กันทั่วไป แต่ปัจจุบันเทสล่ายังมีราคาขายที่สูง ยิ่งผู้ผลิตรถยนต์ในจีนหันไปให้ความสำคัญกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่มีเทคโนโลยีไฮเทค ยิ่งสร้างความท้าทายให้กับเทสล่าอย่างมาก
เทคโนโลยีเก่าไปแล้วหรือยัง หนึ่งในคำถามสุดคลาสสิคของเทสล่า นั่นเพราะเทสล่าคือแบรนด์แรกที่นำเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติมาใช้ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติในค่ายรถยนต์อื่นๆ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา นั่นหมายความว่าเทคโนโลยีของค่ายรถยนต์อื่นจะใหม่กว่าและล้ำสมัยกว่าเทสล่า แต่ถึงอย่างนั้นเทสล่าก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น “Summon” เทคโนโลยีที่ใช้ในการเรียกรถให้ออกมารับจากที่จอดรถ โดยที่ไม่ต้องมีคนขับ
Semi รถบรรทุกของเทสล่า ที่โดดเด่นไม่แพ้รถกระบะ Cybertruck แต่รับรองสวยกว่า น่าใช้กว่าแน่นอน ด้วยความสามารถในการใช้พลังงานไฟฟ้า 100% และเทคโนโลยีที่ไม่แตกต่างไปจากรถยนต์เทสล่าปกติ โดย Semi ถูกโปรโมทไปก่อนหน้านี้แต่เพราะโปรเจ็ค Model 3 ทำให้ต้องชะลอการผลิต Semi ออกไป โดยเทสล่าเตรียมกลับมาเริ่มกระบวนการผลิต Semi ในช่วงปี 2021 นี้
แบรนด์และเจ้าของภาพลักษณ์เดียวกัน
ตัวของ Elon Musk เอง คือหนึ่งเรื่องปวดหัวของเทสล่า เพราะต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของเทสล่าติดตัวไปกับ Elon Musk ไปแล้ว ดังนั้นการกระทำอะไรก็แล้วแต่ที่ Elon Musk แสดงออกมา จะถูกสื่อไปถึงค่ายรถยนต์เทสล่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลองดูช่วงที่ผ่านมาแคเพียง Elon Musk สละตำแหน่งผู้บริหารเทสล่า ส่งผลให้หุ้นของเทสล่าล่วงหล่นจนน่าตกใจ
หรืออย่างเช่นการที่ Elon Musk ผลิต “กางเกงขาสั้น” ก็สร้างความฮือฮาให้กับเทสล่าได้อย่างมาก หรือการเปิดตัวรถ Cybertruck ที่ครั้งแรกสร้างความฮือฮาจนมียอดการจองอย่างมากมาย แต่เพราะ Elon Musk ไม่เหมือนใครการทดสอบจริงจึงเกิดขึ้นในวันเปิดตัว แล้วก็เกิดเหตุจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก ดังนั้นตัว Elon Musk จึงกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญของเทสล่าด้วยเช่นกัน เพราะหาก Elon Musk ไปผิดใจหรือทำผิดกฎหมายก็จะส่งผลสะท้อนไปสู่เทสล่าได้
นี่จริงถือเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้ประกอบการที่กำลังเปิดตัวธุรกิจให้ต้องมองการวางแผนระยะยาว รวมไปถึงการนำตัวเองไปผูกกับแบรนด์ เพราะนั่นหมายความว่าเจ้าของทำอะไรจะเกิดผลกระทบกับแบรนด์อย่างเลี่ยงไม่ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
Source: USA Today