ทำความรู้จัก Questionstorm วิธีระดมไอเดียแบบใหม่ ที่องค์กรอย่าง Netflix, Airbnb ฯลฯ เลือกใช้

  • 1.9K
  •  
  •  
  •  
  •  

เมื่อเราต้องการระดมไอเดียเพื่อแก้ปัญหาเรื่องงานหรือธุรกิจ ส่วนใหญ่มักจะใช้การ ‘Brainstorm’ แต่นั่นอาจไม่ใช่วิธีที่ดีและมีประสิทธิภาพเสมอไป  เพราะตอนนี้มี ‘Questionstorm’ ซึ่งเป็นการระดมไอเดียที่องค์กรระดับโลกที่เข้ามา Disrupt ธุรกิจ อาทิ  Netflix, Airbnb และอีกมากมายนิยมใช้กัน

ทำไม Brainstorm แบบเดิมถึงไม่เวิร์ค

บทความหนึ่งใน Harvard Business Review ระบุว่า การ Brainstorm เป็นการระดมคิดเพื่อหาคำตอบเป็นเรื่องน่าเบื่อ ซึ่งคำตอบที่ได้ในครั้งแรกนั้นไม่จำเป็นต้องถูกต้อง นอกจากนี้วิธีดังกล่าวเป็นหาคำตอบด้วยการระดมความคิดให้ได้มากที่สุด จากนั้นค่อยมาเลือกคำตอบที่ดูเหมาะสม จึงทำให้หลายคนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เพราะกลัวตัวเองดูไม่ดี หากเสนอความคิดเห็นบางอย่างออกไป และบางคนก็งดเว้นเสนอความคิดดี ๆ  เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกมอบหมายงานจากหัวหน้า

ขณะที่ Questionstorm เป็นการระดมความคิดด้วยการสร้างคำถาม คนแสดงความคิดเห็นไม่ต้องกลัวถูกผิด เพราะไม่มีใครรู้ว่า คำตอบที่ถูกต้องคืออะไร ทำให้น่าตื่นเต้นและสร้างแรงบันดาลใจให้มีโอกาสเกิดไอเดียที่น่าสนใจใหม่ ๆ

4 ขั้นตอน สู่ Questionstorm

สำหรับ Questionstorm ได้ถูกกล่าวถึงในหนังสือ A More Beautiful Question ของ Warren Berger ซึ่งนำเสนอ 4 ขั้นตอนที่บริษัทชั้นนำใช้ตั้งคำถามเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาธุรกิจให้เติบโตไปข้างหน้า

1. เริ่มต้นด้วยคำสั่ง

แทนที่จะเริ่มต้นด้วยคำถามเช่น “เราจะสร้างลูกค้าได้มากขึ้นได้อย่างไร” ให้เริ่มต้นด้วยคำสั่งเช่น “เราต้องการลูกค้าเพิ่ม” เพื่อให้ทุกคนคิดจากความเป็นจริง

2.ลิสต์คำถามให้ได้มากที่สุด

เมื่อบอกถึงเป้าหมายแล้ว ขั้นต่อมาให้คนในทีมตั้งคำถามให้มากที่สุด สามารถทำได้เป็นกลุ่มหรือแยกเป็นรายคนแล้วนำมาแบ่งปันกับกลุ่มทีหลังก็ได้ โดยกฎสำคัญ ก็คือ ให้ตั้งคำถามแบบไม่ต้องคิดคำตอบมาด้วย ซึ่งขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาประมาณ 15 นาที

 3.ปรับคำถามปลายปิดให้เป็นปลายเปิด และปรับคำถามปลายเปิดให้เป็นปลายปิด

หลังจากได้คำถามมาแล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องทำของ Questionstorm ก็คือ ปรับคำถามปลายปิดให้เป็นปลายเปิด และปรับคำถามปลายเปิดให้เป็นปลายปิด ซึ่งการปรับเปลี่ยนตรงนี้ จะสร้างคำถามเพิ่มขึ้นได้ 2 เท่า (หรือมากกว่า) และอาจส่งผลให้เกิดคำถามที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงสำหรับสร้างไอเดียใหม่ ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น “การเปลี่ยนแปลงในบรษัทเป็นเรื่องยาก”อาจเปลี่ยนเป็น “เราจะทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องง่ายได้อย่างไร” เป็นต้น

4.จัดลำดับความสำคัญของคำถามและเลือกข้อที่ชอบออกมา

เมื่อได้คำถามที่มากพอ ให้คนในทีมแต่ละคนเลือกคำถาม 3 ข้อที่พวกเขาสนใจหรือคิดว่า มีประโยชน์ต่อการทำงานหรือบริษัทออกมา วิธีนี้จะช่วยให้คุณจัดลำดับความสำคัญของคำถามที่จะขุดลึกลงไปได้อีก และบางคำถามที่แม้ตอนนี้ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ในแผนงานหรือโครงการได้ แต่อาจเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต

 

ที่มา : inc


  • 1.9K
  •  
  •  
  •  
  •