ในช่วงที่ผ่านมา ร้านอาหารหลายร้านต้องประสบปัญหาจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ส่งผลให้การมารับประทานอาหารที่ร้านกลายเป็นเรื่องที่ไม่ปลอดภัยและมีความสี่ยงในการติดเชื้อ ส่งผลให้ลูกค้าหายไปจนกลายเป็นศูนย์ หลายร้านอาหารถอดใจยุติกิจการชั่วคราวเพื่อเซฟต้นทุน ขณะที่อีกหลายร้านอาหารผันตัวเองสู่ช่องทาง Food Delivery
แต่การเข้าสู่ช่องทาง Food Delivery ใช่ว่าทุกร้านอาหารจะได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะส่วนใหญ่ผู้ให้บริการ Food Delivery จะมีการเก็บค่า GP หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ค่าคอมมิชชั่นในการให้บริการ” ขณะที่หลายร้านหันมาขายเองผ่านช่องทาง LINE OA และ Facebook แต่ก็มีปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการ จนกลายเป็นความยุ่งยากแทนที่จะช่วยเสริมรายได้
KBTG ก็เห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้เปิดตัวแอปพลิเคชันเว็บเบส Eatable (อีทเทเบิล) แพลตฟอร์มสั่งอาหารรูปแบบใหม่ ตอบโจทย์ทั้งการทานที่ร้าน (Dine In) สั่งล่วงหน้าเพื่อซื้อกลับบ้าน (Dine Out) และเดลิเวอรี (Delivery) โดยผู้ประกอบการไม่ต้องโหลดแอป ไม่มีค่าธรรมเนียมและสามารถจัดการระบบหลังบ้านแบบเรียลไทม์ผ่านทางออนไลน์ ด้านผู้บริโภคสามารถเลือกเมนูอาหาร สั่งและจ่ายได้แบบไร้การสัมผัส
โดย คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ชี้ว่า จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยถึงการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารคาดการณ์ว่า ธุรกิจร้านอาหารในปีนี้จะมีมูลค่าราว 3.8 แสนล้านบาท ลดลงเกือบ 10% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังตัวในการออกไปทานอาหารนอกบ้าน จากปัญหาของ COVID-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงไป
ซึ่งส่วนใหญ่นิยมไปใช้บริการเดลิเวอรีในการสั่งอาหารมาทานที่บ้านหรือที่ทำงานแทนมากขึ้น ร้านอาหารยุคใหม่จึงต้องผสมผสานการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าทั้งที่ทานที่ร้านและเดลิเวอรีไปพร้อมๆ กัน ภายใต้ความปลอดภัยที่ทุกคนกำลังให้ความสำคัญ
Eatable แพลตฟอร์มสำหรับร้านอาหารและลูกค้า จึงเกิดขึ้นมาเพื่อให้บริการสั่งอาหารออนไลน์รูปแบบใหม่ครบวงจร โดยลูกค้าที่ต้องการทานที่ร้านสามารถสแกน QR Code ที่ติดอยู่บนโต๊ะหรือเปิดลิงก์ที่ Eatable เพื่อสั่งอาหารผ่านเมนูออนไลน์ ทำให้ปลอดภัยไม่ต้องสัมผัสกับเมนูแบบเดิม ที่สำคัญไม่ต้องรอเรียกพนักงานมารับออเดอร์
ฟีเจอร์ดังกล่าวสามารถรองรับได้ทั้งการเลือกทานในร้านทันทีหรือสั่งอาหารล่วงหน้า นอกจากนั้นหากมากันหลายท่าน แต่่ละท่านสามารถใช้ Eatable แยกกันสั่งแล้วมารวมบิลกันได้ เพื่อที่จะให้ทั้งกลุ่มรู้ว่ามีเมนูใดที่สั่งมาแล้วบ้างจะได้ไม่ต้องสั่งซ้ำ หรือสามารถกำหนดเวลาในการรับอาหารกลับบ้านได้ ช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลารอหน้าร้านเป็นเวลานาน
ด้านบริการเดลิเวอรี (Delivery) สามารถกดลิงก์ที่ร้านอาหารลงไว้ในทุกๆ ช่องทาง แล้วสั่งอาหารผ่านเมนูออนไลน์ พร้อมตัวเลือกในการส่งเดลิเวอรีไม่ว่าจะให้คนของร้านไปส่งเองหรือให้ร้านอาหารเป็นผู้เลือกผู้ให้บริการจัดส่งที่ราคาถูกที่สุด มาพร้อมกับระบบที่ช่วยแนะนำส่วนลดค่าจัดส่งที่เหมาะสม เพื่อให้ร้านอาหารใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการมอบส่วนลดค่าบริการจัดส่งแก่ลูกค้าที่สั่งอาหารโดยตรงกับทางร้านผ่าน Eatable อีกด้วย
ขณะที่ผู้ประกอบการสามารถจัดการหน้าร้านออนไลน์เพื่อโปรโมทร้านได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง แก้ไขหรือปรับเปลี่ยนข้อมูลเมนูอาหาร ราคา รายละเอียดข้อมูลของร้านได้เองอย่างอิสระ โดยไม่มีการล็อครูปแบบหรือต้องรอการอนุมัติ รวมถึงการตั้งการแจ้งเตือนผ่านระบบออนไลน์ เมื่อมีออเดอร์ใหม่เข้ามาผู้ประกอบการสามารถทราบได้ทันที พร้อมอัพเดตสถานะออเดอร์ให้ลูกค้าได้ติดตามแบบเรียลไทม์ และภาษาที่มีให้เลือกทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยระบบจะทำการแปลภาษาให้อัตโนมัติ
นอกจากนี้ในเดือนกันยายนระบบของ Eatable จะเชื่อมเข้าสู่บริการรับชำระเงินแบบออนไลน์ได้ ช่วยให้ลูกค้าสามารถสั่งและจ่ายจบได้ในช่องทางเดียว และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับเข้าอย่างมหาศาล (Travel Bubble) โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน Eatable จึงได้เปิดฟีเจอร์ “ไคไท่เตี่ยนไช่ (Kai Tai Dian Cai)” บริการสั่งอาหารและชำระเงินผ่าน WeChat สำหรับนักท่องเที่ยวจีนในช่วงปลายปีนี้