สรุปเทรนด์คนไทย มี.ค. – พ.ค. เมื่อเทรนด์เปลี่ยนเร็ว! ถ้าตามไม่ทัน นักการตลาดต้องนำเอง
การอุบัติขึ้นของ “COVID-19” ไม่ใช่แค่สร้างวิกฤตการณ์ในวงกว้างเท่านั้น ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต และพฤติกรรมของผู้บริโภค ทว่าเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น กลับมีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่า และเกิดถี่ขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ ทำให้นักการตลาด หรือแบรนด์ต้องอัพเดทความเคลื่อนไหวของเทรนด์ตลอดเวลา
Marketing Oops! Podcast รายการ MarTech : Consumer Insights ดำเนินรายการโดย “คุณณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์” และ “คุณแพน จรุงธนาภิบาล” จาก GroupM ได้สรุปเทรนด์ในประเทศไทย ช่วงระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้นักการตลาด หรือแบรนด์ได้ทำความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภคไทย เพื่อปรับตัว
แต่ด้วยความที่เทรนด์ในสังคมเกิดขึ้นแบบมาไวไปไว โดยเฉพาะบนออนไลน์ ทำให้ในบางครั้งนักการตลาด หรือแบรนด์ไม่สามารถอัพเดทได้ทัน หากเป็นเช่นนี้ นักการตลาด – แบรนด์ควรพลิกจาก “ตามเทรนด์” ไปเป็น “ผู้สร้างเทรนด์” และให้สังคมตามในสิ่งที่เราครีเอทขึ้น
เมื่อผู้บริโภค #StayHome ทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ถี่ขึ้น
ในยุคดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์อย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ย 1 – 3 เดือนเกิดเทรนด์ใหม่ แต่แล้วในสถานการณ์ COVID-19 เป็นตัวเร่งให้เทรนด์ใหม่เกิดถี่ขึ้น และมากขึ้น โดยในช่วง 2 เดือนครึ่งที่ผ่านมาที่คนต้องอยู่กับบ้านมากขึ้น และย้ายกิจกรรมในชีวิตประจำวันไปอยู่บน “แพลตฟอร์มออนไลน์” ไม่ว่าจะ Work From Home หรือ Study From Home รวมไปถึงกิจกรรมในช่วงเวลาพักผ่อน สิ่งที่ตามมาคือ เทรนด์ใหม่ เช่น
– ถึงจะ Work From Home แต่ “การแต่งหน้า” ยังเป็นเรื่องสำคัญ
ในช่วงแรกของการหยุดอยู่บ้าน และเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น Work From Home ยังคงต้องการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันทุกอย่างเหมือนเดิม และต้องการพบปะกับผู้คน – สังคม เพียงแต่กิจกรรมต่างๆ นั้น ทำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
ด้วยความที่มีการพบปะผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน – เพื่อนร่วมงาน ถึงแม้จะผ่านออนไลน์ก็ตาม ผู้หญิงหลายคนยังคงต้องแต่งหน้า – ทำผมพร้อม ทำให้เห็นว่า “ความสวย” เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิงที่ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงสถานการณ์แบบไหนก็ตาม
– ออกกำลังกาย – สังสรรค์บนออนไลน์
ด้วยมาตรการ lockdown ทำให้สถานที่ออกกำลังกาย และสถานบันเทิง เช่น ผับ บาร์ต้องปิดดำเนินการชั่วคราว แต่เมื่อคนยังคงต้องการ Socialize จึงย้ายกิจกรรมเหล่านี้ไปอยู่บนออนไลน์แทน เกิดเป็น Challenge ออกกำลังกาย และปาร์ตี้ออนไลน์ โดยที่ต่างคนต่างอยู่บ้านของตนเอง แต่ได้ทำกิจกรรมเหล่านี้ร่วมกัน
– ดูหนังผ่าน “Video Streaming”
ในอดีตการดูหนังที่บ้าน จะเป็นหนังเก่า เอามาดูใหม่ แต่จากมาตรการ Lockdown และการขอความร่วมมือ Social Distancing ทำให้โรงภาพยนตร์ต้องปิดบริการชั่วคราว ทำให้คนมีกิจกรรมนอกบ้านน้อยลง คนจึงปรับตัวหันไปดูคอนเทนต์บันเทิงผ่านแพลตฟอร์ม Video Streaming แทน ซึ่งจุดเด่นของแพลตฟอร์มเหล่านี้ คือ มีทั้งหนัง – ซีรีส์ใหม่
ถึงแม้การดูหนัง – ซีรีส์ผ่าน Video Streaming จะเป็นลักษณะต่างคนต่างดูใน Device – ภายในบ้านของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากการดูหนังที่โรงภาพยนตร์ แต่จะพบว่าในกรุ๊ป Social Media ต่างๆ สมาชิกของ Streaming นั้นๆ จะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ ด้วยกัน เพื่อพูดคุย และแชร์ประสบการณ์
– เกิด “Alumni Marketplace” บน Facebook Group
ในช่วงเดือนเมษายน เกิดเทรนด์ Facebook Group จำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ “Alumni Marketplace” ที่บรรดานักศึกษา และศิษย์เก่าหลายสถาบันการศึกษา ตั้งขึ้นเป็นพื้นที่ซัพพอร์ต – ช่วยเหลือกัน ผ่านรูปแบบการซื้อ-ขายสินค้า และบริการ รวมถึงบางคนให้คำปรึกษาเรื่องต่างๆ ฟรี
ทำให้เกิดการ Reconnect ระหว่างศิษย์ในมหาวิทยาลัยสถาบันเดียวกัน หรือแม้กระทั่งระหว่างสถาบัน และหลายคนได้ผันจากลูกค้า มาเป็นคนทำอาหารขายเอง
– “หม้อทอดไร้น้ำมัน” ของมันต้องมี!
ใน Social Media ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายนเป็นต้นมา เกิดกระแสฮิต “หม้อทอดไร้น้ำมัน” โดยเริ่มมีคนแชร์เมนู พร้อมด้วยวิธีทำมากมาย ถือเป็นการสร้าง Inspiration ทำให้เกิด Demand จนเกิดการสั่งซื้อมาทดลองทำอาหารด้วยหม้อทอดไร้น้ำมัน
– เรียนรู้ทักษะใหม่
เมื่อความรู้สามารถหาได้จากอินเทอร์เน็ต ทำให้คนพยายามเรียนรู้ทักษะใหม่จากออนไลน์ เพื่อทักษะใหม่ ซึ่งในหลายทักษะ ถ้าเป็นช่วงสถานการณ์ปกติ เป็นทักษะที่ไม่เคยคิดจะเข้าไปทดลองเรียนรู้ เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ แต่เมื่อสถานการณ์ COVID-19 กลายเป็นภาวะจำเป็น
เช่น ทักษะตัดผม หรือแม้แต่ย้อมผม เพราะร้านทำผมปิดชั่วคราว ในขณะที่ผมของตัวเอง หรือคนรอบข้างเริ่มยาวขึ้นเรื่อยๆ หรือเห็นผมขาวมากขึ้น ส่งผลต่อความมั่นใจ ในที่สุดก็ทนไม่ไหว! ทำให้ต้องหาวิธีตัดผมในออนไลน์ เพื่อเรียนรู้มาตัดผมตัวเอง หรือคนรอบข้าง
– Check-in สถานที่ปลดล็อค
ในเดือนพฤษภาคม ภาครัฐเริ่มผ่อนปรน Lockdown ทำให้เห็นภาพคนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ตามสถานที่ที่ปลด Lockdown และเมื่อไปถึงสถานที่นั้นๆ ได้ Check-in และโพสต์ขึ้น Social Media ของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แค่ตามร้านกาแฟ ร้านอาหารเท่านั้น แต่เป็นสถานที่ต่างๆ ที่ผ่อนปรนโซนไหน คนจะรีบไปที่นั่น
จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ COVID-19 เป็นเสมือนการบังคับให้ทุกคนต้องมีวิถีชีวิตแบบ New Normal ทำให้คนเราต้องปรับตัว แต่พบว่าบางกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เป็น New Normal กลับทำให้หลายคนอยากกลับไปมีวิถีชีวิตรูปแบบเดิม หรือ Old Normal (ฟังเพิ่มเติม : วิถีชีวิตไหน จะเป็น “New Normal” หรือ “Old Normal” กันแน่ ?!)
จาก “ผู้รับคอนเทนต์” ผันสู่ “ผู้ครีเอทคอนเทนต์” จนกลายเป็น “Influencer”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เทรนด์ใหม่เกิดขึ้นเร็วขึ้น และถี่ขึ้นในช่วง COVID-19 มาจากออนไลน์เป็นหลัก ที่ทำให้หลายเทรนด์ขยายออกไป และทำให้คน adapt กับเทรนด์นั้นๆ เร็ว
สิ่งที่ตามมาคือ จะเห็นการปรับเปลี่ยนจากที่เคยเป็น “ผู้รับคอนเทนต์” ไปสู่การเป็น “คนครีเอทคอนเทนต์” ด้วยการแบ่งปันความรู้ – ความเชี่ยวชาญที่ตนเองมี จนในที่สุดคนๆ นั้นขยับไปเป็น Influencer โดยที่มีผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงกับเป็น Macro และ Micro Influencer
โจทย์ใหญ่ “นักการตลาด – แบรนด์” เมื่อเกิดเทรนด์ถี่ขึ้น ถ้าตามไม่ทัน ควรเป็นผู้สร้างเทรนด์เอง
ในขณะที่ผู้บริโภคต้องการเปิดรับคอนเทนต์ ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น โดยไม่จำกัดแค่เฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อีกแล้ว แต่ทุกวันนี้ผู้บริโภคทุกวัย สามารถเข้าถึงออนไลน์
ขณะเดียวกันเกิดเทรนด์ใหม่ถี่ขึ้น – เร็วขึ้น ทำให้บางครั้งนักการตลาด หรือแบรนด์อาจตามไม่ทัน ไม่สามารถจับได้ทุกเทรนด์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งในบางครั้งก็อาจไม่รู้ว่าจะจับเทรนด์ไหนมาต่อยอด
นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของนักการตลาด หรือแบรนด์ !!
อย่างไรก็ตามในเมื่อนักการตลาด หรือแบรนด์ไม่สามารถไล่ตามเทรนด์บนออนไลน์ได้ทันตลอดเวลา ก็อาจเปลี่ยนมาครีเอทสิ่งที่เป็นเทรนด์ใหม่ๆ ขึ้นเอง และให้สังคมเป็นฝ่ายตามแทน
และจากการที่ทุกวันนี้บนออนไลน์ มีผู้บริโภคกว้างขึ้น ดังนั้นนักการตลาด หรือแบรนด์ควรต้องตั้งคำถามว่าจะ Target ผู้บริโภคกลุ่มไหน และจะใช้วิธีใดเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย
หนึ่งในกลยุทธ์ในการเจาะ Target คือ เข้าถึงด้วย Influencer แต่ด้วยความที่ทุกวันนี้มี Influencer จำนวนมาก หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่การเลือก Influencer ให้ถูกคน เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายของแบรนด์
สามารถติดตามรับฟัง Marketing Oops! Podcast
ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้ที่