การระบาดของไวรัสยังลุกลามต่อเนื่องในหลายๆ ประเทศ รวมทั้ง ‘ญี่ปุ่น’ ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงเร็วๆ นี้ ขณะที่นายอาเบะ ชินโสะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ประกาศขยายกรอบเวลาสถานการณ์ฉุกเฉิน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ออกไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค. จากเดิมที่ต้องสิ้นสุดเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา
โดยพื้นที่ที่มีการกำหนดให้เป็นเขตเฝ้าระวังพิเศษยังครอบคลุม 13 เมือง ได้แก่ กรุงโตเกียว, จ.คานากาวะ, จ.ไซตามะ, จ.ชิบะ, จ.โอซากา, จ.เฮียวโกะ, จ.ฟูกูโอกะ, จ.ฮอกไกโด, จ.อิบารากิ, จ.อิชิคาวะ, จ.กิฟุ, จ.ไอจิ และ จ.เกียวโต
ทั้งนี้ Nikkei Asian Review ได้รายงานว่า ด้วยการระบาดในญี่ปุ่นในระลอก 2 ยังรุนแรงเหมือนเดิม ขณะที่หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงของใช้จำเป็นอื่นๆ ยังคง ‘ขาดแคลน’
ล่าสุด บริษัท Fast Retailing ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ชั้นนำอย่าง ‘ยูนิโคล่’ (Uniqlo) ผู้ผลิตเสื้อผ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น ประกาศอย่างเป็นทางการเตรียมที่จะขาย ‘หน้ากากผ้า’ ภายในร้าน Uniqlo ในช่วงซัมเมอร์ที่ญี่ปุ่น (ระหว่างเดือน มิ.ย. – เดือน ส.ค.) รวมถึงช่องทางออนไลน์ด้วย
โดยนายทาดาชิ ยาไน (Tadashi Yanai) ประธานกรรมการและซีอีโอของ Uniqlo ได้กล่าวว่า หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า ยังจำเป็นต่อหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งก็ยังเป็นสินค้าขาดแคลนอยู่ ดังนั้น หน้ากากผ้าของ Uniqlo จะใช้วัสดุเดียวกับที่ใช้ผลิตเสื้อผ้าในคอลเลคชั่น ‘AIRism’ มีคุณสมบัติโดดเด่นระบายความร้อนได้ดี ผ้าเนื้อเย็น และแห้งไว
“เรามั่นใจคุณภาพสินค้า นอกจากจะสามารถป้องกันฝุ่นละอองจากการไอ และจามได้ ยังช่วยระบายความร้อนได้ดี ซึ่งเป็นอุปกรณ์การใช้ที่เหมาะสมกับช่วงอากาศที่ร้อนจัดในญี่ปุ่น และอีกหลายๆ ประเทศได้ ทั้งนี้ คาดว่าราคาหน้ากากผ้าจะมีราคาต่ำกว่า 2,000-3,000 พันเยน หรือประมาณ 593-890 บาท” ยาไน กล่าว
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ AIRism ของ Uniqlo ค่อนข้างได้รับความนิยมอย่างมาก โดยยอดขายประจำปีเฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 100 ล้านชิ้นทั่วโลก ขณะที่การผลิตส่วนใหญ่มาจากโรงงานในประเทศจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคาดว่าหน้ากากผ้าบางส่วนจะถูกผลิตจากโรงงานเหล่านั้นด้วย
“Uniqlo ยังมีแผนที่จะบริจาคหน้ากากผ้าจำนวน 5 ล้านชิ้นให้กับสถาบันด้านสาธารสุขในญี่ปุ่น เพื่อต่อสู้ไวรัส COVID-19 ได้ด้วยกัน” ทาดาชิ ยาไน กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : asia.nikkei