“รัฐวิสาหกิจ” คือ องค์การ บริษัท หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรัฐเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานรัฐที่สามารถหาผลกำไรเช่นเดียวกับธุรกิจเอกชน บางรัฐวิสาหกิจเป็นรูปแบบรัฐดำเนินการได้แต่เพียผู้เดียว ห้ามเอกชนดำเนินการ บางรัฐวิสาหกิจถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นระบบสาธารณูปโภคให้กับประชาชน โดยที่เอกชนไม่มีความสามารถในการบริหารกิจการประเภทนั้นๆ ได้
ย้อนรอยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ถือเป็นวิกฤติทางการเงินครั้งใหญ่ของประเทศไทย โดยเฉพาะการปล่อย “ค่าเงินบาทลอยตัว” ส่งผลให้หลายธุรกิจตกอยู่ในสภาพขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง รวมถึงตกอยู่ในสภาพขาดทุนย่อยยับภายในช่วงข้ามคืน ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐวิสาหกิจ จึงทำให้หลายรัฐวิสาหกิจตกอยู่ในสภาวะขาดทุน ตรวจรัฐบาลต้องขอเงินกู้จาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือที่เรารู้จักในชื่อ “IMF”
โดย IMF แนะนำมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หนึ่งในคำแนะนำนั้นคือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยประเทศไทยได้ดำเนินการขายหุ้นในส่วนของรัฐบาล เพื่อให้มีเอกชนเข้ามาถือหุ้นเกิน 50% โดยมีภาครัฐอย่างกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐวิสหกิจบางแห่งเกิดจากการแต่งตั้งโดยทางกฎหมายทำให้ไม่มีทุนในรูปแบบหุ้น
รัฐบาลในยุคนั้นจึงได้มีการออก พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ รัฐวิสาหกิจสามารถแปลงทุนกลายเป็นหุ้นได้บางส่วนหรือทั้งหมด โดยจะต้องขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้อนุญาตและเป็นผู้กำหนด ภายใต้การดูแลโดยคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ซึ่งที่ผ่านมามีหลายรัฐวิสาหกิจดำเนินการแปรรูปเป็นที่เรียบร้อย อาทิ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
กรณีศึกษารัฐวิสาหกิจแปรรูปสร้างกำไร
ผลจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทำให้รัฐบาลมีรายได้เข้าคลังเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนของภาครัฐลดลง เนื่องจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจดังกล่าว ทำให้เอกชนเข้ามาแบกรับความเสี่ยงภาวะต้นทุนของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ แต่ใช่ว่ารัฐวิสหกิจที่แปรรูปทุกแห่งจะประสบความสําเร็จในการดำเนินงานและสร้างรายได้ รัฐวิสาหกิจบางแห่งสามารถสร้างรายได้ระดับหมื่นล้าน ขณะที่รัฐวิสาหกิจบางแห่งต้องอยู่ในภาวะขาดทุนระดับหมื่นล้าน
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้จากการขายและการให้บริการเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นมากกว่า 2.2 ล้านล้านบาท โดยมีกำไรลดลงจากปี 2561 อยู่ที่ 22% อยู่ที่ระดับ 9.2 หมื่นล้านบาท แม้ในปี 2562 จะมีกำไรลดลงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำภายในประเทศ แต่ก็มีกำไรยังอยู่ในระดับหมื่นล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่จำนวน 51.11%
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้รับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวทั้งหมด 100% โดยมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 1,250 ล้านบาท โดยมีรายได้ในปี 2562 ก่อนการตรวจสอบจาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท โดยคิดเป็นกำไรกว่า 660 ล้านบาท
ส่วน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) แจ้งผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2562 ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย.2562 ทีโอทีมีผลกำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปี 2562 กำไรสุทธิจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 2,490 ล้านบาท
“การบินไทย” รัฐวิสาหกิจที่ต้องปรับโครงสร้าง
ขณะที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พบว่าในปี 2562 การบินไทยและบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 3.9% หรือราว 448 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งการขาดทุนส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากบริษัทย่อยต่างๆ ที่อยู่ในเครือการบินไทย โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้บริการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันต้องปรับลดราคาลงตาม อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงของสายการบินต้นทุนต่ำ
รวมไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจจากการทำสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ส่งผลให้การบินไทยต้องประสบปัญหาภาวะขาดทุน ยิ่งเมื่อมีวิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้การเดินทางลดลง ยิ่งเป็นปัจจัยซ้ำเติมภาระต้นทุนของการบินไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลจึงมีแนวคิดในการแปรรูปโครงสร้างการบินไทย โดยให้ส่วนงานที่มีศักยภาพแตกตัวออกไปเป็นบริษัท โดยสามารถดำเนินงานเป็นอิสระจากการบินไทย
ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางฟื้นฟูองค์กรที่เน้น “หยุดเลือดไหล” โดยเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อให้หยุดภาวะขาดทุน หากสามารถหยุดภาวะขาดทุนได้สำเร็จก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการ “สร้างรายได้” ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการสร้างรายได้เพื่อให้เกิดผลกำไร และสุดท้ายจะเป็นขั้น “การสร้างสรรค์” เป็นการพัฒนาและต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นหรือบริการใหม่
เอกชนเต็มขั้น กับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
สำหรับแนวทางในการปรับโครงสร้างการบินไทย มีการเสนอให้เอกชนเข้ามาถึอหุ้นเกิน 51% หรือการเสนอให้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องถือหุ้น แน่นอนว่าแผนการปรับโครงสร้างการบินไทยหากเป็นไปตามที่มีการเสนอ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนจากรัฐวิสาหกิจกลายเป็นบริษัทเอกชน และส่งผลต่อสวัสดิการต่างๆ ที่พนักงานเคยได้รับ
นั่นจึงทำให้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ออกมานำเสนอในมุมมองของพนักงาน โดยยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี โดยสรุปใจความว่า
สหภาพแรงงานรัฐวิสหกิจการบินไทย ขอแสดงจุดยืนในการดูแล บริษัทการบินไทย จํากัด (มหาชน) โดยเน้นในเรื่องของสถานะสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ และการอยู่ร่วมกันของหน่วยงานทุกหน่วยงานของบริษัทฯ และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ รวมถึงสวัสดิการของพนักงานบริษัทฯ ทุกท่านตามสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิมตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ขอแสดงความเห็นด้วยกับการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับโครงสร้างขององค์กร การเพิ่มรายได้ การลดค่าใช้จ่าย การกำจัดอิทธิพลทางการเมือง ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ รวมถึงการลดขนาดขององค์กรอย่างถูกต้องตามกฎหมายและด้วยความสมัครใจของพนักงาน ตามแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และไม่กระทบกับสภาพการจ้างของพนักงานบริษัทฯ
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยขอแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการแปรรูปบริษัทฯ ด้วยการแบ่งแยกหน่วยธุรกิจ ของบริษัทฯ ออกจากกัน และ/หรือ มีผลให้บริษัท การบินไทย ต้องพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากการบินไทย เป็นสายการบินแห่งชาติ และต้องเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น
หวยออกที่ “ไทยสไมล์” เมื่อสหภาพฯ ชงยุบ
นอกจากนี้ สหภาพฯ ยังได้เสนอแผนปรับปรุงการบินไทย โดยเสนอให้ยุบสายการบินไทยสมายล์ ที่การบินไทยถือหุ้น 100% ซึ่งทางสหภาพฯ ชี้ว่า การุยบสายการบินไทยสไมล์จะช่วยลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน อีกทั้งไทยสไมล์ยังเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่การบินไทยไม่มีความเชี่ยวชาญ ที่สำคัญไทยสไมล์ยังประสบภาพวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งแบรนด์การบินไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลกจึงถือเป็นจุดแข็งของการบินไทย การแยก “ไทยสไมล์” ออกมาแม้จะเป็นคนละประเภทธุรกิจแต่ก็ยังเกิดการ “กินกันเอง (Cannibalize)” หากการบินไทยบริหารจัดการให้ตั๋วโดยสารมีราคาถูกลง คาดว่าจะทำให้มีผู้พร้อมยอมจ่ายมากกว่าสายการบินต้นทุนต่ำเล็กน้อย เพื่อให้ได้รับบริการจากสายการบินไทยมากขึ้น
สหภาพฯ การบินไทยยังเสนอให้ขายหุ้นในบริษัทลูกของการบินไทยที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ และการขายหุ้นสายการบินนกแอร์ที่การบินไทยถืออยู่ 13% รวมถึงการลดตำแหน่งผู้บริหารที่ซ้ำซ้อนให้ลดน้อยลง และการซื้อเครื่องบินรุ่นเดียวกัน โดยที่ยังไม่ปลดระวางฝูงบินเก่าออกเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงดูแลรักษา
เรียกได้ว่าการปรับโครงสร้างการบินไทยควรไม่ใช่หนังตอนเดียวจบ แต่น่าจะเป็น Series ยาวนานระดับ Game of Throne ก็เป็นได้ นั่นเพราะการบินไทยนอกจากจะเป็นหน่วยงานที่ให้บริการเดินทางแล้ว ยังเป็นเสมือนหน้าตาของประเทศไทย และถือเป็นความภาคภูมิใจในการเป็นสายการบินแห่งชาติ ดังนั้นการบินไทยจึงไม่ใช่แค่รัฐวิสาหกิจที่สร้างรายได้ให้กับภาครัฐ การแก้ปัญหาเรื้อรังของการบินไทยที่มีความซับซ้อนมาก จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา