แม้สถานการณ์ COVID-19 จะเริ่มคลี่คลายบรรเทาลงในหลายประเทศ แต่ก็สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและเศรษฐกิจของหลายประเทศเช่นกัน ทั้งจากที่ได้ผลกระทบทางตรงจาก COVID-19 และผลกระทบทางอ้อม จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ถือเป็นความท้าทายของระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ในการแก้ปัญหาต่างๆ หลังสิ้นสุดวิกฤต COVID-19
ขณะที่สหรัฐอเมริกา (USA) กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุด ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดย นายริชาร์ด แคลริดา (Richard Clarida) รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เตือนว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจทำให้อัตราว่างงานในสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1940
เป็นผลมาจากการที่ชาวอเมริกันกว่า 30 ล้านคน ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานในช่วงหกสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่อัตราการว่างงานจะ “สูงขึ้น” ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มหดตัวอย่างรุนแรงในไตรมาส 2 ปีนี้ แต่มีโอกาสในการฟื้นตัวคาดว่าจะเริ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาด
โดย Fed กำลังใช้เครื่องมืออย่างเต็มรูปแบบเพื่อทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว ทั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและสินเชื่อฉุกเฉิน สอดรับกับแนวคิดก่อนหน้านี้ของ นายเจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ชี้ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
หนึ่งในแผนที่นายเจอโรมจะใช้คือ การลดอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้กับ 0% เพื่อชดเชยความเสียหายทางเศรษฐกิจจากวิกฤติ COVID-19 นอกจากนี้ยังเปิดตัวหลายโปรแกรมช่วยเหลือคิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเน้นไปที่การเสริมสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจ
สำหรับช่วงไตรมาสแรกเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวลง 4.8% ซึ่งเป็นอัตราที่หดตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินที่ผ่านมา นายเจอโรมยังชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะลดลงในอัตราที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งทั้งความรุนแรงของสถานการณ์และระยะเวลาของสถานการณ์มีความไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ได้เร็วเพียงใด