ถอดบทเรียนการฟื้นตัว “ประเทศจีน” หลัง COVID-19 สู่การเตรียมพร้อมของ “คนไทย – ธุรกิจไทย”

  • 157
  •  
  •  
  •  
  •  

china-thailand covid-19

ปัจจุบันประเทศจีน ได้เริ่มกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว หลังจากเผชิญกับมรสุมลูกใหญ่กับการแพร่กระจายไวรัส Corona 2019 หรือ COVID-19 ที่ทำให้รัฐบาลจีนต้องประกาศมาตรการ Lockdown ประเทศ นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ในเวลาต่อมาวิกฤตนี้ได้ขยายเป็นวงกว้างทั่วโลก

Ipsos บริษัทวิจัยระดับโลก ได้เปิดรายงานผลสำรวจ และวิจัย COVID-19 In China: The Road of Recovery ซึ่งจะชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ทั้งวิถีชีวิต – พฤติกรรมคนจีน และภาคธุรกิจ นับตั้งแต่ในขณะที่เกิดสถานการณ์วิกฤต จนถึงปัจจุบันที่อยู่ในขั้น Post COVID-19

เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังอยู่ในขั้นกำลังเกิดขึ้น (During) สำหรับใช้เป็นบทเรียนในการเตรียมความพร้อมภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประชากรในไทย ไปจนถึงภาคเอกชน

 

98% ของภาคธุรกิจในจีนเริ่มกลับมาทำงาน แต่พฤติกรรม – วิถีชีวิตผู้คนไม่เหมือนเดิม!

ประเทศจีน เริ่มต้น lockdown ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม และสิ้นสุดในวันที่ 8 เมษายน กินระยะเวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง ซึ่งปัจจุบันยาวกว่าเมืองไทย แต่ถ้าเมืองไทย lockdown เดือนพฤษภาคมจะมีระยะเวลาใกล้เคียงกับจีน

เพราะฉะนั้นจีนตอนนี้มีการเปิดประเทศแล้ว เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง ?

ปัจจุบันบริษัทจีนส่วนใหญ่กลับมาทำงานแล้ว อยู่ที่ประมาณ 98% ของบริษัทจีนกลับมาทำงานแล้ว

  • 98.6% บริษัทในประเทศ (Domestic Company) ของจีนกลับมาทำงาน

  • 98% บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กลับมาทำงาน

  • 76% ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางของจีน กลับมาทำงาน

โดยเริ่มจากเมือง tier 1 และต่อด้วย tier 2

China COVID-19

ถ้าเจาะลึกแต่ละอุตสาหกรรม การกลับมาทำงานแตกต่างกัน ดังนี้

  • 80% ของธุรกิจโรงแรมในจีนกลับมาทำงานแล้ว

  • 65% ของสถานที่ท่องเทียวกลับมาเปิดแล้ว

  • 85% ของธุรกิจ Catering กลับมา

  • 99% ของธุรกิจรีเทล กลับมาเปิดให้บริการแล้ว

  • 96% ของช้อปปิ้งมอลล์ กลับมาเปิดให้บริการ

China COVID-19

อย่างไรก็ตามพบว่า ถึงให้คนกลับมาทำงานแล้ว แต่ลักษณะของผู้บริโภคไม่เหมือนเดิม ดังจะเห็นได้จากสถานีรถไฟใต้ดินที่เซียงไฮ้ ปกติเป็นสถานีคนพลุกพล่าน แต่กลับพบว่าปัจจุบันมีคนเดินทางไม่ค่อยเยอะ หรือแม้แต่ทางเข้าโรงแรมต่างๆ ก็มีคนน้อย

ดังนั้น ถึงแม้จีนจะคลาย lockdown แล้ว แต่ผู้บริโภคยังไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอย หรือใช้ชีวิตในรูปแบบเดิม

China COVID-19

 

6 Stage สถานการณ์ COVID-19 จากจีน ถึงไทย

สเต็ปของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีน คือ

  • Stage 1 คนจะไม่ค่อยเชื่อว่าเป็นจริงหรือเปล่า  

  • Stage 2 พอรู้ว่าข่าวเริ่มจริง คนเริ่ม panic และเตรียมความพร้อมสต็อคของกินของใช้

ในประเทศจีนช่วงแรกข้อมูลข่าวสารยังคงสับสน กระทั่งในที่สุดแพทย์จีนคนหนึ่งได้ออกมาประกาศ ทำให้คนจีนเริ่มตระหนักต่อกาแพร่ระบาดของไวรัส และเริ่มสต็อคของกินของใช้

ต่อมาภาครัฐจีนได้ประกาศ lockdown ช่วงเวลานั้นพบว่า 98% ของคนจีน ตระหนักและเป็นกังวลต่อ COVID-19

China COVID-19

  • Stage 3 เริ่มปรับตัว และทำความเข้าใจว่าชีวิตเราน่าจะเป็นแบบนี้

  • Stage 4 ใช้ชีวิตเป็น routine กับสภาวะ lockdown

  • Stage 5 คนต้องอดทน และรู้สึกชินชา แต่เมื่ออยู่บ้านนานเกินไป คนจะเริ่มรู้สึกอึดอัด 

  • Stage 6 เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ และเริ่มคาดหวังว่าอนาคตจะกลับมาเป็นปกติได้

นี่คือ stage ที่ทางจีนผ่านมา และปัจจุบันประเทศไทยกำลังเป็นเช่นนั้น โดยอยู่ Stage 5 ที่เริ่มรู้สึกชินชา และอึดอัดกับสภาวะการณ์ที่เป็นอยู่

China COVID-19

 

COVID-19 ภาพสะท้อน “Digital Infrastructure” – “Digital Skill” ในจีนล้ำหน้า

ประเทศจีนมี Digital Infrastructure ที่พัฒนาไปไกล เช่น การรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงเวลา 10 – 20 ปีที่แล้ว เป็นการรับข่าวสารจากวิทยุ และทีวี แต่ปัจจุบันช่องทางการรับข่าวต่างๆ ของจีน ช่องทางหลักคือ WeChat เพราะสามมาถส่งข่าวได้เร็วกว่าทุกช่องทาง

ทำให้ภาพตรงนี้เปลี่ยนไปจากในอดีตที่เคยรับข่าวผ่านวิทยุ – ทีวี แต่ปัจจุบันรับข่าวผ่านทางโปรแกรมแชท โดยเฉพาะผ่าน WeChat

ในขณะที่กิจกรรมที่คนจีนทำในระหว่างถูกกักตัวที่บ้าน พบว่าส่วนใหญ่ยังคงเป็นกิจกรรมที่คุ้นเคย เช่น ดูหนัง ทำความสะอาดห้อง คุยเล่นกับเพื่อน

นอกจากนี้กิจกรรมที่เข้ามาเพิ่มมากขึ้นในช่วง lockdown คือ กิจกรรมบนออนไลน์ต่างๆ

  • ดูหนังออนไลน์ 

  • ดู Short Video และใช้ Video Streaming

  • ช้อปปิ้งออนไลน์

  • เกมออนไลน์

  • เรียนออนไลน์

  • ออกกำลังกายออนไลน์

ปัจจุบันคนมีการผสานกิจกรรมที่คุ้นเคยอยู่แล้ว เช่น ดูหนัง ออกกำลังกาย ฯลฯ ให้เข้ากับ “เทคโนโลยี” กลายเป็นกิจกรรมออนไลน์ในชีวิตประจำวันต่างๆ

China COVID-19

 

ถึงจะมี Digital Infrastructure ดีอย่างไร แต่เมื่อ Lockdown นาน ทำให้คนรู้สึกขาดอิสระ และเครียด!

ผลสำรวจพบว่า 64% ของคนจีนบอกว่า ในช่วง Lockdown ที่ทำให้เขาออกไปไหนไม่ได้ ทำให้รู้สึก “ขาดอิสระ”

โดยในช่วงแรกของการ Lockdown คนรู้สึกพอใจ เนื่องจาก

  • ทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น

  • อยู่บ้านทำให้มีเวลาเพิ่มขึ้นในการพัฒนาทักษะของตัวเองในด้านต่างๆ และมีงานอดิเรกใหม่ๆ เช่น ทำอาหาร

  • อยู่บ้านไม่ต้องแต่งตัว

China COVID-19

แต่พอนานวันเข้า เมื่อออกไปไหนไม่ได้เป็นเวลานาน คนจีนเริ่มรู้สึกเครียด เนื่องจาก

  • เมื่ออยู่กับครอบครัวมากขึ้น ทำให้คนจีนรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้อยู่กับครอบครัวตลอดเวลา ในขณะที่เด็กๆ ก็รู้สึกเครียด ออกไปวิ่งเล่นข้างนอกไม่ได้ ทำให้เกิดความเครียดในบ้านมากขึ้น ดังที่ปรากฏเป็นข่าวว่าอัตราการหย่าร้างในจีนเพิ่มขึ้นในช่วง Lockdown

  • แม้จะมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น แต่นานวันเริ่มรู้สึกเบื่อ และเกิดความเฉื่อยชา

  • จากที่สนุกกับกิจกรรมพัฒนาทักษะ และงานอดิเรกต่างๆ แต่นานวันเข้าเริ่มรู้สึกเบื่อ

  • จากที่มองว่าอยู่บ้านไม่ต้องแต่งตัว แต่นานวันเข้า อยากออกนอกบ้าน และอยากแต่งตัว

เพราะฉะนั้นจะเห็น Stage ของการเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกของคนเมื่อถูก Lockdown

 

China COVID-19

 

ไม่ใช่แค่ดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่คนจีนยังมองหา “ความสุขสงบ” ในชีวิตเพิ่มขึ้นด้วย

แน่นอนว่า COVID-19 ทำให้คนตระหนัก และกังวลการแพร่กระจายของไวรัส อันส่งผลให้คนหันมาให้ความสำคัญกับ “สุขภาพ” มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ทว่าในอีก Insights หนึ่งที่พบ คือ คนจีนนึกถึง “ความสงบสุข” ในชีวิต ครอบครัว สิ่งแวดล้อมมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้ ทำให้คนจีนหันกลับมามองตัวเอง หลังจากในช่วง 20 – 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีน – สังคมจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเร่งรีบสูงมาก

โดย 64% ของคนจีน มองว่า COVID-19 สร้างผลกระทบกับ Social Value

ดังนั้นสถานการณ์ COVID-19 ทำให้คนจีนหันกลับมามอง “ความสงบสุข” ในชีวิตตนเอง ครอบครัว สิ่งแวดล้อม/ธรรมชาติมากขึ้น  

China COVID-19

 

คนจีนมองมุมบวกเศรษฐกิจประเทศตัวเอง แต่รู้สึกกดด้านการทำงาน – การเงินส่วนตัว

คนจีนมี Positive outlook กับเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง โดยมองว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตในอัตราเดียวกับปี 2019

แตกต่างจาก Outlook ของประชาชนในประเทศต่างๆ เช่น ยุโรป ไม่ได้มี Outlook ทางเศรษฐกิจดีแบบจีน

แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ COVID-19 มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจก็ตาม แต่คนจีนยังคงมีความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจของประเทศตนเอง

China COVID-19

อย่างไรก็ตามถ้าในมิติ “ส่วนบุคคล” คนจีนมองว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้สร้างความกังวลต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานของตัวเขาเอง

  • 47% ของคนจีนบอกว่ามีความกดดันในด้านการทำงานมากขึ้น และกลัวว่าจะถูกลดเงินเดือน

  • 46% ของคนจีนมองว่ายากต่อการเติบโตในหน้าที่การงาน

  • 32% มองว่าจะหางานยากขึ้น 

  • 29% มองว่าจะมีการให้ออกจากงาน

จากความกังวลต่างๆ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนจีนที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย นั่นคือ

  • 42% ของคนจีน ยังคงใช้จ่ายปกติ เพราะต้องการ maintain ไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน

  • 41% ของคนจีนลดการใช้จ่าย และเก็บเงินมากขึ้น เพราะมองว่าอนาคตไม่แน่นอน

  • 17% ใช้จ่ายมากขึ้น เพราะต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น และคุณภาพชีวิตดีขึ้น

China COVID-19

 

สรุปภาพรวมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนจีน จากสถานการณ์ COVID-19

  • ทำกิจกรรมนอกบ้านน้อยลง

  • พฤติกรรมการบริโภคสื่อเปลี่ยนไป จากสื่อทีวี, หนังสือพิมพ์ มาติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านออนไลน์มากขึ้น

  • ใช้ชีวิตอยู่บนออนไลน์

  • เกิด Brand Switching คนจีนเปลี่ยนแบรนด์ในบางประเภทสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด คนจีนเปลี่ยนไปซื้อแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก เพราะมองว่ามีความน่าเชื่อถือมากกว่า กับอีกกลุ่มคือ เปลี่ยนไปซื้อแบรนด์ราคาถูกลง เพราะต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย

ในขณะที่ “ทัศนคติ” ก็มีการเปลี่ยนไปเช่นกัน

  • ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากขึ้น

  • ให้ความสำคัญกับ Social Value มากขึ้น

  • ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

  • ตระหนัก/กังวลเกี่ยวกับ Impact ส่วนบุคคล

China COVID-19

 

สำรวจผลกระทบทางธุรกิจจาก “COVID-19” ในจีน

จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิต และพฤติกรรมผู้บริโภคจีน คราวนี้มาดูกันที่ “ภาคธุรกิจ” ในประเทศจีน ซึ่งมีทั้งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และกลุ่มธุรกิจที่สถานการณ์ COVID-19 สร้างโอกาส มีการปรับตัวอย่างไร ?

5 กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก

  • “ธุรกิจ Catering” สูญเสียเงินไปประมาณ 500,000 ล้านหยวน

  • “ธุรกิจท่องเที่ยว และการขนส่งเดินทาง” สูญเสียเงินไปประมาณ 500,000 ล้านหยวน และคาดการณ์ว่าทั้งปีจะสูญเสียไม่ต่ำกว่า 1.6 – 1.8 ล้านล้านหยวน

  • “ธุรกิจบันเทิง” เช่น โรงภาพยนตร์ คาดการณ์ว่าจะสูญเงินมูลค่า 7,400 ล้านหยวนในช่วงวันหยุด

  • “ธุรกิจกีฬา” ได้รับผลกระทบจากการต้องปิดให้บริการชั่วคราว

  • “ธุรกิจรถยนต์” ในไตรมาส 1 ของปีนี้ยอดขายลดลง 42.4% และคาดการณ์ว่ากำลังซื้อในส่วนนี้ จะฟื้นตัวช้า

ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ไม่ต่างจากประเทศไทย แต่สำหรับประเทศจีน ผลกระทบเชิงมูลค่าเม็ดเงินมากกว่า

China COVID-19

 

จับตากลุ่มสินค้าที่เติบโตดีในช่วง COVID-19 และยังคงมี Demand หลังจากนี้

  • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน, หน้ากากอนามัย – ถุงมืออนามัย มีการซื้อเพิ่มสูงขึ้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังมีโอกาสเติบโตในอนาคต เนื่องจากต่อไปด้าน Healthcare อาจย้ายไปอยู่บนออนไลน์มากขึ้น เช่น สั่งยาทางออนไลน์

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านโภชนาการ และเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารที่สามารถเก็บไว้ด้านนาน ตอบโจทย์สถานการณ์ที่ต้องกักตัว, ผลิตภัณฑ์กาแฟ – ชาชงเอง และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ, ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการทำอาหารที่บ้าน, คอร์สเรียนทำอาหาร / ทำขนมปังที่บ้าน

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และดูแลส่วนบุคคล ในภาพรวมไม่ได้เติบโตดี เนื่องจากคนใช้จ่ายน้อยลง – แต่งตัวน้อยลง แต่พบว่ามีผลิตภัณฑ์ Skin Care และ Personal Care บางประเภทสินค้าที่เติบโตดี สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19 เช่น ผลิตภัณฑ์ย้อมสีผม เนื่องจากร้านทำผมปิดชั่วคราว ทำให้คนต้องทำสีผมเอง

China COVID-19

 

COVID-19 ตัวเร่งให้เกิด “Digital Economy” ในจีนเร็วขึ้น

ตัวอย่างของ 5 กลุ่มธุรกิจที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาผสาน

  • ฟิตเนสออนไลน์

  • การเรียนการสอนออนไลน์

  • ความบันเทิง และเกมออนไลน์

  • สร้างประสบการณ์ผ่าน Cloud Service เช่น ท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี Virtual, ดูบ้านตัวอย่าง / ขายบ้านผ่านออนไลน์

  • แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

China COVID-19

 

กรณีศึกษาองค์กร – แบรนด์จีนปรับตัว

– องค์กรในจีนทำ “CSR” อย่างหนักในช่วงวิกฤต ทำให้คนรู้สึกดีแบรนด์องค์กร – แบรนด์นั้นๆ เช่น Tech Company ระดับพันล้านหยวน ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Huawei, Xiaomi ทำ CSR ในรูปแบบต่างๆ ด้วยเม็ดเงินระดับร้อยหล้านหยวน ไปจนถึงพันล้านหยวน เช่น ผลิตเครื่องมือ-อุปกรณ์ทางการแพทย์, บริจาค

– แบรนด์จีนปรับตัวด้านการทำตลาดได้ดี เช่น Shede แบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของจีน ทำแคมเปญปาร์ตี้ออนไลน์ เพื่อแชร์โมเมนต์ในโลกออนไลน์ ทำให้คนรู้สึกว่าแบรนด์ยัง connect กับคน และอยู่ในชีวิตประจำวัน

Hema จับมือกับบริษัทที่ทำ Catering ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ลูกจ้างที่ไม่มีงานทำ ได้มีงานทำ

Galanz แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ทำ CSR กับพนักงาน คือ ในวันที่บริษัทกลับมาดำเนินธุรกิจอีก ได้ส่งเครื่องบินไปรับพนักงานจากหลากหลายจุดในจีน กลับมาทำงานให้

– ภาพยนตร์ Jiongma จากตอนแรกจะเอาเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ แต่ผลจาก COVID-19 ที่ต้อง lockdown ทำให้ในที่สุดตัดสินใจนำภาพยนตร์เรื่องนี้ มาให้คนจีนชมฟรีผ่านออนไลน์ในช่วงระหว่างกักตัว

China COVID-19

China COVID-19

อย่างไรก็ตามในช่วง COVID-19 แบรนด์ควรระมัดระวังการทำตลาด และการขายที่ไม่เป็นการซ้ำเติมความเจ็บปวดของผู้บริโภคที่ต้องเผชิญทั้งความเครียด ความกังวลด้านสถานการณ์ และเศรษฐกิจ

เช่นกรณีหม้อไฟรายใหญ่ของโลกอย่าง “Haidilao” ประกาศปรับขึ้นราคา 6% ทั่วประเทศ ปรากฏว่าสร้างความไม่พอใจให้กับผู้บริโภคจำนวนมาก จนในที่สุดต้องออกมาขอโทษต่อนโยบายขึ้นราคาดังกล่าว

ดังนั้นแบรนด์ ถ้าอยากเป็นที่จดจำ และได้ใจผู้บริโภค ควรเป็น “Good Brand” แต่ถ้าแบรนด์ที่ใช้จังหวะนี้เอาเปรียบผู้บริโภค จะเกิดกระแสรุนแรงตีกลับมา ส่งผลกระทบเสียหายต่อแบรนด์

China COVID-19

– การขยายธุรกิจใหม่ เช่น Shiseido จากบิวตี้แบรนด์ ขยายมาทำผลิตภัณฑ์สุขอนามัย เช่น ผลิตภัณฑ์ล้างมือ เจลแอลกอฮอล์ ซึ่งกลุ่มสินค้านี้เติบโตดีมาก

จึงมีการมองกันว่าถึงปัจจุบันสถานการณ์ COVID-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลายแล้ว กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการแตกแบรนด์ใหม่ดังกล่าว อาจเป็นธุรกิจในระยะยาวเลยก็ได้

China COVID-19

– สร้างโอกาสให้เกิดบริการใหม่ เช่น กลุ่มสินค้า High-tech Beauty คือ อุปกรณ์เทคโนโลยีความงามใช้ภายในบ้าน พบว่าในจีน และเกาหลีเติบโตมาก เพราะสถานการณ์ทำให้คนออกจากบ้านไม่ได้ ทำให้คนใช้มาใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีความงาม เพื่อดูแล-บำรุงผิวขณะอยู่บ้าน พร้อมทั้งแบรนด์ในกลุ่มนี้ใช้ KOLs ในการรีวิวสินค้า จนกลายเป็น Item ความงามที่ต้องมีติดไว้ที่บ้าน ในขณะที่เทรนด์ความสวยความงามของไทยจะตามประเทศกลุ่มนี้ จึงน่าจับตากลุ่มสินค้านี้ในจีน

บริการ Automatic เพิ่มขึ้น เช่น รถส่งของ Automatic จัดส่งสินค้าตามบ้าน

บริการทางการแพทย์ ไปอยู่บนออนไลน์มากขึ้น

“แบรนด์ลอรีอัล” เปิดตัว Marketing Campaign ใหม่ คือ ให้ทำสีผมที่บ้าน ผลปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างดี

แบรนด์ความงามหลายแบรนด์ เปลี่ยนจาก Offline ไปเป็น Online อย่างรวดเร็ว

 

China COVID-19

 

Post COVID-19” จะไม่ฟื้นตัวเร็วเหมือนเมื่อครั้ง SARS – เกิด “New Consumer” มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากก่อนเกิดวิกฤต

จากการวิเคราะห์ของ Ipsos มองประเด็นในสถานการณ์ “Post COVID-19” ดังนี้  

  • การกลับมาของเศรษฐกิจหลัง COVID-19 จะเป็นลักษณะ “Slow Recovery” คือ เศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเหมือนเมื่อครั้ง SARS

  • ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคจะพบว่า ถึงแม้ COVID-19 จะสิ้นสุดลงจะยังคงอยู่ แต่หลายพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจะยังคงอยู่ โดยไม่ได้เปลี่ยนกลับไปเหมือนเมื่อก่อนเกิดวิกฤต

ดังนั้น จะมีผู้บริโภคกลุ่มใหม่ หรือที่เรียกผู้บริโภคกลุ่มนี้ว่า “New Consumer” ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปชนิดที่ว่าแบรนด์ไม่เคยเจอมาก่อน

  • แบรนด์ที่มี React กับสถานการณ์ช่วง COVID-19 ในด้านดี เช่น ทำ CSR ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ หลังสิ้นสุดวิกฤตแล้ว ผู้บริโภคยังคงจดจำได้ และรู้สึกดีกับแบรนด์ ซึ่งจะสร้าง “โอกาส” ให้กับแบรนด์นั้นๆ ได้ต่อไปในอนาคต

  • แบรนด์จะมีการหยุดแคมเปญต่างๆ ไว้ชั่วคราวก่อน และระมัดระวังการส่งแมสเสจต่างๆ ไปยังผู้บริโภค

  • แบรนด์ต่างๆ จะให้ความสำคัญกับ Brand Value ของตัวเองมากขึ้น

  • เริ่มพิจารณา-ประเมินสิ่งที่ลูกค้าต้องการใหม่

  • นำสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาดูว่า ผลที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง และสร้าง Scenario เพื่อให้ธุรกิจ – แบรนด์สามารถเตรียมความพร้อมใน Scenario ต่างๆ ได้

  • ธุรกิจ – แบรนด์ต้องสร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภค และต้องรู้ความต้องการของผู้บริโภค

  • ธุรกิจ – แบรนด์ต้องมีนวัตกรรม และปรับตัวอย่างรวดเร็ว

  • ธุรกิจ – แบรนด์ต้องบาลานซ์กับสิ่งที่ผู้บริโภคยังคุ้นเคย กับสิ่งใหม่ เพราะบางอย่างใหม่มาก หรือ Innovative มากๆ ผู้บริโภคจะปฏิเสธการใช้สิ่งนั้น

China COVID-19

จากการถอดบทเรียนสถานการณ์ COVID-19 ในจีนครั้งนี้พบว่า ประเทศจีนมีความพร้อมด้าน Infrastructure  สามารถนำสิ่งเหล่านี้มาเรียนรู้ได้ แต่ยังไม่สามารถประยุกต์ให้กับประเทศไทย หรือประเทศอื่นได้ 100% เพราะมีบริบทที่แตกต่างกันหลายด้าน เช่น สังคม พฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ Infrastructure ฯลฯ 

แต่การถอดบทเรียน COVID-19 ประเทศจีนครั้งนี้ ถือเป็น Guideline ให้กับประเทศไทย และประเทศอื่นๆ หลังจากเปิดประเทศ หรือปลดล็อคแล้ว จะมีภาพไปในทิศทางไหนบ้าง เมื่อเทียบเคียงกับประเทศจีน


  • 157
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ