ปรากฎการณ์ Lockdown ทั่วโลก สอนอะไรเราเกี่ยวกับ Innovation?

  • 163
  •  
  •  
  •  
  •  

แน่นอนว่าปรากฎการณ์ Lockdown ทั่วโลก เป็นผลมาจากการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดไวรัส COVID-19 แต่ปรากฎการณ์ Lockdown ครั้งนี้ยังมีนัยยะมากกว่านั้น และที่สำคัญ มันสอนอะไรบางอย่างสำหรับคนทำธุรกิจเกี่ยวกับนวัตกรรมด้วย

วันนี้บังเอิญได้เข้าไปเจอหนังสือ “Innovation to the Core” ของ Peter Skarzynski กับ Rowan Gibson ซึ่งเป็นหนังสือที่คนที่ทำงานด้นนวัตกรรมต้องมีไว้ติดมือ โดยสองคนนี้ได้พูดถึง เลนส์ 4 แบบที่ใช้มองโลกและคิดค้นนวัตกรรม และหนึ่งในเลนส์ที่ว่าก็คือ “Discontinuities”

Discontinuities คืออะไร? เกี่ยวอะไรกับ Lockdown?

เพราะก่อนที่เราจะ Lockdown ขังตัวเองอยู่กับบ้านป้องกัน COVID-19 มันมีเทรนด์บางอย่างเกิดขึ้นก่อนหน้าอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น

  • เทรนด์ที่ผู้คนมีชั่วโมงในการทำงานมากกว่าแต่ก่อน
  • ครอบครัวแบบเดี่ยวมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
  • ผู้คนไม่ค่อยเร่งรีบแต่งงานเหมือนแต่ก่อน
  • ผู้คนจับจ่ายใช้สอยและใช้เวลาไปกับโลกออนไลน์มากขึ้น

เทรนด์พวกนี้ค่อนข้างชัดเจนในประเทศที่พัฒนาแล้ว คำถามคือ 4 เทรนด์ที่ว่าที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันสักเท่าไหร่นัก

แต่ว่านี่คือบทเรียนชิ้นสำคัญของคนทำธุรกิจ เพราะนวัตกรรมนั้นมาจากจุดตัดของเทรนด์ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน นั่นแหละคือ “Discontinuities” มันคือ “ทิศทางการมาของเทรนด์ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การแข่งขันธุรกิจหรือโครงสร้างของตัวอุตสาหกรรมจนเกิดโอกาสใหม่ๆ”

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการปลีกตัวทางสังคมหรือ Social Isolation โดยตอนนี้มี COVID-19 เป็นตัวเร่งจนเกิดปรากฎการณ์ Lockdown นั่นเอง

แล้ว Discontinuities ทำให้เกิดนวัตกรรมได้อย่างไร?

เรื่องนี้ทุกคนคงเริ่มได้ยินคำว่า New Normal กันมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นบริษัทยังต้องมีออฟฟิศอยู่หรือไม่?   การทำงานแบบ Work from Home จะมาแทนที่การทำงานในออฟฟิศทั้งหมดเลยหรือเปล่า? บางคนคิดไปถึงว่าบริษัทอาจไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเช่นตึก 100% เต็มเหมือนแต่ก่อนแล้ว เพราะบางวันก็ทำงานที่บ้านได้

พฤติกรรมผู้บริโภคช่วง Lockdown จาก COVID-19 ก็ยังมีการจับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิม (บางคนอาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำเพราะว่าง) เพียงแต่รูปแบบการจับจ่ายใช้สอย ย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น ตลาดการซื้อขายก็เปิดกันตาม Facebook จนกลายเป็น Brand Community อย่าง จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน คนที่ไม่เคยจ่ายเงินผ่านแอปฯก็หันมาโอนเงินผ่านแอปฯมากขึ้น ทำให้ Mobile Banking ของหลายๆธนาคารมีธุรกรรมมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอีก

นี่ยังไม่พูดถึงบริการ Video Conference อย่าง Microsoft Team, Zoom และ Google Hangout จน Facebook ตามเทรนด์หันมาพัฒนา Messenger Room อีก

พวกนี้คือนวัตกรรมทีเกิดจาก Social Isolation ที่เป็น Discontinuity ของเทรนด์ก่อนๆนั่นเอง

แล้วเราจะคาดการณ์สิ่งที่เรียกว่า Discontinuity ได้อย่างไร?

คำตอบคือต้องมาจาก “ประสบการณ์ส่วนตัว” ล้วนๆเลยครับ สิ่งที่เรียกว่า Discontinuity หรือเทรนด์ที่เกิดจากจุดตัดของเทรนด์ต่างๆที่หลากกลาย เราไม่สามารถหาอ่านได้จากบทความตามสื่อสังคมออนไลน์ ตามบล็อก ตามหนังสือพิมพ์ และจุดตัดที่ว่าก็ไม่ได้เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของตัวเราเองด้วย

แต่มันเกิดจากการที่เราเอาตัวเองไปอยู่ตรงเทรนด์ที่ตัดกัน และได้รับประสบการณ์จากเทรนด์ต่างๆไปพร้อมกัน เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งและเห็นโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ

เช่นบริการจับคู่เดทออนไลน์ มันคือโอกาสธุรกิจที่เกิดจากการการที่คนทำงานมากขึ้นจนไม่มีเวลาหาคู่และตัวเองก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงแบรนด์บริการต่างๆที่เพิ่งพูดถึงไป เช่น Zoom นั่นก็เกิดจากการที่เจ้าของธุรกิจ เจ้าของไอเดียได้สัมผัสเทรนด์หลายๆเทรนด์ที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แล้วเข้าใจและเห็นโอกาสบางอย่างจนพัฒนาบริการออกมาเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่เกิดขึ้นจากจุดตัดของเทรนด์ที่ว่าได้ กรณีของ Zoom หรือ Video Conference เจ้าอื่น ก็มาจากจุดตัดของเทรนด์ Work from Home ที่เห็นได้ชัดหลังเกิด Global Financial Crisis และเทรนด์ที่คนใช้เวลาออนไลน์มากขึ้นนั่นเอง

สรุปคือ ใครที่มองเห็นจุดตัดของเทรนด์ต่างๆที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน และสร้างสินค้าและบริการไว้ล่วงหน้าก่อน อาจจะเป็นผู้ชนะในเกมธุรกิจก็ได้ครับ

แหล่งอ้างอิงส่วนหนึ่งจาก “Innovation to the Core” โดย Peter Skarzynski กับ Rowan Gibson


  • 163
  •  
  •  
  •  
  •  
Sarunjade
แชร์มุมมองเกี่ยวกับ Digital Marketing, Digital Business และ Technology เท่าที่รู้ สามารถติชมหรืออยากให้เจาะลึกเรื่องไหนเป็นพิเศษ ส่งเมลมาเลยที่ contact@oopsnetwork.co.th