ทุกวันนี้บนแพลตฟอร์ม Facebook เต็มไปด้วย Page มากมาย จะพบว่าลูกเพจ หรือคนที่มากด Like เพจ มีทั้งคนที่เป็น Target และไม่ใช่ Target แต่ไม่ใช่การสื่อสารสองทางอย่างเต็มรูปแบบ เพราะคอนเทนต์ที่ปรากฏบนเพจ มาผ่านเจ้าของเพจ หรือแอดมินเป็นผู้โพสต์ ในขณะที่ลูกเพจ หากมีความสนใจต่อคอนเทนต์ที่โพสต์ลงไปนั้น อาจมีปฏิกิริยาตอบกลับด้วยการกด Like, Share หรือ Comment
อย่างไรก็ตามหนึ่งในเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาได้สักพักแล้ว และนับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้น คือ การสร้าง “Community” หรือการสร้างชุมชนออนไลน์ เนื่องจากเป็นการสื่อสารแบบสองทางเต็มรูปแบบ และตอบโจทย์ทั้งประสิทธิภาพ – ประสิทธิผลได้เป็นอย่างดี
เพราะสมาชิกที่อยู่ใน Community คือ กลุ่มเป้าหมายที่มีความชื่นชอบ สนใจ หรือหลงใหลในสิ่งเดียวกัน นั่นหมายความว่าเรื่องราว หรือคอนเทนต์ที่อยู่ใน Community นี้จะเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างคนในกรุ๊ปนั้นๆ ไม่จำกัดเฉพาะแอดมิน และในขณะเดียวกันเกิดบทสนทนา และความร่วมมือระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง
จากในสถานการณ์ COVID-19 ยิ่งทำให้เห็นปรากฏการณ์การเพิ่มขึ้นของ “Facebook Group” จำนวนมาก เช่น กรุ๊ปเรียนออนไลน์, กรุ๊ปมาร์เก็ตเพลสต่างๆ ที่เปิดให้โพสต์ฝากร้าน, กรุ๊ปพ่อแม่ผู้ปกครอง แชร์การดูแลลูกในสถานการณ์ช่วงนี้

คนไทย 45 ล้านคนเป็นสมาชิก Facebook Group กว่า 6 ล้านกลุ่ม
ดังที่ปรากฏกันบน Social Media ว่าในสถานการณ์ COVID-19 ที่สถานที่ต่างต้องปิดชั่วคราว และคนต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ด้วยการหยุดอยู่บ้าน ทำให้คนหันมาใช้ “Facebook Group” ในการเชื่อมต่อระหว่างกันมากขึ้น นี่จึงเป็นภาพสะท้อนว่าชุมชนของ Facebook เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น
-
ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีผู้คนจำนวนกว่า 650 ล้านคนที่เป็นสมาชิก และได้มีส่วนร่วมในกลุ่มบน Facebook อย่างต่อเนื่อง
-
ในประเทศไทยพบว่า เดือนมีนาคมมีผู้คนมากกว่า 45 ล้านคนในไทยที่เป็นสมาชิกของกลุ่มบน Facebook กว่า 6 ล้านกลุ่มที่มีกิจกรรมและการเชื่อมต่ออย่างต่อเนื่อง
-
ใน Facebook Group มีกลุ่มต่างๆ หลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มการเลี้ยงลูก ไปจนถึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ กลุ่มด้านเทคโนโลยีคราวด์ซอร์สซิ่ง (crowdsourcing) กลุ่มด้านการศึกษา และอื่นๆ อีกมากมาย
“Facebook Group” ต่างจาก “Facebook Page” อย่างไร
-
“Facebook Page” ออกแบบมาเพื่อให้บุคคล ธุรกิจ องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ได้แสดงคอนเทนต์ของตนเองที่ต้องการสื่อสารไปสู่สาธารณะ
ขณะที่ “Facebook Group” ถูกสร้างขึ้นมาเป็นพื้นที่เล็กๆ ของผู้คนที่มีความชอบ มี Passion หรือความหลงใหล สนใจในสิ่งเดียวกันเข้ามาร่วมกลุ่ม เพื่อพูดคุย – แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องที่สนใจร่วมกัน
-
“Facebook Page” คนโพสต์คือ เจ้าของเพจ หรือแอดมิน
ขณะที่ “Facebook Group” เปิดให้สมาชิกโพสต์เนื้อหา หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับแนวทางของกรุ๊ปนั้นๆ ได้ โดยมีแอดมิน หรือผู้ตั้งกรุ๊ปเป็นคนบริหารจัดการความเรียบร้อยของ Community นั้นๆ
คุณเกรซ แคลปแฮม หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรและโครงการเพื่อชุมชนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค Facebook เล่าว่า “ในช่วงเวลาเช่นนี้ การเชื่อมต่อผ่านชุมชนเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อผู้คนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผู้คนเข้ามาใช้งาน Facebook เพื่อสนับสนุน ค้นหาและแชร์ข้อมูล และเชื่อมต่อกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาวิกฤต การจัดงานในวันนี้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของความมุ่งมั่นของเราในการเชื่อมต่อผู้คนและทำให้แน่ใจว่าผู้นำชุมชน รวมถึงแอดมินกลุ่มและเพจ จะได้รับการสนับสนุนและทรัพยากรที่พวกเขาต้องการเพื่อจัดการชุมชนที่สร้างการมีส่วนร่วมและการเชื่อมต่อ”
คู่มือ และเทคนิคสร้าง Facebook Group ให้เติบโต
เริ่มต้นสร้างชุมชน
1. วัตถุประสงค์ของ Community ต้องชัดเจน
ก่อนจะตั้ง Community บน Facebook Group สิ่งสำคัญอย่างแรก คือ ต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าเป็น Community อะไร และตั้งขึ้นเพื่ออะไร
เพราะเป็นการดึงคนที่ชอบ หรือสนใจในเรื่องเดียวกันเข้ามาเป็นสมาชิก และจะเป็นแนวทางต่อไปสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์คอนเทนต์ ที่มาจากผู้นำชุมชนเอง และสมาชิกกลุ่ม รวมถึงต่อยอดไปสู่กิจกรรมออฟไลน์ในอนาคต
2. ตั้งชื่อกลุ่มที่ให้ความรู้สึกเข้มแข็ง พร้อมคำอธิบายเพื่อสื่อความหมาย
สร้างสรรค์ชื่อพร้อมคำอธิบายที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและวัตถุประสงค์ของชุมชนที่ชัดเจน พิจารณาถึงคนที่เกี่ยวข้อง ตลอดถึงบริบทต่างๆ เพื่อนำมาตั้งชื่อกลุ่มหรือเพจให้เหมาะสมที่สุด และอย่าลืมใส่ชื่อกลุ่มสำหรับ URL บน Facebook โดยไปที่ “การตั้งค่ากลุ่ม”
3. เชิญชวนคนรู้จักมาเข้าร่วม
เริ่มต้นโดยการเชิญชวนเพื่อนๆ และครอบครัวของมาเข้าร่วม และให้คนเหล่านี้ช่วยเชิญคนในวงกว้างขึ้น อย่าลืมเชิญสมาชิกที่คิดว่าพวกเขาอยากมีส่วนร่วมในกลุ่มของคุณ และคัดเลือกกลุ่มคนที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน
หรืออาจจะสนใจติดตามข่าวสารจากกลุ่มของคุณ พยายามสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองเพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่ๆ ให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับสมาชิกคนอื่นๆ
4. เพิ่มรูปภาพต่างๆ เพื่อสะท้อนถึงตัวตนของกลุ่ม
ภาพหน้าปกของกลุ่มหรือเพจสามารถสะท้อนเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนได้ และยังช่วยดึงความสนใจจากสมาชิกใหม่ๆ อีกด้วย คุณยังเลือกปักหมุดเนื้อหาสำคัญไว้ด้านบนของหน้าฟีด เช่น ข้อความต้อนรับ กฎระเบียบสำหรับสมาชิก แหล่งข้อมูลและเนื้อหาสำคัญอื่นๆ ที่น่าสนใจเพื่อให้สมาชิกในกลุ่มเข้าถึงได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
5. สร้างวัฒนธรรมของกลุ่ม
เนื่องจากสมาชิกใน Facebook Group ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่เพราะมีความเชื่อ หรือความสนใจ ความชื่นชอบต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนกัน จึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก
ดังนั้นการทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่ว่าจะจำนวนหลักสิบ หลักร้อย หลักพัน ไปจนถึงหลักแสน อยู่ร่วมกันได้ คือ ผู้นำ Facebook Group นั้นต้องสร้างวัฒนธรรมของ Community ให้แข็งแรง เช่น ตั้งกฎกติกาหรือตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมเป็นสมาชิก
การบริหารจัดการและสร้างชุมชนให้เติบโต
6. การโพสต์เนื้อหา
บรรดาผู้นำชุมชนต่างแนะนำว่าการสร้างปฏิสัมพันธ์ช่วงเริ่มต้นเป็นสิ่งสำคัญ สมาชิกหลายๆ คนอาจไม่ทราบว่าควรมีส่วนร่วมในชุมชนนั้นอย่างไร จึงควรเริ่มด้วยการแสดงให้เห็นถึงตัวอย่าง นำเสนอคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สมาชิกคาดเดาได้ว่าจะมีโพสต์ใหม่มาทุกๆ สัปดาห์ เป็นต้น
พร้อมทั้งสนับสนุนให้พวกเขาโต้ตอบกับคอนเทนต์เหล่านั้น เช่น โพสต์เนื้อหาด้าน “การช่วยเหลือชุมชน” เพื่อให้สมาชิกบอกต่อถึงสิ่งที่พวกเขามองหาในชุมชนนั้น
เคล็ดลับเพิ่มเติม: การถามคำถามเป็นอีกกลยุทธ์ที่ช่วยให้คุณเกิดไอเดียใหม่ๆ ได้ เลือกใช้คำถามที่จุดประกายความคิดและบทสนทนา เช่น “เล่าให้ฟังหน่อยว่าสัปดาห์นี้มีอะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นบ้าง” ลองใช้โพล หรือการถ่ายทอดสดเพื่อเชื่อมต่อกับสมาชิกของคุณและถามความเห็นพวกเขาว่าจะสามารถพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีไหนบ้าง
7. ตั้งกฎระเบียบสำหรับชุมชน
ผู้นำชุมชนสามารถตั้งกฎระเบียบต่างๆ สำหรับกลุ่มได้ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาประเภทไหนที่คุณสนับสนุน ตลอดถึงข้อห้ามต่างๆ และยังสามารถเลือกคัดกรองสมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มได้ผ่านการตอบแบบสอบถาม เพียงเท่านี้คุณก็สามารถประเมินและคัดเลือกสมาชิกใหม่ที่มีคุณลักษณะตรงกับสิ่งที่ชุมชนของคุณต้องการ
ช่วยให้สมาชิกในกลุ่มใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในช่วงสถานการณ์ COVID-19
ในช่วงเวลานี้ หลายๆ คนอาจรู้สึกโดดเดี่ยวและกำลังมองหาชุมชนที่ช่วยให้พวกเขาเท่าทันเหตุการณ์และเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ได้ Facebook มีเครื่องมือมากมายที่ช่วยให้ชุมชนออนไลน์เข้าถึงข้อมูลและข้อแนะนำด้านการเชื่อมต่อสื่อสารกันในช่วงเวลาของความไม่แน่นอนและผู้คนต่างต้องการกำลังใจจากกันและกัน
8. รักษาบรรยากาศการสนทนาในเชิงบวก และบอกต่อข้อมูลที่ถูกต้อง
ทุกคนสามารถช่วยลดการแพร่กระจายของข่าวปลอมได้โดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ที่เชื่อถือได้เท่านั้น เช่น จากเว็บไซต์กรมควบคุมโรคหรือองค์การอนามัยโลก เป็นต้น เลือกตั้งค่าอนุมัติโพสต์ต่างๆ เพื่อคัดกรองเนื้อหา ตั้งค่าการแจ้งเตือนคำสำคัญเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ปรากฏในความคิดเห็น และเลือกลบโพสต์ที่มีเนื้อหาด้านสุขภาพจากแหล่งข้อมูลที่ไม่ได้รับการรับรอง
9. มีทัศนคติเชิงบวก
ไตร่ตรองถึงความสำคัญของน้ำเสียงต่างๆ และวัตถุประสงค์หลักของชุมชน เลือกใช้ข้อความที่สดใส มีเนื้อหาในเชิงบวก ประกอบด้วยอารมณ์ขันและแสดงการสนับสนุนโพสต์ต่างๆ ที่สร้างบรรยากาศที่ดี เพื่อช่วยให้ชุมชนเชื่อมต่อถึงกัน คำนึงถึงสุขภาพจิตที่ดีของสมาชิกในชุมชนก่อนเสมอ ถ้าหากพบสมาชิกคนใดที่สร้างความแตกแยก คุณสามารถเลือกปิดการแจ้งเตือน ลบหรือบล็อกสมาชิกนั้นจากกลุ่มได้
10. จัดตารางกิจกรรม และปาร์ตี้รับชม
นำเสนอกิจกรรมที่ให้สมาชิกได้เห็นหน้ากัน ซึ่งจะช่วยให้พวกเขารู้สึกเชื่อมต่อถึงกันบนโลกออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น แอดมินบางคนเลือกจัดกิจกรรมเต้น สอนออกกำลังกาย หรือเชิญชวนให้สมาชิกมาร่วมรับฟังอัพเดทใหม่ๆ ร่วมกัน บางกลุ่มยังได้เชิญชวนผู้เชี่ยวชาญมาร่วมตอบคำถามที่แต่ละชุมชนสนใจอีกด้วย
เคล็ดลับเพิ่มเติม: สามารถจัดตารางการเล่นเพลง วิดีโอนำออกกำลังกาย หรือภาพยนตร์ต่างๆ ได้ผ่าน ปาร์ตี้รับชม (Watch Party) เพื่อจุดประกายบทสทนาที่น่าสนใจในแต่ละวันร่วมกัน
เคล็ดลับเพิ่มเติม: เลือกใช้เครื่องมือ Events (กิจกรรม) เพื่อจัดสรรเวลาและสถานที่ต่างๆ สำหรับกิจกรรมออนไลน์ โดยสมาชิกสามารถตอบรับ เข้าถึงการแจ้งเตือนและอัปเดตล่าสุดต่างๆ อย่าลืมต้อนรับสมาชิกใหม่และสนับสนุนให้พวกเขาได้มีส่วนรวมผ่านการแบ่งปันเรื่องราวหรือถามคำถาม
กรณีศึกษา Facebook Group ของไทย
“กลุ่ม Run2gether (วิ่งด้วยกัน)”
Facebook Group “กลุ่ม Run2gether (วิ่งด้วยกัน)” ก่อตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์คือ ส่งเสริมการออกำลังกาย และเป็นช่องทางการสื่อสาร – เชื่อมโยงระหว่างผู้พิการ และคนไม่พิการในการจัดกิจกรรมวิ่งที่สมาชิกคือ ผู้บกพร่องทางการมองเห็น และอาสาสมัครที่มาเป็น Guide Runner
ผลจากการสร้าง Facebook Group สามารถช่วยขยายการดำเนินงานของชุมชนจาก 4 พื้นที่ เป็น 10 พื้นที่ ส่งผลให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มได้มีการจัดมหกรรมงานวิ่งในกรุงเทพฯ และมีชุมชนชาวต่างชาติเข้าร่วม มีการจัดกิจกรรมออกกำลังกายออนไลน์ให้กับนักวิ่งผู้พิการ
ณ ปัจจุบันกลุ่มวิ่งด้วยกันมีการจัดกิจกรรมวิ่งที่นำนักวิ่งมารวมตัวกันแล้วมากกว่า 2,000 ชีวิต และขยายเครือข่ายไปอีก 6 จังหวัด เข้าถึงนักวิ่งอาสาหรือ Guide Runner อีก 3,000 คนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการอยู่ร่วมกันของผู้พิการและไม่พิการในวงการวิ่งมากยิ่งขึ้น
“การรวมเป็นหนึ่งของชุมชนของเราและเป้าหมายที่เรามีร่วมกันคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ชุมชนของเราสามารถเติบโตและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว เราได้ขยายเครือข่ายของชุมชนวิ่งด้วยกัน ไปยังพื้นที่ในต่างจังหวัดผ่านการจัดอีเวนต์ต่างๆ แต่เรายังคงมีความมุ่งมั่นร่วมกันในการสร้างพื้นที่ที่สนับสนุนการอยู่ร่วมกันของผู้พิการและไม่พิการ เพื่อสนับสนุนการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา” คุณฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้นำชุมชนกรุ๊ป Run2gether เล่าถึงการสร้าง Community

“กลุ่ม Thailand Restaurant Rescue :: ช่วยร้านอาหารไทยต้านภัย COVID-19”
วัตถุประสงค์ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือร้านอาหาร และผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบากในสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ จนต้องขายอาหาร เพื่อสร้างรายได้
คุณโชติวัน วัฒนลาภ แอดมินกลุ่ม Thailand Restaurant Rescue :: ช่วยร้านอาหารไทยต้านภัย COVID-19 เล่าว่า “ในช่วงเวลาที่ผู้คนต่างต้องรักษาระยะห่างทางสังคม และหลายภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปิดทำการ ช่องทางออนไลน์อย่าง Facebook ได้มอบพื้นที่ที่ทำให้ชุมชนของเรายังคงเชื่อมต่อได้
ความสามารถในการสร้างการมีส่วนร่วม และการสนับสนุนซึ่งกันและกันผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและทำให้เรามองเห็นความหวังจากชาวไทยด้วยกัน”

“Read for the Blind” – “Help Us Read” สนับสนุนผู้บกพร่องการมองเห็น เข้าถึงหนังสือ
คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ และ คุณชลทิพย์ ยิ้มย่อง ผู้ร่วมก่อตั้งชุมชน Read for the Blind และแอดมินกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ (Help Us Read) อธิบายว่า Facebook ได้ช่วยเหลือพวกเขาตั้งแต่วันแรกในการสร้างความเป็นชุมชนและการสนับสนุนกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นในประเทศ
ในปัจจุบันมีผู้ติดตามเพจ Read for the Blind จำนวนกว่า 190,000 คน และมีสมาชิกกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะอีกกว่า 19,000 คน โดยทั้งสองชุมชนได้รับประโยชน์จากเครื่องมือเพื่อสร้างการเข้าถึงของ Facebook นอกจากนี้ chatbot บน Messenger ของ Read for the Blind ยังช่วยให้ชุมชนสามารถเชื่อมต่อกับอาสาสมัครได้มากขึ้นอีกด้วย
คุณณัฐวุฒิ และคุณชลทิพย์ ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของผู้นำและสมาชิกในการสร้างบทสนทนาอย่างเป็นประจำและให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนเกี่ยวกับความมุ่งมั่นร่วมกันของกลุ่มแก่สมาชิกทุกคน ซึ่งรวมถึงการแจ้งกฎในการใช้งานของกลุ่มอย่างเป็นประจำ และสนับสนุนโพสต์เชิงบวกและเป็นตัวอย่างที่ดีจากสมาชิกของกลุ่ม