COVID-19 ถือเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของทุกคน และส่งผลต่อธุรกิจโดยภาพรวม และหากสถานการณ์การระบาดยังคงยืดเยื้อหรืออาจจะยืดเยื้อต่อไป คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ธุรกิจต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง คนที่เตรียมความพร้อมไว้ย่อมได้เปรียบกว่า แต่ใช่ว่าคนที่เตรียมความพร้อมแล้วจะปลอดภัยจากผลกระทบ
สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) จึงได้แนะนำการ Check List เพื่อเตรียมความพร้อม เปรียบเสมือนวัคซีนเสริมภูมิต้านทานให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ซึ่งทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไป ทั้งการออกจากบ้านน้อยลง การจำกัดการท่องเที่ยว ล้วนเป็นผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก
สร้างพื้นที่ยืนบนโลกออนไลน์ให้ลูกค้าหาเจอง่าย
สมาคมการตลาดฯ ได้เสนอข้อแนะนำเพื่อการปรับตัวในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เพื่อให้ธุรกิจได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อันดับแรก Be Visible with Clarity สร้างตัวตนของธุรกิจในโลกออนไลน์ การออกจากบ้านน้อยลงไม่ได้เป็นอุปสรรคในการจับจ่ายใช้สอย เพราะอย่างไรก็ตามหลายคนยังต้องกินต้องใช้ ้แค่เปลี่ยนรูปแบบจากการใช้ชีวิตออกนอกบ้าน ไปเป็นการใช้ชีวิตบนโลกออกไลน์
ดังนั้น ผู้ประกอบการตั้งแต่ร้านอาหารริมถนน ร้านข้าวราดแกง ร้านขายของชำ ร้านลูกชิ้นหมูปิ้งหรือบริการอื่นๆ ผู้คนจะตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการที่อยู๋ใกล้เคียงที่พักเพื่อไม่ต้องเดินทางไกล การใช้เทคโนโลยี Location Based Marketing อย่าง Google My Business จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมาก เวลามีการค้นหาสินค้าและบริการที่อยู๋ใกล้บ้าน การสร้างตัวตนในโลกออนไลน์จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
ขณะที่นิยามของธุรกิจใน Google My Business ก็เป็นสิ่งสำคัญมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องความชัดเจน (Clarity) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิยามของธุรกิจที่ต้องสั้น กระชับและแตกต่าง ชื่อร้านที่น่าดึงดูดใจ เช่น ป้าน้อยตามสั่ง ไม่น่าดึงดูดใจเท่า ป้าน้อยตามสั่ง ผัดกระเพราแท้รสเลิศ หรือหากเป็นสินค้าเฉพาะทางต้องระบุให้ชัดเจน เช่น Floraison ร้านดอกไม้สไตล์อังกฤษ เป็นต้น
ความชัดเจนจะช่วยให้สามารถค้าหาพบง่าย เพื่มความชัดเจนยิ่งขึ้นควรโพสต์รูปภาพประกอบและข้อเสนอลงในข้อมูลธุรกิจด้วย เพื่อให้เห็นว่าโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร นอกจากนี้ควรมีการเชิญชวนให้ลูกค้าเขียนรีวิวเพราะจะเป็นการนำเสนอสินค้าและบริการในมุมมองของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ระบบ AI ของ Google นำข้อมูลเหล่านั้นไปอยู๋ในผลการค้นหาอันดับต้นๆ
ละทิ้งรูปแบบเดิม ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่อย่างเต็มตัว
อันดับต่อมา Shift Mindset & Change Platform ทลายกับดักทางธุรกิจ หรือเข้าใจง่ายๆ อย่ายึดติดกับแนวคิดเดิมๆ แม้ที่ผ่านมาจะเคยฟันฝ่าธุรกิจจนผ่านพ้นมาได้ จำเป็นต้องก้าวออกจากกรอบความคิดเดิมๆ และสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการขาย โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่ต้องเชื่อมผสานกับช่องทางเดิมที่มีอยู่ในรูปของ Omni Channel
การเข้าถึงลูกค้าผ่านหลากหลายช่องทางเพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะช่องทาง Online Platform อย่าง LAZADA, Shopee, Facebook, LINE OA เป็นต้น สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวกับการจัดงานและการท่องเที่ยว หากยังไม่เคยใช้บริการ Online Platform เหล่านี้ ให้ถือโอกาสช่วงนี้ในการเริ่มเรียนรู็และลองใช้เพื่อเพิ่มโอกาสผ่านช่องทางใหม่
เมื่อลูกค้าไม่เข้ามา ก็ได้เวลาที่ต้องออกไปหาถึงที่บ้าน
นอกจากนี้ Reframe Your Business รีบปรับเพื่อสอดรับกับสถานการณ์ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่ช่องทางการขายเท่านั้นที่ควรปรับปลี่ยน แต่อาจหมายถึงการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ Business Model เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการที่ผู้คนไม่ออกจากบ้าน หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน ซึ่งธุรกิจอาจต้องคิดมุมกลับ เมื่อลูกค้าไม่ออกมาหาก็ต้องเดินออกไปหาลูกค้าถึงที่บ้าน
ร้านอาหารหลายร้านจึงเริ่มให้บริการ Food Delivery มากขึ้น รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบเป็น Chef Table หรือไปทำอาหารให้ถึงที่บ้าน ธุรกิจ Catering ที่เคยส่งอาหารให้กับงาน Event ใหญ่ๆ อาจลองปรับมาเป็นการทำอาหารปิ่นโตตามสำนักงาน ร้านค้าหรืออาจส่งตรงถึงบ้านแบบ Home service ขณะที่ธุรกิจ Hostel หรือโรงแรมขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบ อาจลองเปลี่ยนมาเป็น Private Gathering แหล่งสังสรรค์ของกลุ่มเพื่อน หรือเป็นจัดพื้นที่จัดเลี้ยงส่วนตัวที่มีทั้งอาหารและที่พักในตัว
ไม่ว่าธุรกิจจะปรับเปลี่ยนเช่นใด ธุรกิจต้องใส่ใจในเรื่องของความปลอดภัยเป็นอันดับแรกในช่วงวิกฤต COVID-19 มาตรการรักษาความสะอาดถือเป็นสิ่งสำคัญ พนักงานที่ให้บริการต้องมีการตรวจไข้ตรวจเชื้ออย่างเป็นทางการ รวมถึงมาตรการทำความสะอาดในทุกระดับ ตั้งแต่การทำความสะอาดอุปกรณ์ พื้นที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ด้วยความถี่เสมอต้นเสมอปลาย
สำหรับธุรกิจอาหารควรให้ความสำคัญกับมาตรการ Social Distance ด้วยการเว้นช่องว่างระหว่างโต๊ะอาหาร นอกจากนี้ธุรกิจควรต้องสื่อสาร รวมถึงการทำความเข้าใจและให้ความรู้กับลูกค้าทราบเพื่อเพิ่มความมั่นใจ ที่สำคัญควรแนะนำการดแูลรักษาตัวเอง เพื่อสร้างความประทับใจและแสดงถึงความห่วงใยในตัวลูกค้าด้วย
สื่อสารเพื่อให้รับรู้ว่ายังอยู่เคียงข้างกันเสมอ
อันดับสุดท้าย Communicate & Connect ทุกความสัมพันธ์คือการสื่อสาร หากธุรกิจเริ่มเข้าสู่แพลตฟอร์มใหม่ๆ ผู้ประกอบการควรสื่อสารให้ลูกค้าทราบ อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการสื่อสารโดยใช้ Social Platform ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, IG หรือ LINE สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กที่เพิ่งเริ่มขายออนไลน์ อาจสร้างฐานลูกค้าออนไลน์ได้ง่ายๆ ผ่าน Facebook Fan Page
เพื่อให้ธุรกิจเป้นที่รู้จักมากขึ้น อาจจำเป็นต้องใช้ช่องทางส่วนตัว Personal Network ให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้เกิดการบอกต่อ (Word of Mouth) แล้วแชร์ลงไปในหนา้เพจของตัวเอง โดยขอให้เพื่อนๆ ช่วยแชร์ ให้ลูกค้าเก่าที่สนิทกันช่วยแชร์ รวมถึงการสร้างโปรโมชั่นอย่าง Deal พิเศษเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแชร์ โดยเวลาโพสต์เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการให้ยึดหลัก “ให้ภาพเป็นตัวนำ เพิ่มคำอธิบายที่สั้นและตรงประเด็น อย่าลืมเน้นโยงไปช่องทางการขาย และให้รายละเอียดที่จำเป็นให้ครบ จบในโพสต์เดียวแบบไม่เยิ่นเย้อ”
เนื่องจากพฤติกรรมการไม่ชอบอ่านเยอะ แต่ต้องการข้อมูลครบ ผู้ประกอบการจึงต้องทุ่มเวลาให้กับการตอบรับการตอบคำถามของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและนำไปสู่ยอดขายในอนาคต สำหรับแบรนด์ที่มีการขายออนไลน์หรือมีแฟนเพจอยู๋แล้ว ควรใช้เวลาในช่วงวิกฤตินี้พัฒนาปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าและทำให้แบรนด์ยังคง Active อยู่ตลอดเวลา หรือพัฒนาดีลพิเศษเพื่อกระตุ้นใหู้กค้าจดจำและอยู่เป็นลูกค้าไปอย่างต่อเนื่อง ไมว่าจะเป็นการสร้างระบบสมาชิก การจัด Pre-Sale Deal เป็นต้น
ทั้ง 4 ข้อแนะนำนี้ ถือเป็นการ Check List ขั้นพื้นฐานของธุรกิจ หากธุรกิจใดที่ยังไม่ได้เริ่มทำใน 4 ข้อนี้ ควรเริ่มพิจารณาข้อแนะนำ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบการต้องจำไว้ว่า ไม่ว่าโลกใบนี้จะเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายรุนแรงขนาดไหน ทุกคนยังต้องกินต้องใช้ แต่ธุรกิจได้นำเสนอในสิ่งที่ทุกคนต้องการหรือไม่ และธุรกิจมีจุดเด่นมากพอหรือยังที่จะสร้างความแตกต่าง
“ลงมือทำเดี๋ยวนี้ เปลี่ยนวิกฤตและข้อจำกัดให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ ทำก่อนชนะก่อนแน่นอน”
Source: สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT)