จบกันไปแล้วสำหรับการประมูล 5G ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 โดยใช้ระยะเวลาในการประมูลทั้ง 3 คลื่นความถี่ประมาณ 6 ชั่วโมง กับผู้เข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 5 ราย ประกอบไปด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ตัวแทนจาก AIS, บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ตัวแทนจาก TRUE, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ตัวแทนจาก DTAC, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT
โดยการประมูล 5G ครั้งนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. (NBTC) ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ทั้งสิ้น 4 คลื่นความถี่ ประกอบไปด้วย คลื่นความถี่ 700MHz, คลื่นความถี่ 1800MHz, คลื่นความถี่ 2600MHz และคลื่นความถี่ 26GHz (26000MHz) โดยมีผู้แสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมประมูลทั้งคลื่นความถี่ 700MHz, คลื่นความถี่ 2600MHz และคลื่นความถี่ 26GHz ยกเว้นคลื่นความถี่ 1800MHz ที่ “ไม่มี” ผู้ใดแสดงเจตจำนงในการขอเข้าร่วมประมูล
บทสรุปผลการประมูล AIS ถือครองคลื่นมากที่สุด
การประมูลเริ่มต้นที่การประมูลคลื่นความถี่ 700MHz เป็นอันดับแรก โดยมีผู้เข้าร่วมประมูลจำนวน 3 ราย ประกอบไปด้วย AIS, TRUE และ CAT โดยมีการประมูลทั้งสิ้น 3 ใบอนุญาต (Slot) ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ผลการประมูลปรากฎว่า CAT สามารถคว้าไปได้ 2 ใบอนุญาต คิดเป็นเงินประมูลรวม 34,306 ล้านบาท ขณะที่ AIS สามารถประมูลไปได้ 1 ใบอนุญาต คิดเป็นเงินประมูลรวม 17,154 ล้านบาท สำหรับในส่วนของ TRUE ถือได้ว่าแพ้การประมูล และไม่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700MHz
ต่อกันที่การประมูลคลื่นความถี่ 2600MHz โดยมีผู้เข้าร่วมประมูลจำนวน 3 รายเดิม ประกอบไปด้วย AIS, TRUE และ CAT โดยมีการประมูลทั้งสิ้น 19 ใบอนุญาต (Slot) ใบอนุญาตละ 10 MHz ผลการประมูลปรากฎว่า AIS สามารถคว้าไปได้ 10 ใบอนุญาต คิดเป็นเงินประมูลรวม 19,561 ล้านบาท ขณะที่ TRUE สามารถคว้าไปได้ 9 ใบอนุญาต คิดเป็นเงินประมูลรวม 17,873 ล้านบาท สำหรับในส่วนของ CAT ถือได้ว่าแพ้การประมูล และไม่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ 2600MHz
และจบที่การประมูลคลื่นความถี่ 26GHz (26000MHz) และถือเป็นคลื่นความถี่ที่มีผู้ให้ความสนใจแสดงเจตจำนงเข้าร่วมประมูลมากที่สุดจำนวน 4 ราย ประกอบไปด้วย AIS, TRUE, DTAC และ TOT โดยมีการประมูลทั้งสิ้น 27 ใบอนุญาต (Slot) ใบอนุญาตละ 100 MHz แต่มีการประมูลออกไปเพียง 26 ใบอนุญาต ผลการประมูลปรากฎว่า AIS สามารถคว้าไปได้ 12 ใบอนุญาต คิดเป็นเงินประมูลรวม 5,345 ล้านบาท ขณะที่ TRUE สามารถคว้าไปได้ 8 ใบอนุญาต คิดเป็นเงินประมูลรวม 3,577 ล้านบาท
ด้าน TOT สามารถคว้าไปได้ 4 ใบอนุญาต คิดเป็นเงินประมูลรวม 1,795 ล้านบาท และ DTAC สามารถคว้าไปได้ 2 ใบอนุญาต คิดเป็นเงินประมูลรวม 910 ล้านบาท
จบการประมูลส่งเงินเข้ารัฐมากกว่าแสนล้านบาท
ส่งผลให้ AIS ถือครองคลื่นความถี่จากการประมูล 5G ครั้งนี้ทั้งสิ้น 3 คลื่นความถี่ ประกอบไปด้วยคลื่นความถี่ 700MHz, คลื่นความถี่ 2600MHz และคลื่นความถี่ 26GHz ด้วยมูลค่าการประมูลรวมกว่า 42,060 ล้านบาท ขณะที่ CAT ถือครองคลื่นความถี่ 700MHz เพียงคลื่นความถี่เดียวจากการประมูล 5G ครั้งนี้ ด้วยมูลค่าการประมูลรวมกว่า 34,306 ล้านบาท
ส่วน TRUE ถือครองคลื่นความถี่จากการประมูล 5G ครั้งนี้ทั้งสิ้น 2 คลื่นความถี่ ประกอบไปด้วยคลื่นความถี่ 2600MHz และคลื่นความถี่ 26GHz ด้วยมูลค่าการประมูลรวมกว่า 21,450 ล้านบาท ด้าน TOT ถือครองคลื่นความถี่ 26GHz เพียงคลื่นความถี่เดียวจากการประมูล 5G ครั้งนี้ ด้วยมูลค่าการประมูลรวมกว่า 1,795 ล้านบาท และ DTAC ถือครองคลื่นความถี่ 26GHz เพียงคลื่นความถี่เดียวจากการประมูล 5G ครั้งนี้ ด้วยมูลค่าการประมูลรวมกว่า 910 ล้านบาท
โดยคิดเป็นรายได้จากการประมูลครั้งนี้ทั้งสิ้น 100,521 ล้านบาท แบ่งเป็นคลื่นความถี่ 700MHz มีเงินประมูลรวม 51,460 ล้านบาท, คลื่นความถี่ 2600MHz มีเงินประมูลรวม 37,434 ล้านบาท และคลื่นความถี่ 26GHz มีเงินประมูลรวม 11,627 ล้านบาท
CAT เตรียมเดินหน้าขยายบริการหลังได้ใบอนุญาต
หลังเสร็จศึกประมูล 5G พันเอกสรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ชี้ว่า ได้เตรียมใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ทันทีที่ได้รับใบอนุญาต โดยคลื่น 700MHz จะช่วยให้สามารถขยายเครือข่าย 4G/5G ให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึงเพิ่มมากขึ้น รองรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อเนื่องได้หลังจากใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 850MHz ของ CAT จะสิ้นสุดลงในปี 2568
นอกจากจะรองรับลูกค้า my by CAT แล้ว ยังสามารถรองรับจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพ อีกทั้งยังเปิดให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กเช่าสัญญาณใช้แบบ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการ ทั้งนี้การขยายพื้นที่ให้บริการบนคลื่นความถี่ 700MHz สามารถดำเนินการได้ทันทีจากเสาโทรคมนาคมที่มีอยู่เดิมกว่า 20,000 ต้น
ที่สำคัญ CAT ยังคงดูแลโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ รองรับการลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น โครงการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ, ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์, สมาร์ตซิตี้, ดาต้าเซนเตอร์, โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมทั้งในและระหว่างประเทศ, โครงข่ายไอโอที เป็นต้น ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายของรัฐบาล
DTAC เตรียมมอบประสบการณ์การใช้งาน 5G
ด้าน DTAC สามารถคว้าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 26GHz จำนวน 200 MHz (จำนวน 2 ใบอนุญาต) ซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับชุดคลื่นความถี่ โดยคลื่นย่านความถี่สูงหรือ mmWave จะทำให้ดีแทคสามารถเสริมทัพชุดคลื่นความถี่ที่พร้อม ทั้งในคลื่นทุกย่านความถี่ โดยปัจจุบันดีแทคได้มอบประสบการณ์ให้ลูกค้าใช้งานบริการดาวน์โหลดข้อมูลที่เร็วที่สุดในไทย
โดย นายชารัด เมห์โรทา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ย้ำชัดว่า ดีแทคไม่หยุดพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อลูกค้า โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาดีแทคได้ลงทุนครั้งสำคัญเพื่อนำเทคโนโลยีชั้นนำและคลื่นความถี่ใหม่ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การใช้งานดาวน์โหลดที่ได้รับการยอมรับว่าเร็วที่สุดในไทย
สำหรับการเตรียมพร้อม 5G ดีแทคได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ในการขยายโครงข่ายด้วยเทคโนโลยี 4G TDD ที่ให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ของ TOT และตามด้วยการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ 700MHz ในปี 2562 สำหรับการคว้าคลื่น 5G บนคลื่นความถี่ 26GHz หรือ mmWave ทำให้ดีแทคพร้อมแล้วในการให้บริการด้วยชุดคลื่นความถี่ทั้งย่านต่ำ ย่านกลางและย่านสูง ซึ่งจะช่วยให้บริการรับส่งข้อมูลรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้มีประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุด
ด้วยคุณสมบัติพิเศษของคลื่น 26GHz หรือ mmWave ซึ่งเป็นคลื่นที่เหมาะในการใช้งานความเร็วสูงสุดเพื่อรับส่งข้อมูล และสามารถเพิ่มความจุของช่องสัญญาณในปริมาณมหาศาลที่มีความแม่นยำในการใช้งาน ช่วยให้รองรับนวัตกรรม 5G ต่างๆ ที่เชื่อมต่อ Massive IoT ในอนาคตได้อย่างแท้จริง
TRUE สร้าง Ecosystem พร้อมทุกบริการด้าน DATA
นายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 5G ในครั้งนี้ ช่วยให้กลุ่มทรูเดินหน้ารักษาความเป็นผู้นำบริการดิจิทัลที่ไม่เคยหยุดนิ่ง การได้ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2600MHz และ 26GHz เป็นไปตามกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่ต้องเติมเต็มคลื่นความถี่ในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อให้เพียงพอรองรับทุกการเปลี่ยนแปลง
โดยเฉพาะคลื่นความถี่ 2600MHz นับเป็นคลื่นความถี่ที่จะสร้างความได้เปรียบในการให้บริการ 5G ของกลุ่มทรูได้อย่างโดดเด่น เพราะนอกจากจะเป็นคลื่นที่เหมาะสมในการให้บริการ 5G รวมถึงมีความพร้อมทั้งอุปกรณ์โครงข่าย สมาร์ทโฟนพร้อมรองรับในตลาดแล้วทั่วโลก ยังเป็นคลื่นความถี่ในย่านเดียวกันกับบริการ 5G ของ China Mobile ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของกลุ่มทรู
อีกทั้งกลุ่มทรูยังมีความพร้อมด้านดิจิทัลแพลทฟอร์มคอนเทนต์ IoT ที่จะนำมาต่อยอดเพื่อเติมเต็มบริการ 5G ให้ตอบสนองทั้งไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล และตอบโจทย์การใช้งานของภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับมูลค่าการประมูลคลื่น 5G ในครั้งนี้ เป็นไปตามที่ได้ประเมินไว้ ซึ่งได้ศึกษามาแล้วอย่างรอบคอบ พร้อมกับมีบริษัทที่ปรึกษาช่วยพิจารณาประเมินราคาที่เหมาะสมทางธุรกิจ ทำให้ได้ถือครองคลื่นความถี่ในย่านที่เหมาะสมและคุ้มค่าในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยทันทีที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.จะสามารถนำคลื่นมาเพิ่มศักยภาพการให้บริการ 4G ในปัจจุบันได้ทันที
โดยการให้บริการ 5G จะช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้บริการ DATA ที่ดียิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการใช้งานที่ต้องการใช้ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันจะช่วยเร่งพัฒนาเครือข่าย 5G ที่ดีที่สุดให้พร้อมใช้งานให้เร็วที่สุด เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ให้กับทั้งภาคธุรกิจและประชาชนชาวไทย
ส่องดูกลยุทธ์การประมูลของแต่ละค่าย
แน่นอนว่าคลื่นความถี่ที่ออกมาประมูลกันนั้นมีตั้งแต่คลื่นความถี่ต่ำที่มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมกว้างขวาง (Coverage) ขณะที่คลื่นความถี่สูงจะให้ปริมาณและความเร็วในการดาวน์โหลดสูง (Capacity) จึงไม่แปลกที่ CAT จะต้องการคลื่นความถี่ในย่าน 700MHz และ 2600MHz นั่นเพราะคลื่น 700MHz จะช่วยให้สามารถครอบคลุมพื้นที่การให้บริการของ CAT กว้างมากขึ้น
เมื่อทำงานร่วมกับคลื่น 2600MHz ที่ให้ความเร็วและการดาวน์โหลดในปริมาณที่สูง จะช่วยให้ my by CAT มีประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น และจะเป็นแรงดึงดูดให้เกิดการย้ายค่าย (Switching) มาใช้บริการ my by CAT มากขึ้น รวมถึงการเตรียมความพร้อมหากในอนาคตใบอนุญาตคลื่นความ 850MHz ที่ CAT ใช้อยู่สิ้นสุดลง
อย่างที่ทราบกันว่ารัฐบาลมีนโยบายการรวม CAT กับ TOT เข้าด้วยกัน ทำให้ 2 ค่ายนี้ต้องประสานความร่วมมือกัน (ไม่แย่งชิงกันเหมือนเมื่อก่อน) เพราะ CAT มีบริการ my by CAT ที่เข้าถึงผู้บริโภคทั่วไป TOT จึงต้องรับบทบาทการประมูลคลื่น 26GHz เพื่อเตรียมตัวใช้คลื่นดังกล่าวในอนาคต ซึ่งเป็นไปได้ว่าก่อนที่คลื่น 26GHz จะได้ใช้งานอย่างจริงจัง การรวมตัวของ 2 ค่ายนี้ก็น่าจะเสร็จสิ้นแล้วเช่นกัน
ด้าน DTAC เองที่หลายคนเอาใจช่วยให้คว้าใบอนุญาตคลื่นความถี่มาให้ได้ ก็สามารถคว้าใบอนุญาตคลื่น 26GHz มาไว้ในมือ แต่ก็สร้างความประหลาดใจอยู่เหมือนกันถึงการไม่เข้าชิงคลื่น 700MHz และ 2600MHz ที่มีศักยภาพในปัจจุบัน แต่เลือกชิงคลื่น 26GHz ที่ยังไม่สามารถใช้ได้ในปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่มีอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นมารองรับคลื่นความถี่ดังกล่าว
แว่วว่า DTAC อาจไม่มีเงินสู้ศึกประมูลครั้งนี้หรือผู้บริหารใหม่อาจยังไม่กล้าลงทุน ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อดูคลื่นความถี่ในมือของ DTAC จะพบว่า DTAC เองก็มีคลื่นความถี่ 700MHz อยู่แล้วเมื่อครั้งที่ กสทช.จัดสรรคลื่นความถี่ 700MHz ซึ่งเกิดจากปัญหาทีวีดิจิทัลยุติการให้บริการ ขณะที่ DTAC ยังมีคลื่น 2300MHz ที่เป็นความร่วมมือกับ TOT ซึ่งสามารถนำมาปรับเป็น 5G ได้เช่นกัน
การที่ DTAC ลงประมูลเฉพาะคลื่น 26GHz จึงเป็นการ Play Safe เพราะไม่จำเป็นต้องไปลงทุนกับคลื่นความถี่ที่มีอยู่ในมือแล้ว หรือไปลงทุนในคลื่นความถี่ที่มีความใกล้เคียงกับคลื่นความถี่เดิมที่อยู่ในมือ ทำให้ DTAC สามารถนำเม็ดเงินไปลงทุนในการให้บริการ รวมไปถึงการพัฒนาระบบสัญญาณที่ต้องยอมรับว่า ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของ DTAC
นั่นอาจเป็นสิ่งที่ TRUE คิดเช่นกัน เพราะตัวเองมีคลื่นความถี่ 700MHz อยู่ในมือแล้ว การพลาดท่าไม่ได้ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700MHz มาครองก็ไม่เสียหายอะไรมากมายนัก แต่ TRUE ไม่มีคลื่น 2300MHz และถือเป็นช่องว่างที่ TRUE จำเป็นต้องอุด นั่นจึงทำให้ TRUE จำเป็นต้องคว้าคลื่นความถี่ 2600MHz ให้ได้
นอกจากนี้การคว้าคลื่นความถี่ 26GHz ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเสริมทัพการให้บริการ 5G ในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่ต้องการใช้งาน 5G เพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หลายจุดและต้องการความรวดเร็วในการรับส่งข้อมูลแบบ RealTime และการใช้งานในรูปแบบ IoT และ Smart Life เพื่อตอกย้ำในเรื่องของ Ecosystem ที่ TRUE เตรียมการมาอย่างยาวนาน
ด้าน AIS ดูเหมือนจะเป็นค่ายเดียวที่เรียกว่ามีเป้าหมายในการถือครองคลื่นความถี่ในการประมูล 5G ครั้งนี้ เห็นได้จากการเข้าร่วมประมูลทั้ง 3 คลื่นความถี่เช่นเดียวกับ TRUE แต่ที่แตกต่างกันคือ AIS ตั้งใจที่จะได้ใบอนุญาตทุกคลื่นความถี่ที่ประมูล ส่วนหนึ่งเพื่อเป้นการตอกย้ำแบรนด์อันดับหนึ่งในฐานผู้นำตลาด
ดูเหมือน AIS จะไม่พลิกโผสามารถคว้าใบอนุญาตทุกคลื่นที่มีการประมูล ซึ่งทำให้ AIS เป็นค่ายใหญ่ที่มีคลื่นความถี่ 700MHz มากที่สุด เพราะ AIS เป็นอีกค่ายที่ได้รับการจัดสรรคลื่น 700MHz ก่อนหน้านี้ พร้อมๆ กับค่าย DTAC และ TRUE เมื่อบวกกับใบอนุญาตที่ AIS ประมูลได้ไปในครั้งนี้ จึงเรียกได้ว่า AIS เป็นผู้นำในคลื่นความถี่ 700MHz อย่างชัดเจน
นั่นหมายความว่า เป็นไปได้ที่ตลาดจะเกิดการ “ย้ายค่าย” ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการย้ายไปสู่ค่ายที่มีคลื่นความถี่ที่มากและครอบคลุมทุกย่านความถี่ ซึ่งในอนาคตการแข่งขันไม่ได้แข่งเฉพาะในตลาดผู้บริโภคเท่านั้น แต่จะรวมไปถึงตลาดองค์กรธุรกิจที่นับวันจะเข้าสู่ยุค Industrty 4.0 เต็มรูปแบบ ส่วนเรื่องการปรับตัวของภาครัฐสู่ยุคดิจิทัลจะยังคงเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป
จับตาอนาคตโทรคมนาคมไทยในยุค IoT
อย่างที่ทราบกันแล้วว่า 5G คือคลื่นความถี่ที่ออกแบบมาให้รองรับการใช้งานที่ต้องการประมวลผลข้อมูลอย่างรวดเร็ว จากความพิเศษ 3 ด้านใหญ่ๆ คือความเร็วที่เพิ่มขึ้น ความหน่วง (Latency) ที่ลดลงช่วยเพิ่มความเร็วโดยปริยาย และการใช้งานร่วมกับ Sensor หลายจุดพร้อมๆ กัน ทำให้ผู้ใช้งาน 5G หลักๆ จะเป็นกลุ่มธุรกิจมากกว่าผู้บริโภคโดยปกติทั่วไป หากแต่ผู้บริโภคทั่วไปก็สามารถรับรู้ได้ถึงความเร็วที่เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
นั่นจึงทำให้หลังจากนี้ หลายค่ายเตรียมพัฒนาคลื่นความถี่ไปใช้กับกลุ่มธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือมีระบบการทำงานอัตโนมัติ ซึ่ง 5G จะช่วยให้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสามารถทำงานได้อย่าง RealTime และสามารถรับคำสั่งผู้ควบคุมได้ในระดับวินาที และด้วยการตอบสนองการทำงานในระดับวินาทีนี่เอง สิ่งที่เรียกว่า Smart Life ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้
สิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนคือการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ คงเคยได้ยินคำว่า Smart Home หรือบ้านที่สามารถสั่งการควบคุมได้ผ่านสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นทีวี เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ ประตูบ้าน เป็นต้น ด้วยศักยภาพของ 5G จะช่วยให้การสั่งงานควบคุมทำได้แบบสั่งปุ๊บ ทำงานปั๊บในระดับวินาที และนั่นหมายถึงรูปแบบการให้บริการใหม่ๆ ที่ผู้ให้บริการกำลังสร้างแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมา
นั่นจึงชี้ให้เห็นว่ารายได้หลักของผู้ให้บริการไม่ได้มาจากการโทรและการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นหลักเท่านั้น แต่จะมีรายได้มากธุรกิจ IoT ที่มากขึ้น รวมไปรายได้จากการให้บริการด้าน Solution ให้กับองค์กรธุรกิจต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มที่ในอนาคตจะได้เห็นร้านค้าที่เป็น Unmaned Store หรือยานยนต์ (ถ้ามีระบบถนนที่ดีและกฎหมายการจราจรที่เข้มงวด ถูกต้องกับพฤติกรรมผู้ใช้รถใช้ถนนในเมืองไทย)