ธุรกิจสายการบินมักจะเผชิญกับปัญหาการแข่งขันและการห้ำหั่นราคาอย่างดุเดือดตลอดหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งในเวลานี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว กำลังได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าจนลุกลามไปหลายประเทศทั่วโลก สถานการณ์ (ไม่)ปกติเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสต่างๆ, เหตุการประท้วง แม้แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น มีส่วนทำให้ธุรกิจสายการบินจำเป็นต้องมีกลยุทธ์สำรองที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้
อย่างกรณีของ Airasia สายการบินโลวคอสต์สัญชาติมาเลเซีย ที่ครองใจยืนหนึ่งในอาเซียนมานาน ทั้งยังคว้ารางวัลสายการบินราคาประหยัดที่ดีที่สุดในโลกจาก Skytrax ยาวนานถึง 11 ปีซ้อน แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา Airasia ดำเนินการเดินตามความฝันไปอีกหนึ่งก้าว ด้วยการเปิดตัวร้านอาหาร Santan ร้านอาหารอาเซียนฟาสต์ฟู้ดแห่งแรก ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
ทำไม Airasia แตกไลน์ธุรกิจเปิดร้านอาหาร Santan?
Tony Fernandes ที่ปรึกษาอาวุโสแห่งสายการบิน Airasia (พักตำแหน่งซีอีโอชั่วคราว 2 เดือน) เคยให้สัมภาษณ์ในขณะที่ร่วมรายการทอล์กโชว์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา Larry King Now เปิดเผยว่า Airasia ตัดสินใจจะเปิดร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ชื่อว่า Santan เพื่อนำเสนอเมนูอาหารยอดนิยมที่ผู้โดยสารชื่นชอบ
ทั้งยังระบุว่า ‘ธุรกิจอาหาร’ เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงพอๆ กับธุรกิจสายการบิน แต่ต่างกันตรงที่ ‘อาหาร’ คือปัจจัยสำคัญ คนเรายังต้องกินต้องดื่มอยู่ทุกวันไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นแบบไหน หรือเหตุการณ์บ้านเมืองจะเป็นยังไง นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเขาอยากแตกไลน์ธุรกิจใหม่สู่ธุรกิจร้านอาหาร
Airasia มั่นใจรสชาติ Santan ถูกปากแม้เป็นเมนูจาก ‘บนฟ้า’
เชื่อว่ามีหลายๆ คนที่เดินทางอยู่บ่อยๆ เคยได้ลิ้มรสชาติอาหารบนฟ้า หรืออาหารที่เสิร์ฟในห้องโดยสารบนเครื่องบินแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยถูกปากนัก นักวิเคราะห์ของ Bloomberg ระบุว่า อาหารที่เสิร์ฟบนเครื่องบินโดยสารส่วนใหญ่มีรสชาติ ‘เค็ม’ โดยเหตุผลจริงๆ ไม่ใช่เพราะรสชาติอาหาร แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากประสิทธิภาพในการรับรสของเราที่ลดลงถึง 30% ที่ระดับความสูงของไฟล์ทไทมส์ จากหลายๆ ปัจจัย เช่น ความกดอากาศต่ำกว่าบนพื้นดิน และ ขาดความชื้นภายในห้องโดยสารซึ่งทำให้เรามีอาการคล้ายๆ เป็นหวัด จมูกแห้ง ทำให้กินอาหารไม่อร่อย เป็นต้น
แต่ถึงอย่างนั้น เมนูอาหารของ Airasia หลายประเภทยังได้รับความนิยม ผู้โดยสารส่วนหนึ่งมักจะออเดอร์อาหารเพิ่มเติมในระหว่างชั่วโมงบิน ส่วนใหญ่เป็นอาหารขึ้นชื่อต่างๆ ของประเทศอาเซียน ขณะที่ Airasia ได้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยในการเก็บข้อมูลเมนูอาหาร และวิเคราะห์รสชาติที่ผู้โดยสารชื่นชอบ
ทั้งนี้ เมนูอาหารที่เป็น Top in mind ตลอดกาล อย่างเช่น ‘นาสิลามัค’ สูตรปาคนาสเซอร์ (Pak Nasser’s Nasi Lemak) ที่เป็นข้าวมันกะทิ, น้ำพริกซัมบัล และแกงมัสมั่นไก่เรินดัง พร้อมเครื่องเคียงแบบดั้งเดิมตามสไตล์ชาวมาเลย์เชื้อสายจีนแท้ๆ นอกจากนี้ ยังมีเมนูอาหารอื่นจากชาติอาเซียน เช่น ก๋วยเตี๋ยวของเมียนมา, ไก่ย่างอินาซัลฉบับฟิลิปปินส์, เฝอในซุปร้อนๆ จากเวียดนาม และเมนูจากไทยแลนด์อย่าง ผัดกะเพรา และเมนูแกงเขียวหวานไก่ เป็นต้น
Top Goal ขยายแฟรนไชส์กว่า 100 แห่งภายในปี 2025
เป้าหมายสำคัญสูงสุด (ระยะแรก) ของแม่ทัพใหญ่แห่ง Airasia ที่เคยประกาศชัดเจนเมื่อปี 2019 ก็คือ แผนขยายร้านอาหารและเครื่องดื่ม Santan ที่ลงทุนโดยบริษัทจำนวน 5 แห่ง และร้านแฟรนไชส์มากกว่า 100 แห่ง ในตลาดต่างประเทศ โดยกำหนดกรอบเวลาหลวมๆ ก็คือปี 2025
โดยความตั้งใจนี้ฉายภาพเป็นทิศทางใหม่ของบริษัทในปี 2020 ก็คือ ลดสัดส่วนการพึ่งพาในธุรกิจการบินจาก 80% ในปัจจุบัน ให้เหลือ 40% และกระจายรายได้จากช่องทางอื่นๆ ของบริษัท ทั้งจากร้านอาหาร Santan และ T&CO café ที่ขายคู่กันมาตลอด
หนึ่งในบทความของ CNN ระบุว่า Airasia เป็นสายการบินที่ผุดไอเดียนี้เป็นรายแรกๆ ที่หันหน้าเข้าสู่วงการธุรกิจร้านอาหาร (ในไทยมีร้านอาหารของสายการบินไทย 4 สาขาในท่าอากาศยานที่กรุงเทพฯ) ความน่าสนใจไม่ใช่แค่การแพร่กระจายการรับรู้ของเมนูอาหารบนเครื่องบินเท่านั้น แต่เหมือนเป็นการขยายอิทธิพลสร้างการรับรู้ให้กับ ‘อาหารแห่งอาเซียน’
ทั้งยังเป็นการสู้ศึกกับร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเชนต่างประเทศอื่นๆ ที่กำลังเติบโตเป็นดอกเห็ดในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น KFC, McDonald’s หรือเชนร้านเบอร์เกอร์ทั้งหลาย ด้วยการงัดสู้เรื่องราคาที่เริ่มต้นเมนูอาหารส่วนใหญ่อยู่ที่ 12 ริงกิตขึ้นไป (ราว 90 บาท) แต่บางเมนูอาหารอย่าง ข้าวกะเพราไก่ของไทยเริ่มต้นราคาเพียง 8 ริงกิต (ราว 60 บาท) และยังเป็นการขายประสบการณ์ใหม่ให้กับกลุ่ม target ที่อยากลิ้มรสชาติเมนูอาหารบนฟ้า โดยที่ไม่จำเป็นต้อง book ตั๋วบินใดๆ ด้วยซ้ำ
ที่มา : finance.yahoo, cnn, washingtonpost