เริ่มต้นทศวรรษใหม่ก็เหมือนกับการตั้งเป้าทำอะไรใหม่ๆ ไม่เว้นแม้แต่ ‘ภาคธุรกิจ’ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวธุรกิจใหม่ หรือการตั้งเป้าหมายสำหรับทิศทางใหม่ของบริษัทรับปี 2020 รวมไปถึงการสร้างหรือฟื้นฟู branding เอาฤกษ์เพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ให้มากขึ้น
มีข้อมูลที่น่าสนใจของ Entrepreneur Asia Pacific ที่ชี้ว่า สี มีความสำคัญต่อการรับรู้ของสมองมนุษย์ โดยมีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งสามารถสรุปสถิติได้ดังนี้
-
90%ของผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อสินค้าเกิดจากการรับรู้จากภาพที่มองเห็นตั้งแต่ครั้งแรก
-
85% ของผู้บริโภคเห็นว่าสีเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้า
-
80% ของผู้บริโภคคิดว่าสีมีส่วนช่วยเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์
-
93% ของผู้บริโภคชี้ว่าสีมีส่วนกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ และระดับความเครียด
-
เกิน 50% ของผู้บริโภคชี้ว่าชอบโลโก้ของแบรนด์ที่มีแม่สี 3 สี (แดง เขียว น้ำเงิน) เป็นองค์ประกอบ
มีหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจของ ‘Israel Abramov’ นักชีววิทยาด้านความแตกต่างของเพศและการรับรู้ของสี ที่กล่าวว่า การเลือกใช้ ‘สี’ ที่ถูกจริตกับการรับรู้ของสมองมนุษย์ ที่โยงไปถึงส่วนของการรับรู้ทางอารมณ์ในแต่ละระดับมีความสำคัญมาก โดยที่ผ่านมานักการตลาดส่วนใหญให้ความสำคัญกับการออกแบบโลโก้ ตั้งแต่การเลือกใช้สี จนไปถึงการเลือกใช้รูปแบบของตัวอักษร
สำหรับรูปแบบของตัวอักษร เว็บไซต์ 99designs ระบุว่า ในปี 2020 การเลือกใช้ตัวอักษรให้คงความสดใหม่ของแบรนด์ และให้ความรู้สึกถึง modern looks ตลอดเวลา มีอยู่ 2 รูปแบบที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นปีนี้ ได้แก่
1. ตัวอักษรสีโลหะ ไม่ว่าจะเป็นสีเงิน, สีทอง และ สีทองแดง ซึ่งสีของโลหะจะช่วยสะท้อนถึงความแกร่ง กล้าหาญ และความเท่ห์ที่ทันสมัยมากขึ้น
2. ตัวอักษรแบบอิสระ ไม่ยึดตามกรอบเดิมหรือต้องมีขนาดตัวเท่ากันเป๊ะๆ อีกต่อไป เป็นการเพิ่มลูกเล่นใหม่ๆ เข้าไปในตัวอักษร ซึ่งช่วยแสดงถึงความอิสรภาพ และความสดใสร่าเริงของธุรกิจนั้นๆ
ส่วนโทนสีที่คาดว่าจะเป็นเทรนด์ใหม่ประจำปี 2020 ในวันนี้เราจะมาวิเคราะห์ตามตัวอย่างบางแบรนด์ไปพร้อมๆ กันกับสีที่พวกเขาเลือกใช้ ว่ามีนัยยะสำคัญอะไรแอบแฝงอยู่บ้างตามหลักจิตวิทยา ดังต่อไปนี้
‘การไล่ระดับสีนีออน’ ในธุรกิจเว็บหาคู่–เว็บเบราว์เซอร์
ปี 2020 นี้เทรนด์ใหม่ที่จะปรากฏให้เห็นมากขึ้นก็คือ ลูกเล่นต่างๆ ของการไล่สี ส่วนใหญ่จะเป็น ‘สีนีออน’ ที่บ่งบอกถึงความสดใหม่ของแบรนด์ โดยการไล่เฉดสีนีออนจะมีระดับเฉดที่ไม่รุนแรงจนเกินงาม เพราะช่วยเพิ่มความรู้สึกอบอุ่นให้กับผู้ที่เห็นได้
อย่างเมื่อช่วงกลางปี 2019 แบรนด์แรกๆ ที่ประกาศปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ และใช้การไล่ระดับสีนีออนอย่างละมุนตานั้น นั้นก็คือ ‘Mozilla Firefox’ ที่สีโลโก้มีความ soft และมองดูผ่อนคลายมากขึ้น ให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับเรากำลังนั่งมองพระอาทิตย์ตกดินอยู่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เคลิบเคลิ้มมากที่สุดช่วงหนึ่ง
นักวิเคราะห์มองว่า การไล่ระดับสีโทนอ่อนๆ สบายตา มีส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อใจได้ตามหลักจิตวิทยา โดยยกตัวอย่าง ‘Tinder app’ พื้นที่เปิดกว้างสำหรับหนุ่มโสดสาวโสดที่อยากมีคู่ ซึ่งความมั่นใจในตัวแอปพลิเคชั่นมีความจำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกใช้แอปฯ ดังนั้น การรักษาความสดใหม่และสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ เฉดสีไล่ระดับอย่างนุ่มนวลน่าจะเป็นตัวเลือกในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น
เครื่องสำอาง-สินค้าหรู มักคู่กับ ‘สีม่วง’ สีแห่งความ luxury
ด้วยความที่สีม่วงเป็นสีหายากที่จะเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ และยังเป็นสีแห่ง ‘ราชวงศ์’ จึงจะให้ความรู้สึกถึงการมีระดับ หรูหรา และความน่ายำเกรง โดยสีม่วงกลายเป็นตัวแทนของสินค้าหรือธุรกิจที่ใช้ความสร้างสรรค์ และความประณีต
อย่างเช่น เครื่องสำอางแบรนด์ VDL จากเกาหลีใต้ ที่มากับแพ็กเกจสีม่วงนีออนเพื่อสร้างความ high-class นอกจากนี้ยังมีเครื่องสำอางจากแดนโสมขาวอีกแบรนด์ที่ปล่อย collection สีม่วงแบบ cute cute อย่าง ‘Missha Star Pop Edition’ เป็นม่วงพาสเทลเน้น luxury แต่เข้าถึงง่ายขึ้น
ส่วนสินค้าหรูประเภทอื่นๆ ก็เลือกใช้ ‘สีม่วง’ เป็นเชิงสัญลักษณ์ เช่น Hallmark ผู้ผลิตการ์ดอวยพรสุดหรูที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และ Milka ช็อกโกแตชื่อดังของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ใช้โลโก้สีม่วงตอกย้ำความ luxury และน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค
ในบทความยังพูดถึง ‘สายการบิน’ ว่าจะใช้สีม่วงมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความภักดีต่อผู้โดยสาร รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ซึ่งปัจจุบันในไทยมีสายการบินแห่งชาติ ‘การบินไทย’
‘สีส้ม’ เหมาะกับสินค้าเด็ก–โดดเด่นในธุรกิจด้านการเดินทาง
สีส้มเกิดจากการรวมตัวของสีเหลืองกับสีแดง จึงเป็นความผสมผสานสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นความหิว ความอยากได้อยากซื้อโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยรุ่น นอกจากนี้สีส้มยังเป็นสีแห่งมิตรภาพและเข้าถึงง่าย เช่น โลโก้ของ Fanta เครื่องดื่ม soft drink ที่ยังเลือกใช้พื้นหลังโลโก้เป็นสีส้มแม้จะปรับโฉมโลโก้ใหม่เมื่อปี 2016 นอกจากนี้ยังมี Nickelodeon เครือข่ายรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กช่องแรกของสหรัฐฯ
นักจิตวิทยาชี้ว่า สีส้ม เป็นสีที่มักเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเดินทาง ซึ่งในปัจจุบันมีสายการบินโลวคอสต์ Jetstar ของออสเตรเลีย รวมไปถึงโรงแรมที่ใช้โลโก้สีส้มอย่าง Comfort inn โดยตามจิตวิทยาจะให้ความรู้สึกที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคทั้งด้านราคา และความใส่ใจ
ธุรกิจอาหาร–เครื่องดื่มมักใช้ ‘สีแดง’ กระตุ้นความหิว
ตามหลักจิตวิทยาระบุไว้ว่า สีแดง มีส่วนกระตุ้นความหิวมากขึ้น และเป็นสีที่โดดเด่นแต่มีความรุนแรง เราจึงเห็นสีแดงบนป้าย Sale ต่างๆ ที่สะท้อนถึงความเร่งรีบเร่งด่วน ซึ่งสีแดงสำหรับโลโก้มักจะใช้ผสมกับสีอื่นๆ เช่น สีขาว สีเหลือง หรือแม้แต่สีดำ เพื่อมาเบรกความรู้สึกที่จัดจ้านเกินไป ซึ่งในทางการตลาดอาจทำให้เกิดความไม่ไว้ใจต่อแบรนด์ขึ้น
ตัวอย่างธุรกิจเช่น ‘สีแดง-ขาว’ บนโลโก้ของ Coca-Cola ที่ใช้มาอย่างยาวนานกว่า 130 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท นอกจากนี้เราจะเห็นสีแดง บนโลโก้ของธุรกิจอาหาร หรือ fast foods มากขึ้น อย่างที่ในปัจจุบัน เช่น Mcdonald’s, KFC และ Burger King ส่วนหนึ่งเพราะว่าสีแดงสามารถกระตุ้นการรับรู้และทำให้เราตัดสินซื้อสินค้าได้เลยตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นต่อมหิวให้ทำงานหนักขึ้นอีกด้วย
‘สีน้ำเงิน/ฟ้า’ สร้างความไว้ใจในธุรกิจยานยนต์-เทคโนโลยี
บทวิเคราะห์ตามหลักจิตวิทยาของสีในช่วงหลายปีมานี้ ยังยกย่องให้ ‘สีน้ำเงิน/ฟ้า’ เป็นสีแห่งความน่าเชื่อถือ สามารถสร้างความไว้วางใจได้ดีเยี่ยม แถมยังเป็นสีโปรดปรานของทั้งเพศหญิงและชายอีกด้วย ดังนั้น ธุรกิจที่เหมาะกับการต้องแสดงถึงความรับผิดชอบ มีเหตุมีผล สามารถวางใจได้ ก็น่าจะต้องมีสีนี้ผสมอยู่เป็นหลัก
อย่างเช่น Facebook และ Skype ที่ยกเป็นกรณีศึกษามานานเพราะมีส่วนสร้างความคุ้นเคยให้ผู้ใช้งานไว้ใจได้ตามหลักจิตวิทยา นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์รถยนต์สัญชาติอเมริกัน ‘Ford’ หรือจะเป็น ‘Volkswagen’ จากเยอรมนีก็ใช้สีน้ำเงินมานานบนโลโก้ แม้แต่ธุรกิจเครื่องบินอย่าง ‘Boeing’
ที่น่าสนใจสีน้ำเงิน/ฟ้า ยังเป็นที่แพร่หลายมากบนโลโก้ของธุรกิจเทคโนโลยีต่างๆ เช่น HP, Intel, Dell, Philips, Siemens และ Samsung เป็นต้น
‘สีเขียว’ สะท้อนธรรมชาติ มักอยู่ในสินค้าออร์แกนิก–เครื่องดื่ม
นักจิตวิทยาชี้ว่า สีเขียว เป็นสีที่สงบดูแล้วสบายตา ทั้งยังมีผลต่อการรับรู้ของสมองค่อนข้างไว โดยจะให้ความรู้สึกสดชื่น และผ่อนคลาย ดังนั้น ธุรกิจประเภทเครื่องดื่มเรียกว่าเหมาะทีเดียวที่จะจับสีโลโก้ให้มีสีเขียวผสมผสานเข้าไป เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความรู้สึกสดชื่นจริงๆ อย่าง Starbucks ที่นอกจากจะใช้สีเขียวบนโลโก้แล้ว ส่วนใหญ่มักจะตกแต่งร้านด้วยโทนสีน้ำตาลธรรมชาติช่วยให้ลูกค้า feel good และ relax มากขึ้น
นอกจากนี้มีเบียร์แบรนด์ Heineken และ Carlsberg เบียร์ของเดนมาร์ก ที่ใช้โลโก้เขียวก็เพื่อแสดงจุดยืนถึงเบียร์ที่มีรสสัมผัสนุ่มธรรมชาติ กระบวนการผลิตก็มาจากวิธีธรรมชาติ เป็นต้น ส่วนธุรกิจออแกนิกที่ได้รับความนิยมและมีโลโก้สีเขียว อย่าง Whole Food เป็นการแสดงถึงความต้องการที่จะทำตลาดกับลูกค้าสายเฮลตี้นั่นเอง
‘สีเหลือง’ โดดเด่นสุดในธุรกิจอาหาร–ขนม–กล้องถ่ายรูป
สีเหลืองในทางจิตวิทยาคือ การมองโลกในแง่ดี เป็นสีที่มีความโดดเด่นมาก สามารถทำให้เกิดการรับรู้กับสมองโดยเร็ว หมายความว่าคนเราสามารถสะดุดกับสีเหลืองได้เพียง 1-2 วินาทีเท่านั้น แถมยังเป็นการสะดุดตาในเชิงบวกด้วย
ดังนั้น โลโก้สีเหลืองมักจะผสมผสานอยู่กับสีอื่นๆ ในธุรกิจขนม, ฟาสต์ฟู้ด, อาหาร หรือแม้แต่ธุรกิจกล้องถ่ายรูป ตัวอย่างเช่น Lay’s ที่ใช้พื้นหลังเน้นถึงความอร่อย, McDonald’s ใช้สัญลักษณ์ตัว M เป็นสีเหลืองใหญ่, เบอร์เกอร์จาก Subway ที่มีสีเหลืองผสมอยู่สามารถสร้างความตื่นเต้น และกระตุ้นการมองเห็นและความหิวจากลูกค้าได้ รวมไปถึง Denny’s เชนร้านอาหารไตล์อเมริกัน
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอื่นที่ใช้สีเหลืองในโลโก้ของพวกเขา เช่น Nikon ผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีชื่อดังของญี่ปุ่น ที่ใช้สีเหลืองกับสีดำเพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ หมายถึงความแข็งแกร่ง มีคุณภาพ และราคาเป็นมิตรต่อลูกค้า โดยการใช้สีเหลืองมาช่วยนั้นเพื่อให้สินค้าไม่ดูแพง หรือ high-end จนเกินไป
ที่มา : review42, 99designs, entrepreneur