หากยังจำกันได้ TMB ได้ควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต และเรียกได้ว่าในช่วงเวลาปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการผสาน 2 ธนาคาร ให้รวมกันกลายเป็นธนาคารเดียว โดยเมื่อทั้งคู่รวมกันแล้วจะทำให้มีฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านราย ภายใต้แคมเปญ “One Dream, One Team, One Goal” ซ฿่งเฟสแรกจะเป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้บริหารระดับสูงจากทั้ง 2 ธนาคารเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน
สำหรับแคมเปญ “One Dream, One Team, One Goal” คือการมีความฝันเดียวกัน One Dream ที่จะช่วยให้ชีวิตทางการเงินดีขึ้น (Financial Well-being) เพื่อคนไทยทั้งประเทศ ภายใต้ One Team ที่รวมการบริหารงานเป็หนึ่งเดียว ร่วมขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน บนเป้าหมาย One Goal ที่พร้อมเป็นธนาคารที่ทุกคนชื่นชอบและบอกต่อกันมากที่สุด
ผ่านการวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล (Data-Driven Strategy) เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการทางการเงินที่ดีที่สุด รองรับความต้องการของลูกค้าทุกช่วงชีวิต และสร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อในทุกช่องทาง พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการดูแลพนักงานอย่างเท่าเทียมกัน โดยเน้นเรื่อง Wealth-Health-Skill และเสริมทักษะพนักงานให้กลายเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน (Financial Advisor) ที่มีคุณภาพที่สุด
ธนาคารต้องตอบโจทย์ทุกช่วงเวลาชีวิต
ด้าน นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร TMB ชี้ว่า การดำเนินการตามแผนการจับมือทางธุรกิจรวมกิจการอย่างบูรณาการของทั้งสองธนาคารก้าวข้ามความท้าทายได้อย่างราบรื่นและมีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งในปี 2020 นี้ทั้ง 2 ธนาคารจะเริ่มผนึกกำลังหลอมรวมทีมงานจากทั้งสองฝั่งให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อช่วยให้ลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคารสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินของลูกค้าได้
พร้อมทั้งวางเป้าหมายการเป็นผู้นำธนาคารที่ใส่ใจลูกค้า กล้าที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่ดีที่สุดและตอบโจทย์ลูกค้าตลอดทุกช่วงชีวิต ผ่านที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญและหนุนด้วยเทคโนโลยี และตอบโจทย์ในการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีให้กับลูกค้า ซึ่งหวังว่าจะทำให้ธนาคารใหม่นี้ขึ้นแท่นเป็นธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบและบอกต่อมากที่สุด (Most Advocated Bank)
เรียนรู้ข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ที่เหมาะสมที่สุด
ขณะที่ นางมารี แรมลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมลูกค้ารายย่อย ชี้ว่า คุณภาพชีวิตทางการเงินคือการที่ลูกค้ามีการใช้จ่ายที่เหมาะสมกับตัวเองผ่านช่องทางที่สะดวกสบาย รู้จักการออมและการลงทุนที่เพียงพอ มอบความคุ้มครองที่อุ่นใจ และการกู้ยืมเท่าที่จำเป็น โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เกิดจากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้รู้ถึงความต้องการที่แท้จริงโดยยึดหลักความปลอดภัยของข้อมูล ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้าและใช้เพื่อประโยชน์ของลูกค้าเท่านั้น เพื่อสร้างโซลูชันที่ตรงใจสำหรับแต่ละคนโดยเฉพาะ
ส่วน นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย อธิบายว่า ทั้ง 2 ธนาคารเองมีช่องทางบริการมากมาย เช่น สาขา เครื่อง ATM/ ADM โมบายแอป Contact Center หรือ Direct Sales ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์จากการทำธุรกรรมของธนาคารที่เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในทุกช่องทาง และเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ธนาคารจะนำข้อมูลมานำเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการที่สุด ในเวลาที่เหมาะสม
สินเชื่อต้องไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตลูกค้า
ด้าน นายป้อมเพชร รสานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์ แจงว่า ด้านสินเชื่อรถยนต์จะให้ความสำคัญเรื่องการให้กู้ยืมอย่างมีคุณภาพ (Healthy Borrowing) ของสินเชื่อรถยนต์ จะช่วยขับเคลื่อนชีวิต ทางการเงินของผู้คนให้ดีขึ้น และจะช่วยให้ลูกค้าสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ โดยมองออกภาพเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือสินเชื่อเช่าซื้อรถเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือการนำรถมาแลกเงินเพื่อนำไปประกอบกิจการ
ในขณะเดียวกัน การปล่อยสินเชื่อจะเป็นแบบมีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้ายังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยใช้ Scoring Model ที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้และการปล่อยกู้เพื่ออนุมัติสินเชื่อที่เหมาะสม เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับลูกค้าและช่วยควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินที่ดีจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ
ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้กลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล (Data-Driven Strategy) เพื่อนำมาซึ่งบริการที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าและคู่ค้า เช่น Cross Area Booking การทำความเข้าใจการขายของคู่ค้าในช่องทางออนไลน์ ที่ให้บริการข้ามพื้นที่ เพื่อให้การขายมีประสิทธิภาพรวดเร็วมากขึ้น และ ALDX ระบบปฏิบัติการเพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าตั้งแต่สมัครสินเชื่อ ติดตามผลอนุมัติ จนกระทั่งบริการและสิทธิประโยชน์จากธนาคาร
ธุรกิจใหญ่ต้องโตไปด้วยกันกับธุรกิจเล็ก
ขณะที่ นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ชี้ว่า ธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ที่มีจำนวนมากถึง 3 ล้านบริษัท และมีการจ้างงานสูงถึง 85% กลับให้สัดส่วนของรายได้ GDP เทียบเท่าบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเพียง 6,000 บริษัท ดังนั้นการช่วยธุรกิจ SME ให้มีชีวิตทางการเงินที่ดี ธนาคารต้องเริ่มจากธุรกิจขนาดใหญ่ด้วยการปล่อยสินเชื่อที่ยั่งยืน
ธนาคารต้องนำเสนอธุรกรรมการเงินที่ตอบโจทย์และพร้อมเชื่อมต่อ eco-system จากธุรกิจขนาดใหญ่ไปจนถึงธุรกิจ SME ทั้งด้านข้อมูลและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้การทำธุรกรรมการเงินสะดวกและการบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ลูกค้าธุรกิจมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นอกจากเรื่องของธุรกิจ ธนาคารยังต้องช่วยให้ลูกค้าธุรกิจมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น โดยจะเข้าไปดูแลในเรื่องบุคลากรซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตของธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่เจ้าของธุรกิจ พนักงานและครอบครัว ผู้คนรอบตัว ชุมชน รวมทั้งสังคม
ไม่ใช่แค่ลูกค้าที่ได้ พนักงานต้องได้ด้วยเช่นกัน
ส่วน นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่ แจงว่า ได้กำหนดเป้าหมายการรวมตัวของ 2 ธนาคารจะแล้วเสร็จภายในกรกฎาคม 2564 โดยลูกค้าจะต้องไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จึงได้วางแผนการให้ธนาคารทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นของแต่ละธนาคารให้ลูกค้าของอีกธนาคารได้รู้จักและทดลองใช้ โดยกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้จะเริ่มเปิดให้บริการธนาคารในรูปแบบ Co-Location/ Co-Brand Branch ที่เป็นสาขาที่ทำงานร่วมกันระหว่าง 2 ธนาคาร และวางแผนจะเปิดทั้งหมด 90 สาขา ครอบคลุมจังหวัดหลักๆ ทั่วประเทศในปีนี้
ขณะที่ในเดือนมีนาคม ลูกค้าทั้ง 2 ธนาคารจะได้รับความสะดวกจากการใช้บริการ ATM/ ADM จำนวนกว่า 4,700 เครื่อง ฟรีค่าธรรมเนียมฝาก ถอน โอน โดยลูกค้า TMB Touch สามารถทำรายการกดเงินไม่ใช้บัตรจากเครื่อง ATM/ ADM ของธนชาตได้ ส่วนบิลสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิตของธนชาต สามารถชำระได้ที่เครื่อง ATM/ ADM ของ TMB
ในส่วนของพนักงาน ธนาคารจะปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งในเรื่องของสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน (Employee Well-being) โดยคำนึงถึง 3 สิ่งด้วยกัน ทั้ง Health ด้วยสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่เน้นการช่วยเหลือฉุกเฉินยามเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ด้วยจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายมากกว่าการเจ็บป่วยปกติ ในส่วนของ Wealth ธนาคารจะให้เงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ในอัตราที่สูงกว่าตลาด และเรื่อง Skill หรือการพัฒนาทักษะของพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Disruption)
ทั้งนี้การควบรวมเฟสแรกจะเป็นการควบรวมในระดับผู้บริหาร ซึ่งระหว่างขั้นตอนการควบรวมนี้ทั้ง 2 ธนาคารยังสามารถออกโปรแกรมหรือแคมเปญต่างๆ ในนามของแต่ละธนาคารได้ ซึ่งเมื่อถึงช่วงกรกฎาคม 2564 ทั้ง 2 ธนาคารในรูปแบบนิติบุคคลจะรวมกันกลายเป็นธนาคารเพียงรายเดียวเท่านั้น