เป็นที่ฮือฮาเมื่อมีข่าวนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งฟินแลนด์ ผู้ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในโลก คุณซานนา มาริน (Sanna Marin) เสนอไอเดียให้ลดวันทำงาน เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ทีไร ไอเดียเรื่องลดวันทำงาน หรือให้ทำงานจากบ้านได้ มักถูกหยิบยกมาพูดถึง
วันนี้จะพาทุกท่านไปสำรวจนโยบายของออฟฟิศในอนาคตกันครับ โดยเฉพาะนโยบายลดวันทำงานกับนโยบายทำงานจากนอกออฟฟิศได้ พร้อมดูผลกระทบของนโยบายเหล่านี้กัน
ศาสตราจารย์ Adam Grant ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาองค์กร มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เผยผลการศึกษาพบว่า การลดวันทำงานช่วยให้พนักงานตั้งใจทำงานมากขึ้น มีสมาธิและประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น ผลงานมีคุณภาพดีและสร้างสรรค์กว่าเดิม พนักงานรักองค์กรมากขึ้น เกิดประโยชน์กับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งนี้ในสถานการณ์ที่จำนวนวันทำงานลดลง มักผลักดันให้พนักงานปรับปรุงวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดนวัตกรรมเพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับงานวิจัยของ Jan-Emmanuel De Neve รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด พบว่า การทำงาน 4 วัน หยุด 3 วันต่อสัปดาห์เป็นระดับที่สร้างสมดุลต่อชีวิตมากสุด ช่วยให้พนักงานมีความสุขและมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด
มีงานสำรวจในประเทศนิวซีแลนด์ระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน 2018 พบว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ช่วยให้พนักงานสามัคคีกันมากขึ้น เครียดน้อยลง โดย 24% ของพนักงานระบุว่า สมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวดีขึ้น 7% มีความเครียดลดลง โดยรวมมีความพอใจในงานเพิ่มขึ้น 5% มีอีกงานวิจัยที่ศึกษาในพนักงานอายุ 40 ปีขึ้นไปพบว่า ประสิทธิภาพการทำงานดีสุดของคนกลุ่มนี้อยู่ที่ 25-30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ในแง่สิ่งแวดล้อม การลดวันทำงานยังเชื่อว่าช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพราะจำนวนการเดินทางของผู้คนลดลง บรรเทาปัญหาจราจร ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาโลกร้อน นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัท เช่น หากลดวันทำงานจาก 5 วันเหลือ 4 วัน ช่วยลดค่าไฟถึง 20%
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าจะช่วยให้สุขภาพจิตมนุษย์ดีขึ้นจากการลดเวลาที่เสียไปบนท้องถนน แต่ละวันมนุษย์ใช้เวลาบนท้องถนนเพื่อไปกลับที่ทำงานเฉลี่ยที่ 70 นาที คนอเมริกันอยู่ที่ 80 นาที อิสราเอลและอินเดียอยู่ที่ 90 นาที ของคนกรุงเทพฯ ดูจะมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ได้แก่ พนักงานเสี่ยงทำงานไม่ได้ตามเป้า ตัวอย่างในประเทศสวีเดน เคยทดลองลดการทำงานจากสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงเหลือ 30 ชั่วโมง โดยยังทำ 5 วันต่อสัปดาห์ ผลปรากฏว่า พนักงานส่วนใหญ่มีความสุขขึ้น แต่ผลลัพธ์ในการทำงานกลับแย่ลง นอกจากนี้ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่ดำเนินนโยบายนี้ได้ บางธุรกิจต้องทำทุกวัน 24 ชั่วโมง หรือประเด็นค่าล่วงเวลา พนักงานบางส่วนอยากทำงานมากๆ เพื่อได้รับค่าล่วงเวลา ดังนั้นต้องดูด้วยว่า หากทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ บริษัทจะมีนโยบายจ่ายค่าล่วงเวลาอย่างไร
บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบทางลบ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ ที่ปัจจุบันได้ประโยชน์จากปัญหารถติด คนที่บ้านอยู่ไกลที่ทำงานมักเช่าคอนโดหรืออพาร์ทเม้นท์ใกล้ที่ทำงานเพื่อประหยัดเวลาการเดินทางระหว่างสัปดาห์ หากนโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เกิดขึ้นจริง คนกลุ่มนี้อาจย้ายกลับไปอาศัยที่บ้านตนเอง
ปัจจุบันนโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ถูกนำมาใช้จริงมากขึ้น บางบริษัทมีนโยบาย “วันหยุดกลางสัปดาห์” (The Mid-Weekend) ให้วันพุธเป็นวันหยุดเพิ่มนอกจากเสาร์อาทิตย์ หรืออย่างสถานศึกษาในรัฐโคโลราโดและโอคลาโฮมาที่ลดวันเรียนเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์เพื่อประหยัดค่าอาหารและค่าเดินทาง โดยครูสอนในแต่ละวันยาวขึ้นเพื่อให้ได้เนื้อหาครบตามหลักสูตร หรือกระทั่งประเทศญี่ปุ่นที่วัฒนธรรมการทำงานหนักและจริงจัง ปัจจุบันออฟฟิศบางแห่งเลิกงานวันศุกร์เร็วขึ้น หรือให้เข้างานสายได้ในเช้าวันจันทร์ เพื่อลดปัญหาจำนวนคนญี่ปุ่นที่ทำงานจนเครียดและฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2019 บริษัทไมโครซอฟต์ ที่ญี่ปุ่น ก็ทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ผลปรากฏว่าประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น พนักงานทำงานเร็วขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายออฟฟิศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า องค์กรต่างๆ ย่อมสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยมนุษย์ทำงานได้มากขึ้น การทำงานจากบ้านหรือนอกออฟฟิศ (Remote Work) เป็นที่นิยมมากขึ้น มีการประมาณการว่าปัจจุบันกว่า 3% ของแรงงานในสหรัฐอเมริกาทำงานจากนอกออฟฟิศเกินครึ่งของระยะเวลาทำงาน 16% ทำจากนอกออฟฟิศในบางส่วนของงาน
ล่าสุด FlexJobs พึ่งเผยแพร่ผลสำรวจตำแหน่งงานหรืออาชีพที่อนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านหรือนอกออฟฟิศได้ในปี 2019 จากบริษัททั้งสิ้น 54,000 บริษัทพบว่า ตำแหน่งงานส่วนใหญ่ที่พนักงานทำจากนอกออฟฟิศได้มากสุด คืองานในอุตสาหกรรมการแพทย์หรือเพื่อสุขภาพ รองลงมาได้แก่ คอมพิวเตอร์ / IT งานดูแลลูกค้า งานด้านการศึกษาและฝึกอบรม งานด้านบัญชีและการเงิน ตามลำดับ FlexJobs ชี้ว่า จากการเก็บข้อมูลต่อเนื่อง ประเภทและความหลากหลายของงานที่อนุญาตให้ทำนอกออฟฟิศได้ นับวันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการประมาณการว่า ตำแหน่งงานประเภท Remote Work เพิ่มขึ้นถึง 159% ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา
การทำงานจากบ้านยังช่วยให้พนักงานประหยัดขึ้น งานสำรวจพบว่า โดยเฉลี่ยแต่ละคนลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้มากสุดคือ ค่าซักรีดและซักแห้งเสื้อผ้า รองลงมา คือ ค่าอาหารกลางวันและค่ากาแฟ ค่าซ่อมรถ ค่าน้ำมัน ตามลำดับ
Centre for Economics and Business Research ร่วมกับบริษัทซอฟแวร์รายใหญ่ Citrix สำรวจพนักงาน 2,500 คน งานสำรวจพบว่าการเปิดกว้างให้การทำงานยืดหยุ่นขึ้นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มแต่ละปีมากถึง 2 ล้านๆ ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะการสามารถดึงแรงงานที่ปัจจุบันอยู่นอกระบบ เป็นพาร์ทไทม์ บ้านไกล เข้าสู่ระบบได้ ตัวอย่างงานวิจัยพบว่า มีถึง 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เลือกบริษัทเฉพาะที่อนุญาตให้ทำงานนอกออฟฟิศได้ ด้วยเหตุผลที่ต้องดูแลลูก หรืออยากอยู่กับลูก และมากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามเลือกปฏิเสธงานหรือเปลี่ยนงานจากเงื่อนไขทางครอบครัว
งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Journal of Business and Psychology ฉบับปี 2019 ทำการสำรวจพนักงานจากสายงานและตำแหน่งต่างๆ จำนวน 273 คน งานวิจัยพบว่า งานประเภทที่มีความซับซ้อนสูงแต่ไม่ต้องอาศัยการประสานงานกับคนอื่นๆ การอนุญาตให้ทำงานที่บ้านหรือจากนอกออฟฟิศได้ ผลงานออกมาดีกว่าการบังคับให้นั่งทำที่ออฟฟิศเสียอีก
ในแง่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม Global Workforce Analytics ประมาณการว่า ถ้าประชากรโลกเปลี่ยนจากทำงานที่ออฟฟิศเป็นทำงานที่บ้านเพียงครึ่งหนึ่งของเวลางานทั้งหมดจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 54 ล้านตัน
ความคาดหวังต่อ Work-Life Balance หรือสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานเป็นเรื่องใหญ่ของคนยุคนี้ Work-Life Balance ช่วยดึงดูดคนเก่งให้มาสมัครงาน ขณะเดียวกันก็ช่วยรักษาแรงงานที่มีศักยภาพสูงให้อยู่กับองค์กรต่อไป จากการสำรวจของ Bank of America Merrill Lynch ปี 2017 พบว่า 59% ของวัยรุ่น (Millennial) อเมริกันเลือกทำงานกับบริษัทหรืองานที่สอดคล้องกับไลฟสไตล์ตัวเอง เช่นเดียวกับผลสำรวจของ Deloitte ใน Deloitte’s Millennial Survey ที่พบว่าแรงงานรุ่นใหม่ศักยภาพสูงตัดสินใจเลือกทำงานที่ใดบนปัจจัย Work-Life Balance หรือความยืดหยุ่นในการทำงานมากสุด นโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ หรืออนุญาตให้ทำงานจากนอกออฟฟิศได้ เป็นตัวอย่างนโยบายสำคัญที่ช่วยสร้าง Work-Life Balance
เราจึงพบว่าบริษัทสมัยใหม่จำนวนมากอนุญาตให้พนักงานทำงานจากนอกออฟฟิศ ในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีบริษัทที่อายุน้อยกว่า 11 ปีถึง 82% ที่ยอมให้พนักงานทำงานจากนอกออฟฟิศในปัจจุบัน
การสร้าง Work-Life Balance ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่พนักงานเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์ต่อบรรยากาศที่ทำงาน เพื่อนร่วมงาน และความสัมพันธ์กับครอบครัว Work-Life Balance ที่เหมาะสม ช่วยให้ครอบครัวของพนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วย
สำหรับประเทศไทย การจะนำนโยบายนี้มาใช้ อาจต้องเตรียมความพร้อมอีกหลายด้าน ประโยชน์หลักๆ ที่ได้โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร น่าจะเป็นเรื่องช่วยลดปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศ อย่างไรก็ตามคำถามสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรไม่ลดลง ไม่กระทบการเจริญเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศ
ในอนาคต อาจเป็นอย่างที่ John Maynard Keynes นักเศรษฐศาสตร์เรืองนามเคยทำนายไว้ ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า มนุษย์จะทำงานเหลือเพียง 15 ชั่วโมงหรือ 2-3 วันต่อสัปดาห์ เพราะคนเราเมื่อทำงานถึงรายได้ระดับหนึ่ง เราจะอยากทำงานน้อยลง
นับจากนี้ไป บริษัทที่อยากได้คนเก่งๆ ไปทำงานด้วย ต้องแข่งกันด้วยนโยบายเหล่านี้แล้วครับ
แหล่งที่มา
Businessinsider ,ECON , Fast Company , Huttpost , The Guardian , Warwick , Weforum , Wired , APA , Deloitte