5G เทคโนโลยีที่เรียกได้ว่า รอคอยให้เกิดขึ้นมานานใกล้เคียงกับการรอคอยให้ 4G เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ 5G จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการทำงาน ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย ความแม่นยำในการกระบวนการทำงาน หรือแม้แต่ลดต้นทุนในแง่ของการผลิตเกินหรือผลิตเสีย ที่สำคัญยังสามารถนำแรงงานไปทำงานด้านอื่นที่สำคัญกว่า
ด้วยความสามารถด้านความเร็วในการรับส่งข้อมูล ผสานกับความหน่วงของสัญญาณ (Latency) ที่ลดลง ช่วยให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญยังรองรับการรับส่งข้อมูลพร้อมกันเป็นจำนวนมากได้ โดยเฉพาะจากเซ็นเซอร์ควบคุมทำให้เกิดความแม่นยำในการทำงาน และการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วทำให้การดำเนินการต่างๆ ทำได้ทันท่วงที
AIS ถือว่าเป็นค่ายแรกที่จริงจังในการใช้เทคโนโลยี 5G กับอุตสาหกรรม และถือเป็นค่ายแรกที่การทดสอบอย่างจริงจังโดยร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยในการจัดงาน Show Case เพื่อแสดงให้เห็นว่า 5G สามารถทำอะไรได้บ้าง จนพัฒนาไปสู่ Use Case ที่แสดงให้เห็นว่าสามารถใช้งานได้จริง บนปัจจัยแวดล้อมจริง
ล่าสุด AIS ได้ร่วมมือกับ SCG บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีแนวคิดด้านนวัตกรรมที่ล้ำสมัย และมีการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการทำงาน พร้อมร่วมสร้าง Real Case การนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริง ในอุตสาหกรรมจริงบนรูปแบบการทำงานจริง โดยมีการใช้เทคโนโลยี 5G ในการควบคุมรถยก (Forklift) ในพื้นที่เตรียมการจัดส่งสินค้า
โดยการทำงานดังกล่าวจะให้ผู้ขับรถยกประจำการที่สำนักงานใหญ่บางซื่อ กรุงเทพฯ ขณะที่พื้นที่การทำงานอยู่ที่โรงงานในจังหวัดสระบุรี ซึ่งสามารถควบคุมรถยกให้เคลื่อนย้ายสิ่งของจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดที่ต้องการได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ ช่วยเพิ่มผลิตผลให้ธุรกิจ สามารถต่อยอดไปสู่การฝึกอบรมพนักงานทางไกล และเพิ่มความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยงสูง
ด้าน นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS ชี้ว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นก้าวที่สำคัญของการทดสอบ 5G ในภาคอุตสาหกรรมไทย ด้วยการทดลองทดสอบ 5G ในสภาพแวดล้อมจริงบนคลื่นความถี่ 2.6 GHz ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช.เป็นครั้งแรกที่ใช้งานจริงในรูปแบบ Real Case จริงที่สามารถนำไปต่อยอดใช้งานในอุตสาหกรรมอื่นได้ในอนาคต
การพัฒนานวัตกรรม 5G ยังมีองค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ อีกหลายด้าน ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใน Ecosystem ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม 5G เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันในเวทีโลก พร้อมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป
ด้าน นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ผู้อำนวยการ โครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 SCG เห็นว่า SCG ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ สำหรับโครงการการพัฒนารถ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกลด้วยเครือข่าย 5G ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานอย่างมาก สามารถต่อยอดไปทดลองกับเครื่องมืออื่นๆ ในอนาคต ทั้งในงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การระเบิดหินและการทำงานในเตาเผาปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมประสิทธิภาพให้ธุรกิจโลจิสติกส์ รวมไปถึงการเสริมประสิทธิภาพของ IoT ในบ้านที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและปลอดภัยจนก่อให้เกิด Smart Home
แว่วว่าในโครงการต่อไป 5G จะเริ่มก้าวเข้าสู่โลกของ Health Medical โดยเฉพาะในเรื่องของการผ่าตัดที่ช่วยให้แพทย์สามารถทำการผ่าตัดได้จากระยะไกล ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่อยู๋ห่างไกลมีโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไป