“โชห่วย” Never Die! เมื่อปรับโฉมใหม่ ใส่ “เทคโนโลยี – พลิกแนวคิด” สู่ภาพ Outlet ชุมชน

  • 513
  •  
  •  
  •  
  •  

คุณเป็นคนหนึ่งที่คิดว่า “ร้านโชห่วย” กำลังถูกบีบให้หายไปช้า ๆ จากการเข้ามาของ “ร้านสะดวกซื้อ” ใช่หรือไม่ แต่หากได้รู้สถิติ “การเติบโต” ของร้านค้าโชห่วย คุณอาจไม่คิดเช่นนั้น เพราะ…
.
  • ในปี 2561 ประเทศไทยมีร้านค้าโชห่วย 438,820 ร้าน ส่วนปี 2562 “เพิ่มขึ้น” เป็น 443,123 ร้าน
  • เมื่อเทียบ “ส่วนแบ่ง” ระหว่างร้านโชห่วย ร้านสะดวกซื้อ และไฮเปอร์มาร์เก็ต จะพบว่า ร้านโชห่วยมีสัดส่วนสูงสุดที่ 44.1% ตามด้วยร้านสะดวกซื้อ 31.8% และไฮเปอร์มาร์เก็ต น้อยสุดที่ 24.1%
หากพิจารณา “การกระจายตัว” โดยแบ่งตามภูมิภาคจะพบว่า “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เป็นภาคที่มีร้านค้าโชห่วยกระจายอยู่มากที่สุดในประเทศถึง 34% ขณะที่ ภาคกลาง 22% ภาคเหนือ 16% ภาคใต้ 15% ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 13%
(ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์)

แต่ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันอย่างเข้มข้นของเหล่าร้านค้า ทั้งร้านโชห่วย ร้านสะดวกซื้อ และไฮเปอร์มาร์เก็ต ทุกคนล้วนต้องขยับตัวเพื่อตอบโจทย์และเอาชนะใจผู้บริโภคให้ได้

รัฐออกแรงหนุน “โชห่วย” พลิกโฉม ยกระดับสู่ “SMART โชวห่วย”

ประเด็นนี้มาจากการที่ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดโครงการ “พัฒนาร้านค้าปลีกสู่ SMART โชห่วย” ซึ่งร่วมกับภาครัฐ เอกชน สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงิน รวมถึง ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกไทยในระดับท้องถิ่น ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค และผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน เพื่อเปิดตัวการพัฒนาร้านค้าโชห่วยให้กลายเป็น SMART โชห่วย ด้วยการพลิกกลยุทธ์ปรับร้านค้าเป็นโฉมใหม่กับแนวคิด “คนซื้อสะดวก คนขายจัดการง่าย” เช่น ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยจัดการระบบ แบ่งเบาภาระการบริหารจัดการ ขยายบริการ สร้างยอดขายเพิ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการชุมชน

แนวคิดดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงโครงการนามธรรม เพราะกระทรวงพาณิชย์ประกาศเอาจริง! ทั้งยังกำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนว่าภายในปี 2563 จะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกับร้านค้าโชห่วยไม่ต่ำกว่า 30,000 ร้านทั่วประเทศ เพื่อผลักดันให้ร้านค้าประเภทดังกล่าวมีศักยภาพมากขึ้น สามารถเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

พิสูจน์ไอเดีย “โชห่วยอัจฉริยะ” เป็นไปได้ในสังคมไทย!

ในแง่การปรับตัวของร้านค้าโชห่วยที่ภาครัฐและพันธมิตรความร่วมมือพยายามผลักดันผ่านโครงการนี้ ถูกวิเคราะห์มาจาก Pain Point จริงของธุรกิจ พร้อมกับพัฒนาเป็นต้นแบบให้เห็นภาพความเป็นไปได้จริง ซึ่งหลักการพลิกโฉมของร้านค้าโชห่วยง่าย ๆ ต้องเริ่มต้นจากแนวคิดที่จะทำให้ร้านค้าสะดวกกับผู้บริโภค เช่น การจัดผังร้าน – เรียงสินค้าให้ง่ายต่อการค้นหา, การจัดโปรโมชันดึงดูดลูกค้า, การใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการให้เป็นระบบ อาทิ เครื่อง POS เพื่อช่วยบริหารสต็อกสินค้าและการทำบัญชี, การรับชำระสินค้าผ่าน QR code, การจำหน่ายสินค้าชุมชน หรือแม้แต่การเติมภาพลักษณ์ มุมกาแฟ และครัวชุมชน รวมถึงการเปิดจุดรับชำระค่าบริการเพื่อสร้างช่องทางรายได้ใหม่ ๆ แก่ร้าน เป็นต้น

อุปสรรคสำคัญ คือ การก้าวข้าม “บันไดขั้นแรก” ไม่ใช่ “คู่แข่งรายใหญ่”

ดู ๆ ไปแล้ว ต้องยอมรับว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องยาก แถมไอเดียที่ภาครัฐพยายามเฟ้นออกมาแนะนำร้านค้าโชห่วยให้ปรับตัวเช่นนี้ ก็ยังเป็นแนวทางที่เรียกว่าค่อยเป็นค่อยไป ชวนให้ร้านค้าลุกขึ้นปัดฝุ่นให้ตัวเองแต่ไม่ถึงกับต้องทุบร้านสร้างใหม่ เพราะเทคโนโลยีที่ว่ามาทั้งหมด ก็เป็นแนวทางที่ร้านสะดวกซื้อและไฮเปอร์มาร์เก็ตต้องมุ่งไปเช่นกัน แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคและทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นยากที่สุด ก็คือ การก้าวข้ามออกจากกรอบความคิดเดิม! สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นอุปสรรคขนาดมหึมาของร้านค้าโชห่วยดั้งเดิม

ดังนั้น นอกจากแนะนำแนวทางแล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังออกแอ็คชั่นสำคัญผ่านการพัฒนาความรู้การบริหารจัดการธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ด้วย รวมถึงแนวทางการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการร้านค้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการจัดทีมพี่เลี้ยงเพื่อช่วยให้คำปรึกษา ปรับภาพลักษณ์ให้ร้านค้า ทั้งยังมีบริการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การเชื่อมโยงสินค้า SME – OTOP และสินค้าชุมชนจากท้องถิ่น เพื่อจำหน่ายในร้านค้าเพื่อขยายช่องทางสร้างรายได้

จากสถิติการเติบโตแบบน้ำซึมบ่อทรายของ “ร้านค้าโชห่วย” ที่ได้เห็น ประกอบกับแนวทางการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมของภาครัฐและเอกชนทั้งหลาย เชื่อว่า “เอกลักษณ์” ความเป็นร้านโชห่วยจะยังคงอยู่กับสังคมไทยไปอีกนานเท่านาน และยังมีโอกาสพัฒนาศักยภาพได้อีกยาวไกล ไม่แน่ว่า…ท้ายที่สุดเราอาจได้เห็น โชห่วยยุคใหม่ที่กลายเป็น Outlet” ที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับชุมชน และสวมบทบาทเดิมกับการเป็น “ฐานรากทางเศรษฐกิจ” ของประเทศไทยไปอีกยาวนาน


  • 513
  •  
  •  
  •  
  •