“การซื้อของผ่านออนไลน์” กลายเป็นอะไรที่ง่าย ๆ และเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของคนเราไปแล้ว เพียงแค่จะสั่งบ่อย หรือไม่บ่อยเท่านั้น แต่บางครั้งเราก็ต้องเจอปัญหาสั่งของแล้วไม่ได้รับของ หรือเรียกง่าย ๆ จ่ายเงิน แล้วโดนเท ซึ่งสร้างความเดือดร้อน กังวลใจให้กับบรรดาลูกค้าจำนวนไม่น้อย
หากใครที่กำลังประสบปัญหานี้ หรือคนรอบข้างเองก็ตามแล้วอยากร้องเรียนแต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร วันนี้เรามีคำแนะนำจากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเกี่ยวกับ ‘การร้องเรียนเมื่อซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้ของ’ มาฝากกัน
ซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้ของทำอย่างไรดี?
สำหรับการร้องเรียนจะแบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ แบบที่สั่งจากเว็บไซต์ออนไลน์ที่มีระบบคนกลาง และแบบเว็บไซต์ออนไลน์ที่ไม่มีระบบคนกลาง
1. หากเป็นเว็บไซต์ออนไลน์ ที่มีระบบคนกลางเก็บรักษาเงินไว้ให้ส่งเรื่องขอคืนเงิน ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้
2.เว็บไซต์ออนไลน์ ไม่มีระบบคนกลาง หรือผู้บริโภคซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม และได้ชำระเงินให้กับผู้ขายโดยตรงไปแล้ว ให้ดำเนินการดังนี้
– กรณีชำระผ่านบัตรเครดิต : ให้รีบแจ้งยกเลิกรายการธุรกรรมกับธนาคารเจ้าของบัตรภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันครบกำหนดส่งมอบสินค้า แต่หากไม่ได้กำหนดวันส่งมอบไว้ในเงื่อนไขแต่แรก ให้รีบแจ้งปฏิเสธการชำระเงินกับธนาคารเจ้าของบัตรทันที
– กรณีโอนเงิน หรือจ่ายด้วยบัตรเครดิต : ให้แจ้งความดำเนินคดีฉ้อโกงกับผู้ขาย และเจ้าของบัญชีที่รับชำระค่าสินค้า โดยนำเอกสารแจ้งความไปยื่นต่อธนาคารปลายทางที่รับชำระเงินเพื่อขอให้อายัตบัญชีนั้นไว้ หลักฐานที่ต้องเตรียม ก็เช่น ข้อมูลผู้ขาย, ร้านค้า, เลขที่บัญชีธนาคาร, ข้อมูลการโอนเงิน, ประวัติการสนทนาซื้อขาย เป็นต้น
หลังจากที่ได้ดำเนินการตามคำแนะนำข้างต้นไปแล้ว ก็ให้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีกับผู้ขายจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เลย