“บ้านปูฯ” เปิดโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ในจีน ขนาด 1 GWh ขยายกำลังผลิตสูงสุดในอาเซียน

  • 22.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

[ข่าวประชาสัมพันธ์]

Banpu

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก สยายปีกกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เปิดเกมรุกธุรกิจจัดเก็บพลังงานเต็มสูบ ผนึกพันธมิตรระดับโลก บริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเธียมไอออน (LiB) สำหรับรถยนต์และระบบไฟฟ้าสำรอง ร่วมเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมาตรฐานโลก ในเมืองซูโจว (Suzhou) สาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ขยายกำลังผลิตให้สูงสุดในอาเซียน โดยสามารถรองรับการผลิตได้ถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง ชูจุดแข็งเป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมมีเครื่องหมายการันตีใบรับรองคุณภาพและสิทธิบัตรต่างๆ ในระดับสากลทั่วโลกกว่า 40 ใบ มั่นใจสามารถรองรับแผนเชิงรุกในการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นในยุโรป จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ไทยและภูมิภาคอาเซียนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันกว่า 20 ประเทศ ตอบโจทย์ทิศทางตลาดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากแนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รถบัส รถบรรทุก ระบบการกักเก็บพลังงานสำหรับบ้านพักอาศัย และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในระบบการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) นับเป็นการแสดงศักยภาพของบ้านปูฯ ตามแผนการพัฒนาพลังงานอย่างมั่นคงและยั่งยืน (Sustainable Energy) ให้ 1. มีความมั่นคงต่อเนื่องของพลังงานสะอาด 2. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3. ด้วยราคาที่เหมาะสม ประกอบกับการยึดหลักการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล(Environment, Social and Governance) หรือหลัก ESG ดังที่บ้านปูฯ ได้รับการรับรองการจัดอันดับดัชนีความยั่งยืนใน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2557

Banpu

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “บ้านปูฯ มุ่งมั่นขยายธุรกิจที่ตอบโจทย์เทรนด์ความยั่งยืน หรือ ESG และสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานอย่างต่อเนื่อง ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยเข้าถือหุ้นร้อยละ 47 ของบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจกักเก็บพลังงานชั้นนำในหลายประเทศทั่วโลกมาประมาณ 10 ปี เนื่องจากเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่สอดรับกับเทรนด์เทคโนโลยีพลังงานในอนาคตและเสริมแกร่งระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปูฯ ซึ่งการได้ลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐานระดับโลกเช่นนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการเสริมศักยภาพ สร้างความแข็งแกร่ง และสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้แก่กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ตลอดจนขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทยและในระดับสากลให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง”

บ้านปูฯ และดูราเพาเวอร์ มุ่งพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในเมืองซูโจว (Suzhou) สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้มีระบบการดำเนินงานและการผลิตที่ศักยภาพมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงในระบบออโตเมชันมาใช้ภายในโรงงาน มุ่งเน้นคุณภาพ ความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาวิจัยเพื่ออนาคต พร้อมขยายกำลังการผลิตจากเมื่อปี 2561 มีกำลังผลิตรวมสูงสุดต่อปีอยู่ที่ 80 เมกะวัตต์ชั่วโมง โดยเพิ่มให้สามารถรองรับแผนการผลิตได้ถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง ส่งผลให้โรงงานแห่งนี้มีกำลังผลิตสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ผ่านมา ได้มีการเปิดโรงงานอย่างเป็นทางการ เพื่อเดินเครื่องไลน์การผลิต และเปิดเกมรุกตลาดธุรกิจจัดเก็บพลังงานอย่างเต็มรูปแบบ โดยตั้งเป้าหมายจะเดินหน้าขยายฐานลูกค้าในภูมิภาคยุโรป อเมริกา และเอเชีย เพิ่มขึ้นต่อไป

มร.เคลวิน ลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า “การเปิดโรงงานแห่งใหม่และมีเทคโนโลยีขั้นสูง นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของดูราเพาเวอร์ ในการขยายธุรกิจไปทั่วโลก เพื่อส่งมอบสินค้าและกระจายบริการที่มีคุณภาพไปยังลูกค้าในทุกเซกเมนต์และทุกภูมิภาค และการมีองค์กรชั้นนำด้านพลังงานระดับภูมิภาคเอเชียอย่างบ้านปูฯ มาเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับทั้งสององค์กรเติบโตควบคู่กันต่อไป เพื่อให้พร้อมแข่งขันในตลาดที่มีการแข่งขันสูง”

“สำหรับความคืบหน้าของความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นการขยายขีดความสามารถด้านการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์และระบบจัดเก็บพลังงาน เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ตลาดในอนาคต ทั้งนี้ นอกจากการเพิ่มกำลังผลิตในปีนี้เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว เรายังมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตของโรงงานซูโจวให้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับแผนการบุกตลาดระบบกักเก็บพลังงานแบบติดตั้งอยู่กับที่ (Stationary Energy Storage System) ของบ้านปูฯ ในปี 2563 ซึ่งโรงงานแห่งนี้สามารถรองรับการขยายไลน์การผลิตได้สูงสุดถึง 3 กิกะวัตต์ชั่วโมง” นางสมฤดี กล่าวทิ้งท้าย

[ข่าวประชาสัมพันธ์]


  • 22.5K
  •  
  •  
  •  
  •