เปิดเส้นทาง 23 ปี Pantip.com Online Community ของคนไทย
Oops! inDepthเปิดเบื้องหลังความสำเร็จ 23 ปี “Pantip.com” พร้อมกับความท้าทายในยุค Social Media ครองเมือง ถ้าเอ่ยชื่อเว็บไซต์ของไทยชื่อดังที่ถือกำเนิดในยุค “dot com” “Pantip.com” คือหนึ่งในนั้น แจ้งเกิดในฐานะ “Online Community” ให้กับคนไทยได้เข้ามาตั้งกระทู้สนทนากัน ไม่ว่าจะแสดงความคิดเห็น หรือกระทู้ขอคำแนะนำ คำปรึกษา ไปจนถึงแชร์ประสบการณ์ต่างๆ แต่ต่อจากนี้ ก้าวต่อไปของ Pantip คือ ต้องการเป็น “แพลตฟอร์มที่มีคำตอบที่น่าเชื่อถือให้กับทุกคำถาม” ทีคนไทยเข้ามาตั้งกระทู้ ผ่านการบริหารของ อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี เว็บไซต์ Pantip.com#ExclusiveVideo#Pantip#MarketingOops*************************เร็วกว่า มากกว่า อ่านได้ที่เว็บ www.marketingoops.comติดตาม LINE Official Account ค้นหา 👉 Marketing Oops! หรือคลิก https://line.me/R/ti/p/%40marketingoops
โพสต์โดย Marketing Oops! เมื่อ วันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2019
ในยุคอินเทอร์เน็ตแรกเริ่มของเมืองไทยเมื่อกว่า 20 – 30 ปีที่แล้ว มาพร้อมกับการเกิดขึ้นของ “เว็บไซต์ดอทคอม” (.com) ทั้งไทย และต่างประเทศ ที่ต่างต้องการเป็น “เว็บท่า” (Portal Web) เมื่อผู้ใช้เปิดคอมพิวเตอร์แล้ว จะเป็นหนึ่งในเว็บไซต์หลักที่เข้าไป
เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของ “.com” ก็ว่าได้ และเวลานั้นแจ้งเกิดเว็บไซต์ของคนไทยหลายราย หนึ่งในนั้นคือ “Pantip.com” ถือเป็น Social Media ประเภทหนึ่งในรูปแบบ Online Community
แต่แล้วกาลเวลาได้เปลี่ยนผ่านสู่ยุค “Social Media จากต่างประเทศ – Application – Smartphone” เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจากที่เคยเข้าเว็บท่าทุกครั้งที่เปิดคอมพิวเตอร์ ไปเป็นเข้าแอปฯ Social Media ของต่างประเทศ ผ่านโทรศัพท์มือถือทันทีที่ตื่นนอนตอนเช้า ระหว่างเดินทาง และแทบจะทุกครั้งที่หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมา เพื่ออัพเดทข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา
สถิติคนไทยใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน จากค่าเฉลี่ยการใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 9 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน
เมื่อ Social Media คือแพลตฟอร์มแรกๆ ที่ผู้บริโภคเปิดใช้งานทุกครั้งที่ unlock สมาร์ทโฟน และในแต่ละวันมีคอนเทนต์รูปแบบต่างๆ วิ่งเข้าหาผู้บริโภคในปริมาณมากมายมหาศาล
นี่จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายของเว็บไซต์ดอทคอม !!! ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้บริโภคยังคงเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มของตนเอง และเมื่อไม่อาจปฏิเสธพลังของ Social Media จากต่างประเทศได้ ทำอย่างไรที่จะผสานเข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านั้น
ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องสร้างการเติบโตด้านรายได้ที่มาจากโฆษณาของแบรนด์สินค้า-บริการต่างๆ ควบคู่กันไปเช่นกัน
MarketingOops! ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี เว็บไซต์ pantip.com” บริษัท อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ถึงการเดินทางของ pantip.com ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ และก้าวนับจากนี้ที่ไม่จำกัดตัวเองแค่การเป็น Online Community เท่านั้น แต่จะยกระดับไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่มีคำตอบน่าเชื่อถือให้กับคนไทย
เปิดเส้นทาง 23 ปี จาก “Online Magazine” สู่ “Online Community” ของคนไทย
จุดเริ่มต้นของ “pantip.com” ถือกำเนิดเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ในช่วงปี 2539 ก่อตั้งโดย “คุณวันฉัตร ผดุงรัตน์” ยุคแรกทำเป็น “Online Magazine” แปลข่าว-บทความต่างประเทศมาให้ผู้อ่านได้อ่านกัน กระทั่งวันหนึ่งมีผู้ใช้ท่านหนึ่งมาอ่านบทความใน pantip.com และส่งอีเมล์มาหาคุณวันฉัตร เสนอแนะให้มีเพลงประกอบในเว็บไซต์เพิ่มเติม
แต่เมื่อ 23 ปีที่แล้ว ไม่สามารถหาคำตอบนี้ได้เองในโลกออนไลน์ ทางคุณวันฉัตรจึงได้ตอบกลับอีเมล์ไปยังผู้อ่านท่านนั้น เพื่อขอวิธีเอาเพลงมาใส่ในเว็บไซต์ และผู้ใช้ pantip.com ท่านนั้นได้อธิบายวิธีกลับมา
คุณวันฉัตรจึงเกิดไอเดียว่า คำตอบที่รู้กันสองคนจากอีเมล์ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ให้กับคนอื่นได้รู้เช่นกัน
จากอีเมล์ฉบับนั้นเอง กลายเป็นจุดเปลี่ยนแรกของ “pantip.com” ที่เปลี่ยนจาก Online Magazine นำเสนอข่าว – บทความ ไปสู่การเป็น “Online Community” หรือ “Webboard” ที่ให้สมาชิกเข้ามาตั้งกระทู้ และร่วมให้ข้อมูล -แสดงความคิดเห็น
จากยุคแรกเป็นกระดานสนทนาเกี่ยวกับเรื่องไอที และเทคโนโลยี ขยายไปยังเรื่องทั่วไป ถึงวันนี้เพิ่มเป็น 38 ห้องสนทนา และเมื่อ 6 – 7 ปีที่แล้วได้เพิ่ม “Tag” เข้ามา
ห้องสนทนา กับ Tag ต่างกันตรงที่ “ห้องสนทนา” เป็นการคุยกันภาพใหญ่ เช่น เรื่องกีฬา ไปคุยที่ห้องศุภชลาสัย แต่ถ้าคุญเฉพาะลึกไปอีก จะเป็น “Tag” เช่น ในห้องศุภชลาสัย จะมี Tag กีฬาแต่ละประเภท เช่น ฟุตบอล, วอลเลย์บอล ฯลฯ
เหตุผลที่สร้าง Tag ขึ้นมา เพราะทำให้ Community ใหญ่ ขยายออกเป็น “Micro Community” จะทำให้สมาชิก และผู้อ่านมีความเหนียวแน่นมากขึ้น เพราะเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 17,000 Tags และฐานสมาชิกกว่า 5 ล้านราย รวมทั้งยังมีผู้อ่านทั่วไปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอีกจำนวนมาก
ที่ผ่านมาหลายกระทู้ที่เกิดขึ้นบน Online Community แห่งนี้ ได้กลายเป็นกระแสที่พูดถึงกันในสังคมเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังได้เกิดศัพท์ใหม่ใช้กันใน Community นี้ และบางคำได้ขยายวงกว้างไปใช้กันบนออนไลน์อื่นๆ ด้วย เช่น
“นักสืบพันทิป” หลายเรื่องถูกตีแผ่ความจริงโดยสมาชิกใน pantip ช่วยกันสืบค้นหลักฐาน
“จขกท” ย่อมาจากเจ้าของกระทู้
“ปูเสื่อรอ” คือ เจ้าของกระทู้เล่าเรื่อง แต่ยังเล่าไม่จบ สมาชิกท่านอื่นๆ เข้ามารออ่าน รอติดตาม
“กินเผือก” คือ แสดงความสนใจต่อเหตุการณ์ หรือเรื่องราวหนึ่งๆ ที่เป็นข่าวอยู่
“ต้มมาม่า” คือ กระทู้ที่มีแนวโน้มจะเกิดดราม่า สมาชิกก็จะมาต้มมาม่ารอกัน
“Key Success Factor อันแรกของ Pantip.com คือ การที่เราเกิดมาเพื่อให้คนไทยได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
คุณวันฉัตรมีข้อความหนึ่งที่ขึ้นไว้บนเว็บไซต์ pantip.com เมื่อ 23 ปีที่แล้ว คือ “ไม่มีใครรู้ในทุกสิ่ง เรารู้ในสิ่งที่ผู้อื่นไม่รู้ เช่นเดียวกับที่ผู้อื่นรู้ ในสิ่งที่เราไม่รู้ pantip คือพื้นที่สำหรับมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน” นี่คือ จุดยืนของเราในการเป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้กัน
ขณะที่วิสัยทัศน์ปัจจุบันคือ เราจะมีคำตอบที่น่าเชื่อถือให้กับทุกคำถามของคนไทยให้ได้ คนไทยมีคำถามอะไร เข้า Pantip แล้ว ควรจะได้รับคำตอบ และคำตอบนั้น ควรมีความน่าเชื่อถือด้วย
การที่เราจะไปถึงจุดที่มีความรู้ – มีคำตอบที่น่าเชื่อถือได้ เกิดจาก “ผู้ใช้” เกิดจาก “สมาชิก” ของ Pantip และสิ่งที่เราทำมาตลอด คือ การดูแลสมาชิกที่มีคุณภาพอย่างดี เพราะสมาชิกหลายท่านเสียสละเวลามาแบ่งปันความรู้ แบ่งปันคำตอบ แบ่งปันความคิดเห็นบน Pantip และเป็นประโยชน์ต่อผู้คนมากมาย
เราก็ต้องมีการตอบแทนเล็กน้อย เป็นของชำร่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่เราส่งไปเพื่อแทนคำขอบคุณ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เราประสบความสำเร็จถึงทุกวันนี้”
และเมื่อไม่นานนี้ ได้ปรับโฉมใหม่ในรอบ 6 ปี หลังจากเคยปรับใหญ่ไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2556 เพื่อตอบโจทย์การใช้งานทั้งแบบ Desktop Version และ Mobile Version รวมถึงนำเสนอคอนเทนต์ของแต่ละห้องสนทนาให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งแสดง 4 ฟีเจอร์ชัดเจนขึ้น คือ
“Pantip Trend” คือ กระทู้ที่สมาชิกคลิกเข้ามาอ่านมากที่สุดในรอบ 24 ชม. ที่ผ่านมา โดยสามารถเป็นได้ทั้งกระทู้ใหม่และกระทู้เก่าที่สมาชิกกลับมานิยมอ่านอีกครั้ง
“Pantip Now” คือ กระทู้ที่มีคนอ่านมากที่สุดในชั่วโมงนี้ ประมวลผลด้วยระบบ Algorithm
“Pantip Pick” คือ กระทู้ที่กองบรรณาธิการเป็นผู้เลือก โดยเลือกจากกระทู้ที่มีเนื้อหาสาระดี เป็นต้นฉบับ และเป็นกระทู้ Timeless หรือที่เรียกว่า Evergreen Content ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ก็ยังเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ และอ่านได้เรื่อยๆ ถึงแม้กระทู้นั้นๆ ไม่ได้มีคอมเมนต์ หรือคนอ่านเยอะก็ตาม
“My Feed” เป็นฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว ให้สมาชิกคัดเลือกและรวบรวมกระทู้ที่ตัวเองสนใจเก็บไว้ ทำให้ผู้ใช้งานคนนั้นๆ มี Timeline ส่วนตัว
“การปรับโฉมรอบนี้ ปรับให้เป็น Responsive Design ทั้งหมด ทั้ง Forum และ Tag เพราะหนึ่ง ผู้ใช้แต่ละห้องสนทนา แต่ละ Tag ต้องการคอนเทนต์ที่ถูกนำเสนอที่แตกต่างกัน เช่น เราทำรีเสิร์ชกับผู้ใช้บางห้อง
เช่น ห้องสินธร พบว่าผู้ใช้สนใจอ่านข่าวลงทุน การเงิน เศรษฐกิจ เราเลือกหยิบกระทู้ข่าวกลุ่มนี้มาไว้ด้านบนสุดของห้อง เพื่อให้เข้าถึงกระทู้ข่าวได้เร็วที่สุด ขณะที่ห้องก้นครัว คนชอบเข้ามาหาสูตรอาหาร เรามีพื้นที่ Pantip Pick กระทู้สูตรอาหารที่สมาชิกเขียนขึ้นมาตั้งแต่อดีตรวบรวม นำมาแสดงบนหน้าห้องก้นครัว เพื่อให้เขาเข้าถึงสูตรอาหารที่เขาสนใจได้เร็วที่สุด
สอง ตอบโจทย์ผู้ใช้ที่เข้าผ่านมือถือมากขึ้น และสาม ในแง่ของการดูแลรักษาเว็บไซต์จะง่ายขึ้น เพราะมีเวอร์ชันเดียวแล้ว ไม่ต้องแยก Website และ Mobite site แบบแต่ก่อนแล้ว”
ใช้ “Machine Learning” เรียนรู้พฤติกรรมผู้ใช้งาน เสิร์ฟกระทู้ และโฆษณาตรงความสนใจผู้อ่าน
ปัจจุบัน “pantip.com” ใช้ Machine Learning เรียนรู้พฤติกรรมผู้อ่าน เช่น อ่านกระทู้ไหนบ้าง ความถี่ในการอ่าน ประเภทของกระทู้ จากนั้นระบบจะประมวลผล เพื่อนำเสนอกระทู้ที่ตรงกับความสนใจของผู้อ่าน รวมถึงเวลาที่ผู้อ่านกำลังอ่านกระทู้ใดๆ ก็ตาม ระบบจะนำเสนอกระทู้ที่มีเนื้อหาสัมพันธ์กับกระทู้ที่กำลังอ่านอยู่
รวมทั้งยังใช้ Machine Learning สำหรับฟีเจอร์ Auto Tag จากเดิมสมาชิกตั้งกระทู้ ต้องติด Tag เอง แต่การติด Tag เอง มีปัญหาทั้งติดผิดบ้าง ถูกบ้าง ดังนั้นการมี Auto Tag ทำให้ผู้ใช้ติด Tag ง่ายขึ้น โดยระบบจะแนะนำ Tag โดยอัตโนมัติ
“พฤติกรรมผู้อ่านแต่ละห้องสนทนามีความหลากหลาย ทั้งวิธีการใช้งาน หรือรูปแบบการใช้งาน คอนเทนต์ที่พูดคุยกัน และช่วงเวลา Peak Time ของแต่ละห้องสนทนาแตกต่างกัน
อย่างห้องบางขุนพรหม เน้นคุยเรื่องละคร ช่วง Peak Time เป็นเวลา 3 ทุ่ม ขณะที่ห้อง Blue Planet คุยเรื่องท่องเที่ยว ผู้อ่านจะเข้ามาห้องนี้ช่วงบ่ายสามโมง เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนเร่ิมล้าแล้ว หลังจากทำงาน หรือเรียนมาทั้งวัน อยากหา Inspiration ในการเที่ยว และพักผ่อน
ส่วนห้องสินธร ช่วง Peak Time คือ ช่วงตลาดหุ้นเปิด ไปจนถึงตลาดหุ้นปิด ดังนั้นช่วงดึกๆ และวันเสาร์ – วันอาทิตย์ คนเข้าห้องสินทรน้อยกว่าวันธรรมดา
ขณะที่อายุของคนเข้า pantip.com กลุ่มใหญ่เป็นคนทำงาน อายุ 25 – 34 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 18 – 24 ปี และ 35 – 44 ปี”
นอกจากนี้ Machine Learning นำมาใช้กับโฆษณาบนแพลตฟอร์ม pantip.com ด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ลงโฆษณา หรือ Advertiser สามารถทำ Targeting ได้แม่นยำขึ้น
เช่น ผู้อ่านอ่านกระทู้ติด Tag ประกันชีวิต ในกระทู้นั้นจะปรากฏโฆษณาประกันชีวิตขึ้นมา แล้วสามารถเข้าไปคำนวณเบี้ยได้เอง
สร้างสมดุลระหว่าง “User” กับ “Advertiser”
ทุกวันนี้ Big Data เป็นวาระสำคัญที่องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญ ซึ่งการเก็บ Data สามารถมาจากหลากหลายแหล่ง และด้วยความที่ “pantip.com” เป็น Online Commuinity ใหญ่ที่ในแต่ละวันจะมีคนเข้ามาอ่านไม่ต่ำกว่า 15 – 16 ล้านเพจวิว และนับตั้งแต่ก่อตั้ง ถึงวันนี้มีกระทู้ไม่ต่ำกว่า 36 ล้านกระทู้แล้ว
นั่นหมายความว่ามีทั้งคนที่เข้ามาตั้งกระทู้ แสดงความคิดเห็น และเข้ามาอ่านจำนวนมาก ทำให้ pantip.com เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่แบรนด์สามารถใช้ในการทำ Social Monitor ได้ ทั้งการสนทนาระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเองจากกระทู้ต่างๆ ทั้งทัศนคติ หรือมุมมองต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประเด็นหรือเรื่องราวที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจในปัจจุบัน และการแสดงความคิดเห็นที่มีต่อแบรนด์
“เรามี API (Application Programming Interface) ให้กับพาร์เนอร์ที่ปัจจุบันมี 7 – 8 ราย สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ที่เป็นสาธารณะได้ และดึงข้อมูลไปใช้ประมวลผลต่อ
ตอนนี้หลายแบรนด์ใช้เครื่องมือ Social Listening เพื่อช่วยให้แบรนด์รู้ว่าเมื่อเขาถูกพูดถึงบน pantip.com เขาจะได้รู้ว่าผู้ใช้พูดถึงแบรนด์อย่างไร ทำให้สามารถเข้าไปตอบกระทู้ได้เร็วกว่าเดิม และเอาไปวิเคราะห์เชิงการตลาดได้ เช่น แคมเปญที่เปิดตัวไป มีเสียงตอบรับบน pantip.com อย่างไร และบนแพลตฟอร์มอื่นอย่างไร”
นอกจาก API ให้กับพาร์ทเนอร์แล้ว “pantip.com” ยังมี “Official Account” เปิดให้แบรนด์สมัครใช้งานฟรี เพื่อเข้ามาตอบผู้ใช้งานบน pantip.com ที่อาจเข้ามาตั้งกระทู้ถาม หรือร้องเรียน อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรมจะเปิด Offcial Account ได้ เพราะมีข้อจำกัดในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมผ่าตัดเสริมความงาม, อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับตลาดหุ้น เช่น โบรกเกอร์ เพราะมีกฎ กลต. ควบคุมอยู่
รวมทั้งกระทู้ “Review” ที่เกิดขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว โดยมี 3 รูปแบบคือ
“Consumer Review” คือ สมาชิก pantip.com ได้ทำรีวิวเอง และเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสินค้า หรือบริการนั้นๆ เอง
“Sponsor Review” แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ 1. แบรนด์สินค้า – บริการติดต่อเชิญสมาชิก pantip.com ไปรีวิว โดยไม่ได้รับสิ่งตอบแทนเป็นเงิน แต่เป็นสินค้า – บริการที่สมาชิกไปทำการรีวิว เช่น พักในโรงแรมฟรี หรือรับประทานอาหารฟรี เพื่อให้สมาชิกกลับมาเขียนรีวิวให้
2. แบรนด์ติดต่อเข้ามาที่ pantip.com เพื่อเชิญสมาชิกไปทำการรีวิวให้ เนื่องจากในบางห้องสนทนา มีเปิดรับ Sponsor Review เช่น “ห้องก้นครัว” ร้านอาหารติดต่อเข้ามา เชิญสมาชิกไปรับประทานอาหารที่ร้าน จากนั้นทีมงาน pantip.com จะประกาศรับสมัครสมาชิกที่สนใจ โดยยังไม่บอกล่วงหน้ว่าร้านไหน เพื่อลงชื่อ – นัดวัดไปรีวิว แล้วกลับมาเขียนกระทู้
“Business Review” คือ รีวิวที่แบรนด์จ่ายเงินจ้างเขียน ซึ่ง pantip.com ทำงานร่วมกับ Influencer หลายคน ทั้ง Influencer ที่เป็นสมาชิกบนเว็บไซต์อยู่แล้ว และ Influencer ภายนอกที่เชิญมา เพื่อสร้างคอนเทนต์กระทู้ Business Review บนเว็บไซต์
“แต่ละกระทู้รีวิว จะมีการใส่ว่าเป็นกระทู้รีวิวแบบไหน ทั้ง CR ย่อมาจาก Consumer Review, SR ย่อมาจาก Sponsor Review และ BR ย่อมาจาก Business Review บอกไว้ชัดเจน เพื่อให้ผู้อ่าน ได้รู้ว่าเขากำลังอ่านคอนเทนต์รูปแบบไหน เป็นคอนเทนต์ที่มีส่วนได้เสียหรือเปล่า เป็นวิธีสื่อสารอย่างจริงใจกับผู้อ่านกระทู้ว่า กระทู้รีวิวนั้นๆ ได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์ หรือสมาชิกผู้เขียนรีวิวเอง”
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็น Online Community ที่คนเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาคำตอบที่น่าเชื่อถือ มาปรึกษา มาหาข้อมูล ความรู้ ทำให้แบรนด์เห็นว่าเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสื่อสาร หรือพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง ยิ่งในทุกวันนี้ไม่ใช่ยุคสมัยของการทำตลาดแบบ Mass Target อีกต่อไปแล้ว แต่เป็น Focus Target
แบรนด์จึงใช้แพลตฟอร์มนี้ในการนำเสนอคอนเทนต์ ไม่ว่าจะในรูปแบบรีวิว หรือบทความ Advertorial เพื่อเข้าตรงถึงกลุ่มเป้าหมายที่กำลังสนใจเรื่องนั้นๆ
สิ่งที่ตามมาคือ pantip.com จะรักษาสมดุลระหว่างสมาชิก – ผู้อ่าน กับฝั่ง Advertiser หรือผู้ลงโฆษณาอย่างไร เพื่อให้ Online Community นี้ยังคงน่าอยู่ ?!?
“อย่างแรกเราคุมกระทู้ที่มาจากสมาชิกรีวิวก่อน (Consumer Review) ว่ามาจากสมาชิกรีวิวเองจริงหรือไม่ ถ้ามีลักษณะว่าเป็นการรับเงินมารีวิว จะต้องรีบเข้าไปตรวจสอบ และจัดการ โดยมีทั้งสมาชิกด้วยกันเองแจ้งเข้ามายังทีมงาน และทีมงานตรวจสอบเจอเอง
เพราะกระทู้รับเงินมารีวิว หาก pantip.com ปล่อยปละละเลย ต่อไปจะทำให้แต่ละห้องสนทนา เกิดกระทู้ลักษณะนี้มากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเป็น Online Community
สอง เราจำกัดการรับ Advertorial ในแต่ละห้องสนทนา เพื่อควบคุมปริมาณ ห้องไหนที่คึกคักมาก จะมี Advertorial มากหน่อย แต่ห้องไหนไม่ได้คึกคักมาก ไม่ได้มีกระทู้เกิดใหม่มาก อาจจะรับ Advertorial เยอะๆ ไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นว่าห้องนั้นมีแต่ Advertorial”
“Facebook – Twitter” เป็นทั้งคู่แข่ง และแพลตฟอร์มที่เกื้อกูล
เชื่อว่าพฤติกรรมของใครหลายคนตั้งแต่ตื่นเช้ามา หรือทันทีที่ปลดล็อกโทรศัพท์มือถือ สิ่งแรกที่ทำกัน คือ เข้า Social Media อย่าง Facebook, Twitter เพื่ออัพเดทข่าวสารที่รวดเร็ว
ในมุมมองของ pantip.com มองว่า ทั้ง Facebook และ Twitter เป็นทั้งคู่แข่ง และแพลตฟอร์มในฐานะ Gateway ที่ช่วยดึงคนเข้ามายังเว็บไซต์ pantip.com
“Facebook – twitter เป็นทั้งคู่แข่ง และเป็นทั้งแพลตฟอร์มที่อยู่ใน Ecosystem ที่เกื้อกูลกันไป Pantip ได้ Traffic จาก Facebook เยอะมากที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน Facebook ก็เป็นคู่แข่งในแง่โฆษณา ในแง่หารายได้ Facebook เสนอ solution โฆษณาให้กับแบรนด์ เราก็นำเสนอ solution โฆษณาให้กับแบรนด์ต่างๆ เช่นกัน
เราก็เหมือนต้นไม้ต้นหนึ่งในป่า อาจจะเป็นขนาดกลางๆ ขณะที่ Facebook เป็นต้นไม้ใหญ่ ในมุมหนึ่ง เขาอาจจะดึงทรัพยากรไปเยอะ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราก็ได้ประโยชน์จากเขา ด้วยความที่เขามีต้นไม้ใหญ่ ทำให้ผู้ใช้งานไปใช้เขาเยอะ และผู้ใช้งานกลับมาที่เราได้เหมือนกัน เป็นสถานะพึ่งพากัน
แต่สุดท้ายแล้ว ผมคิดว่า pantip ต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเองให้ได้ด้วยนะ ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามยืนด้วยลำแข้งตัวเอง ทำให้ผู้ใช้อยากเข้ามาหน้าเว็บเราตรงทุกวัน แทนที่จะเข้าผ่านแพลตฟอร์มอื่น”
ไม่ใช่แค่ Online Community แต่ยกระดับเป็นแพลตฟอร์มที่มีคำตอบที่น่าเชื่อถือให้กับคนไทย
หลังจากเป็น Online Community มากว่า 2 ทศวรรษ แต่ในปัจจุบันเป็นยุคที่เกิดแพลตฟอร์มดิจิทัลมากมาย และพฤติกรรมของคนทุกวันนี้ หาข้อมูลบนออนไลน์ก่อนตัดสินค้าซื้อสินค้า หรือบริการเสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้ pantip.com จึงต่อยอดจากการเป็น “Online Community” พัฒนาไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่มีคำตอบที่น่าเชื่อถือให้กับทุกคำถามของคนไทย
“นิยามของ pantip ในปัจจุบันคือ พื้นที่ที่มีคำตอบที่น่าเชื่อถือให้กับทุกคำถามของคนไทย เราจะมุ่งไปทางนี้ ที่ผ่านมา Online community เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดคำตอบ และคำถามบนแพลตฟอร์มของเราได้ แต่ทำอย่างไรให้คำตอบดีขึ้น ทำอย่างไรให้คำตอบน่าเชื่อถือขึ้น ทำอย่างไรให้มีคำถามเยอะขึ้น และให้คนชอบตั้งคำถามมากขึ้น”
กลยุทธ์ที่จะทำให้ pantip พัฒนาไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่มีคำตอบน่าเชื่อถือ ได้ทำ “Expert Account” คือ เชิญผู้เชี่ยวชาญมาตอบคำถามกระทู้ที่มีคำถามเข้ามา เพื่อให้ทั้งเจ้าของกระทู้ สมาชิกอื่นๆ และผู้อ่านทั่วไปที่เข้ามา ได้รับคำตอบที่น่าเชื่อถือกลับไป
“ดราม่าบน pantip ปัจจุบันน้อยลงเยอะมาก ถ้าเทียบกับ 5 – 10 ปีที่แล้ว ดราม่าเยอะมาก เราพบว่าตอนนี้ดราม่าไปเกิดบนแพลตฟอร์มอื่นแล้ว เพียงแต่คนอาจติดภาพเดิมของ pantip ด้วยความที่เราเป็น Social Media รายแรกๆ ของคนไทย สมัยก่อนคนเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่ pantip ควบคุมดูแลดราม่าที่ไป bully หรือขุดคุ้ยประวัติส่วนตัวของเขาออกมา
ถึงแม้ดราม่าอาจเพิ่ม Engagement เพิ่มยอด View แต่ไม่ใช่ View ที่เราภาคภูมิใจมากนัก เพราะแก่นของเรา คือ คำตอบที่น่าเชื่อถือ
ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราทำเรื่อง Expert Account อยู่ เอาไว้แก้ปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ โดยตอนนี้เราโฟกัสกลุ่มห้องสวนลุม ซึ่งเป็นกลุ่มที่คุยเรื่องสุขภาพ เราเห็นตัวเลขคนอ่านกระทู้ ยอด View มาจากห้องไหนเยอะ พบว่าอันดับ 1 ห้อง Blue Planet ตามมาด้วยห้องโต๊ะเครื่องแป้ง และอันดับ 3 ห้องสวนลุม
ด้วยความที่เป็นห้องที่คุย สุขภาพกาย – สุขภาพจิต เป็นเรื่องอ่อนไหว บางคำตอบ อาจจะชี้นำให้เขานำไปสู่การรักษา ดูแลสุขภาพที่ผิดวิธีได้ ก็เลยเกิด Expert Account เข้ามา
ใน pantip มีคุณหมอหลายท่านตอบกระทู้อยู่แล้ว มีหมอหลายด้าน เราเชิญคุณหมอ ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นโรงพยาบาลหลายๆ ที่ เข้ามาช่วยกันตอบคำถามให้กับสมาชิก เพื่อให้คำตอบนั้นเป็นคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ไม่ใช่คำตอบจากใครก็ไม่รู้ ผู้เชี่ยวชาญที่มาตอบ มีสัญลักษณ์พิเศษหลังชื่อของเขา เพื่อบอกว่าคนนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญ”
ส่วนใน 3 – 5 ปีข้างหน้า ในกระทู้ที่สนทนา จะไม่ได้เป็นแค่กระทู้ แล้วมีความคิดเห็นเรียงลำดับลงไปอย่างในทุกวันนี้เท่านั้น แต่จะสรุปคำตอบที่หลากหลายทั้งหมด มาอยู่ในหน้าแรก (Above the fold) เพื่อให้ผู้อ่านเห็นคำตอบที่เขาต้องการ
“ตัวอย่างเช่น เราจะซื้อสมาร์ทโฟนให้คุณแม่ใช้ งบไม่เกิน 10,000 บาท ตั้งกระทู้ไป เสิร์ชไป จะมีคนมาแนะนำเยอะแยะ รุ่นนี้ ยี่ห้อนี้ หลากหลายมากเลย สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่าเราจะเชื่อใครดี แต่ต่อไป pantip จะรวบรวมคำตอบจากหลากหลาย ให้เป็น Summary สมาร์ทโฟนที่คนแนะนำมากที่สุด อาจไม่ใช่รูปแบบกระทู้ความคิดเห็น 1 – 2 – 3 – 4 – 5 ลงไปแล้ว อันนี้ต้องรอตามดู แต่สุดท้ายแล้วต้องนำไปสู่คำตอบที่น่าเชื่อถือ” คุณอภิศิลป์ สรุปทิ้งท้าย