ตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บลดลงหรือพูดง่ายๆ คนไทยอายุยืนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความตื่นตัวเรื่องสุขภาพ มีการออกกำลังกายกันมากขึ้น อาหารเพื่อสุขภาพก็มีอย่างมากมาย และอีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยให้หลายโรคร้ายหรืออาการเจ็บปวดต่างๆ บรรเทาลงจนหายขาด หากแต่ต้องแลกมาด้วยการจ่ายเงินที่มากขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้หลายคนหันมาดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงตลอดเวลา
แต่เรื่องโรคภัยไข้เจ็บก็เป็นสิ่งที่กำหนดไม่ได้ แม้จะดูแลสุขภาพดีเพียงใดก็ตามการเจ็บป่วยก็ยังอาจเกิดขึ้นได้ การพบแพทย์เพื่อรักษาจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากต้องการการรักษาที่ดีก็ย่อมหมายถึงการไปที่โรงพยาบาล แต่ปัญหาของการไปโรงพยาบาลคือคิวที่ยาวเหยียดจนอาจต้องเสียเวลาครึ่งค่อนวันสำหรับโรงพยาบาลรัฐ หรือหากต้องการการรักษาที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วก็ต้องไปที่โรงพยาบาลเอกชนและจบลงที่ค่ารักษาแพง
ขณะที่คลินิกใกล้บ้านก็มีแต่นับวันจะปิดตัวลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนจึงมักหาทางออกด้วยการซื้อยากินเอง แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเภสัชกรไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะจ่ายยาตามอาการที่เกิดขึ้น โดยที่อาจจะเป็นการกินยาที่ไม่ใช่การรักษาโรคที่แท้จริง และอาจนำไปสู่การเป็นโรคเรื้อรัง ทั้งหมดนี้ถือเป็น Pain Point ของการรักษาสุขภาพเมื่อเกิดอาการป่วย และเป็นที่มาของธุรกิจทางการแพทย์อย่าง Zity Clinic
คุณฟิว สุเรศพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิตี้ คลินิก จำกัด ผู้ให้บริการทางการแพทย์ยุคใหม่อย่าง Zity Clinic เล่าให้ฟังว่า “จุดกำเนิดของธุรกิจเกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัว จากการที่ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐซึ่งต้องรอคิวนาน พอไปที่โรงพยาบาลเอกชนได้ฉีดยาด้วยระยะเวลาที่รวดเร็วพร้อมกับค่ารักษามาเกือบหมื่น ขณะที่ไปฉีดยาที่คลินิกกลับเสียค่ารักษาไม่ถึงพัน นั่นจึงเป็นที่มาในการสร้างธุรกิจการแพทย์ที่ไม่ต้องรอนานกับราคาที่ไม่แพง”
Zity Clinic ในความหมายของคุณฟิวคือ คลินิกอายุรกรรมสมัยใหม่ที่มีนวัตกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งเข้ามาแก้ Pain Point ในการรับบริการทางการแพทย์ เช่น รอคิวนานหรือนัดแล้วไม่เป็นไปตามเวลานัด ขณะที่คลินิกทั่วไปเปิดให้บริการบ้าง ไม่เปิดบ้างก็มี เวลาเปิดให้บริการก็ไม่แน่นอน คลินิกเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
“ธุรกิจคลินิกในปัจจุบันจำนวนลดลง เนื่องจากคุณหมอรุ่นเก่าที่จะมาเปิดคลินิกเองลดลง ส่วนคุณหมอรุ่นใหม่มีรายได้จากค่าตรวจในโรงพยาบาลที่ดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมาเปิดคลินิกของตัวเอง ทำให้คลินิกเก่าปิดตัวไป คลินิกใหม่ก็ไม่เกิด เมื่อคลินิกไม่มี โรงพยาบาลก็ขยายตัวเข้าสู่ช่องว่างตรงนี้ ยิ่งทำให้คุณหมอกระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาล รวมไปถึงนโยบายรัฐในเรื่องของการรักษาทางการแพทย์ที่เป็นลักษณะเหมาจ่ายจากการคาดการณ์ ซึ่งอาจไม่ตรงกับการเข้ามาใช้บริการตามความเป็นจริง ทำให้คลินิกต้องแบกรับต้นทุน และส่งผลให้ไม่สามารถบริการได้เต็มที่ สุดท้ายผู้มาใช้บริการก็หนีไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแทน เพื่อให้ได้รับการบริการที่ดีกว่า”
คุณฟิวนำเสนอว่า สำหรับกลยุทธ์หลักของ Zity Clinic คือการสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะเน้นการกระจายสาขาออกไปให้มาก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการทำธุรกิจ ไม่ใช่ธุรกิจที่สร้างขึ้นมาแล้วไม่นานก็หายไป ปัจจุบัน Zity Clinic ขยายสาขาในอัตราเดือนละ 1 สาขา โดยมี 3 สาขาในกรุงเทพฯ ทั้งนี้มีการตั้งเป้าในปีหน้าจะมีสาขาทั่วกรุงเทพฯ 20 สาขา ส่วนเป้าหมายในอนาคตมีแผนขยายครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีโอกาสเข้าถึงทางการแพทย์น้อยกว่าคนในกรุงเทพฯ
“สำหรับสาขาในต่างจังหวัดจะเปิดในลักษณะเฟรนไชส์ให้คนในพื้นที่ที่สนใจเข้ามาร่วมทำธุรกิจ ซึ่งคนในพื้นที่นี้อาจจะทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ได้ โดยทำเลในสาขาต่างจังหวัดจะเน้นไปที่ชุมชน เนื่องจากจะช่วยให้สามารถทำการประชาสัมพันธ์รูปแบบการให้บริการทางการแพทย์ได้อย่างชัดเจน และทุกสาขาจะมีการใช้เทคโนโลยีในการให้บริการ ตั้งแต่การนัดหมาย ประวัติการรักษา เพื่อให้ผู้มาใช้บริการสามารถใช้บริการของ Zity Clinic ได้ทุกสาขาอย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้คุณฟิวมองว่า เทคโนโลยีก็เป็นเรื่องที่สำคัญและจะเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะการยืนยันว่าหากได้รับการตรวจสายเกินกว่า 15 นาทีตามเวลาที่นัดหมาย เรายินดีให้บริการรักษาฟรีในส่วนของค่าตรวจทันที ไม่รวมผู้มาใช้บริการแบบ Walk in ยังมีการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบของ Big Data การประเมินระยะเวลาในการตรวจรักษาโรค เช่น อาการปวดหัวจะใช้เวลาเฉลี่ย 8 นาทีต่อเคสบวกลบไม่เกิน 10 นาทีต่อเคส ซึ่งการให้บริการด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้จะไม่มีการบวกราคา ทำให้ผู้มาใช้บริการได้รับราคาที่เหมาะสมในด้านการตรวจรักษาจริงๆ แน่นอนว่าหลายโรงพยาบาลตอนนี้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในรูปของ Health Tech แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการนัดเพื่อรับการตรวจรักษา
“นอกจากเรื่องการนัดหมายแล้ว เรามีการนำข้อมูลประวัติการตรวจรักษาให้กับผู้มาใช้บริการในแอปพลิเคชั่นผ่านระบบความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้มาใช้บริการมีประวัติการรักษาติดตัวไว้ สามารถไปรักษาต่อเนื่องที่ Zity Clinic สาขาอื่นหรือที่โรงพยาบาลได้ รวมไปถึงระบบการเตือนการกินยา ที่สำคัญในแอปฯ Zity Clinic จะมีบทความเพื่อให้ความรู้ในทางการแพทย์อีกด้วย เพื่อให้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการดูแลสุขภาพ โดยเป็นการนำเสนอข้อมูลจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวแพทย์และ Zity Clinic”
สำหรับลักษณะการรักษาผ่านแอปฯ นั้น คุณฟิวมองว่าคงไม่ทำ เนื่องจากการรักษาผ่านแอปฯ คุณหมอไม่ได้ตรวจด้วยตัวเองอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยโรคที่คลาดเคลื่อนได้ เช่น อาการปวดท้อง ปวดระดับไหน กดแรงๆ แล้วเจ็บหรือไม่ ซึ่งโดยธรรมชาติคนมีอาการเจ็บจะไม่กล้าทำให้ตัวเองเจ็บมากไปกว่าเดิม หรือการตรวจคอที่ไม่สามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง และยังมีปัจจัยในเรื่องของคุณภาพกล้อง คุณภาพของสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดอาจส่งผลให้เกิดการวินิจฉัยคลาดเคลื่อน
“AI ทางการแพทย์ผมว่าอนาคตเราต้องไปทางนั้น เพราะทั่วโลกประสบปัญหาเดียวกัน รวมไปถึงการให้บริการทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล เรามองว่า AI เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้ก็ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย แต่ผมมองว่าอนาคต AI น่าจะถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์แน่นอน”
สำหรับธุรกิจการแพทย์ คุณฟิวมองว่าเป็นหนึ่งในหลายธุรกิจที่มีกฎหมายเข้ามาควบคุม ซึ่งหากทำตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ธุรกิจการแพทย์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หลายคนมักจะเข้าใจว่าธุรกิจการแพทย์โฆษณาไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องขัดต่อกฎหมาย ซึ่ง Zity Clinic ตั้งใจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และราคาที่ทุกคนสามารถจับต้องได้ โดย Zity Clinic จะเป็นคลินิกที่อยู่ตรงกลางระหว่างโรงพยาบาลกับคลินิกรักษาโรคทั่วไป แต่จะค่อนมาทางคลินิก