แม้ว่า “การบินไทย” จะพยายามดำเนินการด้วยมาตรการหลายกลยุทธ์ เพื่อหยุด “วิกฤตรายได้” ที่เกิดขึ้นกับองค์กร แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผลแต่อย่างใด เพราะผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ยังคงอยู่ในสถานการณ์ขาดทุน โดยกำไรหล่นฮวบไปถึง 16 เท่าตัว! เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นตัวเลขที่ขาดทุน กว่า 6,800 ล้านบาท สะท้อนถึงแนวโน้มการขาดทุนอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ ซึ่งมีทีท่าขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ผลประกอบการไตรมาส 2/2562 ขาดทุนสุทธิ 6,884 ล้านบาท
ขาดทุนเพิ่มขึ้น 122% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน การบินไทยมีรายได้รวม 42,509 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากมีการปรับลดค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน รวมถึงปัจจัยอื่น อาทิ การเพิ่มเที่ยวบินของสายการบินต้นทุนต่ำ ทำให้ปริมาณขนส่งผู้โดยสารลดลง 5.4% อัตราการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 74.7% ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาและค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม, ผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้รายได้หลักซึ่งมาจากเงินสกุลเยน ยูโร ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์สหรัฐ ลดลง
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องออกมาชี้แจงถึงแนวทางใหม่ ที่องค์กรฝากความหวังว่าจะสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์และสร้างกำไรให้องค์กรได้ ประกอบด้วยกลยุทธ์สำคัญ 6 ประการ ได้แก่…
- SaveTG Co-Creationกลยุทธ์ควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพ การให้บริการ โดยบริษัทฯ ได้ประกาศเป็นมาตรการลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งให้พนักงานทุกภาคส่วนระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะมายังผู้บริหาร พร้อมเปิดให้ผู้โดยสารเสนอแนะความคิดเห็นมายังบริษัทฯ โดยสามารถร่วม Co-Create ได้ที่ Customer@thaiairways.com
- Zero Waste Management กลยุทธ์นี้จะเริ่มที่ Food Waste ก่อน โดยเป็นโครงการช่วยประหยัดและสร้างมูลค่าเพิ่ม (Circular Economy) ให้ทั้งกับองค์กรและประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับ FoodInnoPolis เพื่อกำหนดแผนงานปฏิบัติ
- กลยุทธ์การรุกตลาดใหม่ในไตรมาส 4 ของปีนี้คือบินตรงสู่เซนไดอีกหนึ่งเมืองใหญ่ที่สวยงาม ทุกฤดูกาลในภูมิภาคโทโฮคุของญี่ปุ่น
- เพิ่มรายได้โดยใช้ Digital Marketing อาทิ การออกโปรโมชันผ่านสื่อดิจิทัลทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงฐานลูกค้าจากกลุ่มออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มความสะดวกสำหรับลูกค้าที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Thai Airways ให้สามารถจองบัตรโดยสาร ค้นหาเที่ยวบิน โปรโมชันบัตรโดยสาร และสิทธิพิเศษ แก่ผู้โดยสารของการบินไทยมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มรายได้จากช่องทางอีคอมเมิร์ซ ซึ่งขณะนี้ได้ทำการคัดเลือกร้านค้าออนไลน์ที่เชี่ยวชาญการดำเนินธุรกิจลักษณะดังกล่าวกับสายการบินชั้นนำของโลกเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนตุลาคมนี้
- กลยุทธ์THAI Synergyเนื่องจากการบินไทยมีสินค้าและบริการที่สามารถร่วมกับพันธมิตรทางการค้าได้ โดยโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ ร่วมกับ Café Amazon ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย
- TG Group การบินไทยผนึกไทยสมายล์กลยุทธ์นี้ถือเป็นการเสริมความแข็งแกร่งในทุกมิติ เพื่อให้เครือข่ายการบินเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบและสะดวกสบายสำหรับผู้โดยสาร พร้อมรุกตลาดระดับภูมิภาคภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยมีความสำคัญ คือ ดำเนินการให้สายการบินไทยสมายล์เข้าเป็น Connecting Partner ของกลุ่มพันธมิตรสายการบินสตาร์อัลไลแอนซ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบภายในสิ้นปี 2562 เพื่อช่วยเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายเส้นทางบินในระดับภูมิภาค