พูดถึง Transformation ในแวดวงธุรกิจคงจะนึกถึงองค์กรที่ดำเนินงานมาเก่าแก่หลายสิบปี แต่ความจริงแล้วการ Transformation สามารถทำได้ทุกองค์กร ไม่ว่าจะดำเนินธุรกิจมายาวนานหรือมีขนาดเล็ก – ใหญ่ก็ตาม ซึ่งหนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจคือ Lean Startup
Lean Startup คืออะไร ?
แนวคิดแบบ Lean Startup (ลีน สตาร์ทอัพ) ของ Eric Ries กำลังเป็นที่สนใจในปัจจุบัน เพราะสามารถปรับใช้กับองค์กรได้หลากหลายรูปแบบโดยไม่จำกัดว่าเป็นองค์กรยุคใหม่หรือยุคดั้งเดิม จากการนำแนวคิดองค์กรแบบสตาร์ทอัพมาใช้งาน คือ สร้างหรือดำเนินธุรกิจด้วยการเริ่มต้นที่น้อยที่สุดเพื่อลดความสูญเปล่า (Waste) จึงทำให้เกิดความเสี่ยงน้อย ต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และรู้จักปรับตัวระหว่างทางให้เหมาะกับการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ที่มีความไม่แน่นอน จากแรงบันดาลใจแบบ Lean Thinking ของโตโยต้าซึ่งเป็นการบริหารที่มุ่งลดความผิดพลาด ความสูญเปล่า และการแก้ไขงาน เรียกว่าเป็นหนึ่งในการทำงานแบบ Just in time หรือทำเท่าที่จำเป็น ถือเป็นหนึ่งในวิธีการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในทุกกระบวนการทางธุรกิจที่โด่งดังมานานหลายสิบปี
4 แนวคิดสไตล์ Lean Startup
สำหรับแนวคิดของ Lean Startup ประกับด้วย 4 ขั้นตอน คือ…
- MPV (Minimum Viable Product)
หมายถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ในเบื้องต้น ให้มีคุณสมบัติเพียงพอจะตอบความต้องการขั้นพื้นฐานของลูกค้า และนำไปทดสอบต่อในตลาดเพื่อหาคำติชม ข้อเสนอแนะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการในอนาคต โดยไม่ต้องเสียเวลาพัฒนาคุณสมบัติสินค้าหรือบริการที่ผู้ใช้งานไม่ต้องการ
- Continuous Improvement
การปรับปรุงสินค้าหรือบริการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ หลังจากได้นำสินค้าหรือบริการเหล่านั้นเข้าสู่ตลาดโดยใช้คำติชม ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากลูกค้ามาพัฒนาคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการให้เพิ่มเติมขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- Actionable Metrics
การกำหนดตัวชี้วัดในการทำงานที่เป็นตัวเลขสามารถวัดผลได้ชัดเจน เพื่อนำสู่การปรับปรุงงานให้ตอบเป้าหมายทางธุรกิจ เช่น ยอดขาย อัตราการคืนสินค้า อัตราการส่งซ่อม จำนวนข้อร้องเรียน
- A/B Testing
สามารถทำการทดสอบคุณสมบัติสินค้าหรือบริการ โดยสร้างความแตกต่างด้วยคุณสมบัติเพียงเล็กน้อยแล้วนำสู่ตลาดเพื่อทดสอบว่าคุณสมบัติใดที่เหมาะสมกับตลาดมากกว่า หลังจากนั้น เมื่อได้ผลลัพธ์ที่ต้องการแล้วจึงค่อยทดสอบคุณสมบัติต่อ ๆ ไป
ไม่ใช่ทุกองค์กรจะยึดหลักการเดียวกันได้!
ประเด็นนี้ คุณพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ก็แสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า การนำแนวคิดแบบ Lean Startup ไปประยุกต์ใช้อาจต้องคำนึงถึงกระบวนการในการสร้างผลิตภัณฑ์ของแต่ละธุรกิจด้วย ซึ่งทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 วิธี คือการทำงานแบบ Waterfall การทำงานแบบรวดเดียวจบซึ่งเป็นวิธีการทำงานแบบดั้งเดิม กับการทำงานแบบ Agile การทำงานด้วยวิธีการแบ่งงานออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือที่เรียกกันว่า Sprint แบ่งเป็นหลาย ๆ ชิ้นแล้วทยอยทำงานออกมาทีละส่วน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Lean Startup และ Agile เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เพื่อรับกระแสโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยิ่งการันตีว่าผู้ที่ปรับตัวได้รวดเร็วและสามารถลดต้นทุนความสูญเสียได้มากที่สุด จะยิ่งได้เปรียบและมีโอกาสเป็นผู้ชนะมากที่สุดนั่นเอง