เราอยู่ในยุคที่ภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับภารกิจรักษ์โลก แถมเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยแต่ยังเป็นกระแสทั่วโลก ทั้งการลดใช้พลาสติก หันมาใช้พลังงานทดแทน หรือแม้แต่การนำขยะบางประเภทกลับมาใช้เป็นส่วนประกอบและแปรรูปเป็นสินค้าใหม่ เพื่อลดปัญหาขยะจำนวนมหาศาลที่เกิดจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
แม้ตัวความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจในไทยต่อประเด็นดังกล่าว จะเริ่มต้นด้วยเรื่องใกล้ตัวกับผู้บริโภคอย่างการงดรับถุงพลาสติก แต่ก็ต้องยอมรับว่า…กลายเป็นแรงกระตุ้น สร้างความตื่นตัวให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ขยับสู่เป้าหมายในการพัฒนาระบบนิเวศใหม่แก่ประเทศไทย รวมถึงบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “GC” ที่ออกมาขยับตัวรับเทรนด์ดังกล่าวเช่นกัน
ไม่หยุดที่ CSR หวัง “ลดขยะ” ต่อยอดสู่ “New Business Model”
ก้าวที่ GC เลือกดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนโลกนั้น เป็นโมเดลเติบโตไปด้วยกัน…เพราะองค์กรมุ่งหาพันธมิตรเพื่อเพิ่มคุณค่าให้ “ขยะพลาสติก” ที่ทุกคนมองว่าเป็นต้นตอปัญหาของระบบนิเวศ มาแปรสภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าและเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ที่สามารถเข้าถึงการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการจัดงาน Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet ซึ่งร่วมกับ National Geographic เพื่อย้ำมุมมองและความสำคัญในการดำเนินงานเรื่องดังกล่าว ดังนั้น การขยับตัวของ GC ในครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงโครงการ CSR เพราะเป้าหมายนั้นเป็นการสร้างประโยชน์หลายทาง ทั้งต่อสังคม ธุรกิจ รวมถึงคู่ค้า เห็นได้จากรายชื่อพาร์ทเนอร์ที่ร่วมกันตั้งเป้าหมายใหญ่ อาทิ การสร้างบ้านจากแผ่น CD รีไซเคิล, การแปรรูปขยะพลาสติกเพื่อผลิตตัวเครื่องบิน, การพัฒนาเครื่องอัดขยะแบบพกพาเพื่อรีไซเคิลขยะให้เป็นภาชนะรูปทรงต่างๆ ซึ่งช่วยให้การรีไซเคิลขยะเกิดขึ้นได้ทุกที่ เป็นต้น
ขยะทะเลไทย “ชื่อเสีย” ติดอันดับโลก!
นอกจากปัญหาที่เกิดจากกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมแล้ว ปัญหาขยะในทะเลยังถือเป็นเรื่องที่ทั่วโลกตระหนักถึงด้วย โดยเฉพาะประเทศไทยมีชื่อติดอันดับ 6 ของโลกที่มีปัญหาดังกล่าว ทำให้ GC วางแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยแผนงานหลัก 2 ประการ คือ เลิกผลิตพลาสติกแบบ Single Use Plastic (ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง) และเร่งสร้างองค์ความรู้ให้คนไทยถึงการใช้พลาสติกอย่างเต็มคุณค่า พลาสติกที่ใช้แล้วสามารถนำไปใช้ใหม่ได้ เช่น การนำมามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นคุณภาพในโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand เป็นต้น
ผุดเวที Waste Runner 100 Day Challenge กระตุกคนไทยดูแลชุมชน
มากกว่าการลดใช้พลาสติกเพื่อเพิ่มปริมาณขยะ GC ยังเปิดเวที Waste Runner 100 Day Challenge ซึ่งร่วมกับโครงการ OUR Khung BangKachao สานต่อหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการจัดแข่งขันสร้างโมเดลจัดการขยะในไทยด้วยการเปิดรับสมัครไอเดียและความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่ทั้งนักศึกษาและสตาร์ทอัพ เพื่อค้นหาแผนงานที่ปฏิบัติได้จริงภายใน 100 วัน โดยเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาขยะในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้าซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและทำกิจกรรมของผู้คน เนื่องจากข้อมูล อบต.บางกระเจ้า ระบุว่าช่วงปีที่ผ่านมาภายใน 1 สัปดาห์ พื้นที่บางกระเจ้าจะมีปริมาณขยะเฉลี่ย 8,000 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่พิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว!
โดยขณะนี้ โครงการดังกล่าวมีทีมที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 3 ทีม ได้แก่ ทีม TRASH กับไอเดียใช้แอปพลิเคชันไลน์รวบรวมขยะจากชุมชนที่นำมาขายผ่านการให้บริการรับซื้อขยะรีไซเคิล 6 ชนิด ได้แก่ ขวดพลาสติก อลูมิเนียม ทองแดง ขวดแก้ว กระดาษ และกระป๋อง, ทีม Orgafeed กับการนำเสนอบริหารจัดการขยะด้วยการเพาะตัวอ่อนของแมลงวันลายหรือแมลงแม่โจ้ เพื่อจัดการกับขยะอินทรีย์และสามารถเพิ่มรายได้จากการทำปุ๋ยแมลงและขายแมลงเป็นอาหารสัตว์, ทีม Leaf no trash ลดปัญหาขยะจากการท่องเที่ยวด้วยการออกแบบกระเป๋าพกพา ZERO journey kit ซึ่งกระเป๋าจะบรรจุภัณฑ์ 6 ชนิด คือ กระเป๋าที่ผลิตจากวัสดุทางธรรมชาติ กระบอกน้ำที่ผลิตจากไบโอพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหารผลิตจากใบไม้ในท้องถิ่นประกอบด้วย ช้อน ชาม ถาด และกระเป๋า Recycled Shopping bag ที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ในชุมชนและผลิตโดยชุมชน โดยนักท่องเที่ยวสามารถเช่าหรือซื้อกระเป๋าพกพาดังกล่าว