หลังมีรายงานข่าวว่า ‘MUJI’ แบรนด์สไตล์มินิมอลชื่อดังจากญี่ปุ่น กำลังเผชิญกับปัญหากำไรลดลงครั้งแรกในรอบ 8 ปี หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า ‘Miniso’ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ MUJI ต้องพบกับปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะในตลาดจีน
Miniso เป็นแบรนด์สไตล์มินิมอลสัญชาติจีนที่แทบจะถอดแบบ MUJI มาในเรื่องดีไซน์ร้านสินค้าที่เน้นความเรียบง่ายดูดี โดยเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของ Miyake Junya นักออกแบบชาวญี่ปุ่น ร่วมกับ Ye Guofu นักลงทุนจีนในปี 2013
โดยจุดเด่นของแบรนด์ คือ
– แม้จะเป็นแบรนด์จีน แต่ใช้คาแรกเตอร์ความเป็นญี่ปุ่นมาสร้างเป็นจุดแข็ง ตั้งแต่การตั้งชื่อ , สไตล์ตกแต่งร้าน , ยูนิฟอร์มของพนักงาน ฯลฯ ทำให้ภาพลักษณ์ดูดี
– เน้นดีไซน์สินค้าให้ดูดีและเรียบง่ายเช่นเดียวกับแบรนด์ MUJI (จนหลายคนอาจคิดว่า เป็นสินค้าของ MUJI)
– ราคาจับต้องได้ โดยสินค้าในร้านราคาจะอยู่ที่ 10 หยวน ส่วนในไทยตั้งราคาเริ่มต้นไว้ 69 บาท
– สินค้ามีความหลากหลาย ตั้งแต่สินค้าเบ็ดเตล็ด , ขนมขบเคี้ยว , เครื่องสำอาง ของแต่งบ้าน , ของใช้ภายในบ้าน ฯลฯ และเน้นสินค้าหมุนเร็ว ซึ่งนโยบายของ Miniso คือ จะเปลี่ยนของบนเชลฟ์ทุกอาทิตย์ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกตื่นเต้นและกลับมาเข้าร้านใหม่เรื่อยๆ
จากจุดแข็งดังกล่าว ทำให้ Miniso ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว โดยยอดขายรวมของ ในปี 2015 อยู่ที่ 750 ล้านดอลลาร์ ก่อนจะขยับเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2016 และเพิ่มเป็น 2,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2018
นอกจากนี้ ยังได้รับความสนใจจากยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent และ Hillhouse Capital เข้าไปลงทุนใน Miniso ด้วยเม็ดเงิน 146 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตั้งเป้าจะร่วมกันพัฒนาในเรื่อง big data , ร้านค้าอัจฉริยะ และร้านค้าปลีกยุคใหม่ที่ทำงานผ่านระบบดิจิทัล
สำหรับก้าวแรกการทำธุรกิจของ Miniso ในไทยเริ่มต้นเมื่อปี 2016 ภายใต้การดำเนินงานของ ‘บริษัท มินิโซ (ไทยแลนด์) จำกัด’ โดยตอนนี้มีสาขาอยู่ 57 แห่ง (ข้อมูลเมื่อ ธันวาคม 2018)
ขณะที่ภาพรวมของ Miniso ทั้งหมด มีสาขาประมาณ 3,500 สาขา ใน 80 ประเทศทั่วโลก (MUJI มีสาขาทั่วโลกเพียง 975 แห่ง ) และมีเป้าหมายขยายสาขาให้ครบ 10,000 แห่งใน 100 ประเทศ
นอกจากนี้ มีรายงานจากสื่อต่างประเทศว่า Miniso อยู่ระหว่างการเตรียมตัวระดมทุนในตลาดหุ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสนับสนุนให้สามารถขยายธุรกิจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยกำลังพิจารณาว่า จะเข้าตลาดหุ้นของฮ่องกงหรือนิวยอร์ก และคาดว่า จะสามารถระดมทุนได้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ทาง MUJI ก็เตรียมไม้เด็ด เพื่อแก้เกมแล้ว ด้วยการตั้งทีมพัฒนาสินค้าขึ้นมาในจีน เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงความต้องการของผู้บริโภค และมีมากกว่าดีไซน์ที่เรียบง่ายสำหรับแก้ปัญหาของก็อปสินค้า รวมถึงก่อนหน้านี้ได้มีการปรับราคาสินค้าในกลุ่มดาวเด่นที่ขายดีลงไปราว 20-30% เช่น เสื้อผ้า , ชุดชั้นใน , เครื่องหอม ฯลฯ เพื่อให้เหมาะกับการแข่งขันและกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
ที่มา : miniso