ช่วงนี้…เทรนด์สินค้า “มือสอง” มาแรงไม่แพ้เทรนด์อื่นทีเดียว สังเกตได้จากสินค้าหลายรูปแบบที่ขายในปัจจุบัน ทั้งของมือสองสภาพดี หรือสินค้าสารพัดหมวดหมู่ที่ปิดผนึกอยู่ในกล่องในกระสอบ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องครัว หรือแม้แต่กล้องถ่ายภาพ อาจเพราะทำให้ผู้ซื้อได้ตื่นเต้นไปกับการลุ้น เดายี่ห้อ และคุณภาพสินค้าที่ผู้ขายจัดสุ่มไว้ภายในกล่อง จนกลายเป็นกระแสฮิตอยู่ในตอนนี้ ซึ่งความนิยมดังกล่าวเหมือนช่วยตอกย้ำว่าคนไทย “เปิดใจ” ให้สินค้ามือสอง สินค้าที่ผ่านการใช้งานแล้ว มากขึ้น!
โดยเฉพาะของแบรนด์เนมมือสองจากญี่ปุ่น ว่ากันว่า…ถูกใจคนไทยเป็นพิเศษ! ไม่ใช่แค่การเลือกซื้อจากญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้ามือสองคุณภาพดีในบ้านเราที่ถูกส่งมาจากแดนอาทิตย์อุทัย ก็เป็นที่ชื่นชอบและต้องการของนักช้อปชาวไทยเช่นกัน สอดคล้องกับข้อมูลที่เราได้จาก คุณฮิเดโอะ ทาเคโอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สห โคเมเฮียว จำกัด (Saha Komehyo) เกี่ยวกับเทรนด์ พฤติกรรม และความชื่นชอบสินค้าแบรนด์เนมมือสองของคนไทย
“กระเป๋า – นาฬิกา” แบรนด์เนมมือสอง ขวัญใจคนไทย
คุณฮิเดโอะ เล่าประสบการณ์ในธุรกิจสินค้าแบรนด์เนมมือสองว่า จากการสังเกตพฤติกรรมลูกค้าโคเมเฮียวพบว่าชาวไทยถือเป็นลูกค้าอันดับต้น ๆ ของบริษัท โดยเฉพาะกระเป๋าแบรนด์เนม และนาฬิกาแบรนด์ดัง ถือเป็นสินค้าที่คนไทยซึ่งชอบแบรนด์เนมต้องการมีไว้ในครอบครองมากที่สุด โดยเฉพาะ 3 แบรนด์ยอดนิยมอย่าง Louis Vuitton, Hermès, CHANEL
“พฤติกรรมการซื้อแบรนด์เนมมือสองของคนไทยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มที่เลือกซื้อเฉพาะราคาแพงมาก กับเลือกแบบราคาย่อมเยา ซึ่งสินค้าราคาสูงสุดที่โคเมเฮียวเคยขายไป คือ กระเป๋า Hermès Birkin Himalayan ซึ่งลูกค้าชาวไทยเป็นผู้ซื้อในราคา 7 ล้านเยน (ราว 2 ล้านบาท)”
ทำไม “แบรนด์เนมมือสอง” จึงถูกใจผู้คน
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้คนชื่นชอบที่จะลงทุนกับสินค้ามือสอง มีหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ การได้เป็นเจ้าของในราคาย่อมเยา ถูกกว่าราคาสินค้าใหม่ถึง 20-30% ทีเดียว แม้จะเป็นของผ่านการใช้งานแล้วแต่สินค้าที่บริษัทนำมาขายยังคงมีสภาพดี กระทั่งสภาพใกล้เคียงของใหม่ และหลาย ๆ ครั้ง แบรนด์เนมที่นำมาซื้อขายผ่านตลาดมือสอง ก็เป็นรุ่นหายาก ทั้งที่เลิกผลิตไปแล้ว หรือเป็นรุ่น Limited ที่ผลิตออกมาจำนวนจำกัด เนื่องจากการซื้อหาของแบรนด์เนมมือสองนั้นมีทั้งผู้ซื้อเพื่อนำไปใช้งาน และซื้อเพื่อเก็งกำไรสำหรับการขายต่อด้วย
อย่ามองข้าม! ตลาดมือสอง…มูลค่ามหาศาล
คุณฮิเดโอะ กล่าวถึงมูลค่าตลาดของมือสองว่า ในญี่ปุ่นตลาดแบรนด์เนมมือสองคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของตลาดแบรนด์เนมมือหนึ่ง หากคิดเป็นเม็ดเงินก็ราว 2-3 แสนล้านเยน (ประมาณ 57,000-85,000 ล้านบาท) ซึ่งคาดว่าตลาดแบรนด์เนมมือสองในไทยก็อยู่ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน โดยอาจมีมูลค่าราว 4-5 พันล้านบาท เนื่องจากทัศนคติของคนไทยในการนำของแบรนด์เนมมาขาย ยังไม่ได้รับความนิยมและขาดการจัดการที่ดีไม่เหมือนกับในประเทศญี่ปุ่นที่เป็นเรื่องแพร่หลายแล้ว ขณะเดียวกัน ตลาดแบรนด์เนมของใหม่ในไทยก็ยังมีอัตราการเติบโตถึง 8-10% ต่อปี สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งอยู่ที่ 3-4% เท่านั้น
สำหรับการดำเนินธุรกิจของสห โคเมเฮียว ในประเทศไทย คุณฮิเดโอะ เล่าว่า จะนำประสบการณ์จากการทำธุรกิจซื้อ-ขายสินค้าแบรนด์เนมมือสองกว่า 70 ปีในญี่ปุ่นของบริษัทโคเมเฮียว ซึ่งมีสาขากว่า 35 แห่ง และเป็นผู้นำในธุรกิจดังกล่าวด้วยยอดขายราว 11,000-14,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงความพิถีพิถันในการตรวจสอบสินค้าก่อนรับซื้อ การซ่อมแซมสินค้าก่อนออกขาย มาใช้กับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและขยายตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสองให้กว้างขึ้น
ปักธง 3 สาขา ลุยตลาดแบรนด์เนมมือสองในไทย
หลังจากเซ็น MOU ร่วมกับบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จัดตั้ง สห โคเมเฮียว เพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ถือเป็นการขยายตลาดออกจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ 3 ต่อยอดจากฮ่องกง และจีน ที่เริ่มทำตลาดไปก่อนหน้า โดยสห โคเมเฮียว จะเน้นที่กระเป๋าแบรนด์เนมมือสองเป็นหลัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่คนไทยชื่นชอบ ประกอบกับคนไทยเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใช้สินค้าอย่างทะนุถนอม ดูแลและเก็บรักษาเป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าจะทำให้มีผู้สนใจโมเดลธุรกิจขายของมือสองนำสินค้ามาขายกับสห โคเมเฮียว ไม่ต่ำกว่าแสนชิ้นภายในปีนี้ ขณะที่ในญี่ปุ่นนั้นมีสินค้าหมุนเวียนมากถึง 1.4 ล้านชิ้นต่อปี
“ความท้าทายของธุรกิจเราคือการรับซื้อ เพราะวัฒนธรรมการขายสินค้ามือสองในไทยยังไม่แพร่หลายเหมือนญี่ปุ่นและจีน แต่การขายสินค้ามือสองนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกังวล เนื่องจากคนไทยชื่นชอบสินค้าลักษณะนี้อยู่แล้ว แต่หากมีผู้นำสินค้ามาเสนอขายน้อยกว่าที่คาด บริษัทอาจนำเข้าจากประเทศอื่นมาจำหน่ายด้วย โดยลูกค้าหลักจะมีช่วงอายุ 35-50 ปี 70% คือชาวไทย และอีก 30% เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย เนื่องจากแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวกว่า 30 ล้านคนเดินทางเข้ามายังประเทศไทย”
เรื่องการเปิดสาขาในประเทศไทยนั้น บริษัทตั้งเป้าเปิดบริการสาขาแรกให้ได้ภายในปีนี้ โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเลือกทำเลที่น่าสนใจโดยเฉพาะย่านสยาม ชิดลม พร้อมพงษ์ ซึ่งคาดว่าจะใช้พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 150 ตร.ม. ภายใต้แนวคิดเช่นเดียวกับการดำเนินงานในประเทศอื่น ๆ ที่เน้นการจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมือสองที่เชื่อถือได้และมีคุณภาพ นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้าเปิดให้ได้ 3 สาขา ภายใน 3-5 ปีนี้
เร่งสร้างการรับรู้ กระตุ้นคนไทยรู้จักช่องทางขายที่เชื่อถือได้
เนื่องจากคนไทยยังไม่นิยมนำสินค้าแบรนด์เนมของตนเองมาขายมากนัก ในช่วงแรก สห โคเมเฮียว จึงเลือกใช้ช่องทางออนไลน์และอีเวนท์ ช่วยประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ในแบรนด์ โดยจะมีอีเวนท์ใหญ่ ณ โรงแรมเอ็มโพเรียม สวีท ในวันที่ 18-21 ก.ค.นี้ รวมถึงสำนักงานแห่งแรกซึ่งตั้งอยู่ที่สยามพิวรรธน์ทาวเวอร์ ก็ดำเนินการรับซื้อสินค้าทั้งกระเป๋าและนาฬิกาเช่นกัน
“แม้ว่าในประเทศไทยจะมีผู้เล่นรายอื่นทำตลาดลักษณะนี้อยู่แล้ว แต่เรามั่นใจว่าจุดเด่นของสห โคเมเฮียว คือ เป้าหมายและการดำเนินงานที่ใหญ่กว่า ทั้งความหลากหลาย มีสินค้าคุณภาพ และมีพาร์ทเนอร์รายใหญ่อย่างเครือสหพัฒน์ ยิ่งทำให้เราแข็งแกร่ง สามารถดำเนินธุรกิจโดยรับซื้อสินค้าได้มากและไม่ต้องเน้นการขายออกอย่างหนักเพื่อสร้างเม็ดเงิน รวมถึงความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบสินค้า ขั้นตอนการตรวจถึง 5 ครั้ง และการซ่อมแซมของผู้เชี่ยวชาญที่เรามีอยู่ โดยเบื้องต้นมีพนักงานที่เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น 2 คน ทำหน้าที่ดังกล่าว แต่บริษัทมีแผนส่งบุคลากรชาวไทยไปศึกษาและฝึกฝนที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้มาตรฐานเดียวกันด้วย”
ส่วนความนิยมในการซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียของคนไทยในปัจจุบันนั้น คุณฮิเดโอะ มองว่า หากเป็นการขายที่เจ้าของสินค้าเดิมเป็นผู้ขายเองก็ถือเป็นเรื่องดี แต่การขายแบบ C2C ในปัจจุบันนั้นยังคงมีความเสี่ยงสูง ทั้งเรื่องของคุณภาพสินค้า ความน่าเชื่อถือ หรือแม้แต่เรื่องการกำหนดราคาขายซึ่งไม่ได้กำหนดจากราคากลางของตลาด ทำให้เสี่ยงเกิดปัญหาหลายเรื่อง บริษัทจึงพยายามนำเสนอช่องทางและผู้ขายที่เชื่อถือได้เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค