หลังจากเห็นเค้าลางกันมาเป็นปีๆ แล้วว่า อาจจะรอดยาก ในที่สุดก็คงมาถึงปลายทางแล้วจริงๆ สำหรับกิจการไบค์แชริ่งสัญชาติจีนอย่าง “โอโฟ่” (ofo) ที่เคยถูกจับตามองอย่างมากในฐานะสตาร์ทอัพดาวรุ่งที่มาแรงสุดๆ โดยเนื้อหอมจนยักษ์อาลีบาบายังเคยให้เงินสนับสนุน
จากดาวรุ่งในช่วงเริ่มต้น เมื่ออยู่ๆ ไป ด้วยความผิดพลาดในการบริหารงาน บวกกับปัญหาเรื่องจักรยานพัง ไปจนถึงสูญหาย เมื่อเข้าสู่ปี 2017 บริษัทก็เริ่มโซซัดโซเซ และเข้าสู่ขาลงเรื่อยมา โดยเฉพาะคดีที่ถูกซัพพลายเออร์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 250 ล้านหยวน หรือกว่า 1,100 ล้านบาท หลังจาก ofo เบี้ยวหนี้ ไม่ยอมจ่ายเงินค่าจักรยานที่ทาง ofo สั่งผลิต
นอกจากนี้ยังอิรุงตุงนังกับคดีฟ้องร้องอีกหลายคดี ที่ล้วนหนีไม่พ้นเรื่องการเหนียวหนี้ ทั้งกับคู่ค้า ไปจนถึงผู้บริโภคที่บริษัทไม่สามารถจ่ายเงินมัดจำคืนให้กับผู้บริโภคได้
ล่าสุด ศาลจีนได้พิพากษาให้บริษัท ofo จัดอยู่ในสถานะถังแตกอย่างสมบูรณ์แบบ “ไม่สามารถชำระหนี้” แก่เจ้าหนี้ ซึ่งหมายรวมถึงทั้งซัพพลายเออร์และผู้บริโภคเป็นที่เรียบร้อย
หลังจากทำการตรวจสอบทรัพย์สินของ ofo และพบว่า ไม่มีทรัพย์สินใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินสด ที่ดิน ทรัพย์สิน โรงงาน รถยนต์ หรือแม้แต่เครื่องจักร ที่อยู่ในครอบครองของบริษัทเลย
ofo เป็นสตาร์ทอัพที่เริ่มต้นเมื่อปี 2015 โดยกลุ่มนักศึกษาชมรมจักรยานในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ที่ปิ๊งไอเดียเปิดบริการให้เช่าจักรยานโดยระดมทุนจากศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย
ในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจในจีน มีผู้ใช้บริการ bike-sharing ราวสองหมื่นคน โดยมีจักรยานให้บริการ 2,000 คัน ในเดือนกรกฎาคม 2017 บริษัทมีมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการระดมทุน 8 ครั้งในช่วงปี 2015-2018
ช่วงพีคสุดๆ ของ ofo เคยมีผู้ใช้จักรยานกับบริษัทสูงถึง 200 ล้านคนทั่วโลกสยายปีกไปทำตลาดในหลายประเทศ ทั้งอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด พับเสื่อเก็บกระเป๋ากลับบ้านไปเมื่อสิงหาคมปีที่ผ่านมา เช่นกันกับในอีกหลายๆ ประเทศ ที่ทยอยปิดตัวลงไป
ในสองปีที่ผ่านมา ข่าวด้านลบของสตาร์ทอัพรายนี้ถูกนำเสนอเป็นระยะๆ ทั้งเรื่องการเหนียวหนี้ ไม่ยอมจ่ายเงินให้กับซัพพลายเออร์ผู้ผลิตจักรยาน จนต้องไปฟ้องศาล
ขณะเดียวกัน ก็มีปัญหากับผู้บริโภค เพราะตัวแอพพลิเคชั่น จะต้องมัดจำเงินไว้ในระบบ (ตอนแรกมัดจำเป็นเงิน 99 หยวน และขึ้นราคาเป็น 199 หยวน) แต่เมื่อผู้บริโภคไปยื่นเรื่องขอเงินมัดจำคืน กลับไม่สามารถจ่ายให้ได้ จนพากันมายืนประท้วงกดดันหน้าบริษัท
คาดว่าเงินมัดจำที่ ofo ต้องคืนแก่ผู้บริโภคทั้งหมดรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1.48 พันล้านหยวน หรือกว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่า บริษัทไม่มีทางหาเงินมาจ่ายได้อย่างแน่นอน
สุดท้ายจึงหาทางออกด้วยการให้เปลี่ยนเงินเป็นเหรียญคอยน์ที่สามารถนำไปซื้อสินค้าที่ขายในแอพฯ ดังกล่าวได้
ก่อนหน้านี้ไม่นาน เหล่าผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของ ofo ตั้งแต่ Dai Wei ผู้ก่อตั้ง, Yang Pinjie ผู้ร่วมก่อตั้ง และ Chen Jing ผู้จัดการทั่วไป ก็เพิ่งจะถูกติดแบล็กลิสต์โดยศาล เนื่องจากการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ทั้งการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงการช้อปแหลก ซื้อของแพงๆ นอนโรงแรมหรูๆ รวมถึงการเดินทางสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่เปย์ให้ตัวเองและพวกพ้องอย่างไม่อั้น
ทั้งนี้ เมื่อปลายปีที่แล้ว มีข่าวว่า “แอนท์ ไฟแนนเชียล” ในเครืออาลีบาบา สนใจที่จะเข้าซื้อกิจการของ ofo โดยประเมินมูลค่ากันไว้ที่ 2 พันล้านดอลลาร์ แต่สุดท้ายคดีพลิก เพราะกลายเป็น hellobike หนึ่งในคู่แข่งของ ofo นั่นต่างหากที่เข้าป้าย คว้าเงินทุน 1 พันล้านหยวน หรือราว 4,500 ล้านบาทจากแอนท์ไฟแนนเชียลและบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี CATL เพื่อรุกตลาดจักรยานไฟฟ้าให้เช่ารับเทรนด์สกุ๊ตเตอร์ซึ่งกำลังมาแรง
ที่มา : chinadaily