เมื่อเร็วๆ มานี้ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ บริษัทหลักทรัพย์ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อบริหารต่อยอดความมั่งคั่งให้กับกลุ่มลูกค้า “ผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง (HNWI : High Net Worth Individuals)” ได้ออกมาเผยแพร่ “รายงานความมั่งคั่งในประเทศไทย ปี 2562 (Wealth Report Thailand 2019)”ฉบับแรก
ความน่าสนใจของรายงานฉบับนี้ มีในหลากหลายมิติ คือเป็นผลสำรวจกลุ่มลูกค้า HNWIs ในเมืองไทย จำนวน 351 ราย ครอบคลุมการวิเคราะห์ทุกมิติตั้งแต่ทัศนคติเกี่ยวกับการบริหารความมั่งคั่ง พฤติกรรมการลงทุนเฉพาะกลุ่ม รวมถึงภาพรวมภาวะเศรษฐกิจเทรนด์เรื่องราคาและการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยในประเทศไทย
ใครบ้างถือเป็น “ผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง (HNW/HNWI)”
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจนิยามคำว่า “ผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง (HNW/HNWI)” ที่ใช้กันในวงกว้างกับ HNWภายใต้บริบทของ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ซึ่งต่างกัน ดังนี้
“ผู้ลงทุนรายใหญ่” เป็นอีกชื่อเรียกของ HNWIsสำหรับกรณีบุคคลธรรมดา นิยามที่ใช้กันทั่วไปในตลาดทุนและสถาบันการเงินหลายแห่ง HNW หมายถึงบุคคลธรรมดาที่มีสินทรัพย์สุทธิ (ไม่รวมที่อยู่อาศัยประจำ) ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไปหรือมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป
ขณะที่ “ผู้มีความมั่งคั่งพิเศษ (Ultra High Net Worth)” ตามนิยามของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ระบุว่า หมายถึง บุคคลธรรมดาที่มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 70 ล้านบาทขึ้นไปหรือมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์ตั้งแต่25ล้านบาทขึ้นไป
สำหรับ “ผู้มีความมั่งคั่ง” ที่ต้องการเป็นลูกค้าของ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ต้องเข้าข่าย HNW ในนิยามของบริษัท ซึ่งหมายถึง ผู้มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารของบริษัท (AUM : Asset Under Management) ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป โดยสินทรัพย์สุทธิดังกล่าวหมายรวมถึงบัญชีสินทรัพย์ทั้งหมด (ยกเว้นบัญชีเงินฝาก) เช่น บัญชีกองทุนรวม บัญชีหลักทรัพย์ หุ้นกู้ พันธบัตร เป็นต้น
OUTLOOK ตลาด HNWIs & LUXURY เมืองไทย
Wealth Report Thailand 2019 ได้ให้ข้อมูลภาพรวมตลาด HNWIs ในเมืองไทย (เป็นการรวบรวมข้อมูลจาก Bloomberg Finance LP และคาดการณ์โดย Julius Bear) รวมถึง ตลาดสินค้าและบริหารหรูหราในเมืองไทย ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
1. ในช่วง 5 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2015-2020 กลุ่มHNWIs ในไทยจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.9% ต่อปี ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์โดยรวมของ HNWIs สูงกว่า 4.012 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 12.54 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 31.25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
ปัจจัยที่หนุนการเติบโตนี้ ประกอบด้วย การที่ราคาอสังหาฯ และหุ้นปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าในไตรมาส 3 ปีนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะพุ่งขึ้นแตะที่ระดับ 1,800 จุดได้
2. กลุ่ม HNWIs เป็นกลุ่มที่มีสินทรัพย์เติบโตเร็วที่สุดในประเทศ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงเมืองไทย โดยในปี 2015 กลุ่ม HNWIs ในประเทศไทย มีมูลค่าความมั่งคั่งโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 508 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่สิ้นปี 2018 เพิ่มขึ้นมาเป็น 3.411 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 36% จากปี 2015
ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นปีนี้ มูลค่าความมั่งคั่งของ HNWIs ไทยจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 3.724 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 11.64 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ถึง 9.2%
3. เมื่อเทียบมูลค่าความมั่งคั่งโดยรวมของกลุ่ม HNWIs กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้น หรือ NominalGDP (Gross Domestic Product) ของประเทศ พบว่า ปี 2018 มีสัดส่วนสูงถึง 67.6%เรียกว่าเกินกว่าครึ่งของ GDP ทั้งประเทศ เป็นสินทรัพย์ของกลุ่ม HNWIs นั่นเอง โดยคาดว่า สัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 69.6%และ 71% ในปีนี้ และปีหน้า ตามลำดับ
4. Thailand Consumer Survey 2017 โดย Boston Consulting Group ระบุว่า ผู้บริโภคไทยในหลากหลายสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอันจะกิน มีความถี่ในการใช้จ่ายเพื่อไลฟ์สไตล์และสินค้าหรูหรา (ฟุ่มเฟือย) เพิ่มขึ้น อาทิ มื้ออาหารหรู, นาฬิกาหรู, เครื่องเพชร และสมาร์ทโฟน
5. จากผลการสำรวจดังกล่าว พบว่า เมื่อเทียบกับชาวอาเซียนด้วยกัน คนไทยจะดื่มด่ำกับการช้อปปิ้งและเดินผ่อนคลายในห้างหรูมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ คนไทยยังมีแนวโน้มจะสาวกผู้ภักดีต่อแบรนด์หรูที่ตนชื่นชอบ มากกว่าผู้บริโภคประเทศอื่นในอาเซียน
6. ขณะที่ EOS Intelligence ได้คาดการณ์ว่า ในปีนี้ คนไทยจะมีการจับจ่ายซื้อหาสินค้าหรูเป็นมูลค่า (ตามราคาขายปลีก) สูงถึง 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 6.875 หมื่นล้านบาท
7. จากรายงาน Julius Lifestyle Index 2018 ที่จัดทำขึ้นโดยพิจารณาจากตลาดสินค้าและบริการหรูหรา (Luxury goods & services) จำนวน 22 รายการที่สามารถสะท้อนการใช้จ่ายของชาว HNWIs ในภูมิภาคเอเชีย พบว่า เมื่อเทียบกับอีกเมืองหลัก 10 แห่งในเอเชีย กรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างถูก (ในรูปของเงินดอลล่ารสหรัฐฯ) สำหรับนักช้อปและ HNWIs ที่มีไลฟ์สไตล์หรูหรา โดยอยู่อันดับ 7 ตั้งแต่ปี 2016-2018
8. สินค้าฟุ่มเฟือยในประเทศไทยมีราคาสูงกว่าหลายประเทศในเอเชีย เนื่องจากอัตราภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือยนำเข้าบางรายการ อย่างไรก็ดี ราคาของการให้บริการหรูหรา (Luxury services) ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ เนื่องจากต้นทุนการดำเนินการในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะบริการด้านการจัดงานแต่งงานอย่างหรูหราในกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่ามีต้นทุนถูกที่สุดเมื่อเทียบกับอีก10 เมือง
9. อย่างไรก็ดี รายงานดัชนีไลฟ์สไตล์ของ Julius Baer ดังกล่าว ระบุว่า ในปี 2018 ดินเนอร์มื้อหรูตามโรงแรมและร้านอาหารชั้นเลิศในกรุงเทพฯ มีราคาสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 44% (ในรูปเงินบาท) เทียบจากปีก่อนหน้า โดยสาเหตุสำคัญข้อหนึ่งมาจากการที่กรุงเทพฯ ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการจัดอันดับของมิชลินไกด์
10. ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวยังได้ระบุว่า กลุ่มสินค้าหรูที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ประกอบด้วย ซิการ์ โดยราคาสูงขึ้นถึง 6% (เทียบกับปี 2017) ขณะที่สูทผู้ชาย ราคาสูงขึ้น 8.3%และที่พักอาศัยหรูหรา ราคาเพิ่มสูงขึ้น 4.9%
ขณะเดียวกันก็มีสินค้าหรูบางกลุ่มที่มีราคาลดลง ได้แก่ ค่าทำโบท็อกซ์ ลดลงเฉลี่ยถึง 29.8% ส่วนค่าที่พักโรงแรมหรู ถูกลง 28% และรองเท้าสตรี ราคาถูกลงโดยเฉลี่ย 17.7% นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ อย่างค่าที่ปรึกษาทางกฎหมาย ก็ลดลงถึง 17%
11. Julius Baer ยังได้สรุปว่า โดยรวมแล้ว กรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองที่มีค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อความดูดีของท่านชาย สูงเป็นอันดับ 5 เมื่อเทียบกับ 11 เมืองหลัก (ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ)
โดยพบว่า สินค้าสำหรับคุณผู้ชายค่อนข้างมีราคาสูงเมื่อเทียบกับเมืองอื่นอีก10 เมือง โดยราคาสินค้ากลุ่มนาฬิกาชายในกรุงเทพฯ ถือว่าแพงเป็นอันดับ 3 ขณะที่เครื่องแต่งกายชาย, น้ำหอมชาย และกระเป๋าชาย ราคาสูงเป็นอันดับ 5 ส่วนรองเท้าผู้ชายถือว่าราคาจับจ่ายได้ โดยอยู่ที่อันดับ 11
12. แต่สำหรับคุณสุภาพสตรี กล่าวได้ว่า กรุงเทพฯ คือสวรรค์สำหรับสาวๆ นักช้อป เพราะค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อความดูดีของสาวๆ นั้นถูกเป็นอับดับ 9 เทียบเท่ากับฮ่องกง (ไม่นับช่วงมหกรรมลดราคา) โดยน้ำหอมแบรนด์เนมในกรุงเทพฯ ถือว่าราคาถูกสุด เมื่อเทียบกับอีก 10 เมืองหลักในเอเชีย ขณะที่รองเท้าสตรี และนาฬิกข้อมือ แพงเป็นอันดับ 6 ส่วนราคาเฉลี่ยของกระเป๋าและเครื่องแต่งกายแบรนด์เนม แพงเป็นอันดับ 7และ 8 ตามลำดับ
พฤติกรรมด้านการลงทุนของ HNWIs ไทย
นอกจากนี้ ใน Wealth Report Thailand 2019 ยังมีผลการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมด้านการลงทุน ของกลุ่ม HNWIsทั้ง 351 รายนี้ ในหลากหลายมิติ ซึ่งพบว่ามีความน่าสนใจ ดังนี้
1. จากพฤติกรรมและทัศนคติด้านการลงทุนของผู้ตอบแบบสำรวจ อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มผู้ประกอบการมิลเลนเนียล (Millennial Entrepreneur) อายุไม่เกิน 40 ปี คนกลุ่มให้ความสำคัญกับบริการทางการเงินดิจิทัล และการเพิ่มพูนความมั่งคั่ง (Wealth Creation) แต่ เมื่อเทียบกับอีก 2 กลุ่ม เรียกได้ว่าเป็น กลุ่มนักลงทุนที่กล้าเสี่ยงแต่ยังขาดความเข้าใจในการลงทุนต่างประเทศ
กลุ่มนักลงทุนเต็มตัว (Mature Investors) อายุระหว่าง 41 – 60 ปี เป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจมากที่สุดถึงรูปแบบความหลากหลายของสินทรัพย์การลงทุนในต่างประเทศ
กลุ่มคนเกษียณไฮเทค (Techie Retiree) อายุมากกว่า 60 ปี เป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับการลงทุนในต่างประเทศน้อยที่สุด แต่เป็นกลุ่มที่ใช้งานโซเชียลมีเดียมากที่สุดใน 3 กลุ่ม
2. HNWIs ชาวไทยนิยมลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง อย่าง เงินฝาก ตามมาด้วย ตราสารหนี้ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงกว่า 40% ซึ่งนั่นหมายถึง อัตราผลตอบแทนที่ต่ำ นอกจากนี้ HNWIs ไทยยังมีการลงทุนในต่างประเทศ (Offshore Investment) น้อยมาก เมื่อเทียบกับ HNWIs ชาวสิงคโปร์และฮ่องกง
3. ผลสำรวจยังพบว่า ในการตัดสินใจลงทุนหลายๆ ครั้ง มักได้รับอิทธิพลจากคำแนะนำของคนในครอบครัวและเพื่อนมากถึง 43% มีเพียง 27% ใช้บริการ Private Bank และมีถึง 13% ที่ลงทุนตามคำแนะนำจากแหล่งออนไลน์ต่างๆ เป็นหลัก
4. ในจำนวน 351 คนที่ตอบแบบสำรวจ พบว่ามีเพียง 27% ที่พอใจกับอัตราผลตอบแทนที่ได้รับในปัจจุบัน
5. เมื่อสำรวจถึงการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศ (Offshore Investment) พบว่า ส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในต่างประเทศ และไม่แน่ใจว่าต้องลงทุนอย่างไร คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จึงยังไม่ได้มีการลงทุนในต่างประเทศจริงจัง หากจะมีบ้างก็แค่เพื่อกระจายความเสี่ยงในพอร์ต และยังเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ (Asset Class) รูปแบบเดียว โดยเฉพาะหุ้นและกองทุน
ไทยพาณิชย์ กับยุทธการเร่งเจาะตลาด “ลูกค้าหลัก 100 ล้าน”
ผลสำรวจดังกล่าวยิ่งตอกย้ำความมั่นใจให้กับกลุ่ม SCB ในการจัดตั้ง “บล.ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์” เพื่อต่อยอดความมั่งคั่งให้ลูกค้า HNWIs ในไทย ด้วยบริการที่ปรึกษาทางการเงินและบริหารความมั่งคั่งเฉพาะบุคคลอย่างเต็มรูปแบบ
โดยชูจุดแข็งด้านโอกาสในการลงทุนทั่วโลก ผ่านแพลตฟอร์แบบเปิด (Open Product Platform) ที่ได้รับความไว้วางใจจาก HNWIs ทั่วโลก เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างเต็มศักยภาพ โดยได้หุ้นส่วนอย่าง Julias Baer มาช่วยเติมเต็มทั้งเรื่องแพลตฟอร์แบบเปิด ตลอดจนองค์ความรู้, เทคนิค Know-how ต่างๆ รวมถึงความเชี่ยวชาญด้านการบริการ HNWIs ทั่วโลก และการวิเคราะห์ตลาดด้านการลงทุนทั่วทั้งโลก ซึ่งสั่งสมมายาวนานถึง129 ปี
Julias Baer เป็นแบรนด์ผู้นำธุรกิจรบริหารความมั่งคั่งชั้นนำระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นหนึ่งในสี่ผู้ให้บริการ Private Banking รายใหญ่ของเอเชีย ดำเนินธุรกิจใน 25 ประเทศทั่วโลก โดย ณ สิ้นปี 2561 มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) มาถึง 382,000 ล้านสวิสฟรังก์
ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และกลุ่มธนาคารจูเลียส แบร์ (BJB)ในสัดส่วน 60-40 ตามลำดับ ด้วยทุนจดทะเบียนสูงถึง 1,800 ล้านบาท โดยเริ่มเจรจาตกลงความร่วมมือกันตั้งแต่เดือน ส.ค. ปีที่แล้ว กระทั่งวันที่ 1 เม.ย. บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ในการประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล จนมาถึงการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 มิ.ย. ที่เพิ่งผ่านมานี้
คุณจิรลาวัณย์ ตั้งกิจเวทย์ ซีอีโอ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ เล่าว่าตลอดเวลา 1 เดือนกว่าระหว่างรอการเปิดตัว บริษัทฯ ได้ซุ่มนำพนักงานไปฝึกอบรมการให้บริการ HNWIs อย่างเข้มข้นที่สาขาของ Julias Baer ในสิงคโปร์
เธอมองว่า หนึ่งในข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการสำรวจครั้งนี้ คือ แนวโน้มธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับสูงของไทยมีการเติบโตอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา และแนวโน้มนี้จะยังคงมีต่อเนื่อง เพราะคนไทยมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ตลาด HNWIs ของประเทศไทย ถือว่ามีศักยภาพอีกมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วภูมิภาค
ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่ม HNWIs มีความรู้มากขึ้นและเงื่อนไขทางกฎหมายและนโยบายเอื้อต่อการลงทุนและบริหารจัดการความมั่งคั่งได้สะดวกขึ้น ขณะที่ผลการสำรวจยังสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มลูกค้า HNWIs ในไทย มีความต้องการลงทุนในต่างประเทศอยู่มาก แต่ยังไม่ได้รับบริการอย่างเพียงพอ
“นับเป็นครั้งแรกที่นักลงทุน HNWIs ไทยจะสามารถเลือกลงทุนหลักทรัพย์เฉพาะเป็นรายตัว รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือก (Asset Class) อื่นๆ โดยไม่ต้องจำกัดเฉพาะการลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือผลิตภัณฑ์การลงทุนจากสถาบันใดสถาบันหนึ่งนอกจากนี้ เรายังมุ่งมั่นที่จะเป็น World-class One Stop Service ด้านการบริหารความมั่งคั่งเต็มรูปแบบด้วยมาตรฐานระดับโลก โดยครอบคลุมไปจนถึงการวางโครงสร้างความมั่งคั่ง การบริหารภาษี การย้ายถิ่นพำนัก การวางแผนเกษียณ การเตรียมแผนสำหรับทายาท และกิจกรรมเพื่อการกุศล ฯลฯ”
คุณจิรลาวัณย์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน มีลูกค้าแล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยจำนวนได้ โดย 50% เป็นลูกค้าเก่าของ SCB อีก 50% มาจากธนาคารอื่น
ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในอนาคตอันใกล้ เซ็กเม้นต์ที่เป็นกลุ่ม “ยอดปิระมิด” ในสังคมไทย น่าจะมีการแข่งขันอย่างดุเดือดรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมาก แน่นอน!!! เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีจำนวนจำกัดในสังคมไทย แต่เป็นกลุ่มที่มี “พลังด้านการจ่าย” มากมายมหาศาล
..ดังนั้น ใครเปิดตัวก่อนย่อมได้เปรียบ แต่ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับ ใครที่ตอบโจทย์ได้ตรงใจกว่า และ “เอาใจ” ได้มากกว่าและดีกว่า