ถือเป็นเรื่องน่ายินดีของประเทศไทย เพราะสถาบัน IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เผยแพร่รายงาน IMD World Competitiveness Yearbook 2019 ซึ่งเป็นการรายงานการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของทั่วโลกรวมกว่า 63 ประเทศ ซึ่งผลการจัดอันดับดังกล่าวมีความน่าสนใจตรงที่ “ในปีนี้อันดับของไทยได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 25 จากเดิมซึ่งอยู่ในอันดับที่ 30”
นอกจากนี้ ในปี 2562 ยังมีการจัดอันดับที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิ สิงคโปร์ ที่ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 (จากอันดับ 3 ในปีที่ผ่านมา) แทนที่ สหรัฐอเมริกา ที่ถูกลดลงไปอยู่เป็นอันดับ 3 ตามด้วยฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ส่วนประเทศที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งอันดับสูงขึ้นถึง 13 อันดับ(จากอันดับที่ 39 ในปีที่แล้วเลื่อนมาอยู่ในอันดับที่ 26 ในปีนี้) รองลงมาคือ ประเทศอินโดนีเซีย ที่เลื่อนขึ้น 11 อันดับ (จากอันดับที่ 43 ในปีที่แล้วเลื่อนมาอยู่ในอันดับที่ 32 ในปีนี้) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะ 5 ประเทศอาเซียนที่อยู่ในการจัดอันดับ (สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย) พบว่าทุกประเทศมีอันดับดีขึ้นยกเว้นมาเลเซียที่อันดับคงที่ (อันดับที่ 22)
ขีดความสามารถ “ไทย” ดีขึ้นทุกด้าน เว้น…ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ
สำหรับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งดีขึ้นถึง 5 อันดับ มาจากการจัดอันดับ 4 ด้าน ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ปรากฎว่าผลการจัดอันดับดีขึ้นทุกด้านยกเว้นประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ โดยด้านสภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 10 มาเป็นอันดับที่ 8 ส่วนด้านประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับขึ้นเป็นอันดับที่ 20 จาก 22 และด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีอันดับดีขึ้นเป็นอันดับที่ 45 จากอันดับที่ 48 ในปี 2561 ในขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) เป็นปัจจัยเดียวในการจัดอันดับปีนี้ที่ ลดลง 2 อันดับจากอันดับที่ 25 มาอยู่ที่ 27
ผลการจัดอันดับด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจของไทยอยู่ในระดับปานกลาง ในปี 2562 ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 27 จากอันดับที่ 25 ของปีก่อนหน้า โดยมีอันดับที่ดีมากในปัจจัยย่อยด้านตลาดแรงงาน (Labor Market) ที่อยู่ในอันดับที่ 9 รองลงมาคือด้านการเงิน (Finance) ที่ปรับตัวดีขึ้น 5 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 19 ในปีนี้ ส่วนในด้านการบริหารจัดการ (Management Practices) และทัศนคติและค่านิยม (Attitudes and Values) แม้อันดับจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ก็ยังอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ ประเด็นที่เป็นจุดแข็งของไทยคือด้านกำลังแรงงาน (Availability of skill) และด้านสถาบันการเงินและตลาดหลักทรัพย์ที่สามารถสนับสนุนภาคธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนประเด็นที่ยังคงเป็นจุดอ่อนของภาคธุรกิจ คือด้านผลิตภาพในทุกภาคธุรกิจ ประสิทธิภาพของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สะท้อนผ่านอันดับด้านการนำเครื่องมือด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีมาใช้ที่ยังอยู่ในอันดับต่ำเช่นเดียวกัน
ขณะที่ ด้านการบริหารจัดการรวมถึงทัศนคติและค่านิยม ซึ่งใช้ผลจากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารเป็นส่วนใหญ่ปรากฎว่า ประเด็นที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ความคล่องตัวของบริษัท (Agility of companies) รวมถึงการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจ (Use of big data and analytics) ยังมีอันดับไม่ดีนัก ในด้านบุคลากรบริษัทยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถมากเพียงพอ ในขณะที่ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) และความคล่องตัวและความสามารถในการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ยังมีไม่มากนัก
“ในปีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ การที่ IMD ได้เพิ่มประเด็นที่เกี่ยวกับบทบาทสตรีในตำแหน่งบริหารของบริษัท และคณะกรรมการบริษัท ซึ่งประเทศไทยได้อันดับที่ 31 และ 32 ตามลำดับ”
ที่มา Thailand Competitiveness