หัวเว่ยได้ยื่นคำร้องเพื่อขอสรุปคำตัดสิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคัดค้านในชั้นศาลต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 889 ของกฎหมายการป้องกันประเทศ ปี 2562 (2019 NDAA) ของสหรัฐฯ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยุติแคมเปญคว่ำบาตรหัวเว่ย เพราะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาความปลอดภัยทางไซเบอร์
ซ่ง หลิ่วผิง ประธานเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายของหัวเว่ย กล่าวว่า “การแบนหัวเว่ยโดยใช้ปัญหาความปลอดภัยทางไซเบอร์มาเป็นข้ออ้าง จะไม่ช่วยให้เครือข่ายปลอดภัยขึ้น และยังก่อให้เกิดความเข้าใจที่ผิดๆ ในเรื่องความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาที่แท้จริงที่เรากำลังเผชิญอยู่ และนักการเมืองสหรัฐฯ กำลังใช้อำนาจทั้งหมดของประเทศมาโจมตีบริษัทเอกชนเพียงแห่งเดียว” พร้อมเสริมว่า
“มันไม่ใช่เรื่องปกติ และแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยด้วยซ้ำ และรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าหัวเว่ยเป็นภัยคุกคามด้านความปลอดภัย เป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่มีที่มาที่ไป ทั้งหมดเป็นแค่การคาดเดาทั้งสิ้น” นายซ่ง กล่าวเพิ่มเติม
ในเอกสารคำร้อง หัวเว่ยโต้แย้งว่า มาตรา 889 ของกฎหมายการป้องกันประเทศ ปี 2562 ของสหรัฐฯ มีการระบุชื่อหัวเว่ยโดยตรง โดยนอกจากจะห้ามไม่ให้หน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ ซื้ออุปกรณ์และบริการต่างๆ จากหัวเว่ยแล้ว ยังห้ามหน่วยงานดังกล่าวไม่ให้ทำสัญญา มอบเงินทุนหรือปล่อยเงินกู้ยืมให้กับบุคคลที่สามที่ซื้ออุปกรณ์หรือบริการของหัวเว่ยด้วย แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบหรือความเชื่อมโยงใดๆ กับรัฐบาลสหรัฐฯ เลยก็ตาม
ประธานเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายของหัวเว่ย ยังได้กล่าวถึงการเพิ่มชื่อหัวเว่ยเข้าไปในรายชื่อ “Entity List” ของกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “ระบบตุลาการเป็นปราการด่านสุดท้ายของการผดุงความยุติธรรม หัวเว่ยมีความมั่นใจในความเป็นอิสระและความเที่ยงธรรมของระบบศาลสหรัฐฯ เราหวังว่าศาลจะสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดในกฎหมายการป้องกันประเทศของสหรัฐฯได้”
มร. เกลน เนเกอร์ หัวหน้าที่ปรึกษาของหัวเว่ยในคดีนี้ กล่าวว่ามาตรา 889 ของกฎหมายการป้องกันประเทศ ปี 2562 ของสหรัฐฯ ละเมิดกฎหมายจำกัดตัดสิทธิบุคคล กระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย และเงื่อนไขกำหนดการแบ่งแยกอำนาจของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ดังนั้นคดีนี้จึงเป็น “เรื่องของกฎหมาย” โดยแท้ เนื่องจากประเด็นนี้ไม่มีข้อเท็จจริงเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้เราต้องยื่นคำร้องเพื่อขอสรุปคำตัดสินเพื่อเร่งกระบวนการในชั้นศาล
หัวเว่ยเชื่อว่า การที่สหรัฐฯ พยายามทำลายหัวเว่ยจะไม่ช่วยให้เครือข่ายมีความปลอดภัยมากขึ้น และหวังว่า สหรัฐฯ จะเลือกแนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องและใช้มาตรการที่ซื่อตรงและมีประสิทธิผลเพื่อพัฒนาความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ดีขึ้นเพื่อทุกคน หากว่าเป้าหมายของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเรื่องความปลอดภัยจริงๆ เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งศาล การพิจารณาไต่สวนคำร้องจะมีขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2562